สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปลดล็อก 3มาตรการ เงินไหลออก ธปท.บังคับใช้ก่อนสิ้นก.ย.-ลงทุนโดยตรงไม่มีลิมิต

ปลดล็อก"3มาตรการ"เงินไหลออก ธปท.บังคับใช้ก่อนสิ้นก.ย.-ลงทุนโดยตรงไม่มีลิมิต

จากประชาชาติธุรกิจ

คลัง ไฟเขียวแบงก์ชาติปลดล็อก 3 มาตรการผ่อนคลายเงินไหลออก ธปท.ดีเดย์บังคับใช้เป็นการทั่วไปก่อนสิ้น ก.ย.นี้ ระบุ "ลงทุนโดยตรงในต่างประเทศไม่จำกัดวงเงิน-ซื้ออสังหาฯในต่างประเทศเพิ่มเป็น 10 ล้านดอลลาร์-เพิ่มวงเงินฝากในบัญชีสกุลต่างประเทศไม่มีภาระผูกพันเป็น 5 แสน ดอลลาร์" พร้อมเดินหน้าศึกษามาตรการคุมเงินไหลเข้า ดูผลกระทบเชิงบวกเชิงลบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง โดยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามเห็นชอบในหลักการตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอใน 3 มาตรการผ่อนคลายเกณฑ์การดูแลเงินทุนไหลออก เพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท

โดยมาตรการแรก ผ่อนคลายให้บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯลงทุนโดยตรงและให้กู้แก่กิจการในเครือ ในต่างประเทศได้ไม่จำกัดวงเงิน จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี




มาตรการ ที่สอง ผ่อนคลายให้บุคคลในประเทศซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากเดิมไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

มาตรการ ที่สาม ผ่อนคลายให้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดามีความคล่องตัวในการฝากเงินสกุลเงินตรา ต่างประเทศไว้กับสถาบันการเงินในประเทศ อาทิ เพื่อการศึกษาบุตรในต่างประเทศ โดยให้มียอดเงินคงค้างในบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ แบบไม่มีภาระผูกพัน ได้ถึง 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมจำกัดไว้ที่ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐสำหรับบุคคลธรรมดา และ 3 แสนดอลลาร์สหรัฐสำหรับนิติบุคคล

ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช ตอบกระทู้ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าว่า นอกจาก 3 มาตรการที่จะออกมาดังกล่าวแล้ว ยังเตรียมจะออกมาตรการขยายวงเงินค่าสินค้าส่งออกที่ไม่จำเป็นต้องนำกลับมาใน ประเทศเพิ่มขึ้นจาก 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ เป็น 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ

แหล่ง ข่าวจาก ธปท.กล่าวว่า หลังจากกระทรวงการคลังอนุมัติหลักการใน 3 มาตรการแล้ว ธปท.อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติให้รอบคอบรัดกุม โดยคาดว่าจะประกาศหลักเกณฑ์ ระเบียบ ธปท.ได้ไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะเป็น การปลดล็อกสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

"การ ดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายในปัจจุบันของ ธปท.จะต้องดูทั้งขาที่ไหลเข้าและขาที่ไหลออกให้เกิดความสมดุลกัน เมื่อมีเงินไหลเข้ามามากและทำให้บาทแข็ง ก็ต้องกระตุ้นให้มีเงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการลงทุนโดยตรงและลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ รวมถึงกระตุ้นให้มีการนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร วัตถุดิบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในประเทศและรับประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง"

แหล่ง ข่าวจาก ธปท.กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทไม่ให้รวด เร็วเกินไป ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการของประเทศต่าง ๆ รวมถึงดูผลกระทบและบทเรียนที่เคยใช้ในปี 2549 ที่ออกมาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้า 30% ส่วนหลังการศึกษาเสร็จสิ้นจะประกาศใช้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องดูผลกระทบ เป็นสำคัญทั้งเชิงบวกและเชิงลบ รวมทั้งต้องผ่านที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และขออนุมัติกระทรวงการคลัง


