สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตรวจข้อมูลยานเกราะยูเครน ทบ.โต้ข้อครหาเศษเหล็กล้อยาง

จาก โพสต์ทูเดย์

เปิดข้อมูลจัดซื้อยานเกราะล้อยางจากยูเครนของกองทัพ สตง.แฉยูเครนนำรถเก่าของรัสเซียมาดัดแปลงขายให้ ขณะที่ทบ.โต้เป็นรถใหม่ที่ถูกออกแบบโดยสถาบันKMDBของยูเครนพร้อมติดตั้ง อาวุธ5ระบบแตกต่างจากของรัสเซีย

โดย.....ธรรมสถิตย์  ผลแก้ว

ในที่สุดคณะรัฐมนตรี( ครม.) ก็อนุมัติการแก้ไขความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลยูเครน ว่าด้วยการซื้อขายยานเกราะล้อยาง  BRT-3E1 ตามข้อเสนอของกระทรวงกลาโหม  จากข้อมูลที่กองทัพบกเสนอ  สืบเนื่องจากเรื่องดังกล่าว ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่  25 ก.ย.  2550  อนุมัติให้กองทัพบกก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ปี 2550-2553และให้ผู้บัญชาการทหารบก หรือ ผู้แทน (เจ้ากรมสรรพาวุธ) เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย รวมทั้งการลงนามในเอกสารแก้ไขข้อตกลงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง  เฉพาะกรณีแก้ไขรายละเอียดที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และ ไม่เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปี ในการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง BRT-3E1 จำนวน 96 คัน พร้อมทั้งระบบการฝึกศึกษา การอบรมฯ  โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล  กับรัฐบาลยูเครน  เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 51

ต่อมา กองทัพบกได้ทำหนังสือขอหารือ สำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวกับการแก้ไขความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับ รัฐบาลยูเครนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ และ เปลี่ยนเครื่องเปลี่ยนความเร็ว เพราะหน่วยงานการควบคุมอนุญาตให้ส่งออกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องยนต์ไม่อนุญาตให้ทำการส่งออกเครื่องยนต์ดัง กล่าวให้กับประเทศไทย

ซึ่งกรณีนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พิจารณาแล้ว เห็นว่า   การขอแก้ไขดังกล่าวเป็นการขอแก้ไขในสาระสำคัญ  และ อาจทำให้ราชการเสียประโยชน์  รวมทั้งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ขาย   จึงได้แจ้งให้ รมว.กลาโหม ทบทวนกระบวนการจัดซื้อ  และ แก้ไขความตกลงดังกล่าว

สตง. ยังเห็นว่า   โดยหลัก หรือ ความตกลงเป็นหนังสือที่ลงนามแล้วจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้  เว้นแต่การแก้ไขนั้นเป็นความจำเป็น โดยไม่ทำให้ทางราชการต้องเสียประโยชน์ หรือเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ  พ.ศ.2535 ข้อ 136 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ และ เครื่องเปลี่ยนความเร็วกรณีนี้ อาจทำให้ราชการเสียประโยชน์ และอาจเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ขายได้

 

รถหุ้มเกราะล้อยางรุ่น BRT-3E1 / ภาพ : armyrecognition.com

“เพราะ เครื่องยนต์ MTU รุ่น 6R 106 TD 21  ที่รัฐบาลยูเครนนำมาติดตั้งทดแทนเครื่อง DEUTZ รุ่น BF6 M 1015  ตามความตกลงที่ได้ทำไว้เดิม อาจมีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่าหรือดีกว่าเดิม  โดยมีข้อบกพร่องหลายประการ และ หากเป็นเครื่องยนต์ที่ไม่มีประจำการในประเทศผู้ผลิต หรือ ประเทศอื่นซึ่งไม่มีเกียรติภูมิทางการรบมาก่อน  ประกอบกับไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ออกแบบ แต่เป็นการดัดแปลงจากยานเกราะล้อยางรุ่นเก่า  อาจไม่เป็นไปตามคุณลักษณะเฉพาะของยานเกราะล้อยางที่พึงประสงค์ ตามที่คณะทำงานคัดเลือกแบบยานเกราะล้อยางที่คัดเลือกแบบไว้  และ อาจไม่เป็นธรรมกับผู้เสนอแบบรายอื่นที่เสนอยานเกราะได้มาตรฐาน ประกอบกับ สตง.ไม่เห็นพ้องกับคำชี้แจงของกรมส่งกำลังบำรุง

