สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.วรเจตน์ ชำแหละปมปัญหาสตง. ใครกันแน่ตัวจริง คุณหญิงจารุวรรณ-พิศิษฐ์ ตลกเศร้าแห่งองค์กร !

จากประชาชาติธุรกิจ

หากเอ่ยชื่อ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  ทั้งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา  และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส  ย่อมต้องรู้จักนักกฎหมายมหาชนผู้นี้ เป็นอย่างดี เพราะครั้งหนึ่งเมื่อ สตง. ปกปิดข้อมูล โดยอ้างความเป็นองค์กรอิสระ   อาจารย์หนุ่มผู้นี้ในฐานะกรรมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินดคีบิ๊ก สตง. มาแล้ว  

     มาวันนี้ ดร. วรเจตน์ เฝ้าดูสงครามภายในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มานาน ก่อนเปิดฉากสนทนา  แบบม้วนเดียวจบ พร้อมชี้ทางออกจากวิกฤตอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ดูหน้าว่า จะเข้าทาง คุณหญิงเป็ด หรือ นายพิศิษฐ์   หรือไม่ อย่างไร  ?

      อ่านบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้  แล้วคุณจะพบว่า หลักกฎหมายคืออะไร หลักกูคืออะไร ? 
  
@ กรณีผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในทางกฏหมาย จะหาทางออกได้อย่างไร               

ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องดูจากเหตุรากเหง้า(ครับ) เพราะตอนนี้เราไปดูที่ตัวตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จริงๆเรื่องในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เป็นปัญหามายาวนาน เมื่อหลายปีก่อน มีประเด็นที่เป็นปัญหาเรื่องกระบวนการสรรหาเข้าสู่ตำแหน่งของคุณหญิงจารุ วรรณ เมณฑกา  ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กระทั่งมีการยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ

              ครั้งนั้น มีคนถามผมว่า คุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ผมบอกว่าเมื่อดูจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเพียงแต่วินิจฉัยว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ได้มีการเพิกถอนการแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ ดังนั้นจึงยังถือไม่ได้ว่าคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่ง นอกจากนี้ยังปรากฏว่ากระบวนการเสนอเรื่องเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐ ธรรมนูญในเวลานั้น ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย ผมจึงได้ให้ความเห็นไปเช่นนั้น ซึ่งตอนนั้นก็มีหลายคนว่าผมว่าไปเข้าข้างคุณหญิงจารุวรรณ  แต่ ผมบอกว่า ผมไม่ได้สนใจตัวคนว่าเป็นใคร แต่ผมพูดไปจากหลักวิชาที่ผมได้ศึกษามา พูดจากหลักกฎหมายที่ว่าด้วยการสิ้นผลของคำสั่งทางปกครอง  ซึ่งคำตอบมันจะตรงใจคนหรือไม่ ใครจะชอบ ใครจะชัง ผมไม่สนใจอยู่แล้ว

            มาถึงปัญหาวันนี้ ต้องเข้าใจว่า ในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีความขัดแย้งกันตั้งแต่คณะกรรมการตรวจเงิน แผ่นดิน (คตง.) ชุดเดิม กับคุณหญิงจารุวรรณ  ความขัดแย้งก็ดำรงอยู่เรื่อยมา  จนในที่สุดก็จบลงแบบไม่ถูกต้องตามหลักการ เมื่อมีการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย คปค.(คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)  ยึดอำนาจและจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลานั้นคุณหญิงจารุวรรณเข้าไปพบกับ คปค.ด้วย

           ต่อมา คปค.ก็ออกประกาศฉบับหนึ่ง ให้คตง. พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แล้วให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคือคุณหญิงจารุวรรณ  สามารถใช้อำนาจในฐานะเป็น คตง. ได้ด้วย คือ คนๆเดียว ใช้อำนาจทั้งในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพร้อมกัน ใครสนใจเรื่องนี้ไปดู ประกาศคปค.ฉบับที่ 12 และ 29 ได้

