สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

2 มุมมองนักวิชาการ-นักธุรกิจ บทเรียนและผลพวงกรณี 3G ล่ม

จากประชาชาติธุรกิจ



"ดร.สม เกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยนัยคือ กทช.จัดประมูล 3G ไม่ได้ชัดเจน ทำให้กิจการ 3G ของไทยล่าช้าไป แต่มีวิธีเยียวยาลดความเสียหายได้บางส่วน เนื่องจาก 3G ในไทยยังพอมีอยู่บ้าง ผ่านบริการของทีโอที มีผู้ช่วยค้าปลีก 5 ราย ทำให้แก้ขัดไปได้บ้าง แต่มีข้อจำกัดในการใช้งานได้เฉพาะกรุงเทพฯและ ปริมณฑล อีกทั้งยังมี 2G ที่อัพเกรดเป็น HSPA ของ 3 ค่าย หาก กทช.ผลักดัน ก็จะได้ใช้ 3G บนคลื่น 2G แต่อย่าไปหวังอะไรมาก เพราะเป็นการทดลองในพื้นที่จำกัด คลื่นที่ใช้ ก็มีจำกัด

ขณะเดียวกัน กทช.จะผลักดันเทคโนโลยีทางเลือก คือไวแม็กซ์ และด้วยเป็นเทคโนโลยีที่มีผลประโยชน์น้อยกว่า 3G อาจทำให้ไม่มีเรื่องฟ้องร้อง แต่ถ้ามีการฟ้องร้อง ก็อาจไปไม่รอดอีกเช่นกัน เพราะเป็นปัญหาเรื่องอำนาจของ กทช.ในประเด็นเดียวกันกับที่มีการฟ้อง 3G เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีตระกูลเดียวกัน หากศาลไม่แน่ใจว่า กทช.มีอำนาจหรือไม่ ก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเหมือนกัน

"เรามี เทคโนโลยีทางเลือกที่เป็นไร้สายอีกทาง คือไวแม็กซ์ ถ้ามีปัญหาเหมือน 3G ก็ต้องใช้แบบมีสาย ADSL, เคเบิลใยแก้วนำแสง ซึ่งสะดวกสบายไม่เท่า 3G ที่ไปได้ในพื้นที่ไกล ๆ ถ้าจะแก้ให้ถึงรากของปัญหา เพื่ออนาคต ต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.กสทช.เป็นร่างกฎหมายที่วุฒิสภาแก้ไขร่างของสภาผู้แทนฯ ถ้าสภาผู้แทนฯไม่ถูกใจก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อแก้ไขร่วมกัน ก่อนนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ถ้ารัฐบาลอยากให้เร็ว ก็ต้องตกลงกับ วุฒิสภา ว่าจะให้คณะกรรมาธิการร่วมทำงานในกรอบเวลาจำกัด 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ก็ว่ากันไป ที่สำคัญ อย่าให้เสร็จช้ากว่าสมัยประชุมนี้ ไม่เช่นนั้นจะหนังชีวิต เรื่องนี้จะอีกยาว"




ดร.สม เกียรติกล่าวต่อว่า หวังว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้ข้อสรุปเรื่อง พ.ร.บ.กสทช. แม้ประกาศกฎหมายแล้ว กทช.ชุดนี้ยังทำหน้าที่รักษาการแทน กสทช.ไปก่อน แต่ไม่ให้ใบอนุญาต 3G ได้ เพราะในสิ้นเดือน ก.ย.มี กทช. 3 คนหมดวาระ หากมีการออกใบอนุญาต และศาลน่าจะตัดสินใจในทิศทางเดียวกัน ฉะนั้น กทช.ที่รักษาการแทน กสทช.ก็ต้องรอจนกว่าจะมี กสทช. ตัวจริง ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.กำหนดไว้คร่าว ๆ ว่าอาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งตนมองว่า ถ้าจะต้องช้าแล้ว ก็อยากให้ผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้มีการแข่งขันเสรีเป็นธรรม คือแก้ให้ต่างชาติถือหุ้นได้มากขึ้น เพราะคนชอบมองว่าควรให้โอเปอเรเตอร์ไทยให้คนไทยเท่านั้น ซึ่งคนได้ประโยชน์ไม่ใช่ผู้บริโภคไทย แต่เป็นนายทุนไทย ดังนั้น จึงควรตั้งหลักให้ชัดว่า ผลประโยชน์สาธารณะโทรคมนาคมอยู่ที่ไหน ที่ค่ายมือถือ หรือผู้บริโภค 60 ล้านคน

