สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สหรัฐนับถอยหลัง โลกาวินาศทางเศรษฐกิจ

สหรัฐนับถอยหลัง โลกาวินาศทางเศรษฐกิจ

จาก โพสต์ทูเดย์

จากผลสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันโดยสถาบัน Strategy One พบว่าชาวอเมริกันในสัดส่วนสูงถึง 65% ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน

โดย.......ทีมข่าวต่างประเทศ

 

สัดส่วนความเห็นที่ออกมาเท่ากันอย่างเหลือเชื่อกับการสำรวจโดยหนังสือ พิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล/NBc ที่พบว่าชาวอเมริกัน 65% ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะทรุดลง

ภาวะเช่นนี้เรียกขานกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในรูปกราฟทรง W หรือ WShaped Recession เพราะเป็นภาวะที่เศรษฐกิจดิ่งลงและฟื้นตัวสลับกันไปมาหลายระลอก คล้ายกับตัวอักษร W

นักเศรษฐศาสตร์และกูรูทางการเงินหลายต่อหลายคนเชื่อว่า สหรัฐไม่เพียงเผชิญกับภาวะอับแสงแห่งอำนาจ ในลักษณะเดียวกับที่จักรวรรดิอังกฤษเคยเผชิญเมื่อศตวรรษที่แล้วเท่านั้น

แต่สหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะโลกาวินาศ (Doomsday) ทางเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ชี้ว่า สถานการณ์ที่สหรัฐกำลังเผชิญ คือ ภาวะเปราะบางที่เสี่ยงที่จะแตกสลายได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากชาวอเมริกันเทคะแนนเลือกพรรครีพับลิกันให้เข้ามากุม เสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรส ในการเลือกตั้งช่วงกลางเทอมที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย.นี้

ครุกแมน ชี้ว่า ขณะนี้สหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะว่างงานรุนแรงในระดับใกล้ตัวเลข 2 หลัก หากพรรครีพับลิกันก้าวขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เนื่องจากนโยบายหลักของพรรคนี้ คือ การใช้งบประมาณเกินตัว หรือผลักดันให้สหรัฐจมอยู่กับตัวเลขงบประขาดดุลที่เลวร้ายลง

กูรูเศรษฐศาสตร์ เตือนว่า “งานที่น้อยลงกับงบประมาณขาดดุลรุนแรงข้น คือส่วนผสมที่ลงตัว”

ส่วนผสมที่ว่านี้ คือ สูตรแห่งมหันตภัยที่จะทำให้สหรัฐพบกับหายนะทางเศรษฐกิจยืดเยื้อ!

แม้ว่าคำเตือนของครุกแมนจะแฝงไว้ด้วยนัยทางการเมือง แต่เป็นความจริงที่ปฏิเสธได้ยาก เมื่อพิจารณาถึงความล้มเหลวของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่ไม่เพียงไม่สามารถกระตุ้นการจ้างงานเท่านั้น แต่ยังทำให้งบประมาณของสหรัฐยิ่งติดตัวแดง

ไม่เพียงเท่านั้น น้ำเสียงโจมตีพรรครีพับลิกันของครุกแมน ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามขัดขวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ในฐานะที่มีเสียงข้างมากในสภาคองเกรส โดยวางเงื่อนไขไว้ว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะต้องรวมเอามาตรการลดภาษีถ้วนหน้าไว้ด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคเดโมแครตพยายามคัดค้าน เพราะต้องการให้ยุติมาตรการลดภาษีสำหรับคนร่ำรวย เพื่อลดระดับงบประมาณขาดดุล

แต่พรรครีพับลิกันต้องการให้คงมาตรการดังกล่าว ซึ่งผลักดันโดยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ด้วยหวังผลพลอยได้ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างการโหมกระแสนโยบายลดภาษีไม่เลือกคนยากดีมีจน เพื่อโกยคะแนนในการเลือกตั้งกลางเทอม

นอกเหนือจากความดึงดันของพรรครีพับลิกันเพื่อหวังผลทางการเมืองบนความวอด วายของระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลพรรคเดโมแครตของ บารัก โอบามา ยังต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ เพราะด้อยประสิทธิภาพในการนำพาสหรัฐให้พ้นจากขอบเหว