           เบื้องต้นที่เห็นประกาศนี้ ผมก็รู้สึกว่า คนเขียนประกาศคิดอะไร เขียนอย่างนี้ได้ยังไง ไม่รู้ใครเป็นคนเขียน  คือ คุณให้คนๆเดียวใช้อำนาจเป็นคณะกรรมการ กลายเป็นว่า  คนๆ เดียวมีอำนาจล้นฟ้า  เพราะโดยโครงสร้างเขาแบ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกับผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดินแยกกัน มีอำนาจแตกต่างกัน   แล้วคณะกรรมการประกอบไปด้วยคนหลายๆ คน   แต่บัดนี้ พอคุณยึดอำนาจ  คุณยุบคณะกรรมการนั้น แล้วให้คนๆ เดียวคือ คุณหญิงจารุวรรณเป็นทั้งคตง.และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในงานการตรวจเงินแผ่นดินของประเทศ  นี่มันผิดหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจ เงินแผ่นดิน

             ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่า มันผิด ทำอย่างนี้ไม่ได้  ในเชิงโครงสร้างกฎหมายก็ผิด  คือต้องหาวิธีการในการที่จะให้กระบวนการมันเป็นไปลักษณะอื่น จะใช้วิธีคิดแบบนี้ไม่ได้  แต่นี่สะท้อนวิธีคิดอำนาจนิยม   คือ  แปลว่า ยึดอำนาจแล้วจะทำอะไร ทำได้หมด  ออกอะไรมาให้เป็นกฎหมาย มันก็เป็นทั้งนั้น ผิดเพี้ยนในทางหลักการยังไง มันก็เป็นแบบนี้  แล้วก็สร้างปัญหาต่อเนื่องมา เพราะพอคนๆ เดียวมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็กลายเป็นว่าใช้อำนาจในทั้งฐานะที่เป็นคณะกรรมการด้วย และในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินด้วย โดยที่ไม่มีระบบของการถ่วงดุลอำนาจ  แล้วพอทำรัฐธรรมนูญใหม่ คนๆเดียวนี้ก็ยังเข้าไปใช้อำนาจเป็นกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิกอีก นี่คือปัญหาตั้งแต่แรก

             ฉะนั้น เบื้องต้น รากเหง้าของปัญหานี้  ต้องย้อนกลับไปที่รัฐประหาร 19 กันยา  และตัวประกาศคปค. ที่ไปทำให้อำนาจมันรวมศูนย์อยู่ที่คนๆ เดียว  นี่คือจุดที่ผิดอย่างมาก  แต่ตอนนั้นกระแสคนดีหรือคนที่ออกสื่อและสังคมเห็นภาพจากสื่อและคิดว่าเป็นคน ดีมาแรง ไม่รู้ว่ากระแสแบบนี้จะแรงไปเรื่อยๆหรือไม่ แต่ผมจะบอกว่าสังคมจะต้องเรียนรู้  แต่บางที่การเรียนรู้มันก็มีราคาที่ต้องจ่าย

       กลับมาว่า แล้ววันนี้คุณหญิงจารุวรรณพ้นหรือไม่พ้นจากตำแหน่ง คือ ตัวประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 เขาให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มีผลบังคับต่อไป เว้นแต่บทบัญญัติในส่วนที่ 1 หมวด 1 คือ ส่วนที่ว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและอำนาจหน้าที่ของคณะ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แต่บทบัญญัติอื่นๆยังคงใช้บังคับต่อไป   ฉะนั้น บทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติของการเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ได้ถูกยกเว้นด้วยตามประกาศคปค. นั่นแปลว่า ใครก็ตามที่เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน   ซึ่งอาจจะไม่ใช่คุณหญิงจารุวรรณก็ได้   อาจจะเป็น นาย ก. นาย ข.  ก็ได้ จะได้คิดแบบภาวะวิสัย ไม่ต้องดูหน้าคน   ใครก็ได้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แล้วดำรงตำแหน่งอยู่ตามประกาศคปค. ย่อมจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเมื่อใด ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อนั้น

             ลองคิดตามธรรมดาว่า   ถ้าคนๆ นั้นเขาเกิดตายลง  ถามว่าเขาจะพ้นจากตำแหน่งหรือไม่  คือ โดยสภาพก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง จะตีความยังไงก็ตาม ก็ต้องตีความว่าพ้น  เพราะคนได้ตายไปแล้ว เว้นแต่จะคิดว่าประกาศ คปค.ให้เอาวิญญาณทำงานต่อ นั่นก็คงไม่ใช่การตีความกฎหมายที่บุคคลซึ่งมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์จะเข้าใจ ได้ หลักการอันเดียวกันนี้ก็ใช้กับกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่น ดินไม่มีสัญชาติไทยอีกต่อไป หรือไปดำรงตำแหน่งที่เห็นได้ชัดว่าขัดกับหลักการห้ามขัดกันของตำแหน่ง หน้าที่ เช่น ไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปเป็นวุฒิสมาชิก ไปเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ หรือไปเป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ถือว่าขาดคุณสมบัติและทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งสิ้น นี่รวมทั้งกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเกิดวิกลจริตหรือ จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบด้วย