แบงก์หวั่นบาทแข็ง ฉุดรายได้ผู้ส่งออก ผวาผิดนัดชำระหนี้


จากประชาชาติธุรกิจ

แบงก์ หวั่นเงินบาทแข็งกระทบผู้ส่งออกเอสเอ็มอี "รายได้หด-ผิดนัดชำระหนี้" สั่งเจ้าหน้าที่เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด หากเริ่มส่อแววมีปัญหา รีบเข้าแก้ไขด่วน อัดเงินเสริมสภาพคล่อง "กรุงไทย" ทันควันตั้งทีมเจาะลึกปัญหาลูกค้า "บัวหลวง" จับตาหลังสัญญาฟอร์เวิร์ดหมดอายุ ฉุดรายได้วูบ

นายเวทย์ นุชเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ธนาคารได้สั่งให้ เจ้าหน้าที่ติดตามสถานะลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในกลุ่มส่งออกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบ เพราะทุก ๆ การแข็งค่าขึ้น 1 บาท จะทำให้รายได้รวมของภาคส่งออกหายไปราว 5 หมื่น ล้านบาท

"ถ้าเงินบาทแข็งค่าทะลุ 30 บาท/ดอลลาร์ลงไป ภาคส่งออกคงปรับตัวลำบาก"

อย่าง ไรก็ตาม นายเวทย์กล่าวว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณการชำระหนี้ที่ผิดปกติของกลุ่มผู้ส่งออก แต่หากพบว่าบางรายที่อาจมีปัญหาก็จะรีบเข้าไปร่วมหาทางออกกับลูกค้า เช่น ช่วยเหลือสภาพคล่อง โดยปัจจุบันธนาคารได้เตรียมวงเงินไว้จำนวนหนึ่งสำหรับการให้สินเชื่อเสริม สภาพคล่องในรูปตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยขึ้นกับความเสี่ยงของลูกค้า แต่อัตราต่ำสุด MLR -1%

ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าเอสเอ็มอีส่งออกอยู่ราว 20% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอี 300,000 ล้านบาท

ด้าน นายปิยะ ซอโสตถิกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ผลกระทบค่าเงินบาทเกิดขึ้นเป็นรายอุตสาหกรรม โดยกลุ่มที่ส่งออกเองโดยตรงใช้วัตถุดิบแรงงานในประเทศสูงและมาร์จิ้นต่ำ เช่น กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้ เสื้อผ้า จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก ส่วนกลุ่มขายของให้ผู้ส่งออกรายใหญ่ (indirect export) รวมถึงกลุ่มที่นำวัตถุดิบต่างประเทศเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ จะไม่มีผลกระทบมากนัก

ทั้ง นี้ปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์ได้ให้สินเชื่อกับลูกค้าเอสเอ็มอีส่งออก ซึ่งเป็นการส่งออกโดยตรง (direct export) และกลุ่มขายของให้ผู้ส่งออกรายใหญ่ (indirect export) ประมาณ 8-12% ของพอร์ตสินเชื่อรวม

นายปิยะกล่าวว่า สำหรับการชำระหนี้ของลูกค้าพบปัญหาล่าช้าบ้าง แต่ยังไม่ผิดปกติ คงต้องติดตามอีก 3-6 เดือนข้างหน้าที่สัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (forward contact) ครบกำหนด และผู้ส่งออกต้องรับกับการแข็งค่าของเงินบาทและรายรับที่น้อยลงว่าจะส่งผล กระทบมากน้อยเพียงใด

"การปรับตัวโดยลดต้นทุนผู้ประกอบการก็ทำได้ เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ในที่สุดเขาต้องขอปรับราคากับคู่ค้าขึ้น แต่ถ้าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น จีน มาเลเซีย เวียดนาม ลูกค้าก็คงเหนื่อยมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มาร์จิ้นน้อย"

นายปิยะ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามธนาคารมีฐานข้อมูลว่าลูกค้ากลุ่มใดเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ โดยเจ้าหน้าที่จะติดตามลูกค้ากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เข้าไปคุยถึงปัญหาและพิจารณาให้การช่วยเหลือเป็นรายกรณี โดยหากขาดสภาพคล่องระยะสั้น ธนาคารสามารถเสริมให้ได้ แต่หากเริ่มขาดทุนอาจพิจารณาให้จ่ายเงินต้นน้อยลง

