สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปิดฉากลานจอดฉาวสุวรรณภูมิ กู้วิกฤต ทอท.รักษารายได้กว่าพันล.

ปิดฉากลานจอดฉาวสุวรรณภูมิ กู้วิกฤต ทอท.รักษารายได้กว่าพันล.

จากประชาชาติธุรกิจ




ผล จากการที่ "ประชาชาติธุรกิจ" เปิดประเด็นชำแหละสัมปทานโครงการ "ลานจอดรถสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ" 2 โปรเจ็กต์ใหญ่ มูลค่ารายได้รวมกันตลอดอายุสัมปทานเกือบ 1,200 ล้านบาท ตามที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." อนุมัติให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ 2 กลุ่ม

สัมปทานฉาวจากแป้งร่ำถึงปาร์คกิ้ง

กลุ่มแรก บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด กำลังจะได้สัมปทานพื้นที่ลานจอดรถระยะยาว (longterm parking) ขนาด 62,380.50 ตารางเมตร สัญญา 15 ปี พ.ศ. 2553-2568 กำลังจะเริ่มเข้าพื้นที่ 1 กันยายน 2553 แต่ถูกตรวจสอบภายในเวลาอันรวดเร็ว จนกระทั่งที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ชุด นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธาน ต้องเปิดประชุมด่วน

พร้อมมี มติยกเลิกฟ้าผ่าเมื่อ 6 กันยายน 2553 และสั่งย้ายผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง คือ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณา รายได้ ทอท.ลดตำแหน่งเหลือแค่กรรมการคนหนึ่งเท่านั้น ย้ายนายนิรันดรา ธีรนาถสิน ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ กับนางดวงใจ คอนดี ผู้ช่วย ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ ออกจากพื้นที่ แต่งตั้งนายอนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร ผู้อำนวยการดอนเมืองไปรับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553

ระหว่างนั้น "ประชาชาติธุรกิจ" เดินหน้าตรวจสอบสัมปทานโครงการลานจอดรถหน้าอาคารผู้โดยสารเอและบีสุวรรณภูมิ พื้นที่ 1.6 แสนตารางเมตร ซึ่งเดิม ทอท.เคยบริหารจัดการเก็บรายได้เองเป็นเวลา 3 ปีเศษ ระหว่างปี 2549-มีนาคม 2553 ภายหลังเปลี่ยนนโยบายเมื่อปลายกุมภาพันธ์ 2553 เปิดให้เอกชนยื่นประมูล โดยมีผู้ชนะคือ กลุ่มร่วมทุน 2 บริษัท คือบริษัท วี ดับเบิ้ลยู ไอ เอ็น จำกัด กับบริษัท สแตนดาร์ด ดีพรอมพ์ จำกัด สัญญา 5 ปี ระหว่าง 30 เมษายน 2553-31 มีนาคม 2558 ตามข้อตกลงจะต้องจ่ายรายได้ขั้นต่ำค่าบริการรับจอดรถเดือนละ 17.5 ล้านบาท ค่าสมาชิกรายเดือน เดือนละ 4.5-5 ล้านบาท และค่าเช่าพื้นที่อีกประมาณเดือนละ 3-5 ล้านบาท




ช่วง ก่อนผู้ชนะประมูลเข้าทำสัญญากับ ทอท.เกิดปมขัดแย้งกันภายในระหว่างกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม (ผู้ถือหุ้น) 3 คน ได้แก่ นายธนกฤต เจตกิตติโชค จับคู่กับนายจุมพล ญาณวินิจฉัย มีปัญหากับนายธรรศน์ พจนประพันธ์ ผู้ที่ทำหนังสือแจ้งความตำรวจราชาเทวะกล่าวหานายธนกฤตปลอมแปลงลายมือชื่อตอน นำบริษัทไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อนำมาทำสัญญากับ ทอท. เมื่อ 30 เมษายน 2553 แต่นายธรรศน์ทำหนังสือคัดค้านมายัง ทอท.และขอให้สำนักทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบพร้อมมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนบริษัทดังกล่าว

บทเรียนล้ำค่า ทอท.สูญรายได้นับ 100 ล.

