สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กลยุทธ์ซุนวู กับ การบริหารองค์กร พลานุภาพของการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

จากประชาชาติธุรกิจ



"รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง"

หนึ่ง ในกลยุทธ์การศึกตำราพิชัยสงครามของ ซุนวูที่เราได้ยินกันจนชินหู แต่หลายคนฟังแล้วอาจยังไม่รู้ว่าจะนำไปใช้กับการบริหารจัดการองค์กรของตัว เองอย่างไร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Executive Go Club (Bangkok), ชมรมภูมิปัญญาโลก World Wisdom, Chinese Alliance Center สำนักบริหารเครือข่ายทางธุรกิจ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ได้จับมือกันจัดเวทีเชิญผู้รู้อย่าง "ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย และ "ผศ.ก่อศักดิ์ ธรรมเจริญ" อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน มาร่วมแชร์มุมมอง ในเสวนาพิเศษนัดพิเศษหัวข้อ "ถกกลยุทธ์ซุนวู รู้ทันเกมธุรกิจ" เพื่อวิเคราะห์พิชัยสงครามซุนวู 13 บท ในเชิงเปรียบเทียบกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อชี้ให้เห็นแก่นแท้ของปรัชญาซุนวูที่ผู้บริหารและ ผู้ที่สนใจสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานได้ ณ หอประชุมใหญ่ สถาบันเทคโนโลยี ปัญญาภิวัฒน์ แจ้งวัฒนะ

จากสนามรบสู่สนามการค้า กระบวนการเป็นอย่างไร ?

"ก่อ ศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์" ผู้หยิบเอาปรัชญาตะวันออกมาบริหารองค์กรซีพี ออลล์ จนสร้างความสำเร็จให้กับ เซเว่นอีเลฟเว่นผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศไทย อธิบายว่า หลักปรัชญาของซุนวูคือ อย่าเสียทรัพยากรในการทำลายคู่ต่อสู้ แต่ต้องใช้ทรัพยากรในการสร้างตัวเองให้แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทอง เวลา คน เทคโนโลยี

ทุกองค์กรต้องสร้างตัวเองให้แข็งแกร่ง พัฒนาคนให้เก่ง ค้นหาต้นทุนการผลิตที่ต่ำแต่ได้ประสิทธิภาพในการทำงานสูง พัฒนาโปรดักต์ของตัวเองให้สวยและดีกว่าคู่ต่อสู้ ให้ดีกว่าเมื่อวาน

เพราะ หากองค์กรใดมีโปรดักต์ดีแต่เซลส์เซอร์วิสแย่ องค์กรก็แย่ เพราะฉะนั้นต้องเอาทรัพยากรมาเสริมองค์กรให้แข็งแกร่ง ไม่ใช่เอาทรัพยากรไปจ้างคนไปทำลายคู่ต่อสู้

กลยุทธ์ของซุนวูจะเน้นให้แข่งกับตัวเอง ไม่ใช้ทรัพยากรทำลายคู่ต่อสู้

ซึ่งจากการที่นำมาปรับใช้กับการบริหารองค์กรซีพี ออลล์ พบว่าได้ผลอย่างมาก

"เรา ต้องเปิดทางให้คู่ต่อสู้ที่แพ้และ เพลี่ยงพล้ำได้ถอยอย่างมีเกียรติ เขาก็จะยินดีเลิกราแต่โดยดี แต่ถ้าให้คู่ต่อสู้แพ้อย่างเสียหน้า เขาอาจไม่ยอมแพ้ ขอสู้ต่อ สุดท้ายก็เจ็บทั้งคู่"

อีกเรื่องหนึ่งที่ "ก่อศักดิ์" หยิบจากตำราพิชัยสงครามของซุนวูมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรแล้วเกิดผล สัมฤทธิ์ นั่นคือพลังแฝง หรือพลานุภาพ

