สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จุฬาฯลุยจัดระเบียบ ตลาดนัดสยามสแควร์ ดีเดย์ 1 ต.ค.ผู้ค้าโวย จ่ายมีใบเสร็จ สงสัยเงินเข้ากระเป๋าใคร ?

จากประชาชาติธุรกิจ

จุฬาฯ ดีเดย์ จัดระเบียบ "ตลาดนัดสยามสแควร์"  เผยผลสำรวจ 80 % ไม่พอใจ " แผงลอย ทั้งบังหน้าร้าน-แย่งลูกค้า-ทำรถติด-สกปรก  กลุ่มผู้ค้าโวยจ่ายให้เขตปทุมวันตลอด ยันต่อสู้ถึงที่สุด        นายสวัสดิ์ ปฐมมงคลกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการศูนย์การค้าสยามสแควร์ เปิดเผยถึง การจัดระเบียบพื้นที่สยามสแควร์ ว่า  ได้รับร้องเรียนจากผู้เช่าพื้นที่จุฬาฯ ที่โดนแผงลอยบังหน้าร้าน  จนทำให้สูญเสียลูกค้าเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่สัญจรผ่านไปมาร้องเรียนว่าแผงลอยดังกล่าวกีดขวางทางเท้า ว่า ทางสำนักงานฯ ได้ขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน รวม 3 ฝ่าย ร่วมกันประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือกับผู้ค้าแผงลอยเหล่านี้ให้หยุดขาย จากมาตรการเบา เช่น ติดป้ายประกาศ ไปจนถึงมาตรการหนักตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากนั้น ในวันที่ 1 ต.ค. จะเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง
"เดิมสำนักงานเขตปทุมวันเคยมีนโยบายจัดพื้นที่ให้ผู้ค้าเหล่านี้ย้าย เข้าไปขายในสยามสแควร์ ซ.5 แต่ไม่สามารถจัดได้ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เสียก่อน จึงสร้างเป็นอาคารกึ่งถาวรจัดให้เจ้าของร้านในสยามสแควร์ผู้ประสบภัยถูกไฟ ไหม้มาขายสินค้าแทน"    อย่างไรก็ตาม นายสวัสดิ์ยอมรับว่า แผงลอยรอบสยามสแควร์มีจำนวนหลายร้อยแผง ทั้งนี้ได้เคยสอบถามผู้ค้าเหล่านี้ทราบว่าเสียค่าที่วันละ 100-500 บาท คาดว่าเงินส่วนนี้ตกไปอยู่กับกลุ่มมาเฟียนอกระบบ เนื่องจากได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเทศกิจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ เงินดังกล่าวหรือไม่ ทุกฝ่ายก็ต่างปฏิเสธ      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้านค้าแผงลอยรอบสยามสแควร์มีจำนวนนับร้อยแผง โดยในเวลาช่วงเช้าถึงช่วงบ่าย ส่วนมากจะเป็นรถเข็นขายอาหารเช่น อาหารทอด ข้าวราดแกง ผลไม้ และเครื่องดื่ม มาจอดขาย ต่อมาในช่วงเย็นถึงช่วงดึกจะเป็นรอบของการขายเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณ ซ.2-ซ.6   โพลจุฬาฯ ชี้ชัดกว่า80%"ไม่เอา" แผงลอย
  
