สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เด็กติดเน็ต-เกม-มือถือ ระวัง ! โรคสมาธิสั้น

จากประชาชาติธุรกิจ



ปัญหา "สมาธิสั้น" เป็นปัญหาที่พบบ่อยขึ้นในเด็กและวัยรุ่น

โดย อาจเกิดจากการป่วยเป็นโรค และเกิดจากสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู โดยเฉพาะพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงที่มักจะรับอาสาทำสิ่งต่าง ๆ ให้ตามความต้องการของเด็ก ทำให้เด็กขาดวินัยและขาดความอดทนต่อสิ่งเร้า

พ.ญ.อังคณา อัญญมณี จิตแพทย์เด็กและ วัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ บอกว่า สิ่งเร้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต เกมออนไลน์ ยาเสพติด หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยยังเป็นตัวการสำคัญที่บั่นทอนสมาธิของเด็ก ให้ลดลง

สมาธิสั้น หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) เป็นกลุ่มอาการขาดสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง และวู่วามหุนหันพลันแล่น พบประมาณร้อยละ 5 ในเด็กวัยเรียน โดยพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4-6 เท่า

โรค นี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่า 30-40% ของผู้ป่วยมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้เช่นกัน และภาวะที่มีผลต่อสมองนับ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น มารดาขาดสารอาหารหรือได้รับสารพิษ การคลอดมีปัญหา เด็กเป็นโรคลมชักหรือสมองอักเสบ ส่งผลให้สารโดปามีนและ นอร์เอปิเนฟรินซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่คุมสมาธิมีปริมาณน้อยกว่าเด็กปกติ เด็กจึงมีสมาธิสั้น หรือสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูก็เป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้เด็กมีสมาธิสั้นลงได้

ลักษณะอาการที่สำคัญของเด็กกลุ่มสมาธิสั้น ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1.กลุ่ม อาการซนมากกว่าปกติ (hyper activity) คือลักษณะความซนจะมากกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป ซนแบบไม่อยู่นิ่ง มักอยู่ไม่เป็นสุข ลุกลี้ลุกลนตลอดเวลา และชอบปีนป่ายขึ้นไปบนโต๊ะเก้าอี้บ่อย ๆ

2.กลุ่มอาการสมาธิสั้น สามารถสังเกตได้โดยเด็กจะวอกแวกง่าย แม้แต่สิ่งเร้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถทำให้เด็กเสียสมาธิได้แล้ว เช่น ในขณะที่เด็กกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ หากมีเสียงดังเกิดขึ้น เช่น เสียงช้อนส้อมในครัวหล่น หรือเสียงแตรรถยนต์หน้าปากซอย เด็กพวกนี้จะหันไปหาแหล่งต้นเสียงทันที หรือแม้แต่ขณะนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียนพอมีคนเดินผ่านจะหันไปดูโดยทันที

นอก จากนั้น ยังอาจเกิดจากสิ่งเร้าภายในตัวของเด็กเอง เช่น อาการเหม่อลอย ชอบนั่งนิ่ง ๆ นาน ๆ คิดวอกแวกถึงเรื่องอื่น ๆ ทำให้การทำงานบางอย่างไม่สำเร็จลุล่วง

3.กลุ่มอาการหุนหันพลันแล่น (impulsive) คือเด็กมักจะแสดงออกในลักษณะที่รอคอยไม่เป็น ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่เพื่อนกำลังคุยกันอยู่เมื่ออยากจะพูดเด็กก็จะพูดแทรกขึ้นมาในทันที โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม

พ.ญ.อังคณาให้ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับดูแลและช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น 7 ข้อ คือ

1.ลด สิ่งเร้า ควรจัดสภาพแวดล้อมให้สงบเรียบร้อย ไม่มีของเล่นหรือทีวีมาดึงความสนใจเด็กขณะทำการบ้าน พ่อแม่ไม่ควรทะเลาะหรือใช้ความรุนแรงต่อหน้าลูก ที่ห้องเรียนควรจัดให้เด็กมานั่งใกล้ครู ไม่ควรให้นั่งใกล้ประตูหน้าต่างหรือเพื่อนที่ชอบเล่นชอบคุย

2.เฝ้า กระตุ้น จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่คอยติดตามและตักเตือนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ตลอดเวลา แม้จะรู้และเข้าใจว่าควรทำสิ่งใด

3.หนุนจิตใจ เด็กมักทำสิ่งต่าง ๆ ไม่สำเร็จ ได้รับแต่คำตำหนิติเตียน หมดความมั่นใจ เด็กจึงต้องการกำลังใจอย่างมากจากพ่อแม่และคุณครู ผู้ดูแลเด็กจึงควรมีอารมณ์ที่มั่นคง สดชื่น และสื่อสารกับเด็กในทางบวกทั้งทางคำพูดและการกระทำ

4.ให้รางวัล เด็กมักจะเบื่อและขาดความอดทน แต่หากมีรางวัลตามมา เด็กจะรู้สึกท้าทายและมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น รางวัลที่ให้ควรเป็นสิ่งที่เด็กอยากได้ และควรให้รางวัลง่าย ๆ และบ่อย ๆ เด็กจะได้ไม่เบื่อและให้ความร่วมมือต่อไปได้ นาน ๆ

5.สั้นกระชับ ควรบอกกับเด็กสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่าต้องการให้เด็กทำอะไร เพราะเด็กไม่สามารถทนฟังคำพูดที่ยืดยาวได้จนจบ และไม่สามารถจดจำสิ่งที่ฟังได้หมด

6.นับสิ่งดี ทั้งของตัวเด็กและตัวคุณเอง เพราะการดูแลเด็กสมาธิสั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากวันนี้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าควรหาเวลาหยุดพักสั้น ๆ ในแต่ละวัน คิดถึงความน่ารักและ ความดีในตัวเด็กและตัวเราเอง ก็จะทำให้เรามีกำลังใจในการดูแลเด็กต่อไปได้อีกนาน

7.มีขอบเขต ควรมีตารางเวลาเพื่อให้เด็กรับรู้ขีดจำกัดและช่วยควบคุมให้เด็กทำตามง่าย ขึ้น โดยเรียงลำดับกิจกรรมต่าง ๆ ให้ชัดเจนและแน่นอน เช่น เวลาตื่น, เวลานอน, เวลาทำการบ้าน, อ่านหนังสือ, ใช้คอมพิวเตอร์, เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยที่ไม่ปล่อยปละละเลยหรือตามใจมากเกินไป เพื่อไม่ให้เด็กสับสนและต่อรอง บ่อย ๆ

จริง ๆ แล้วเด็กสมาธิสั้นหลายคนเป็นเด็กที่มีความสามารถ แต่มักทำสิ่งต่าง ๆ ไม่สำเร็จเรียบร้อย เพราะไม่สามารถวางแผนหรือควบคุมตนเองได้ จึงต้องอาศัยผู้ใหญ่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากปล่อยปละละเลยก็ยิ่งจะทำให้การช่วยเหลือแก้ไขเป็นไปได้ยาก

หาก เด็กได้รับการดูแลรักษาด้วยความเข้าใจจากพ่อแม่ ครู และแพทย์ ตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เติบโตขึ้นด้วยความมั่นใจและประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป

Tags : เด็กติดเน็ต เกม มือถือ ระวัง โรคสมาธิสั้น

view