ขณะ ที่มีปมปัญหาขัดแย้งกันภายในบริษัทของกรรมการ 3 คน ทอท.ได้เซ็นสัญญาให้บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด นำคนเข้ามาบริหารลานจอดรถสุวรรณภูมิ ซึ่งเกิดการแบ่งขั้วปาร์คกิ้งฯเป็น 2 ทีม ทีมแรก นายธนกฤตนำคนเข้าไปเก็บเงินสดจากลูกค้าที่นำรถเข้ามาจอดทุกวัน มีรายได้เฉลี่ยวันละ 8 แสนบาท-1 ล้านบาท ทีมสอง นายธรรศน์เป็นเจ้าของเงินที่นำไปค้ำประกันไว้กับธนาคารกสิกรไทย มูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท (ตามข้อตกลงปาร์คกิ้งฯ จะต้องนำเงินไปค้ำประกันสัญญารายได้ 105,930,000 บาท พร้อมหลักประกันสัญญาเช่าพื้นที่อีก 13,568,880 บาท) แต่กลับไม่มีสิทธิ์เข้าไปเกี่ยวข้องและรับรู้รายได้ตั้งแต่แรกที่เริ่ม ดำเนินงาน

เป็นชนวนให้นายธรรศน์ยกพวกเข้าไปค้นสำนักงานปาร์คกิ้งฯ ซึ่งตั้งอยู่ในสุวรรณภูมิ เปิดช่องให้นายธนกฤตไปแจ้งความที่สถานีตำรวจราชาเทวะ อ้างถูกชายฉกรรจ์บุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สิน จึงถือโอกาสนี้ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายนายธรรศน์พ่วงเข้าไปด้วยเป็นเงิน 55 ล้านบาท จากนั้นปัญหาความขัดแย้งยิ่งปะทุแรงขึ้น ทุกวัน และถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่จ่ายเงินรายได้รายเดือนให้ ทอท.ตามสัญญา แถมยังระงับไม่ให้ ทอท.คืนเงินค่ามัดจำแก่นายธรรศน์ 20 ล้านบาท แต่นายธรรศน์มอบอำนาจให้สำนักงานกฎหมายอรุณอมรินทร์ทำหนังสือขอเงินดังกล่าว คืน หากไม่คืนจะดำเนินคดีกับ ทอท. ขณะนั้น ผอ.นิรันดร์เองโดนหางเลขถูกนายธนกฤตฟ้องด้วยเช่นกัน

ในอีกทางหนึ่งก็ มีกลุ่มบริษัท ซันไชน์ คอปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศจะซื้อหุ้นบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด มาตั้งแต่ช่วงเมษายนและพร้อมจ่ายเงินในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยนำบริษัทในเครือ อาทิ บริษัท เจเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด เข้ามาซื้อด้วยเงินประมาณ 40 ล้านบาท โดยรวมแล้วกลุ่มนี้นำเงินมาลงในปาร์คกิ้งเกือบ 200 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีรายงานว่า ได้รับผลตอบแทนกลับคืนหรือไม่

กระทั่ง เมื่อ 23 กรกฎาคม 2553 ผอ.นิรันดร์นำมติของคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.ซึ่งเสนอให้ส่งหนังสือถึงธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ ในฐานะผู้ค้ำประกันเงินโครงการลานจอดรถสุวรรณภูมิ ให้โอนเงินจากบัญชีธนาคารเลขที่ ๕๓-๕๒-๐๐๐๘-๐ จ่ายเป็นเงินรายได้รายเดือนแก่ ทอท.รวม 66,928,310.83 บาท เนื่องจากบริษัท ปาร์คกิ้งฯ ไม่เคยโอนรายได้ดังกล่าวให้ ทอท.ตามข้อตกลงสัญญา และเงินที่โอนมาทั้งหมดนี้ก็ครอบคลุมเฉพาะเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2553 เท่านั้น ยังคงค้างจ่ายเดือนสิงหาคม-กันยายน 2553

ตั้งแต่เริ่มให้เอกชนรับสัมปทานโครงการลานจอดรถอาคาร ผู้โดยสารเอและบีสุวรรณภูมิ ปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างกรรมการ 2 คน คือ นายธนกฤตกับนายธรรศน์ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับ ทอท.มาตลอดทุกเดือน เพราะคู่สัญญาไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงแม้สักข้อเดียว