ก่อน หน้านี้   จุฬาฯ ได้ตั้งโครงการการศึกษาผลกระทบของแผงลอย และรถเข็นรอบสยามสแควร์ที่มีผลต่อสังคม  พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับตลาดนัดสยามสแควร์ ดังนี้    คณะผู้วิจัยโครงการการศึกษาผลกระทบของแผงลอย และรถเข็นรอบสยามสแควร์ที่มีผลต่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจทัศนคติและความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบถึงผลกระทบของแผงลอย และรถเข็นรอบสยามสแควร์ จำนวน 262 คน ระหว่างกรกฎาคม 2553 – สิงหาคม 2553 ประกอบด้วย  1.เจ้าของร้านค้าในสยามสแควร์ 35 คน 2.ลูกจ้างร้านค้าในสยามสแควร์ 25 คน 3.ผู้สัญจรบนทางเท้า 27 คน 4.   ผู้ขับขี่ยวดยาน 19 คน   5.คณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 คน 6.นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 54 คน 7.บุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 41 คน และ 8. บุคลากรโรงเรียนใกล้สยามสแควร์ (เช่น โรงเรียนเตรียมอุดม, โรงเรียนสาธิตปทุมวัน) 8 คน
   ผลสำรวจพบว่า มีผู้ไม่เห็นด้วยว่าร้านค้า – หาบเร่แผงลอยบริเวณโดยรอบสยามแสควร์มีสถานที่ตั้งที่เหมาะสม 83.2% ขณะที่มีผู้เห็นด้วย 16.8% ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 84.4% เห็นว่าร้านค้า – หาบเร่แผงลอยส่งผลกระทบต่อการเดินเข้าร้านของธุรกิจและร้านค้ารายย่อยในสยาม สแควร์ และอีก 15.6% ไม่เห็นด้วย
     นอกจากนี้ 95.8% เห็นว่าร้านค้า – หาบเร่แผงลอยส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสถานที่ในเรื่องความสะอาด ขณะที่ 85.9% เห็นว่าร้านค้า – หาบเร่แผงลอยส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารรถประจำทางซึ่งต้องยืนรอ บริเวณผิวจราจร และ 86.3% เห็นว่าร้านค้า – หาบเร่แผงลอยส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้สัญจรบนทางเท้าเสี่ยงต่อการเกิด อุบัติเหตุ   60.3% เห็นว่าร้านค้า – หาบเร่แผงลอยส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางด้านอาชญากรรมและโจรกรรม ขณะที่ 39.7% ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ 87.8% เห็นว่า ร้านค้า – หาบเร่แผงลอยส่งผลกระทบต่อรถยนต์ที่สัญจรไปมาที่ต้องสูญเสียผิวจราจร ทำให้เกิดปัญหาการจราจร
        เมื่อถามว่า ร้านค้า – หาบเร่แผงลอยมีการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และสินค้าเลียนแบบหรือไม่ 90.5% เห็นว่ามี ต่อข้อซักถามท่านไม่ได้รับความสะดวกจากร้านค้า – หาบเร่แผงลอยสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน 53.8% เห็นว่าไม่ได้รับความสะดวก       ขณะที่ 64.1% เห็นว่าร้านค้า-หาบเร่แผงลอยส่งผลกระทบต่อรายได้และการค้าขายภายในสยาม สแควร์ และ 95.8% เห็นควรให้มีการปรับระบบภูมิทัศน์โดยรอบสยามสแควร์เพื่อสร้างความสวยงาม นอกจากนี้ 84.7% เห็นว่าร้านค้า-หาบเร่แผงลอยขายสินค้าขายสินค้าที่ไม่ถูกหลักสุขอนามัย และ90.1%  เห็นว่าผู้ที่สัญจร หรือ ผู้ที่ทำงานโดยรอบสามารถซื้อของกินราคาถูกได้จากร้านค้า – หาบเร่แผงลอย
      เมื่อถามถึงหัวข้อความเห็นต่อการสูญเสียรายได้ของร้านค้าภายในสยามแสควร์ 69.1% เห็นว่าเสียภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาลูกค้าชาวต่างชาติ ขณะที่อีก 30.9% ไม่ออกความเห็น ทั้งนี้ 70.2% เห็นว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อน และอันตรายให้แก่คนที่สัญจรไปมา 
     เมื่อถามว่า ร้านค้า-หาบเร่แผงลอยทำให้ร้านค้าในสยามแสควร์เสียรายได้ 28.6% เห็นด้วย อีก 71.4%ไม่ออกความเห็น นอกจากนี้ 14.5% เห็นว่าร้านค้า-เหบเร่แผงลอยทำให้ประเทศเสียรายได้ประมาณ และอีก 85.5 ไม่ออกความเห็น
    ผู้ค้า"ตลาดนัดสยามฯ" งัด"ใบเสร็จ"
       ผู้ค้าแผงลอยในตลาดนัดสยามสแควร์รายหนึ่ง อ้างว่า แผงลอยในตลาดนัดสยามฯ มี 2 ฝั่ง คือร้านฝั่งริมถนนพระราม 1 ต้องจ่ายค่าที่ให้ตำรวจและเทศกิจ และร้านฝั่งสยามฯ จะต้องจ่ายเงินค่าที่ให้จุฬาฯ