ประเด็นการพิจารณาของสำนักอัยการสูงสุดนั้น ระบุ ว่า 1. คณะกรรมการคัดเลือกฯ  เคยชี้แจงต่อทุกบริษัทที่ได้ยื่นแบบเข้าเสนอในการคัดเลือกแล้วว่า  ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะล้อยางทุกบริษัทต้องไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ทางด้านต่างประเทศที่ไม่สอดคล้องหรือไม่เห็นด้วย กับการปกครองของประเทศไทย ในขณะทำการคัดเลือกแบบฯ ให้ถือว่า บริษัทที่เสนอสินค้าทุกบริษัท  ต้องไม่มีภาระทางด้านการเมืองและปกครองที่ต้อต้าน หรือไม่สนับสนุนการขายสินค้าให้กับกองทัพบก ซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติในการเสนอสินค้า

2.การเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ของประเทศยูเครน   ฝ่าฝืนการให้คะแนนของคณะกรรมการฯ  เนื่องจาก จีน ได้นำเสนอเครื่องยนต์โดยมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม  ก็ไม่สามารถผ่านคุณสมบัติด้านเครื่องยนต์  คณะกรรมการฯ  ถือว่าไม่พิจารณาเข้าสู่กระบวนการตัดสิน (สอบตก) จึงถือว่าการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ถือเป็นการเปลี่ยนในสาระสำคัญ  ซึ่งมีผลต่อการให้คะแนนเพราะต้องถือวาประเทศยูเครนไม่เคยมีเครื่องยนต์ ยี่ห้อดังกล่าวเสนอ ณ ปัจจุบัน  เนื่องจากไม่สามารถจัดหาได้ตามคำเสนอขายแก่กองทัพบก

3.รายงานความเห็นของคณะกรรมการฯ  ได้รายงานว่า เมื่อเปลี่ยนเครื่องยนต์จะมีคุณสมบัติเทียบเท่า  และสามารถตอบสนองความต้องการด้านยุทธการ  ด้านส่งกำลังบำรุงได้เป็นอย่างดี  และ มีคุณลักษณะบางประการดีกว่าเครื่องยนต์เดิม คือ สิ้นเปลื้องเชื้อเพลิงน้อยลง มีมาตรฐานทางนิเวศวิทยาสูงกว่าเดิม  มีการเปลี่ยนแปลงเกียร์น้อยลง ขณะเคลื่อนที่ในภูมิประเทศ   ซึ่งแตกต่างจากความเห็นของคณะกรรมการเปลี่ยนเครื่องยนต์ของกองทัพเรือ  ที่รายงานว่า ความเร็วในการวิ่งต่ำกว่าข้อเสนอ , ระบบเกียร์อัตโนมัติเปลี่ยนไปจากที่เคยเสนอมี 6 เกียร์เดินหน้า  เปลี่ยนเป็น 3 เกียร์เดินหน้า  1 เกียร์ถอยหลัง ,เครื่องยนต์มีแรงม้าลดลง  บั่นทอนกำลังขับเคลื่อนของตัวรถอย่างชัดแจ้ง  ซึ่งถือว่าการเปลี่ยนเครื่องยนต์ของยูเครนเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ที่ขายรถเท่านั้น

4.ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะล้อยางของประเทศ ยูเครน  เป็นการนำรถเก่าของประเทศรัสเซีย รุ่น BTR-70 ,BTR-80 มาดัดแปลงขายให้กองทัพบก และกองทัพเรือ ในรุ่น BTR3E1