แต่ นายนิรันดร์ ธีรนาถสิน ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานบอร์ด ยังยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 30 เมษายน 2553 มาจนถึงกลางเดือนกันยายน 2553 เป็นเรื่องภายในของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ทอท. จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

บอร์ดเจอต้นตอสั่งเลิกสัมปทาน

ต่อ มาในการประชุมบอร์ดเมื่อ 23 กันยายน 2553 นายปิยะพันธ์ ประธานบอร์ด แถลงข้อมูลด้วยท่าทีดุดันถึงนโยบายของบอร์ดที่มีต่อสัมปทานโครงการลานจอดรถ สุวรรณภูมิที่ให้แก่บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ยังคงเป็นเรื่องถูกต้องตามระเบียบ เพราะเอกชนได้ทำตามข้อตกลง อาทิ จ่ายรายได้คืนมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 เริ่มติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบรายงานยอด รายได้ลานจอดรายวันบ้างแล้ว ยกเว้นการนำเงินค้ำประกันไปใส่ในธนาคารให้ครบตามสัญญา หลังจากถูกหักบางส่วนไป (จาก 105 ล้านบาท โดนหักไป 66 ล้านบาท)

เหตุการณ์ มาลุกลามใหญ่โต เริ่มจากวันที่ 24 กันยายน 2553 มีกลุ่มชายฉกรรจ์มาล้อมลานจอดสุวรรณภูมิจำนวนนับ 100 คน ซึ่งถูกระบุว่า เป็นทีมของเสธ.ทหารค่ายใหญ่อย่างน้อย 2 ขั้ว คือ เสธ.ห.กับ เสธ.ย.ได้รับคำสั่งจากกรรมการคนละข้างเข้ามายึดกิจการซึ่งกันและกัน และทีมชายฉกรรจ์ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เรื่อย ๆ ทุกวัน

รวมถึงมี ตัวละครกลุ่มใหม่ของเสธ.อีก 3 กลุ่ม (ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ 2 กลุ่มแรก) คือ เสธ.ข, เสธ.ฮ.และ เสธ.ต.ในจำนวนนี้เป็นตัวแทนของกลุ่มที่อ้างว่า ได้ซื้อหุ้นปาร์คกิ้งจากกรรมการคนหนึ่งไปหมดแล้ว แถมสูญเงินไปเกือบ 200 ล้านบาท โดยไม่ได้อะไรกลับคืน จึงเข้ามาทวงสิทธิ์ด้วยการยึดเคาน์เตอร์เก็บเงินรายวันเสียเองแทนพนักงาน ปาร์คกิ้งฯของนายธนกฤต

ช่วงวันที่ 28 กันยายน 2553 นายปิยะพันธ์มีคำสั่งให้ฝ่ายบริหาร ทอท.ทำหนังสือเชิญนายธนกฤตกับนายธรรศน์มาชี้แจงพร้อมกัน แต่ทั้งคู่ไม่มา นายธรรศน์ส่งนางแพรว พจนประพันธ์ มารดา มาเป็นตัวแทนเจรจา จากนั้นวันที่ 29 กันยายน นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต นำคณะเดินทางไปเชียงรายได้เจอกับเหล่าชายฉกรรจ์ในลานจอดด้วยตนเอง

จึง เป็นเหตุให้ต้องมีคำสั่งให้ฝ่ายบริหาร ทอท.ประชุมด่วนเพื่อสรุปการยกเลิกสัมปทานลานจอดของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด มีผล 11 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป

 


 

สัมปทานปาร์คกิ้งฯจบเกม 11 ต.ค.นี้

จากประชาชาติธุรกิจ




สัมปทาน ลานจอดรถฉาวสุวรรณภูมิหน้าอาคารผู้โดยสารเอและบีขนาดพื้นที่ 1.6 แสนตารางเมตร ต้องมีอันปิดฉากลงด้วยอายุการบริหารเพียง 134 วัน เมื่อ "ปิยะพันธ์ จัมปาสุต" ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." ยกเลิกสัมปทานบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด

"ปิยะ พันธ์ จัมปาสุต" อธิบายถึงการทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายบริหาร ทอท.แถลงข้อมูลการยกเลิกสัมปทานลานจอดรถสุวรรณภูมิว่า เพราะบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงตามสัญญาที่ระบุไว้ 4 ส่วน ส่วนที่ 1 ไม่ได้นำเงินไปจ่ายกรมธรรม์ประกันรายได้กับธนาคารให้ครบตามจำนวน ส่วนที่ 2 ไม่จ่ายเงินตอบแทนรายได้รายเดือน ส่วนที่ 3 ไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบเชื่อมโยงเครือข่ายรายงานยอดรายได้รายวันกับ ทอท.