  ดังนั้นกรณีที่อายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ซึ่งเป็นกรณี ที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องพ้นจากตำแหน่งจึงเป็นกรณีที่ชัดเจนจนแทบจะไม่ต้องตี ความอะไรอีก ประเด็นนี้จึงไม่ใช่เรื่องยาก ผมว่านักกฎหมายส่วนใหญ่เห็นประเด็นนี้ตรงกันหมด  แม้จะมีใครอ้างประกาศ คปค.อย่างไรก็ตาม ประกาศ คปค.เองก็ยอมให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ ใช้บังคับต่อไป ซึ่งรวมถึงบทบัญญัติเรื่องคุณสมบัติที่ได้กล่าวมาแล้ว แล้วถ้าใครเกิดอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 301 ที่บัญญัติว่าในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจ เงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คนอ้างก็ต้องเข้าใจด้วยว่าผู้ที่จะใช้อำนาจดังกล่าวได้จะต้องเป็นผู้ว่าการ ตรวจเงินแผ่นดินที่ไม่ขาดคุณสมบัติ เพราะถ้าขาดคุณสมบัติเสียแล้ว ก็ไม่ใช่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในกรณีเช่นนี้ผมเห็นว่าผู้ที่รักษาราชการในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ย่อมเป็นผู้ที่ทรงอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้อำนาจในฐานะเป็นผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดินได้

     จริงๆ คำตอบของกรรมาธิการที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภาที่ตอบไปคราวแรกว่าคุณ หญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก็ตอบถูกแล้ว  และมีการแจ้งกลับไปยัง สตง.อย่างเป็นทางการด้วย แต่คราวหลังกลับมาเปลี่ยนโดยตอบใหม่ว่าไม่พ้น ผมก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมกลับไปกลับมาแบบนี้

            จริงๆแล้ว เรื่องอายุเป็นคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง เมื่อขาดคุณสมบัติก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง  เพราะไม่อย่างนั้นมันคือการฝืนกฎหมาย อันนี้ชัดเจนจนไม่รู้จะชัดยังไง เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ไม่สามารถใช้อำนาจเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้   ไม่สามารถใช้อำนาจเป็นคตง.ได้    

@เหตุผลที่สนับสนุนความชอบธรรมของคุณหญิงจารุวรรณ บอกว่า สุญญากาศก่อให้เกิดความเสียหาย มากกว่า               การอ้างว่าถ้าคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งไปจะไม่มี ใครใช้อำนาจเป็น คตง.ได้ เพราะคนที่รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ตีความว่าจะใช้อำนาจได้ก็แต่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการ บริหารทั่วไปในฐานะหัวหน้าส่วนราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและใน เรื่องที่เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเท่านั้น จะใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้ว่า การตรวจเงินแผ่นดินที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้

     เพราะฉะนั้นก็เลยพูดกันว่าคุณหญิงจารุวรรณต้องอยู่ใน ตำแหน่งเพื่อทำงานต่อไป เพราะงานดังกล่าว คนอื่นทำแทนไม่ได้ อันที่จริงการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาในส่วนนี้ยังอาจมีเงื่อนแง่ในทาง กฎหมายในถกเถียงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีจำเป็นที่จะต้องมีผู้ใช้อำนาจเพื่อให้ภารกิจของรัฐ บรรลุผลหรือเพื่อแก้ไขปัญหาอันมีมาเป็นฉุกเฉิน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แม้จะถือตามแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ หากคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ขาดคุณสมบัติต้องพ้นจากตำแหน่ง คนๆนั้นก็จะเอาเหตุที่อ้างว่าถ้าไม่มีตนแล้ว งานจะหยุดชะงักมาเป็นข้ออ้างเพื่ออยู่ในตำแหน่งต่อไปย่อมไม่ได้