ด้านนายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ลูกค้าเอสเอ็มอีส่งออกที่มีอยู่ราว 20% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอี 3.7 แสนล้านบาท ยังไม่มีสัญญาณชำระหนี้ผิดปกติ ซึ่งหากเกิดผลกระทบกับลูกค้า ไม่เฉพาะจากปัญหาเงินบาทเท่านั้น ธนาคารจะมีเจ้าหน้าที่ที่ติดตามพูดคุยช่วยลูกค้าแก้ปัญหาเป็นรายกรณี


"หม่อมเต่า" กับประเด็นร้อน ๆ ค่าเงินบาท

จากประชาชาติธุรกิจ



เสียง วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กำลังถูกจับตามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถดูแลได้มากน้อยแค่ไหน และจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาสกัดเงินทุนไหลเข้าเหมือนที่เคยทำเมื่อปี"49 หรือไม่

ประเด็นนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า "หม่อมเต่า" ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ซื้อเคยเป็นทั้งข้าราชการระดับสูงและนักธุรกิจ ที่เข้าใจหัวอกนักธุรกิจด้วยกัน ระบุว่า กรณีที่ผู้ส่งออกเร่งขายดอลลาร์ล่วงหน้า ผมว่าก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะธุรกิจเขาก็ต้องการบริหาร ตัวเองให้เจริญ มันไม่ใช่ "รัฐ" บริหารให้ธุรกิจเจริญ รัฐเพียงแต่เข้าแทรกแซงบ้าง ซึ่งก็ช่วยได้บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ไม่ได้ รับประกันว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ไหน

เรื่องอย่างนี้รัฐบริหารไม่ได้หรอก เอกชนต้องบริหารเอง การทำระบบให้เอกชนบริหารตัวเองเป็นวิธีที่ดีที่สุด

แต่ สำหรับเรื่องที่มีหัวหน้าภาคเอกชนออกมาพูดเรื่องบาทแข็ง ธปท.ต้องเข้าดูแลนั้น เขาคงพูดแบบขำ ๆ เอาคะแนน ถ้าทำจริง ๆ คงถูกรุมด่ากันเละเลย

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งไป 1 บาท ผมว่าน้อยนะ ขณะที่จีดีพีก็สูง แต่ถ้ารัฐจะใช้นโยบายช่วยให้เงินบาทอ่อนลงมาหน่อย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะให้อยู่ระดับไหนล่ะ ยังไม่เข็ดกันอีกหรือ

หากมองย้อนไปเมื่อ ปี"40 ที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนตะกร้าเงิน มีเงินสำรอง 86% เป็นดอลลาร์ แล้วก็กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ พยายามให้อยู่ที่นั่น คนที่เขารู้ว่ามันอยู่ไม่ได้ เขาก็ซื้อหมด ธปท.ก็ขายหมด จนอยู่ไม่ได้ เพราะอัตรามันผิด

แต่คราวนี้ผมว่าเอกชนต้องปรับตัวเอง อย่างธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายต่างประเทศ ใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้ นำเงินไปลงทุนหรือซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศ แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดกลางเล็ก ทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ก็ปรับปรุงตัวเองได้ เพราะช่วงที่เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ ควรถือโอกาสปรับปรุงตัวเองให้มีประสิทธิภาพการผลิต สูงขึ้น ก็จะแข่งขันได้ แต่ธุรกิจใดที่ปรับปรุงตัวเองไม่ได้ ผมว่าจะลำบาก

อย่าง ไรก็ตาม ถึงตอนท้าย "หม่อมเต่า" แสดงความคิดเห็นต่อการดูแลค่าเงินบาทแบบน้อยใจว่า "ผู้บริหาร ธปท.เขามีความเชื่อมั่นว่าเงินบาทแข็งเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งเป็นความเชื่อของเขา แต่ไม่ใช่ผม ผมกลับมองว่าเรื่องนโยบายการเงิน เขาบริหารมันน้อยไปหน่อย แต่ก็เป็นสิทธิ์ของเขา ผมเองก็ไม่มีหน้าที่จะไปบอกว่า "พอดี" หรือ "ไม่พอดี" เขาไม่ได้บอก ผมรู้คนสุดท้าย มีประชุมผมยังไมรู้เลย เพราะเราดูการจัดองค์กร"