และ 4.สร้างปัญหาขัดแย้งภายในองค์กรกระทบต่อภาพลักษณ์สุวรรณภูมิอย่างรุนแรง กรณีเมื่อ 1 ตุลาคม 2553 นำชายฉกรรจ์สวมชุดดำจำนวนมากเป็นบุรุษลึกลับที่เข้าไปปะทะกันในลานจอดรถสนาม บินนานาชาติ สร้างความหวาดหวั่นแก่ผู้ใช้บริการ ส่อให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารลานจอดรถ

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2553 ผู้บริหารเองเห็นสมควรให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานทันที โดยประธานบอร์ดขอให้ ทอท.รวบรวม รายละเอียดความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของบริษัท ปาร์คกิ้งฯ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายเรียกค่าเสียหายให้ครบทุกบาท

ตามขั้นตอนให้ ทอท.เร่งออกหนังสือยกเลิกสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2553 เน้นความรอบคอบ รัดกุม ป้องกันการปฏิเสธการรับหนังสือจึงเสนอให้ส่งทางไปรษณีย์เพื่อลงวันส่งและรับ จากนั้นให้เผื่อเวลายกเลิกอีก 3 วัน วันที่ 11 ตุลาคมนี้ ก็ยกเลิกได้แล้ว และทางปาร์คกิ้งฯ จะต้องออกจากพื้นที่ทันที เพราะขณะนี้ ทอท.ได้เตรียมชุดปฏิบัติภารกิจเก็บรายได้ลานจอดชั่วคราว 3 เดือน ช่วงรอพิจารณาเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง

ระหว่าง 3 เดือนนี้ผู้บริหารและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใน ทอท.จะต้องไปปรับปรุงเงื่อนไขทีโออาร์อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องการกำหนดคุณสมบัติ วันเวลา การยกเลิก วิธีหักเงินค้ำประกัน รายได้และพื้นที่ ป้องกันการกระทำผิดข้อตกลง

ส่วนการถูกตั้งข้อ สังเกตของฝ่ายต่าง ๆ หลังยกเลิกสัมปทานครั้งนี้เพื่อเปิดทางให้กลุ่มการเมืองนำบริษัทตัวแทนเข้า มายึดพื้นที่ทำกินแทนทั้งที่ ทอท.ทำเองอาจจะได้ประโยชน์มากกว่า เหมือนเมื่อตอนสุวรรณภูมิเปิดบริการช่วง 3 ปีแรก ทำได้ถึงวันละ 1 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละเกือบ 30 ล้านบาท

นายปิยะพันธ์กล่าวว่า การยกเลิกครั้งนี้ฝ่ายบริหารและตนยึดกฎหมายเป็นหลัก เมื่อคู่สัญญาทำผิดเงื่อนไขก็ยกเลิก ส่วนอนาคตการเมืองจะเข้ามาอย่างไรคงตอบทันทีไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติให้รัดกุมก็เท่านั้นเอง

ช่วง เวลาก่อนนายปิยะพันธ์จะประกาศแถลงยกเลิกสัมปทานนั้น นางแพรว พจนประพันธ์ มารดานายธรรศน์ พจนประพันธ์ หนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจลงนามหลักของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ได้บุกขึ้นมาหน้าห้องประชุมพร้อมกับแจ้งสื่อมวลชนว่า จะฟ้องร้อง ทอท.เพื่อเรียกค่าเสียหาย เพราะสัญญาที่ทำไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากลูกชายเสียเงินไปเกือบ 40 ล้านบาท เพราะหลงเชื่อคารมบางคน อีกทั้งนักการเมืองพรรคภูมิใจไทยล่าสุดยังพาพวก 3 คน ไปพบตนถึงบ้าน โดยก่อนหน้านี้เอ่ยกันถึงตัวเลขหลักร้อยล้านบาท แต่วันนี้ลูกชายกลับถูกหลอกเงินไปมหาศาล

