สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กระดูกพรุน...โรคร้ายในอนาคต

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : คาเฟ เบลอ


โรคกระดูกพรุนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 6 ที่คร่าชีวิตคนไทย จากกระดูกสะโพกหัก ซึ่งโรคที่ว่าเคยเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของสตรีชราในทวีปยุโรป
เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท ไวเอท คอนซูเมอร์ เฮลท์แคร์ (ประเทศไทย) ร่วมกับ มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดสัมมนาหัวข้อ โรคกระดูกพรุน...ภัยเงียบที่ต้องระวัง เพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคก่อนเกิดโรค เพราะโรคนี้จัดเป็นผู้ร้ายอันดับต้น ๆ ดังข้อมูลที่นำเสนอว่า

โรคกระดูกพรุนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 6 ที่คร่าชีวิตคนไทย จากกระดูกสะโพกหัก ซึ่งโรคที่ว่าเคยเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของสตรีชราในทวีปยุโรป ที่มักจะอยู่คนเดียวขาดผู้ดูแลและมักจะลื่นหกล้มในฤดูหนาว หรือในพื้นที่ปกคลุมด้วยหิมะ ในเอเชียโรคกระดูกพรุนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีเหตุปัจจัยจากการบริโภคแคลเซียมต่ำเกินไป

โดยในงานนี้ ดร.เบสส์-ดอร์สัน-ฮิวจ์ ศาสตราจารย์ด้านแพทยศาสตร์ และผู้อำนวยการปฏิบัติการวิจัยเมตาบอลิซึมในกระดูก แห่งศูนย์วิจัยโภชนาการมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงตามวัย จากมหาวิทยาลัยทัฟฟ์ อเมริกา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในแต่ละปีมีตัวเลขผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากสาเหตุโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 1990 มีราว 1.66 ล้านคน คาดว่าปี 2050 น่าจะมีผู้ป่วยราว 6.26 ล้านคนทั่วโลก ในเอเชียมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มมากกว่าภูมิภาคอื่น เพศหญิงมีความเสี่ยงการเพิ่มสูงขึ้นกว่าเพศชาย สาเหตุเพราะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คนเอเชียมีอายุยืนมากกว่าเดิมและผู้หญิงมักจะบริโภคแคลเซียมน้อยเกินต้องการ

มีตัวเลขระบุว่า คนไทยได้รับแคลเซียมต่อวันน้อยเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ เมื่อเทียบกับสตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หญิงไทยก็ยังกินแคลเซียมน้อยกว่า โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 300 มิลลิกรัม ต่อคน ต่อวัน ซึ่งปกติคนเราควรได้รับแคลเซียม 1,000-1,500 มิลลิกรัม ต่อวัน
 

นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ แห่งมูลนิธิโรคกระดูกพรุน ผู้เข้าร่วมสัมมนากล่าวเสริมว่า ตัวเลขล่าสุดพบว่า อัตราเสี่ยงโรคกระดูกพรุนของหญิงไทยเทียบกับชายไทยอยู่ที่ 3 ต่อ 1 อันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากกระดูกสะโพกหักนั่นเอง ส่วนเหตุปัจจัยจากอาหารนั้นพบว่า คนไทยกินนมน้อย กินปลาน้อย บวกกับพฤติกรรมที่ได้รับวิตามินดีน้อยเพราะไม่ชอบออกกลางแดด วิตามินดีมีประโยชน์ในการดูดซับแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย กินก็น้อยแถมกลัวแดดส่งผลให้มีอัตราเสี่ยงโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น
 

ทำไมถึงต้องป้องกันโรคกระดูกพรุน คุณหมอทวี บอกว่า เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแพงมาก เป็นภาระต่อครอบครัวและต่อประเทศชาติ หรือเมื่อป่วยแล้วก็ดูแลรักษาลำบาก ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ในประเทศอเมริกา แคนาดา และในทวีปยุโรป มีตัวเลขค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนสูงถึง 48 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
 

ในงานนี้มี นีน่า - กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์ กับคุณแม่ มาร่วมพูดคุยให้คำแนะนำเรื่องการดูแลตัวเองก่อนเกิดโรคกระดูกพรุน พิธีกรสาวเล่าว่า เธอเคยประสบอุบัติเหตุจนกระดูกข้อเท้าแตก ตอนอายุ 26 ปี หมอบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำรงชีวิตไม่ปกติ เช่น กินอาหารแคลเซียมน้อย หมอได้แนะนำให้เธอบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการหรือเสริมวิตามินเพื่อบำรุงกระดูก รวมถึงแร่ธาตุจำเป็น วิตามินดี และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรง
 

คุณหมอทวี ให้คำแนะนำปิดท้ายว่า เมื่อรู้สาเหตุของโรคภัยแล้ว การหาทางป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ย่อมดีกว่าเกิดโรคภัยแล้วมาแก้ไขทีหลัง โดยมีหลักการที่ทุกคนทำเองได้ เช่น กินอาหารให้ครบหมู่ รวมทั้งให้ร่างกายได้รับแคลเซียมขั้นต่ำ วันละ 600 มิลลิกรัม และควรได้รับวิตามินดี แร่ธาตุจำเป็นในการเสริมสร้างกระดูก เช่น แมกนีเซียม แมงกานีส ทองแดง สังกะสี เป็นต้น การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกได้ดีและลดภาวะการสูญเสียกระดูกเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
 

ยังไม่แก่รีบก็เตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ คนวัยหนุ่มสาวควรดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม เสริมสร้างความหนาแน่นให้กระดูกเพราะเมื่อถึงวัยไม้ใกล้ฝั่ง จะมาเสริมเพิ่มอะไรก็ไม่ทันแล้ว อย่างที่คนโบราณมีคำพูดเปรียบเปรยว่า “กันไว้ดีกว่าแก้ ถ้าแย่แล้วแก้ไม่ทัน” ท่องจำให้ขึ้นใจ เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนนั่นเอง

ข้อมูล : Wyeth Consumer Healthcare

Tags : กระดูกพรุน โรคร้ายในอนาคต

view