"แต่ถ้าเป็นผมนะ ผมจะบริหารมากกว่านี้ ก็คงต้องรอดูกระบวนการใหม่หลัง ผู้ว่าการคนใหม่มารับตำแหน่ง และถ้ามีกระบวนการพูดกันให้เข้าใจ ผมก็ช่วยได้" หม่อมเต่าฝากทิ้งท้ายถึง "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่


SMEs วอนรัฐตั้งกองทุนช่วยเหลือ ส่งออกกุ้งวิกฤต ทุก 1 ก.ก.เงินหายไป 6 บาท

จากประชาชาติธุรกิจ



นาย จิรบูลย์ วิทยสิงห์ เลขาธิการสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย กล่าวถึงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนต่ออุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ว่า ได้รับผลกระทบอย่างมาก แนวทางแก้ไขสมาคมขอให้รัฐบาลจัดทำ "กองทุน" ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ SMEs ส่งออก โดยกองทุนนี้จะคล้ายกับกองทุนที่ช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผล กระทบวิกฤตการเมือง วงเงิน 10,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ย MLR-2% และให้เวลาหนึ่งปีก่อนเริ่มผ่อน

หากได้กองทุนลักษณะนี้จะช่วย SMEs ในกลุ่มธุรกิจนี้ที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคนให้ผ่านพ้นไปได้เพราะ SMEs ไม่สามารถไปฟอร์เวิร์ดค่าเงินได้ จะกระทบต้นทุนการผลิตและส่วนใหญ่ก็รับคำสั่งซื้อไว้จนถึงปลายปีแล้ว ทำให้บางรายต้องเจรจาขอคืนออร์เดอร์เพราะไม่สามารถผลิตได้ตาม

ราคาเดิมที่ได้ตกลงไว้เมื่อช่วงที่ค่าเงินบาทไม่แข็งค่ามากขนาดนี้

"อุตสาหกรรม นี้ได้รับผลกระทบจากการเมืองเศรษฐกิจโลก ทำให้ปีก่อนรายได้ลดลงประมาณ 10% ปีนี้ก็มัวแต่รับออร์เดอร์หวังว่าจะโต 15% แต่กลับมาดูอีกทีก็เกิดบาทแข็งจนต้องเจรจาขอคืนออร์เดอร์ เราคงมองไปถึงอนาคตไม่ได้ ถ้าเราตายในวันนี้ซะก่อน แม้อัตราขยายตัวจะถึง 15% ในปีนี้ตามที่คาดไว้ แต่ถ้าบาทแข็งไปถึง 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มูลค่าจะไม่ถึงเป้าหมายคือ 1 แสนล้านบาทที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้"

ใน ส่วนภาคเอกชนมีการปรับตัวโดยพยายามใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA โดยเฉพาะในกรอบ AFTA ทำให้ยอดส่งออกในอาเซียนเพิ่มขึ้น 40% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และหันไปพยายามเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนโดยกำหนดราคาเป็นเงินบาท แต่สัดส่วนการส่งออกจากตลาดนี้ยังต่ำ

ด้าน นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปี

6-7% กระทบผู้ส่งออกสินค้าอาหารแช่เยือกแข็ง ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรเพียง 4%ในช่วงภาวะปกติ แต่ในภาวะปัจจุบันกำไรเพียง 2% ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ผู้ประกอบการทุกคนพยายามปรับตัวด้วยการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพียง 1 เดือน จากเดิมที่จะรับล่วงหน้า 4-6 เดือน

ส่วนการปรับตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้มีโครงสร้างวัตถุดิบในประเทศมากถึง 95% แต่ปัจจุบันมีการปรับตัวแล้วเหลือเพียง 72% ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้มากกว่านี้แล้ว และหากจะต้องปรับตัวอีกต้องใช้เวลาอย่างน้อยมากกว่า 3-4 เดือน