สัญญาลานจอดรถฉาวสุวรรณภูมิ ปิดฉากลงแล้ว แต่เกมการต่อสู้ของผู้เกี่ยวข้องเพิ่งจะเริ่ม จับตาศึกแฉสัมปทานในสนามบินนับวันจะยิ่งผุดเป็นดอกเห็ด

 


 

ทอท.ขอคุมธุรกิจลานจอดรถ วอนการเมืองเลิกยุ่งสัมปทาน

จากประชาชาติธุรกิจ


 กระทุ้ง ! รัฐบาล "อภิสิทธิ์" ผนึก "ภูมิใจไทย" ล้างการเมืองเลิกยุ่งสัมปทาน ปล่อยทอท.ทำธุรกิจลานจอดรถเอง หลังบอร์ดเปิดช่องให้เร่งศึกษา 3 เดือน ฝ่ายบริหารยันทำเองได้ครบ 100% เปิดประมูลทีไรเงินหล่นหายเกือบครึ่ง เผยสนามบินอินเตอร์ของไทยอยู่ในวังวนการเมือง คนมีสี ผู้ทรงอิทธิพล



นาย ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." เปิดเผยว่า หลังจากประกาศยกเลิกสัมปทานโครงการลานจอดรถอาคารผู้โดยสารเอและบีสุวรรณภูมิ ของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด แล้ว ในช่วง 3-6 เดือนนี้ ระหว่างรอข้อสรุปทางเลือกที่มอบหมายให้ฝ่ายบริหาร ไปทำข้อเปรียบเทียบระหว่าง ทอท.บริหารจัดการลานจอดด้วยตนเอง กับให้สัมปทานเอกชนดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนด ทางเลือกใดจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน โดยให้ทำคู่ขนานกันกับการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ทีโออาร์อย่างรัดกุม ทั้ง คุณสมบัติทั่วไป เงื่อนเวลายกเลิกสัญญา การปฏิบัติผิดข้อตกลง ค่าปรับ และอื่น ๆ เพื่อป้องกันรัฐเสียหาย

ประธานบอร์ดยอมรับว่า ที่ผ่านมา ทอท.ไม่เคยเสนอผลศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง ทอท.ดำเนินการเองกับให้สัมปทานเอกชนไปทำ ทางเลือกใดรักษาผลประโยชน์ชาติได้มากกว่ากัน แต่พยายามจะอธิบายรายละเอียดที่รับรู้มาจากฝ่ายบริหารเพียงบางส่วนว่า ช่วง 3 ปีแรก ทอท.ไม่ได้ดำเนินการบริหารลานจอดรถสุวรรณภูมิเองทั้งหมด ใช้วิธีเหมาจ้างเอกชนเข้ามาบริการ ก่อนจะกล่าวต่อถึงเป้าหมายมุ่งเน้นไปยังการเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง ด้วยวิธีร่นระยะเวลาจากเดิมเคยใช้ถึง 6 เดือน หากเป็นครั้งใหม่ควรจะภายใน 3 เดือนเท่านั้น

แหล่งข่าวระดับสูงที่ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมฝ่าย บริหาร ทอท.เปิดเผยว่า การประชุมหลายครั้ง นายปิยะพันธ์ ประธานบอร์ด มักจะนั่งสังเกตุการณ์อยู่ด้วยนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมและฝ่ายที่รับผิดชอบด้านปฏิบัติการได้แสดงความเห็นและยืน ยันมาตลอดถึงจุดยืนขององค์กร ต้องการดูแลกิจกรรมเชิงพาณิชย์พื้นที่ลานจอดรถโดยใช้พนักงานของ ทอท. เพราะนอกจากจะสร้างรายได้มหาศาลแบบง่าย ๆ ปีละเกือบ 360 ล้านบาท โดยไม่ต้องออกแรง เพียงแต่หา ผู้บริหารที่มีความซื่อสัตย์เข้ามาคุมการจัดเก็บเงินสดทุกวัน ส่วนอุปกรณ์กับพนักงานภาคสนามก็ใช้วิธีเดิม คือเหมาจ้างเอกชนทำ (outsource) เสียค่าใช้จ่ายไม่มาก ปีละไม่กี่ล้านบาท แต่ได้ผลกำไรเป็นกอบเป็นกำปีละเกือบ 250 ล้านบาท แถมยังสามารถป้องกันความปลอดภัยและควบคุมพื้นที่ได้ง่ายกว่าหากเกินปัญหาใด ๆ ขึ้นก็ตาม เนื่องจากอำนาจสิทธิ์ขาดทั้งหมดอยู่ที่ ทอท.

