สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระบบเฝ้าระวัง อาหารปลอดภัย ภาครัฐชำรุด?

จาก โพสต์ทูเดย์

สิ่งที่ยังเกิดขึ้นควบคู่กับระบบเฝ้าระวังของรัฐบาลคือการตรวจพบสารพิษในอาหาร สารปนเปื้อน นมบูด ฯลฯ มาโดยตลอด.....

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน 

กว่า 10 ปีที่รัฐบาลพยายามผลักดันและสนับสนุนงบวิจัยเพื่อสร้างมาตรฐาน “อาหารปลอดภัย” ให้แก่ประชาชนผู้บริโภค แต่สิ่งที่ยังเกิดขึ้นควบคู่กับระบบเฝ้าระวังของรัฐบาลคือการตรวจพบสารพิษใน อาหาร สารปนเปื้อน นมบูด ฯลฯ มาโดยตลอด

คำถามคือระบบเฝ้าระวังของรัฐบาลดีจริงหรือ ?

พรรัตน์ สินชัยพานิช สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ระบบเฝ้าระวังของภาครัฐยังมีปัญหาและมีข้อจำกัดหลายประการ และจากที่สถาบันฯ ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างอาหาร 4 กลุ่ม คืออาหารทั่วไป อาหารท้องถิ่น อาหารที่อยู่ในกระแสข่าวว่าไม่ปลอดภัย และอาหารที่ถูกร้องเรียน โดยสุ่มจากทั้งประเทศ พบว่าภาพรวมของอาหารยังมีความอันตรายอยู่เป็นจำนวนมาก

 

ผลการตรวจสอบ กลุ่มที่1 อาหารทั่วไป ที่ เก็บตัวอย่างในทุกพื้นที่ พบนมโรงเรียนพาสเจอร์ไรซ์ มีแบคทีเรียโคลิฟอร์มและอีโคไล นมโรงเรียนยูเอชทีพบแบคทีเรีย ไส้กรอกหมู ไส้กรอกไก่ ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นไก่ ลูกชิ้นปลา พบสารกันบูด สีสังเคราะห็ และดินประสิว โดยมีบางตัวอย่างพบถึง 9,536 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เห็ดหอมนำเข้าจากจีน เห็ดหูหนูขาว พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สีฟอกขาว สาหร่ายทำแกงจืด พบโลหะหนัก ส่วนกลุ่มผักและผลไม้ ได้แก่ ส้ม แอปเปิ้ล สาลี่ องุ่น พลับจีน แตงโม ถั้วฝักยาว กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ บร็อคโครี่ คะน้า พบ 58% มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตำค้าง

กลุ่มที่ 2 อาหารท้องถิ่น ได้แก่ พบกุ้งแห้ง 64% มีสารพิษกลุ่ม pyrethriod และ 45% พบสีสังเคราะห์ โดยเฉพาะที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร ปลาหมึกแห้งพบ 62% มีสารพิษกลุ่ม pyrethriod และพบว่ามีการใช้สารเคมีฆ่าแมลงฉีดใส่เพื่อป้องกันแมลงรบกวน 71% มีสารแคดเมี่ยม

กลุ่มที่ 3 อาหารที่ตกเป็นข่าวไม่ปลอดภัย ได้แก่ สาหร่ายอบกรอบปรุงรส 75% มีโลหะหนักประเภทแคดเมียม และสารอัลฟาท็อซินและยีสต์/รา ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ เส้นก๋วยเตี๋ยวเล็ก เส้นหมี่ขาว และบะหมี่ พบสารกันบูดสูงกว่ามาตรฐานและเกินความจำเป็น และเชื้อจุลินทรีย์อะฟลาท็อกซิน กลุ่มที่ 4 อาหารที่ร้องเรียนมายังเครือข่ายผู้บริโภค ได้แก่ หน่อไม้ปี๊บมหาสารคาม พบใช้วัตถุกันเสียที่ผิดประเภทในการผลิต

สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพจากสิ่งปนเปื้อน สีสังเคราะห์ ทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร ท้องเสีย สารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลง ทำให้วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หายใจติดขาด และหัวใจหยุดเต้นได้ สารฟอกขาว ทำให้ความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด สารกันรา ถ้าได้รับมากจนมีความเข้มข้นในเลือดสูงถึง 25 – 35 มิลลิกรัม/เลือด 100 มิลลิกรัม ทำให้เสียชีวิตได้ สารบอแรกซ์ ทำให้เป็นพิษต่อมไตและสมอง สารอะฟลาท็อกซิน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูง

“ถ้าคนไทยจะฝากความหวังไว้เพียงแค่กับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คงไม่พอ มันถึงจุดที่ผู้บริโภคควรแสดงพลังเพื่อผลักดันอาหารปลอดภัยที่แท้จริง โดยในวันที่ 7 ต.ค.นี้จะมีการเสนอการปฏิรูประบบเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิชาการโดยเชื่อมโยงกับประชาชน”นักวิทยา ศาสตร์การอาหารระบุ

ปัจจุบันการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทยดำเนินการโดยหน่วยงาน หลักคือ อย. กรมอนามัย สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งดูแล้วเหมือนว่าจะดูแลได้อย่างครอบคลุม แต่ปัญหาที่ตามมาคือการทับซ้อนของอำนาจและความรับผิดชอบ

ดังนั้นหากต้องการให้ระบบเฝ้าระวังมีคุณภาพ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน นอกจากนี้ต้องกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายให้เด็ดขาด รวมทั้งควรเปิดช่องทางการร้องเรียนให้กับผู้บริโภคมากขึ้นกว่าเดิม

ส่วนโมเดลระบบเฝ้าระวังของอาหารปลอดภัยใน ความร่วมมือของนักวิชาการและภาคประชาชน ที่จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งจะเสนอในวันที่ 7 ต.ค.นี้จะเป็นอย่างไร ... โปรดจับตา

Tags : ระบบเฝ้าระวัง อาหารปลอดภัย ภาครัฐชำรุด

view