สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง:เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คนไทย90%ถือครองที่ดินไม่ถึง1ไร่ แต่กลุ่มที่เหลืออีก10%ครองที่ดินมากกว่า100ไร่ และที่ดินมากกว่า70%ผู้จับจองปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า
1. ปัญหาการกระจายรายได้และการกระจายความมั่งคั่งหรือทรัพย์สิน

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เผชิญปัญหาทางสังคมที่สำคัญหลายด้าน เช่น การขาดโอกาสทางสังคม และปัญหาอาชญากรรม โดยสาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าว เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ และความมั่งคั่ง ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อปี 2547 ระบุว่า กลุ่มประชากร 20% ที่มีรายได้สูงสุด มีสัดส่วนรายได้เกินครึ่งหนึ่งของรายได้ของประชากรทั้งประเทศ คือ 55.2% ในขณะที่กลุ่มประชากร 20% ที่ยากจนสุด มีรายได้เพียง 4.3% ซึ่งตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2550 ก็ไม่แตกต่างจากปี 2547 อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ข้อมูลของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย มูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทย การลงทะเบียนคนจนของกระทรวงพาณิชย์ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า การถือครองที่ดินของประชากรไทยมีสัดส่วน ดังนี้

(1) ประมาณ 90% ของคนไทย มีที่ดินถือครองไม่ถึง 1 ไร่ ในขณะที่คนกลุ่มที่เหลืออีก 10% ถือครองที่ดินคนละมากกว่า 100 ไร่

(2) มากกว่า 70% ของที่ดินที่มีผู้จับจอง ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ แต่เป็นการถือครองเพื่อเก็งกำไร

(3) มีเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินมาลงทะเบียน เรื่องปัญหาที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านครอบครัว (ประมาณ 9.6 ล้านคน)

(4) ในกรุงเทพมหานคร กลุ่มคนที่มีที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรก ถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มคนที่มีที่ดินน้อยที่สุด 50 อันดับสุดท้าย 390,000 เท่า

2. ปัญหาการจัดเก็บภาษีในปัจจุบัน : ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่

ภาษีที่มีการจัดเก็บจากการถือครองทรัพย์สินในปัจจุบันคือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเป็นรายได้อยู่ในปัจจุบัน พบว่า มีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของฐานภาษีและอัตราภาษี กล่าวคือ

2.1 ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ใช้ค่ารายปี หรือค่าเช่าต่อปี เป็นฐานภาษีซึ่งมีความซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้ที่จัดเก็บจากรายได้ค่าเช่า

2.2 ภาษีบำรุงท้องที่ ประเมินจากฐานราคาปานกลางของที่ดินปี 2521-2524

2.3 อัตราภาษี ภาษีบำรุงท้องที่มีโครงสร้างอัตราภาษีถดถอย กล่าวคือ สำหรับราคาปานกลางของที่ดินต่ำกว่าไร่ละ 30,000 บาท อัตราภาษีเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ที่ 0.50% ส่วนราคาปานกลางของที่ดินเกินกว่าไร่ละ 30,000 บาท อัตราภาษีเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ที่ 0.25%

3. มาตรการภาษีเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

3.1 การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
 ให้มีการยกเลิกภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน แล้วจัดเก็บเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจัดเก็บจากบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และผู้ครอบครอง หรือทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐ โดยจัดเก็บจากมูลค่าทรัพย์สินซึ่งคำนวณจากฐานราคาประเมินทุนทรัพย์ประเภทที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดตามประมวลกฎหมายที่ดินที่เป็นปัจจุบัน และเพดานที่เรียกเก็บ 3 อัตรา คือ อัตราภาษีทั่วไปไม่เกิน 0.5% ที่อยู่อาศัยโดยไม่ประกอบเชิงพาณิชย์ ไม่เกิน 0.1% และที่เกษตรกรรมไม่เกิน 0.05%

สำหรับที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินใน 3 ปีแรกให้เสียภาษีไม่เกิน 0.5% ตามอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา หากยังมิได้ทำประโยชน์อีกให้เสียเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ในทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน

อัตราภาษีที่เรียกเก็บดังกล่าว จะกำหนดโดยคณะกรรมการอัตราภาษีจากส่วนกลาง กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นว่าอัตราภาษีที่คณะกรรมการต่ำเกินไป ก็สามารถกำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินเพดานอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด

3.2 การแก้ไขความเหลื่อมล้ำของการจัดเก็บภาษี
การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำการจัดเก็บภาษีได้ในประเด็นดังต่อไปนี้

3.2.1 ฐานภาษี แก้ไขปัญหาการใช้ฐานราคาปานกลางของที่ดินที่ไม่เป็นปัจจุบัน (ปี 2521-2524) ในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ และการใช้ดุลยพินิจในการประเมินค่ารายปีกรณีเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง ในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นการจัดเก็บจากฐานราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดที่เป็นปัจจุบัน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

3.2.2 การผลักภาระภาษี ผู้เช่าโรงเรือนถูกผลักภาระภาษีโรงเรือนและที่ดินจากผู้ให้เช่า จะเสียภาษีจากฐานค่าเช่ารายปี แต่กรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้เช่าจะเสียภาษีตามการใช้ประโยชน์จริง เช่น เช่าโรงเรือนอยู่อาศัยจะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย เช่าที่ดินทำเกษตรกรรมจะเสียภาษีในอัตราเกษตรกรรม

3.2.3 อัตราภาษี แก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในอัตราถดถอย และการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตราที่สูงเกินไป เป็นการจัดเก็บภาษีในอัตราคงที่บนฐานราคาประเมินทุนทรัพย์ในอัตราภาษีเฉลี่ยที่สอดคล้องกับอัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน

3.2.4 การยกเว้นภาษี แก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรม กรณีเจ้าของบ้านอยู่อาศัยเองไม่ต้องเสียภาษี
ในขณะที่ผู้เช่าโรงเรือนถูกผลักภาระภาษี เนื่องจากได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน และได้รับลดหย่อนที่ดินจากภาษีบำรุงท้องที่ เป็นให้เสียภาษีรวมถึงบ้านอยู่อาศัยเอง โดยยกเว้นภาษีบ้านอยู่อาศัยเฉพาะผู้ยากจน

3.2.5 การใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตราที่สูงสำหรับที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินในระดับหนึ่ง

----------------------

***บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

Tags : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

view