"พลังบวกอานุภาพคือ โมเมนตัม ลองนึกภาพกองทัพ 1,000 คนกำลังจะต่อสู้กัน อีกฝ่ายหนึ่งยืนตั้งรับอยู่เฉย ๆ กับอีก ฝ่ายหนึ่งวิ่งกู่เข้าไปหา แรงปะทะที่เกิดจากการวิ่งเข้าไปหาด้วยคนจำนวนเท่ากันจะทำให้ฝ่ายที่วิ่งไปหา เป็นฝ่ายชนะ เพราะมีพลังที่เกิดจากการวิ่ง

หากยังนึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงน้ำที่เมื่อเราเอามือสัมผัสจะรู้สึกนุ่ม ๆ แต่เมื่อไรที่น้ำไหลมาด้วยความแรงสูงก็สามารถพัดเอาก้อนหินที่มีน้ำหนักหลาย ร้อยกิโลกรัมกระเด็นได้ หรือแม้กระทั่งอากาศก็เช่นเดียวกัน ถ้าวิ่งด้วยความเร็วสูงก็จะกลายเป็นลมพายุกวาดเอาบ้านเรือนขึ้นไปบนท้องฟ้า ได้

สิ่งเหล่านี้เรียกว่าพลานุภาพ

ดังนั้นกองทัพไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ถ้าจัดให้เกิดพลัง ก็จะมีพลังมหาศาล

ซึ่งความกล้าหาญก็คือพลังชนิดหนึ่ง

ใจที่เตรียมรบอย่างฮึกเหิม คือพลานุภาพอย่างหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ทุกองค์กรต้องจัดทัพให้มีพลานุภาพที่สุด เพื่อหยิบชิ้นปลามันได้แม่นยำและใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด

"ในการต่อสู้คุณอาจจะชนะในสนามรบแต่คุณอาจจะแพ้สงครามได้"

"ก่อ ศักดิ์" บอกว่า ถ้ามุ่งใช้ทรัพยากรเพื่อเอาชนะสงคราม ในสนามรบ คุณอาจพ่ายแพ้ได้ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้คิดเช่นนั้น แต่เขากลับคิดว่า จะใช้ทรัพยากรอย่างไรให้แพ้ช้าที่สุด จึงเอากำลังที่มีอยู่กระจายไปคุมพื้นที่ในหลายสนามรบ ทำให้กลายเป็นกองทัพที่แข็งแกร่ง ซึ่งต่างจากคนที่มุ่งเอาชนะอย่างเดียวซึ่งนอกจากจะทำให้สูญเสียทรัพยากร จำนวนมากแล้วยังอาจทำให้ตัวเองบาดเจ็บและแพ้ในที่สุด

"ก่อศักดิ์" ขยายความต่อไปว่า หากอ่านตำราของซุนวูดี ๆ จะพบว่า ซุนวูพูดไว้ชัดว่า ในการรบคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเอง ไม่แพ้ก่อน เพราะการทำให้ตัวเองไม่แพ้อยู่ที่ตัวเรา การจะทำให้คู่ต่อสู้แพ้ก็อยู่ที่คู่ต่อสู้ เราทำให้ตัวเราไม่แพ้ได้ แต่เราไปทำให้ คู่ต่อสู้แพ้ไม่ได้ ถ้าคู่ต่อสู้จะแพ้ก็จะเกิดจากคู่ต่อสู้ทำตัวเองแพ้

ฉะนั้นถ้าเผลอลงไปเอาชนะคู่ต่อสู้ ก็เท่ากับเป็นการยกชัยชนะให้กับคู่ต่อสู้

เพราะชัยชนะไม่สามารถใช้มือเอื้อมไปหยิบมาได้ แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองแพ้

สิ่งที่ทำได้คือ ใช้กำลังอย่างระมัดระวัง เสริมตัวเองให้มีความแข็งแกร่งอยู่ตลอดเวลา

ตำราพิชัยสงครามของซุนวูจึงเขียนไว้ว่า ถ้าเจอคู่ต่อสู้ที่แพ้ ฝ่ายชนะจึงชนะ

ฟังดูเหมือนง่ายดาย แต่จริง ๆ แล้วเป็นพราะฝ่ายชนะเตรียมตัวมาดีมาก

พลัง อีกอันหนึ่งที่ "ก่อศักดิ์" บอกว่า สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ พลังของคอนเน็กชั่น แม้ว่าจะเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินทุนเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้ารู้จักสร้างคอนเน็กชั่นก็จะเกิดพลัง มีคนคอยสนับสนุน