                อุปมาเหมือนพระ   วัดๆ หนึ่งมีพระอยู่รูปเดียว  ชาวบ้านแถวนั้นก็ต้องนิมนต์พระรูปนี้ไปทำพิธี หรือทำบุญตักบาตร   แต่ต่อมาปรากฏประจักษ์ชัดว่าพระรูปนี้ต้องอาบัติปาราชิก  ต้องขาดจากความเป็นพระ  แต่พระบอกว่าถึงจะยังไงก็ตามถ้าไม่มีพระรับกิจนิมนต์  เดี๋ยวญาติโยมจะเสียหาย เพราะฉะนั้น อาตมาก็ขอรับกิจนิมนต์ต่อไปจนกว่าจะมีพระรูปใหม่มาประจำที่วัดนี้ ถามว่ามันจะได้หรือไม่ กรณีก็คล้ายกัน แม้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะไม่ใช้เรื่องที่คุณหญิงจารุวรรณไปกระทำการอันต้อง ห้ามทำให้พ้นจากตำแหน่ง แต่เรื่องอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ผลในทางทางกฎหมายก็ไม่ได้ต่างกัน ก็คือต้องพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้นจะอ้างเหตุอื่นใด หรืออ้างความปรารถนาดีใดๆมาเพื่อครองตำแหน่งต่อไปไม่ได้

               คือเรื่องนี้สภาพมันไม่ได้ต่างกัน  ในทางกฎหมายผมไม่ได้ดูว่าเป็นคุณหญิงจารุวรรณหรือเป็นใคร   ผมสนใจว่าเรื่องนี้ทางกฎหมายเป็นยังไง  แต่บังเอิญเมื่อพูดเวลานี้ก็ต้องกระทบคุณหญิงจารุวรรณ ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ครับ  เพราะไม่อย่างงั้นก็แปลว่า วันนี้ประเทศไทยไม่มีคุณหญิงจารุวรรณ คือ ไม่ได้เลยใช่มั๊ย หมายความว่า คุณหญิงจารุวรรณจะต้องดำรงอยู่ตลอดเพื่อจะทำให้มี  คตง.ใช้อำนาจ มันต้องถึงขนาดนั้นเชียวหรือ  ไม่ใช่หรอกครับ  เพราะฉะนั้น เมื่อถึงจุดที่จะต้องพ้น ก็คือ ต้องพ้น   มันไปเหนี่ยวรั้งอะไรไม่ได้    ทุกอย่างมันเป็นหัวโขน ต้องไปตามเวลาของมัน  (ครับ)

@   ทราบว่า อาจารย์มองเห็นทางออกจากวิกฤต เสือ 2 ตัวในถ้ำเดียวกัน
 
  ผมมีข้อสังเกตในข้อกฎหมาย เป็นประเด็นที่คนในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอาจจะต้องไปคิดดู     คือ คุณหญิงจารุวรรณเป็นคนตั้งรักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเอาไว้ก็คือ คุณพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส  การแต่งตั้งคุณพิศิษฐ์จะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาหนึ่ง หากยังไม่มีการยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ในทางกฎหมายก็ต้องถือว่าคุณพิศิษฐ์ ทรงอำนาจในฐานะที่เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน  เพราะเป็นรักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คือ ตำแหน่งที่เป็นองค์กรเดี่ยวแบบนี้จะมีคนใช้อำนาจ 2 คนไม่ได้   ต้องมีคนเดียว เพราะไม่อย่างนั้น ถามว่าในสตง. จะบังคับบัญชากันยังไง  เจ้าหน้าที่ต้องเชื่อฟังคำสั่งใคร

            เมื่อถามผม ก็ต้องบอกว่า เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามการสั่งการที่ชอบด้วยกฎหมายของคุณพิศิษฐ์   เพราะว่าคุณพิศิษฐ์ได้รับการแต่งตั้งตามการแต่งตั้งให้เป็นรักษาราชการผู้ ว่าตรวจเงินแผ่นดิน แล้วคำสั่งอันนี้ยังไม่ได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอนไป 