ทั้งนี้ กองทัพบกโดยกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า   เครื่องยนต์เดิมของ BTR-3E1  ติดตั้งเครื่อง Deutz  BR6M1015 (ผลิตภัณฑ์ของสหพันธรัฐเยอรมนี) และ เครื่องเปลี่ยนความเร็ว Allison รุ่น MD 3066 (ผลิตภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกา)   โดยภายหลังการลำนามในความตกลงฯ  หน่วยงานควบคุมการอนุญาตให้ส่งออกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  ได้ปฏิเสธการส่งออกยุทโธปกรณ์ทางทหาร รวมทั้งเครื่องยนต์  Duetz  เนื่องจากติดขัดเรื่องปัญหาสถานการณ์การเมืองภายใน และ สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยฝ่ายยูเครนได้แสดงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา หรือ ทำการหารือฉันท์มิตรกับกองทัพบกอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งมอบยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพบกตามที่ได้มีการ ลงนามไว้  ซึ่งจะกระทบต่อความพร้อมรบของกองทัพ   จึงเห็นว่าการดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบกำลัง / Power Pack  (เครื่องยนต์และเครื่องเปลี่ยนความเร็ว) มีความจำเป็นและไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ขาย

ในการแก้ไขความตกลงฯ  เพื่อเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใด ๆ สิ่งที่กองทัพบกยึดถือเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการ คือ จะต้องไม่ทำให้ทางราชการเสียประโยชน์  กรณีการเปลี่ยนแปลงระบบกำลัง ที่ติดตั้งยานเกราะล้อยาง ทบ. ยึดถือหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีคุณลักษณะทางเทคนิคที่เทียบเท่า หรือ ดีกว่าเดิม และจะต้องทำให้ยานเกราะล้อยาง  มีสมรรถนะเทียบเท่าหรือดีกว่าเดิมเช่นกัน 

ทั้งนี้ต้องไม่มีค่าใช้จ่ายที่กองทัพบกต้องรับผิดชอบ  แม้ว่าฝ่ายยูเครนจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูงขึ้นก็ตาม และจากการพิจารณาข้อมูลด้านเทคนิค ความสามารถในการตอบสนองความต้องการด้านยุทธการการส่งกำลังและซ่อมบำรุงแล้ว เห็นว่าเครื่องยนต์ และ เครื่องเปลี่ยนความเร็ว มีคุณลักษณะเทียบเท่าเครื่องยนต์เดิม  และ ยังมีคุณสมบัติบางประการที่ดีกว่า ได้แก่ ความเร็วปฏิบัติการสูงกว่า   มีมาตรฐานทางนิเวศวิทยาที่สูงกว่า มีเกณฑ์สิ้นเปลืองน้ำมันที่น้อยกว่า  ทำให้ได้ระยะปฏิบัติการที่ไกลกว่าและมีความถี่ในการเปลี่ยนเกียร์น้อยลง เมื่อเคลื่อนที่ในภูมิประเทศ   โดยที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นกองทัพบก จึงเห็นว่าการแก้ไขความตกลงในครั้งนี้ไม่ทำให้ทางราชการเสียประโยชน์