"ปกติ เดือนกันยายนจะเป็นช่วงระดมการผลิตให้ส่งออกทันก่อนสิ้นตุลาคม เพื่อป้อนความต้องการเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แต่ปีนี้ทุกคนบอกว่า ไม่ไหว ไม่มีใครซื้อวัตถุดิบไปสต๊อกไว้เลย เพราะบาทที่แข็งทำให้ราคาส่งออกกุ้งทุก 1 กิโลกรัมจะหายไป 6 บาท เมื่อทอนเป็นวัตถุดิบราคากุ้งจะหายไปประมาณ 4 บาทกว่า ซึ่งกุ้งที่ผลิตในประเทศเฉลี่ย 500,000 ตันต่อปี เพราะฉะนั้นปีหน้าต้องดูการผลิต ว่าจะลดลงหรือไม่ ถ้าถึงสิ้นปีอัตราเติบโต 3% แสดงว่าปีนี้วิกฤตหนัก เพราะปกติจะโตประมาณ 5% ทั้ง ๆ ที่ปีนี้น่าจะเป็นปีทอง เพราะคู่แข่งสำคัญ อินโดนีเซียเจอโรคระบาด และดีมานด์เพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจ แต่ไทยเจอปัญหาบาทแข็งที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกติกาที่เปิดโอกาสให้บางคน ใช้เงินทำงาน ยืมเงินต่างชาติเข้ามาเก็งกำไร แต่รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้" นายผณิศวรกล่าว


พิษค่าบาทรุมอัดแบงก์ชาติ หอการค้า-ส.อ.ท.ถาม "มัวทำอะไรกันอยู่"

จากประชาชาติธุรกิจ




กรม ส่งเสริมการส่งออกร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดสัมมนา "ส่งออกอย่างไรในสภาวะเงินบาทแข็ง" ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้บริหารส่วนพยากรณ์เศรษฐกิจและวิเคราะห์เสถียรภาพ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นกระทบต่อการส่งออก แต่การส่งออกไม่ใช่ปีกเดียวที่จะพยุงเศรษฐกิจ ขณะนี้มีทั้งอุปสงค์ของการบริโภคภายในที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของการนำเข้าก็มีการขยายตัว ธปท.ทำหน้าที่ดูแลในภาพรวมของเศรษฐกิจเห็นว่าขณะนี้การแข็งค่าเป็นเรื่อง ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากส่วนอื่นของโลกที่ใหญ่กว่าประเทศไทย จึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปฝืนธรรมชาติ สู้เราปรับตัวเองและจะต้องปรับอย่างไรดีกว่า

"บาทแข็งมีทั้งคนได้คน เสียประโยชน์ ผู้ส่งออกก็มีทั้งนำเข้า ควรอาศัยจังหวะนี้ในการอัพเกรดการลงทุน มองไปถึงอนาคอีก 5 ปีข้างหน้า ไม่ใช่แค่ปีนี้ เพราะ ขณะนี้เราให้ความสำคัญกับปีนี้มากเกินไป อย่าไปหวังใช้กลยุทธ์เดิม ๆ" ดร.รุ่งกล่าว

ความเห็นของตัวแทนธนาคาร แห่งประเทศไทยข้างต้นได้สร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นในที่สัมมนาทันที โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ธปท.อย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีความหวังว่า ธปท.จะมีมาตรการเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาทหรือไม่อย่างไร

แม้กระทั่ง นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ก็ยังกล่าวว่า ค่าเงินบาทเริ่มส่งสัญญาณแข็งค่ามากผิดปกติ โดยสิงหาคมเพียงเดือนเดียวแข็งค่าถึง 1.8% และถ้านับตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าไปแล้ว 3.3% ซึ่งเป็นแนวโน้มแข็งค่ามาตลอด 2-3 ปี ตั้งแต่ปี 2551 แข็งค่าแล้ว 8% ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกมาตลอด ทำให้มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าสัญญาณการแข็งค่าขณะนี้เริ่มมีเงินร้อนเข้ามาไม่ใช่การแข็งค่าตาม ภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้สามารถดูได้ไม่ยาก จึงเป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้ามาดูแล

ผู้ ประกอบการขณะนี้ได้รับผลกระทบแล้ว โดยกลุ่มที่ได้รับมากที่สุดคือ ธุรกิจขนาดเล็กที่พึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ ทั้งที่เป็นกลุ่มที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งเกษตรกร แรงงานทั่วไป ขณะที่กลุ่มที่กระทบรองลงมาคือ ธุรกิจขนาดกลางที่พึ่งพาวัตถุดิบภายในบางส่วนสามารถบริหารจัดการความเสี่ยง ได้ ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนใหญ่พึ่งพาการนำเข้า