"สมมติว่ารัฐบาลดันร่าง กสทช.ได้ใน สิ้นปี 2553 กลางปี 2554 ก็อาจได้ กสทช. ตัวจริง แต่ต้องทำแผนแม่บทการจัดสรรคลื่นความถี่และแผนแม่บทประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมก่อน ซึ่งใน กม.ระบุว่าต้องทำให้เสร็จใน 1 ปี ทำได้เร็วสุด 6 เดือน กสทช.ก็ต้องมาดูว่าจะจัดสรรด้วยวิธีไหน ถ้าไม่ถกเถียงกันมาก และตัดสินใจว่าจะใช้วิธีเดิม คือประมูล ก็น่าจะเริ่มได้ปลายปี 2554 นี่คือเร็วสุดเท่าที่จะทำได้"

เมื่อได้ ใบอนุญาตแล้ว ก็ต้องใช้เวลาอีก 1 ปี ในการขยายโครงข่าย กว่าคนกรุงเทพฯจะใช้งานได้ ถ้าเป็นต่างจังหวัด ต้องรออย่างน้อย 3 ปี หรือร้ายแรงกว่านั้น อาจช้าไป ไม่มีกำหนด เหมือนกรณี กสช.ที่กฎหมายออกตั้งแต่ปี 2543 ผ่านมา 10 ปี ก็ยังไม่มี

"นี่คือ เรื่องที่หนักใจที่สุด สังคมไทย อะไรที่มีผลประโยชน์เยอะ ๆ ออกแบบไม่ได้ ปัญหาจะยืดเยื้อ กรณี 3G ถือเป็นมรดกบาป ที่ตกทอดมาจากระบบสัมปทานมือถือ แม้จะมีประโยชน์กับประชาชนมาก แต่ได้มรดกที่เป็นผลพวงของความยุ่งยาก การเปลี่ยนระบบสัมปทานเป็นใบอนุญาต จึงได้เห็นความอลเวงโกลาหลมากมาย

นอก จากนี้ ความเสียหายยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ยิ่งช้า ยิ่งเสียโอกาส ไม่เฉพาะโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย แต่ขยายวงกว้างกว่านั้น อาทิ ผู้ประกอบการที่หวังขายคอนเทนต์ ที่ปัจจุบันต้องจ่ายค่าหัวคิวให้เจ้าของค่ายมือถือกว่า 50% ถ้า 3G มา จะมีวิธีแหกประตูไปใช้การขายคอนเทนต์ผ่าน แอปสโตร์ และจะเกิดบริการเสริมอื่น ๆ อีกมาก

ด้าน นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า กรณี 3G เป็นส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง เชื่อว่ายังมีตามมาอีกมาก สะท้อนว่าโทรคมนาคมไทยมีปัญหาในเรื่องโครงสร้างอย่างรุนแรง ไม่น่ามีประเทศไหนที่รัฐฟ้องรัฐ และไม่ควรเกิดขึ้น เพราะอำนาจกระจายออกไปยังส่วนต่าง ๆ ขณะที่กฎหมายเขียนไม่ชัดเจน ทำให้เกิดช่องว่าง เกิดปัญหา มี 3G เป็นจุดเริ่มต้นของคดีความและข้อพิพาทต่าง ๆ ถ้าไม่มีการแก้ไขโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นแผน K2, แนวคิดในการใช้โครงข่ายร่วมกันและอื่น ๆ ก็คงมีปัญหาคล้ายกัน

"ใครจะแก้ ความหวังเหลือน้อยมาก อุตสาหกรรมนี้จะโดนแช่แข็งต่อไปอีก ถ้าโครงสร้างไม่ถูกแก้ ก็มีช่องให้ฟ้องได้ อะไรก็ไม่เกิดเป็นสุญญากาศ รัฐจะมีโปรเจ็กต์อะไรออกมา ก็ต้องมีไดเร็กชั่นชัดเจน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เช่น ทำ K2 กทช.ออกใบอนุญาตได้ไหม จะให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน ก็ร่วมมือกันระหว่างเอกชน ทีโอที และ กสทฯ การตั้งคำถามเรื่องอำนาจ กทช.ทำให้เริ่มไม่เห็นไดเร็กชั่น กทช.จะยุติบทบาทไหม ทุกอย่างถอยกลับมาที่รัฐ จะจัดระเบียบโครงสร้างโทรคมนาคมได้ไหม แต่ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ มีปัญหาแน่นอน สัมปทานจะเป็นระเบิดเวลาลูกต่อไป"

Tags : 2 มุมมอง นักวิชาการ นักธุรกิจ บทเรียน ผลพวงกรณี 3G ล่ม

view