ถ้าทุก คนเข้าใจคำว่า พลัง ก็จะบริหารทีมงานให้เกิดพลังสูงสุด ในยามวิกฤตอาจยอมสูญเสียกำไรจากที่เคยได้รับ 100% อาจจะเหลือ 80% แต่ได้ทีมงานที่มีพลังสูงสุด ธุรกิจก็อยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ไปมุ่งเอากำไรสูงสุด ก็อาจจะสูญเสียพลังสูงสุดเพราะต้องตัดลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลดคน ลดการฝึกอบรม ซึ่งทำให้พนักงานเสียขวัญและกำลังใจ

ฉะนั้นจะต้องดูว่าจะบริหาร องค์กรอย่างไรให้เกิดพลัง พนักงาน 100 คนที่มีอยู่ทุกคนพร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อองค์กรหรือไม่ เพราะถ้าทุกคนไม่มีใจทำงาน ต่อให้มีคนเยอะก็เหมือนมีคนน้อย แต่ถ้าคนในองค์กรพร้อมรบเสมอ ต่อให้มีคนน้อยก็เหมือนมีคนมาก

ด้าน "ผช.ศ.ก่อศักดิ์ ธรรมะเจริญกิจ" เสริมว่า การนำเอาปรัชญาซุนวูมาทำธุรกิจไม่ต้องเอามามากหรอก แค่ประโยคสองประโยคก็ทำได้ ยกตัวอย่างประโยคที่นิยมใช้กัน "รู้เขารู้เรา"

ในการทำธุรกิจจะรู้เขารู้เรารู้อย่างไร

อัน ที่หนึ่งคือ รอบรู้ รู้คุณสมบัติ เบื้องหน้า เบื้องหลังของบุคคลคนนั้น ของ คู่ต่อสู้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เงื่อนไขที่เป็นปัจจัยภายใน ภายนอก ชัยภูมิที่ตั้งต่าง ๆ จำเป็นต้องรู้ทั้งสิ้น

อันที่สอง รู้วิเคราะห์ ถ้ารู้ว่าองค์กรต้องการผลประโยชน์อย่างไรก็ต้องมองให้เห็นว่าผลประโยชน์อยู่ ตรงไหน แล้วจะแก้อย่างไรให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

อันที่สาม รู้อนาคต ในฐานะผู้นำองค์กรต้องมองให้เห็นอนาคตขององค์กร โดยอาศัยข้อมูลจากการเซอร์เวย์ตลาด การทำวิจัยต่าง ๆ มาประกอบ

เท่า นั้นยังไม่พอ จะต้องทำให้เขารู้เราด้วย เพราะถ้าเขาไม่รู้เรา การประสานความร่วมมือ การขอความช่วยเหลือต่าง ๆ ก็ลำบาก ยกตัวอย่าง ถ้าจะถามว่า ใครรู้จักประธานาธิบดีของสหรัฐบ้าง ทุกคนยกมือ แต่ถามว่า ถ้าให้ไปขอความช่วยเหลือจากประธานาธิบดีสหรัฐทุกคนทำได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่รู้จักเรา ดังนั้นจึงต้องทำให้เขารู้จักเราด้วย นั่นคือต้องทำตัวให้โดดเด่น การดำเนินธุรกิจจึงจะรุ่งโรจน์

ท้ายที่สุดทั้ง 2 ก่อศักดิ์ก็สรุปตรงกันว่า บนเวทีการแข่งขันอย่าคิดแต่จะเอาชนะผู้อื่น แต่ให้ดูแลตัวเอง แข่งกับตัวเอง ทำอย่างไรวันนี้จะดีกว่าเมื่อวาน ทำอย่างไรพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ และการพัฒนาตัวเองทุกวันนี่แหละที่จะนำชัยชนะมาให้

Tags : กลยุทธ์ซุนวู การบริหารองค์กร พลานุภาพ การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

view