แตกต่างจาก การให้สัมปทานเอกชนทำตามสัญญาขั้นต่ำ 5 ปีขึ้นไป ทอท.มีประสบการณ์เลวร้ายมาตลอดตั้งแต่สมัยกว่า 15 ปีที่ผ่านมา สนามบินนานาชาติดอนเมืองให้สัมปทานบริหารลานจอดรถแก่บริษัท แอร์พอร์ต แอสโซซิเอท จำกัด 10 ปี ต้องฟ้องแพ่งเรียกเงินรายได้หายไปคืนเกินกว่า 100 ล้านบาท เป็นคดีใหญ่ระดับประเทศที่มีผู้เกี่ยวข้องจากวงการเมือง คนมีสี เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเต็มไปหมด ลักษณะคล้ายคลึงกันกับสุวรรณภูมิวันนี้ เหตุการณ์ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว ทอท.ยังเลือกใช้วิธีย่ำอยู่กับที่ นั่นคือ จู่ ๆ ก็เปิดประมูลให้สัมปทานเอกชนเข้ามาสร้างปัญหาตั้งแต่วันแรก แล้วท้ายที่สุดต้องมาเสียเวลาแก้ปัญหายุ่งยาก"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า เมื่อบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ขัดแย้งภายใน จากนั้นกรรมการได้ออกมาสาวไส้ โยงใยไปถึงการดึงเสธ.ทหารกลุ่มต่าง ๆ ส่งชายฉกรรจ์ชุดดำเข้ามายึดพื้นที่ลานจอดรถสุวรรณภูมิ เรื่อยไปจนถึงการเปิดโปงเบื้องหลังมีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง การถูกหลอกเงินลงทุนเพื่อแลกกับผลประโยชน์สัมปทาน สุดท้ายสุวรรณภูมิภาพลักษณ์เสียหาย ขณะที่ผู้บริหาร บอร์ด ทอท.กำลังถูกฟ้องดำเนินคดี ลามไปถึงการร้องทุกข์ถึงผู้นำรัฐบาล

ทั้ง นี้ ผู้บริหาร ทอท.หลายคนยอมรับว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการบริหารพื้นที่ลานจอดรถด้วยวิธี ทอท.ทำเอง ใน สุวรรณภูมิซึ่งมีพื้นที่มากกว่าดอนเมือง 6 เท่า สามารถหารายได้อย่างน้อยเดือนละ 30-40 ล้านบาท ต่างจากการให้สัมปทานต้องหักรายได้บางส่วนให้คู่สัญญา กรณีตัวอย่าง บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เห็นภาพชัดเจน จากปกติ ทอท.เคยมีรายได้เดือนละ 30 ล้านบาท พอเปิดประมูลราคากลางบริษัทที่ชนะเสนอไว้สูงสุด 17.5 ล้านบาท หายไปเกือบ 50% และเมื่อให้เข้ามารับผิดชอบก็เกิดปัญหาบานปลายใหญ่โต เสียทั้งโอกาส สูญทั้งรายได้ และเสียหายกับองค์กร ทั้งที่ธุรกิจกับรายได้ควรจะเติบโตไปข้างหน้าแต่ต้องมานับหนึ่งใหม่

"เพื่อ ให้สุวรรณภูมิเป็นพื้นที่ปลอดการเมือง ไม่มีผู้ทรงอิทธิพลและคนมีสีเข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคร่วมอย่างภูมิใจไทย ซึ่งอ้างทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง ควรจะแสดงความจริงใจให้ประชาชนรับรู้ได้ด้วยการนำร่องโครงการแรกเลิกแจก สัมปทานกิจการต่าง ๆ ในสุวรรณภูมิเสียที เพราะลำพังฝ่ายบริหารในรัฐวิสาหกิจใต้ร่มเงากระทรวงคมนาคมคงจะไม่มีพลังมาก พอจะคัดง้างคำสั่งการเมือง" แหล่งข่าวกล่าว