"แบงก์ชาติต้องกล้า ที่จะบริหารค่าเงินมากกว่านี้ โดยยึดถือข้อเท็จจริงปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าใช้ความรู้สึกเป็นหลัก ไม่ใช่บอกว่า ไม่มีผลกระทบและให้เอกชนปรับตัว ตอนนี้ปรับแล้ว ปรับจนใกล้จะตายแล้ว หากลากยากไปอีก 3 เดือน จะมีผู้ส่งออกมากกว่าครึ่งหายไป การพูดอย่างนี้เหมือนไม่มีความรับผิดชอบ ไม่จริงใจที่จะช่วยเรา อย่างญี่ปุ่นแบงก์ชาติกล้าออกมาดูแลอย่างจริงใจ" นายดุสิตกล่าว

สำหรับแนวโน้มการส่งออกจากนี้คาดว่าไตรมาส 4 จะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนจากปัญหาค่าเงินบาท โดยตัวเลขส่งออกที่ขยายตัวดีขณะนี้เป็นผลจากการรับคำสั่งซื้อเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมการส่งออกปีนี้จะยังขยายตัวตามเป้าหมายเพราะช่วงต้นปีมีอัตรา ขยายตัวสูง

ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงกับกล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับการทำหน้าที่ของ ธปท.ที่สรุปว่า ไม่มีปัญหาจากเงินบาทแข็งค่า ซึ่งสถิติค่าเงินเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาพบว่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในโลก วันเดียวบาทแข็งค่าขึ้น 0.35% ขณะที่รองจากไทยคือ ไต้หวัน แข็งค่าเพียง 0.05% ส่วนญี่ปุ่นที่เจอค่าเงินเยนแข็งกว่าไทย ก็อ่อนค่าลง 0.32% จึงอยากถามว่า แบงก์ชาติมัวทำอะไรอยู่

เพราะ ส.อ.ท.ทำผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับค่าเงินกว่า 35% ตอบว่า กระทบหนัก อีก 35% ได้รับผลกระทบ และ 12% ได้รับผลกระทบน้อย ที่เหลืออีก 6% ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสะท้อนว่า มากกว่า 80% ได้รับผลกระทบและส่วนใหญ่กระจุกตัวในอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะผู้ส่งออกข้าว

"เรา ลดต้นทุนจนตัวลีบแล้ว เดิมรับคำสั่งซื้อยาว 6-10 เดือน แต่ตอนนี้พยายามลดเหลือช่วงสั้น ๆ ลง และเดิมตั้งค่าบาทไว้ 31.50% ตอนนี้ต้องปรับมาที่ 30 บาท/ เหรียญสหรัฐแล้ว และถ้าต้องไปตั้งรับที่ 29 บาท/เหรียญสหรัฐ ก็คงขายของไม่ได้แน่ ส่วนเรื่องการปรับตัวถ้ามันมากไป เช่น เลือกการนำเข้าวัตถุดิบแทนการใช้ของในประเทศ ผลกระทบก็จะลามไปถึงผู้ผลิตในประเทศและขยายวงผลกระทบไปมากขึ้น"

ขณะ ที่ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามปัญหาค่าเงินผันผวนอย่างใกล้ชิดและพยายามดูแลอย่าง เต็มที่ โดยจะเสนอให้มีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ให้เอื้ออำนวยต่อการช่วยเหลือภาคธุรกิจมาก ขึ้น เช่น การเสนอให้มีการขยายระยะเวลาถือค่าเงินดอลลาร์ออกไปเพิ่ม การให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เข้ามาช่วยประกันการทำความเสี่ยงค่าเงิน รวมถึงส่งเสริมให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กและ SMEs รวมกลุ่มกันเข้ามาทำประกันความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อสร้างแรงต่อรองและช่วยธุรกิจขนาดเล็กให้ลดความเสี่ยงจากการถือครองค่า เงิน เนื่องจากตอนนี้ภาคส่งออกเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากมีปัญหาก็จะกระทบต่อธุรกิจภาคอื่น ทั้งภาคการเกษตร การจ้างแรงงาน และการผลิตตามไปด้วย อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตถึง 20% ตามเป้าหมายอยู่

Tags : ปลดล็อก เงินไหลออก ธปท. บังคับใช้ ลงทุนโดยตรง ไม่มีลิมิต

view