“เครื่อง MTU ของสหรัฐฯ  เป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และ ระบบขับเคลื่อนทั้งระบบมากว่า 100 ปี  โดยผลิตภัณฑ์ของ  MTU  ถูกนำไปใช้งานหลากหลายทั้งทางทหารและทางภาคเอกชน โดยเฉพาะเป็นเครื่องมาตรฐานที่ใช้กับยานรบ เช่น  รถถัง M-60, Leopard, TAM ถ.K1 รถสายพาน M113 ,ปืนใหญ่อัตราจร Pamaria, ยานเกราะล้อยาง Piranha  IV , ยานเกราะล้อยาง Boxer เป็นต้น  ซึ้งประจำการในประเทศต่างๆ ที่มีเกียรติภูมิทางการรบอย่างยาวนานและเครื่องยนต์ MTU เป็นเครื่องตระกูล MERCEDES BENZ ซึงกองทัพบกมีประจำการในยานยนต์หลายชนิต  เช่น รถยนต์บรรทุก UNIMOG  ,รถยนต์บรรทุกขนาด 10 ตัน MB 2028 เป็นจำนวนกว่า 3 พันตัน  รวมทั้งการซ่อมบำรุงระดับคลัง กรมสรรพาวุธทหารบก ก็มีทั้งโรงงาน เครื่องมือ และ อุปกรณ์พิเศษตลอดจนกำลังพลที่มีขีดความสามารถและประสบการณ์ในการซ่อมบำรุง”

กองทัพบก ยังชี้แจงว่า ยานเกราะล้อยางจากยูเครน เป็นยานเกราะล้อยางที่มีเกียรติภูมิทางทหารมาเป็นเวลานาน และได้มีการปรับปรุงพัฒนาให้มีความทันสมัย มีประจำการในหลายประเทศ  หลังจากมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ คณะผู้แทนหน่วยได้เดินทางไปทดสอบการใช้งานสองครั้ง  ซึ่งผลการทดสองทำให้กองทัพบกมีความมั่นใจในความเหมาะสมและความเป็นไปได้ที่ จะให้ความเห็นชอบให้โรงงานผู้ติดตั้งเครื่องยนต์ และที่ ผู้แทนทร.ไปแล้วผลการทดสอบไม่ผ่านเกณฑ์ เพราะเป็นการดำเนินการคนละห้วงเวลา  ดังนั้นความแตกต่างของผลการทดสอบอาจเกิดจากปัจจัยสภาพแวดล้อมใดๆ ก็ได้ เพราะ ทบ.จัดตัวแทนไปทดสอบอีกครั้งก็ประจักษ์ต่อสายตาร่วมกันว่า ผ่านเกณฑ์ทุกรายการ

ในประเด็นขีดความสามารถในการบรรทุกพลรบพร้อมยุทโธปกรณ์อย่างน้อย 11 นาย สามารถติดตั้งระบบอาวุธประจำรถได้หลายประเภทตามต้องการ โดยมีป้อมปืนที่สามารถทำการต่อสู่ได้รอบตัว  สามารถใช้งานได้หลายความมุ่งหมาย  โดยเครื่องยนต์ระบุไว้ว่าต้องเป็นเครื่องยนต์ดีเซลหรือสามารถใช้กับเครื่อง ยนต์หลายประเภท  มีระบบส่งกำลังบังคับเลี้ยวแบะระบบเบรกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมากำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ของกอง ทัพบก จากนั้นจึงเข้าสู่การดำเนินกรรมวิธีจัดหา ซึ่งเป็นขั้นตอนการพิจารณาที่แยกจากกัน โดยดำเนินการจัดซื้อรัฐบาลต่อรัฐบาล 

ส่วนประเด็นที่ระบุว่า  เป็นการนำรถเก่า BRT-70 หรือ BRT-80 จากรัสเซียมาดัดแปลงให้ ทบ.-ทร.นั้น ในข้อเท็จจริงเป็นของใหม่ อีกทั้ง BRT-3E1 ได้รับการออกแบบโดยสถาบัน KMDB ของประเทศยูเครน  ซึ่งมีการติดตั้งอาวุธถึง 5 ระบบ  พร้อมระบบควบคุมการยิง  มีความแตกต่างในรายละเอียดการออกแบบ และมีมิติที่แตกต่างกันด้วย

จึงไม่มีความเป็นไปได้ ที่ยานเกราะของยูเครน  จะเป็นยานเกราะเก่าที่นำมาดัดแปลง

Tags : ตรวจข้อมูล ยานเกราะยูเครน ทบ. ข้อครหา เศษเหล็กล้อยาง

view