                 หากดูในหนังสือเวียนการกลับมาทำหน้าที่ของคุณหญิงจารุ วรรณถามว่ากลับมายังไง   เพราะว่าคำสั่งตั้งรักษาการยังอยู่ อำนาจยังอยู่ที่คุณพิศิษฐ์ แล้วยังไม่มีการเพิกถอนการตั้งรักษาการนั้น  การกลับมาเป็นการกลับมาลอยๆ ไม่มีฐานอำนาจใดในทางกฎหมายรองรับ แต่ถ้าหากสมมติว่าคุณหญิงจารุวรรณเกิดออกคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งตั้ง ผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กรณีก็จะมีปัญหาอีกว่าคำสั่งดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ในทางกฎหมาย เพราะสั่งโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจ เพราะบัดนี้คุณหญิงจารุวรรณอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว และพ้นจากตำแหน่งไปแล้วนั่นเอง

   หากคุณหญิงจารุวรรณเกิดสั่งการอะไรไป คนที่รับคำสั่งหรือรับผลกระทบจากการสั่งการนั้นย่อมสามารถนำคดีไปฟ้องศาล ปกครองได้ ซึ่งประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองจะต้องพิจารณาก็คือตกลงคุณหญิงจารุวรรณเป็น เจ้าหน้าที่ผู้ทรงอำนาจตามกฎหมายที่จะออกคำสั่งได้หรือไม่       

@ แล้วคนในองค์กร จะฟังใครดี (ล่ะ)
    แน่นอนอาจจะมีคนถามว่าแล้วถ้าเกิดมีการยกเลิกหรือเพิก ถอนคำสั่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจริง เจ้าหน้าที่ในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งใครระหว่าง คุณพิศิษฐ์กับคุณหญิงจารุวรรณ คำตอบอันหนึ่งที่คนในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต้องคิดก็คือ หน่วยงานของรัฐหน่วยงานอื่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ถือว่าใครเป็นผู้ทรงอำนาจในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน  

อย่าลืมว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นในเรื่องนี้ มาแล้ว แม้ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจจะไม่ผูกพันสำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดิน แต่ก็มีผลสำหรับแนวทางการปฏิบัติราชการของหน่วยงานในบังคับบัญชาและกำกับ ดูแลของคณะรัฐมนตรี เมื่อพิจารณาจากทางปฏิบัติในเรื่องนี้แล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่ให้คำปรึกษากฎหมายกับรัฐบาลเห็นว่าผู้ที่มี อำนาจกระทำการแทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คือ คุณพิศิษฐ์ ไม่ใช่คุณหญิงจารุวรรณ  

ดังจะเห็นได้จากการที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้พิจารณา หนังสือถอนเรื่องที่ขอหารือไป ที่ส่งไปภายหลังโดยคุณหญิงจารุวรรณ ถ้าหน่วยงานในบังคับบัญชาและกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรีถือปฏิบัติตามความเห็น ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็จะทำให้การอ้างอำนาจในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของคุณหญิงจารุวรรณ ไม่มีผลใดๆ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความเห็นของนักวิชาการอีกหลายคน ไม่ใช่ผมคนเดียวที่ออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่าคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งแล้ว  

อีกประเด็นหนึ่งที่มักจะมีการอ้างกัน ก็คือ มักจะอ้างกันว่าการกระทำของคุณหญิงจารุวรรณย่อมมีผลใช้ได้ในทางกฎหมาย โดยการอ้างมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่ว่า  ถ้าปรากฏภายหลังว่าเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทาง ปกครองใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไป ตามอำนาจหน้าที่  การอ้างมาตรานี้อาจจะใช้ได้ในช่วงที่คุณหญิงจารุวรรณอายุยังไม่ครบหกสิบห้า ปีบริบูรณ์และยังไม่ได้ตั้งผู้รักษาราชการในตำแหน่งผุ้ว่าการตรวจเงินแผ่น ดิน แต่วันนี้การอ้างมาตรานี้เพื่อรองรับการกระทำของคุณหญิงจารุวรรณย่อมใช้ไม่ ได้แล้ว เพราะผู้ที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้นั้นจะต้องมีคน เดียว     