ล่าสุดรัฐบาลโอบามายังสร้างความประหลาดใจ ด้วยการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 โดยที่พยายามเลี่ยงการใช้คำว่า “มาตรการกระตุ้น” (Stimulus) แต่ไพล่ไปใช้คำว่า มาตรการพยุงการฟื้นตัว ซึ่งเท่ากับเป็นการกลบเกลื่อนความล้มเหลวของมาตรการกระตุ้น 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นั่นเอง

อีกหนึ่งเสียงจากกูรูเศรษฐกิจที่ต้องพึงสังวร คือ คำเตือนจาก นูเรียล รูบินี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผู้เคยทำนายการเกิดขึ้นของวิกฤตซับไพรม์ได้อย่างแม่นยำ ล่าสุด รูบินี เตือนว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับภาวะช็อกอย่างฉับพลัน สหรัฐจะจมดิ่งสู่ภาวะถดถอยซ้ำซ้อนในทันที

ไม่เพียงเท่านั้น รูบินียังเป็นหัวหอกกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่ย้ำเตือนมาตลอด ไม่ให้หวังกับการฟื้นตัวของสหรัฐอย่างจริงจังมากนัก เพราะแม้ทั่วโลกจะฟื้นตัวจากภาวะถดถอย แต่สหรัฐจะยังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า หรือกระทั่งทรุดลงอีกครั้ง

ตัวการสำคัญอยู่ที่งบประมาณขาดดุลมหาศาล ซึ่งรูบินีกล่าวไว้ว่า

“เรายังอยู่เพียงแค่ขั้นตอนต่อไป คือ การเคลื่อนตัวจากปัญหาหนี้สินของภาคเอกชนมาสู่ปัญหาหนี้สินของภาครัฐ เรากลบเกลื่อนความสูญเสียของภาคเอกชนด้วยการกู้กิจการของสถาบันการเงิน และใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง กลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ แต่หนี้สาธารณะที่เพิ่งสูงขึ้น ไม่ใช่ของที่ได้มาฟรีๆ สุดท้ายแล้วเราต้องรับผลจากการเป็นหนี้”

มีการตั้งข้อสังเกตว่า แม้รูบินีจะสามารถทำนายการเกิดวิกฤตซับไพรม์ แต่เริ่มทำนายแนวโน้มภาวะถดถอยของสหรัฐผิดพลาด เพราะปรากฏว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มขยายตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ด้วยอัตราที่คึกคักถึง 2.2% ขณะที่รูบินียังเชื่อว่าสหรัฐยังยากที่จะฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม แม้คำทำนายของกูรูเศรษฐกิจจะสวนทางกับตัวเลขการขยายตัว แต่จะต้องไม่ลืมว่า หากสหรัฐกำลังมุ่งสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรูปตัว W จริง ก็มิใช่เรื่องแปลกที่จะมีการขยายตัวโดยสวนทางกับคำทำนายของรูบินี

เพราะสหรัฐจะขยายตัวอย่างเร็วในระยะสั้นๆ ก่อนที่จะดิ่งอย่างรวดเร็วอีกครั้ง หากตัวเลขว่างงานยังขยับเข้าไปใกล้ระดับ 10% เข้าไปทุกที

แท้จริงแล้วสหรัฐเคยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อนในรูปตัว W มาแล้วในช่วงทศวรรษที่ 80 และสามารถผ่านพ้นมาได้โดยที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เพราะเรแกนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ทั้งๆ ที่พาประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย

ที่น่าสนใจก็คือ โอบามากำลังเผชิญกับการทดสอบทางการเมืองเช่นเดียวกับที่เรแกนเคยประสบ กล่าวคือ พรรครีพับลิกันต้องประสบกับความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อปี 1982 เนื่องจากสาธารณชนไม่พอใจกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรครีพับลิกัน

ทำนองเดียวกัน พรรครัฐบาลเดโมแครตของโอบามากำลังรับผลลัพธ์เช่นนั้นเช่นกัน

แต่สถานการณ์ที่โอบามากำลังประสบนั้น ร้ายแรงกว่ายุคสมัยของเรแกนหลายต่อหลายเท่า เนื่องด้วยในยุคของเรแกนนั้น สหรัฐยังฉายแสงเจิดจรัสในฐานะมหาอำนาจของโลก ทั้งยังส่อแววที่สหรัฐจะโค่นล้มค่ายคอมมิวนิสต์ได้ในเวลาอีกไม่นาน

ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐในช่วงทศวรรษที่ 8090 สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในหนังสือของ ฟรานซิส ฟูกูยามา นักคิดผู้ลือนามที่ชื่อ The End of History หรือ “จุดจบประวัติศาสตร์” ที่หมายความว่า เมื่อโลกเสรีสามารถโค่นล้มโลกคอมมิวนิสต์ได้ นับจากนี้ประวัติศาสตร์ที่หลากหลายของมนุษยชาติจะผูกขาดโดยโลกเสรีที่นำโดย สหรัฐเท่านั้น

ปรากฏกว่าทัศนะของฟูกูยามาผิดถนัด เพราะฟูกูยามามิได้พิจารณาถึงรากฐานทางเศรษฐกิจที่ง่อนแง่นและสุ่มเสี่ยงของ สหรัฐ และรากฐานนี้เริ่มสั่นคลอนลงทุกขณะเมื่อย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 2000 ประเดิมด้วยภาวะถดถอยระหว่างเดือน มี.ค.พ.ย. 2001 เนื่องจากภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอินเทอร์เน็ต ผสมโรงด้วยเหตุวินาศกรรม 11 กันยา

เหตุวินาศกรรม 11 กันยา นี่เองที่เป็นต้นเหตุให้ฐานของสหรัฐยิ่งง่อนแง่น เพราะกลายเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ใช้งบประมาณมหาศาลไปกับการก่อสงครามต่อต้านการก่อการร้าย จนสหรัฐจมปลักกับงบประมาณขาดดุลในระดับที่พร้อมล้มละลายได้ทุกเมื่อ หากนักลงทุนสูญสิ้นความเชื่อถือในพันธบัตรสหรัฐ

วันนี้ สหรัฐกำลังประสบผลจากเหตุ “วินาศกรรม” ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของรัฐบาลชุดที่แล้วๆ มา แต่แล้วรัฐบาลโอบามาที่ประชาชนฝากความหวังกลับล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าใน การชุบชีวิตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลดพันธนาการของสหรัฐออกจากการก่อหนี้แล้วระดมทุนผ่าน พันธบัตร

ลอว์เลนซ์ คอตลิคอฟ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ผู้เคยเตือนถึงหายนะจากหนี้สาธารณะมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 80 พยากรณ์ไว้ว่า หากสหรัฐยังปล่อยให้หนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสไม่น้อยที่นักลงทุนจะสูญสิ้นความเชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

หากเกิดภาวะช็อกอย่างทันทีทันใดดังที่รูบินีและคอตลิคอฟเตือนไว้ สิ่งที่ตามมาคือความโกลาหลของนักลงทุนที่กุมชะตาหนี้สาธารณะของสหรัฐเอาไว้ ในรูปของพันธบัตร ในลำดับต่อมาของการเทขายพันธบัตรสหรัฐที่หมดสิ้นมูลค่า คือ ภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ (Hyperinflation) เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐระดมพิมพ์ธนบัตรมากมายมหาศาลเพื่อรองรับสถานการณ์ จนเงินเหรียญสหรัฐปราศจากมูลค่า

เมื่อถึงเวลานั้น เศรษฐกิจสหรัฐจะล้มละลายอย่างสิ้นเชิง คนว่างงานจะล้นประเทศ ธุรกิจนับหมื่นนับพันต้องปิดตัวลง เป็นภาพของความหายนะที่ไม่ต่างจากอภิมหาวิกฤตเศรษฐกิจ (Great Depression) เมื่อช่วงทศวรรษที่ 30 มากนัก

วันนี้ สหรัฐกำลังเริ่มนับถอยหลังอย่างรวดเร็วสู่วิกฤต อาจร้ายแรงกว่าวิกฤตใดๆ ที่ประสบมา

Tags : สหรัฐ นับถอยหลัง โลกาวินาศ ทางเศรษฐกิจ

view