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิเสธไม่เคยนำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับสัมปทานในสนามบินสุวรรณภูมิแต่ อย่างใด หากจะเป็นคนอื่นในพรรคหรือใครตนไม่ทราบ แต่ยืนยันนโยบายหลัก ถ้าผู้ใดมีหลักฐานเอาผิดกับคนที่กระทำการดังกล่าวก็ให้ฟ้องดำเนินคดีตาม กฎหมายได้

ตามที่นางแพรว พจนประพันธ์ มารดานายธรรศ พจนประพันธ์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ออกมาประกาศต่อสาธารณชนหลังถูก ทอท.ยกเลิกสัญญาสัมปทานลานจอดรถสุวรรณภูมิตั้งแต่ 11 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ตนจะเป็นตัวแทนร้องทุกข์ไปยังนายกรัฐมนตรี ฟ้องดำเนินคดีฝ่ายบริหาร ทอท. และพร้อมแฉนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการเจรจาใช้วิธีร่วมมือกับกรรมการ ฝ่ายตรงข้ามหลอกเงินลูกชายและผู้ร่วมทุนคนอื่นไปเป็นมูลค่ารวมกว่า 240 ล้านบาท


จับตาคมนาคม ถก ผู้ถือหุ้นปาร์คกิ้งฯปาหี่ หรือ จริงใจ

จาก โพสต์ทูเดย์

น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า การเจรจา 3 ฝ่ายระหว่างกระทรวงคมนาคม ทอท. และผู้ถือหุ้น ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 ต.ค.นี้ จะออกมาในรูปแบบใด กลุ่มผลประโยชน์จะยังคงลอยนวลหรือไม่....

ในที่สุดนัดของคณะกรรมการตรวจสอบการบริหารพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ที่นัดผู้ถือหุ้นของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมนเนจเมนท์ ผู้รับสัมปทานการจัดเก็บค่าจอดรถที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 11 ตุลาคม เวลา 9.00 น. เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการบริหารสัญญาสัมปทานดังกล่าว ก็ต้องมีอันต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากทางฝ่าย คณะกรรมการฯ ไม่ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง ผู้ถือหุ้นบริษัททั้ง 2 กลุ่มอย่างเป็นทางการว่าจะมีการหารือกันในวันที่ 11 ตุลาคม มีแต่การให้ข่าวผ่านหน้าหนังสือพิมพ์เท่านั้น

ขณะที่วิธีการเชิญนั้น เลขานุการหน้าห้อง สุพจน์ ทรัพย์ล้อม เพิ่งจะโทร.ไปนัดผู้ถือหุ้นทั้ง 2 กลุ่มเมื่อช่วงเช้าวันที่ 11 ตุลาคม โดยระบุว่าคณะกรรมการฯ จะขอนัดในเวลา 14.00 น.วันเดียวกัน เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการได้มาของสัญญา

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นฝ่ายนายธรรศ พจนประพันธ์ ได้ขอเลื่อนไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ ในวันที่ 12 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ คณะกรรมการฯ นัดผู้บริหารบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.มาหารือในเรื่องของผลประโยชน์ต่างๆ เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานดังกล่าว ทำให้กลุ่มของ ธนกฤต เจนกิตติโชค ต้องเลื่อนไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ ในวันเดียวกัน

กระแสข่าววงใน บอกว่า สาเหตุที่ต้องกลุ่มนายธรรศ ขอเลื่อนไปให้ข้อมูลในวันเดียวกับ ฝ่ายบริหารทอท. เนื่องจากสายสัมพันธ์ระหว่าง กลุ่มนายธรรศ กับ ฝ่ายบริหารทอท. นั้นแน่นปึ้ก อย่างยิ่ง ทั้งจาก กลุ่มเสธ.ที่เข้ามาคุมพื้นที่อาคาร และลานจอดรถ สนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงที่กลุ่มนายธรรศ คุมพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือนแรกหลังได้รับสัมปทานนั้น เพราะเสธ.คนดังกล่าว มีญาติใกล้ชิดกับฝ่ายบริหารระดับสูงของ ทอท. ทำให้ ในขณะนี้มีความพยายามไม่น้อยที่จะให้ กลุ่มของ นายธรรศ กลับเข้ามาบริหารสัญญาสัมปทานแทนกลุ่มนายธนกฤต

