สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนะรัฐมุ่งขยายโอกาส สู่ความสำเร็จขจัดเหลื่อมล้ำ

บทวิเคราะห์ชิ้นนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น และจะนำเสนอในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีครั้งที่ 2 ของธนาคารไทยพาณิชย์
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์เชิงลึกถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมในไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และหากยังแก้ไขแบบเดิมๆ ก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น บทวิเคราะห์ชิ้นนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น และจะนำเสนอในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีครั้งที่ 2 ของธนาคารไทยพาณิชย์ วันที่ 3 ก.ย. นี้

ไทยเป็น 1 ในเพียง 13 ประเทศที่ระบบเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ในอัตราเฉลี่ย 7% ต่อปีเป็นระยะกว่า 25 ปี โดยยุคทองของเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงปี 1960-1997 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงเฉลี่ยต่อคน (GDP per capita) เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ใน 13 ประเทศดังกล่าว มีเพียง 6 ประเทศ ซึ่งรวมถึง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่นเท่านั้น ที่ระบบเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง จนทำ GDP per capita สูงขึ้นมีระดับเทียบเท่ากับประเทศร่ำรวย แต่น่าเสียดายที่ไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่เหลือซึ่งรวมถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับค่อยๆ ลดลงในเวลาต่อมา

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยทำให้ความยากจนในไทยลดลงได้เป็นอย่างดี จากอัตราส่วนความยากจน (headcount ratio) ซึ่งเป็นร้อยละของประชากรที่ดำรงชีพด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าระดับค่าใช้จ่ายมาตรฐานที่กำหนด (เส้นความยากจน : poverty line) โดยหากใช้ระดับค่าใช้จ่ายมาตรฐานที่ 2 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อวันที่ได้ปรับความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (purchasing power parity) แล้ว พบว่าอัตราส่วนความยากจนในไทยได้ลดลงจากกว่า 26% ในปี 1992 เหลือเพียงประมาณ 12% ในปี 2004 อันเป็นผลมาจากความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ

กล่าวคือ อัตราส่วนความยากจนจะลดลง เมื่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ GDP per capita สูงขึ้น โดยอัตราส่วนความยากจนของไทยนั้น แท้จริงแล้วนับว่าต่ำเมื่อเทียบกับระดับ GDP per capita ที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม ประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่ม “เฉียดจน” ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก จากตัวเลขอัตราส่วนความยากจนอย่างเป็นทางการที่ลดลงอย่างน่าประทับใจ อาจทำให้หลายคนลืมข้อเท็จจริงที่ว่ายังมีประชากรอีกจำนวนมากที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากมีการขยับเส้นความยากจนขึ้นเพียงเล็กน้อย จะทำให้ประชากรจำนวนมากถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนยากจนทันที กล่าวคือในขณะที่ประชากรเพียง 12% มีรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน แต่มีถึง 29% ที่รายได้ต่ำกว่า 3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน

การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่เครื่องมือที่ช่วยลดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ที่มีประสิทธิภาพมากนัก ดังเห็นได้จากความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประชากร 20% ที่รวยที่สุดมีรายได้รวมกันเกือบ 55% ของรายได้ประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ประชากร 20% ที่ยากจนที่สุดมีรายได้รวมเพียง 4% เท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจาก 20 ปีก่อนหรือในช่วงปี 1990 เท่าใดนัก

หากใช้ดัชนีชี้วัดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ที่ใช้โดยทั่วไป เช่น สัดส่วนรายได้ของประชากรที่มีรายได้สูงและที่มีรายได้ต่ำ และค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) จะเห็นได้ว่าความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ของไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ มาก แม้เปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันเอง ยิ่งไปกว่านั้นความมั่งคั่งมีการกระจายอย่างไม่เท่าเทียมมากกว่ารายได้ด้วยซ้ำไป

เราควรทำอย่างไร?

ในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของรายได้นั้น ธนาคารไทยพาณิชย์เห็นว่ามีหลายประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข และจะต้องมีความร่วมมือกันทุกๆ ภาคส่วน

ประเด็นที่ต้องดำเนินการ ได้แก่

ประการแรก ควรให้ความสำคัญอย่างชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านโอกาสมากกว่าด้านรายได้

ประการที่ 2 อย่าเน้นการกระจายรายได้และการอุดหนุนจนมากเกินไป เพราะการให้เงินอุดหนุนและให้สิทธิอาจได้รับความนิยมในทางการเมือง แต่ไม่น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจะมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมได้จริง ประสบการณ์จากหลายๆ ประเทศ รวมทั้งไทยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การให้เงินอุดหนุนและให้สิทธิมักเกิดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นแก้ปัญหาของคนยากจน แต่ประโยชน์มักตกไปอยู่กับคนที่ร่ำรวยมั่งคั่ง

การรับประกันราคาข้าวนับเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านนี้ โดยข้อมูลประมาณการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บ่งชี้ว่ามีข้าว 5.2 ล้านตันในโครงการระหว่างช่วงปี 2005-2006 ที่ส่งผลให้รัฐบาลขาดทุนสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยมีผลประโยชน์ไม่ถึง 40% ที่ตกถึงมือเกษตรกร ในขณะที่ผลประโยชน์อีกเป็นจำนวนมากตกอยู่กับกลุ่มคนอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ

ประการที่ 3 ควรมุ่งเน้นที่การพัฒนาช่องทางการเข้าถึงบริการสาธารณะหลักๆ ที่มีคุณภาพ รายงานของคณะกรรมาธิการด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ระบุได้ว่า “ความเท่าเทียมกันด้านโอกาสจะเกิดขึ้นได้ด้วยการทำให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่น ด้านสาธารณสุขและการศึกษา อย่างทั่วถึง และด้วยระบบที่รัฐบาลและภาคเอกชนสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยผลงานและความสามารถของตนเอง”

ประการที่ 4 เส้นทางที่ดีที่สุดเพื่อโอกาสที่ดีขึ้นยังอยู่ที่การศึกษาที่มีคุณภาพ การศึกษาทำให้รายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืน แต่มิได้หมายความว่าจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา เพราะงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในช่วงระหว่างปี 2003 และ 2006 แต่คะแนนสอบของเด็กไทยที่ได้จากการประเมินผลนักเรียนในระดับนานาชาติ PISA จัดโดย OECD เพื่อประเมินทักษะด้านวิทยาศาสตร์ การอ่านและคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา กลับปรากฏว่าลดลงหรือไม่ก็คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาดังกล่าว

ประการที่ 5 ภาคเอกชนจำเป็นต้องมีส่วนรวมด้วย หลายๆ ประเด็นที่กล่าวถึง เช่น การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและสาธารณสุขที่มีคุณภาพ เป็นบทบาทของทางรัฐบาล อย่างไรก็ตาม บทบาทของภาคเอกชนก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน การปรับปรุงอย่างยั่งยืนในมาตรฐานความเป็นอยู่จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงในประสิทธิภาพและอัตราการเติบโตของค่าจ้างเสียก่อน

จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ในปี 2009 พบว่า 63% ของแรงงานทั้งระบบเป็นแรงงานนอกระบบ (informal sector) ซึ่งหมายถึงผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง และไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน โดย 38% เป็นแรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม และอีก 25% อยู่ในภาคที่ไม่ใช่เกษตรกรรม ด้วยจำนวนแรงงานนอกระบบจำนวนมากเช่นนี้ทำให้บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มที่จะลดการลงทุนในทรัพยากรบุคคลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและค่าจ้าง นอกจากนั้นแรงงานนอกระบบเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในเรื่องแหล่งเงินทุนอีกด้วย

ประการที่ 6 จำเป็นต้องทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจไม่เพียงพอ แต่ก็ยังคงจำเป็นต่อการเพิ่มรายได้ในภาพกว้าง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยังช่วยให้คนรู้สึกว่าเขาหรือบุตรหลานของพวกเขานั้นจะมีโอกาสในอนาคตอีกด้วย

ประการที่ 7 เรียนรู้จากบทเรียนและเผชิญกับปัญหา วิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 สอนเราว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการก่อหนี้และหนี้ต่างประเทศมากเกินไปนั้นเป็นความเสี่ยง ส่วนวิกฤติทางการเมืองในปี 2010 ได้สอนเราว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขาด “การมีส่วนร่วม” อย่างเพียงพอ กล่าวคือ โอกาสและผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้กระจายออกไปอย่างทั่วถึงมากพอนั้น มีแนวโน้มส่งผลให้เกิดความไม่ยั่งยืน

ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องทางโครงสร้างซึ่งจะไม่หายไปด้วยตัวของมันเอง กรุงเทพฯ และภาคกลางมี GDP คิดเป็นประมาณ 50% ของ GDP ทั้งประเทศ แต่กลับมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเพียงประมาณ 20% ของ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมด (ไม่รวม ส.ส. ระบบสัดส่วน) ในทางตรงกันข้าม ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมี GDP ประมาณ 20% ของทั้งประเทศ แต่มีจำนวน ส.ส. กว่า 50% ของ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมด ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลาอันใกล้

ประการที่ 8 ในการก้าวต่อไปข้างหน้า เราจำต้องอาศัยกลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน ความขัดแย้งในครั้งนี้อาจเป็นความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในอนาคตจะเป็นในเรื่องอื่น ความขัดแย้งด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำนั้น มีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เดิมการทำการเกษตรเป็นภาคที่ใช้น้ำเป็นหลัก แต่การใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและการใช้น้ำในตัวเมืองกลับเพิ่มขึ้นสูงมาก

ขณะเดียวกัน มลภาวะเป็นพิษก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยราว 3 ใน 4 ของสิ่งปฏิกูลในประเทศยังไม่ได้รับการบำบัด ความต้องการที่ต้องแข่งขันเพื่อแย่งกันใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัดนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติปกติ แต่การแข่งขันนั้นอาจไม่ได้หมายถึงความขัดแย้งเสมอไป ความท้าทายจึงอยู่ที่การหาหนทางแก้ไขปัญหาความต้องการที่แข่งขันกันให้ออกมาในรูปแบบซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

"รัฐควรให้ความสำคัญอย่างชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านโอกาส เพื่อการไต่บันไดรายได้มากกว่าเพียงแค่กระจายรายได้ผ่านเงินอุดหนุน เพราะการกระจายรายได้เป็นนโยบายที่ผลรวมเป็นศูนย์ หรือหากมีใครได้มากขึ้นอีกคนหนึ่งต้องได้น้อยลง (zero-sum game) โดยรัฐควรมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขและการศึกษาอย่างทั่วถึง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องเพิ่มความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยแนวทางดังกล่าวนี้ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ"

Tags : แนะรัฐ มุ่งขยายโอกาส สู่ความสำเร็จ ขจัดเหลื่อมล้ำ

view