ผมจึงมีความเห็นว่าการกระทำใดๆ ของคุณหญิงจารุวรรณในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหลังจากที่ตั้งผู้รักษาราชการในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจ เงินแผ่นดินแล้วเป็นการกระทำที่ไม่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวใดๆในสิทธิ หน้าที่ตามกฎหมาย คือ ไม่มีผลในทางกฎหมาย และการกระทำใดๆหลังจากวันที่คุณหญิงจารุวรรณมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ แล้ว และปรากฏว่ามีการตั้งผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไว้แล้ว ที่คุณหญิงจารุวรรณกระทำในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ปฏิบัติ หน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินก็ไม่มีผลในทางกฎหมายเช่นกัน
   

@ ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นในช่วงนี้ คุณหญิงจารุวรรณก็ต้องรับผิดชอบ ใช่หรือไม่ครับ
                อันนี้ก็ตอบยากครับ  ขึ้นอยู่กับว่าความเสียหายในเรื่องนั้นเกิดจากใคร อันนี้ต้องดูเป็นเรื่องๆไป แล้วจริงๆวันนี้ก็มีปัญหาเพราะว่า ทางสตง.เองก็ยอมให้คุณหญิงจารุวรรณ เข้ามาทำงาน  แล้วผมก็เห็นข่าวมีการช่วงชิงซีนกันในการเปิดงานต่างๆอีก ก็เลยประหลาดว่าตกลงใครเป็นผู้แทนขององค์กร  

@ รัฐบาลจะเข้าไปจัดการอะไรได้บ้างหรือไม่
              ก็จะยุ่งยากอยู่ คือ  ผมคิดว่าในที่สุด  อาจจะต้องมีการตั้งประเด็นไปแล้วก็ฟ้องศาล ประเด็นที่จะไปฟ้องศาลก็คือว่า  ถ้าคุณหญิงจารุวรรณเกิดสั่งการมา  กระทบกับสิทธิหน้าที่ของบุคคล แล้วเกิดมีการบังคับตามคำสั่งนั้น คนที่รับการสั่งการของคุณหญิงจารุวรรณ  ต้องเอาเรื่องนั้นไปฟ้องศาลว่า คำสั่งที่สั่งการนั้น  มันใช้ไม่ได้ ขอให้ศาลเพิกถอน หรือที่ถูกต้องยิ่งกว่าคือขอให้ศาลประกาศความเสียเปล่า หรือการใช้บังคับไม่ได้ของคำสั่ง เพราะผู้สั่งการไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่  ไม่มีอำนาจในตำแหน่ง คำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งที่ออกโดยองค์กรเจ้าหน้าที่ของของรัฐ  ถ้าว่ากันตามทฤษฎี อาจจะต้องถึงขนาดชี้ว่าไม่เกิดมีคำสั่งนั้นขึ้นเลยด้วยซ้ำไป

          เรื่อง ที่ไปศาลอาจเป็นไปอีกกรณีหนึ่ง คือ เจ้าหน้าที่ของสตง.ไม่รับฟังคำสั่งของคุณพิศิษฐ์ แต่ไปฟังคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณ กรณีนี้คุณพิศิษฐ์ก็อาจสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย ซึ่งในที่สุดก็อาจมีเรื่องไปศาลเหมือนกัน ที่เป็นตลกเศร้าๆสำหรับคนในองค์กรนี้ก็คือจะได้คอยลุ้นกันว่าใครจะฟ้องใคร ยังไง และใครอยู่ในฐานะผู้ทรงอำนาจในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

    อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลอาจจะช่วยได้ ก็คือ ถ้าเดินตามแนวทางของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็อาจจะเริ่มกระบวนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่เลย เพียงแต่แนวทางนี้ก็อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะบางส่วนเห็นควรจะรอกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่ก่อน บางส่วนก็เห็นว่าสรรหาไม่ได้จะต้องสรรหาตามกฎหมายใหม่ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็พัวพันกันมานั่นแหละ ผมเห็นว่าสามารถดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ตามกฎหมายที่ ใช้บังคับในปัจจุบันได้ อันนี้อาจจะเทียบเคียงกับกรณีรอยต่อระหว่างกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่กับกฎหมาย ที่กำลังจะได้รับการตราขึ้นในกรณีของการสรรหาคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ (กทช.) ที่เพิ่งจะกระทำไปเมื่อไม่นานมานี้ได้

Tags : ดร.วรเจตน์ ปมปัญหาสตง. ใครกันแน่ ตัวจริง คุณหญิงจารุวรรณ พิศิษฐ์ ตลกเศร้า

view