       เมื่อถามว่า ค่าที่แผงลอยที่ถูกจัดเก็บประมาณเท่าไร ผู้ค้าแผงลอยคนเดิม กล่าวว่า ค่าที่รายเดือนตกอยู่ที่ 4,500 บาท แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด จะมีผู้ชายมาเดินเก็บทุก 15 วัน คือวันที่ 12 และ 25 แบ่งจ่ายครั้งละ 1,500 บาท ซึ่งเงิน 3,000 บาทนี้จะได้"ใบเสร็จรับเงินค่าปรับ"ซึ่งปรับผู้กระทำความผิดฐาน "จำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ" ซึ่งเป็นความผิดตาม  พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
       "แต่เราก็ได้ให้ต่างหากอีก 1,500 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เหมือนให้เปล่า ไม่มีใบเสร็จรับเงิน เชื่อว่าต้องนำไปให้เจ้าหน้าที่ต่ออีกทอด นอกจากนี้ ตั้งแต่เริ่มขายใหม่ๆ ก็ได้เสียค่าแป๊ะเจี๊ยซื้อพื้นที่เป็นเงินสดให้เทศกิจ 10,000 บาทอีกด้วย ทั้งนี้แผงลอยปกติไม่สามารถตั้งร้านได้ในวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันห้ามแผงลอยอยู่แล้ว ถ้าเจ้าของร้านใดต้องการขายก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้เจ้าหน้าที่อีก"
      "จะบอกว่าจ่ายให้มาเฟียนอกระบบได้อย่างไร ก็ทุกครั้งที่เราจ่ายเงิน ยังได้ใบเสร็จจากสำนักงานเขตปทุมวันเลย ลงว่าจ่ายค่าปรับ 1,500 บาท" ผู้ค้าแผงลอยกล่าว และว่า ขณะที่แผงลอยฝั่งสยามฯ ซึ่งจ่ายเงินให้จุฬาฯ ไม่มีการออกใบเสร็จแต่อย่างใด
      นอกจากนี้ หนุ่มผู้ค้าอีกรายกล่าวว่า ตั้งแต่สิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีข่าวว่าเทศกิจเริ่มไม่แสดงตัวและไม่เข้ามายุ่งกับการเก็บค่าที่แล้ว แต่ถ้าใครไปจ่ายถึงเขตปทุมวัน เขาก็รับเงินและออกใบเสร็จให้เหมือนเดิม
    "ผมเชื่อว่าเขาไม่ให้เลิกขายหรอก เขากันมาตั้งนาน แผงลอยเยอะขนาดนี้ ผลประโยชน์ตั้งเท่าไหร่ แต่คาดว่าอาจขึ้นราคาค่าที่มากกว่า" ผู้ค้าหนุ่มกล่าว 
     เงินเข้ากระเป๋าใครกันแน่
  ผู้สื่อข่าว รายงานว่า   ข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจมี ดังนี้      หนึ่ง แผงลอยรอบพื้นที่สยามสแควร์ ซึ่งบางคนเรียกว่า "ตลาดนัดสยามฯ" เป็นพื้นที่ของจุฬาฯ   ไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบของเขตปทุมวัน  แต่การที่เทศกิจ เขตปทุมวัน เข้าไปจัดการเปรียบเทียบปรับ โดยการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.  รักษาความสะอาด ฯ น่าจะเป็นข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการระหว่างจุฬาฯ กับ เทศกิจ ปทุมวัน    และที่สำคัญน่าจะมีการแบ่งผลประโยชน์ระหว่าง 2 ฝ่าย  และอาจรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
         สอง    ค่าปรับตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ได้กลายเป็นสิทธิในการเช่า ของผู้ค้า ไปโดยปริยาย   เพราะผู้ค้าต่างใช้ใบเสร็จรับเงินค่าปรับ ที่ออกโดยเขตปทุมวัน อ้างความชอบธรรมในการจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ
       สาม   ค่าปรับตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ ตกกับใครบ้าง ?    เพราะตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาด ฯ   มาตรา  48   กำหนดว่า "   บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่งตั้งและพนักงาน สอบสวน มีอำนาจเปรียบเทียบได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระ" และ  ค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายใน  15   วันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา    ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับ ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป
            ค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้แบ่งแก่ผู้แจ้งตามมาตรา 51      กึ่งหนึ่ง และพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานจราจร หรือตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร ผู้จับกุมอีกกึ่งหนึ่ง     ทั้งนี้    มาตรา 49    ค่าธรรมเนียมและค่าปรับที่  เปรียบเทียบตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นรายได้ของราชการส่วนท้องถิ่น
           คำถาม  คือ ค่าปรับถูกจัดสรรแบ่งปันดันอย่างไร ระหว่าง  ผู้แจ้ง  เทศกิจ  ตำรวจ   คนของจุฬาฯเอง หรือ ผู้มีอิทธิพล.

Tags : จุฬาฯลุยจัดระเบียบ ตลาดนัดสยามสแควร์ ดีเดย์ ผู้ค้าโวย จ่ายมีใบเสร็จ เงินเข้ากระเป๋าใคร

view