นอกจากนี้ ในช่วงที่ทอท.นำกำลังเข้าไปยึดพื้นที่อาคารจอดรถจาก กลุ่มนายธนกฤต ปรากฏว่า พนักงานที่แจกบัตรจอดรถให้กับรถที่เข้ามาในอาคารจอดรถนั้น เป็นคนของนายธรรศ ทั้งสิ้น

ขณะที่ กลุ่มนายธนกฤต ก็ถือไพ่เหนือกว่า กลุ่มนายธรรศ เนื่องจากตามหนังสือจดทะเบียนบริษัท นายธนกฤต คือ ผู้ที่มีอำนาจในการลงนามผูกพันสัญญาต่างๆ ของบริษัทปาร์คกิ้งฯ ทำให้การทำนิติกรรม หรือหนังสือต่างๆ ที่ต้องออกในนามบริษัทนั้น นายธนกฤต ต้องลงนามทุกครั้ง ขณะที่ นายธรรศ นั้นไม่ได้เป็นกรรมการที่มีสิทธิลงนามใดๆ ทำให้ในแง่กฎหมาย นายธรรศ ถือไพ่รองกว่านายธนกฤต ไม่น้อย

น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า การเจรจา 3 ฝ่ายระหว่างกระทรวงคมนาคม ทอท. และผู้ถือหุ้น ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 ต.ค.นี้ จะออกมาในรูปแบบใด กลุ่มผลประโยชน์จะยังคงลอยนวล กอบโกยผลประโยชน์อยู่อย่างต่อเนื่อง หรือ สัญญานี้จะถูกนำมาแสดงให้สังคมรับทราบถึงความเป็นจริงที่ควรจะเป็น


พบบริหารสัญญาที่จอดรถสุวรรณภูมิส่อพิรุธ

จาก โพสต์ทูเดย์

“กรรมการชุดตรวจสอบ” สรุปเบื้องต้นปัญหาที่จอดรถสุวรรณภูมิ จุดบอดอยู่ที่การบริหารสัญญาส่อพิรุธตั้งแต่ต้น ชี้ฝายบริหารที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ตรวจสอบการบริหารพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  เปิดเผยว่า จากการเรียกคณะกรรมการร่างทีโออาร์ สัญญาอาคารและลานจอดรถสนามบินสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) มาสอบถามข้อมูล เบื้องต้น กรรมการเห็นว่า ปัญหา ที่เกิดขึ้นอยู่ที่การบริหารสัญญาที่ส่อให้เห็นพิรุธตั้งแต่แรก คือ เมื่อทอท.เรียกเก็บเงินรายได้ขั้นต่ำตามสัญญา 16.5 ล้านบาท  พร้อมขอเข้าตรวจสอบข้อมูลก็ไม่ได้ ถือว่าก่อให้เกิดความเสียหายและสามารถบอกเลิกสัญญาได้แล้ว แต่ทอท.กลับไม่ได้ทำอะไรเลย

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตอีกหลายเรื่อง อาทิ การปรับลดคุณสมบัติของผู้รับสัมปทาน การเร่งรัดประมูลหาเอกชน รวมทั้งการแยกความรับผิดชอบในการดูแล เช่น เรื่องความเรียบร้อยในการดำเนินงานของเอกชนให้ฝ่ายขนส่งดูแล การบริหารจัดการระบบทอท.ให้ฝ่ายเทคนิคดูแล ฯลฯ

ดังนั้น ฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ และเห็นว่าผ่านคณะกรรมการทอท.มาแล้ว และคิดว่าบอร์ดก็คงได้ข้อมูลจากฝ่ายบริหารของทอท.มาอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็ต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะหากพบว่ามีความผิดจริงเรื่องนี้กระทรวงคง เอาผิดไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจเนื่องจากเป็นบริษัทมหาชน หากพบว่าเป็นความผิดของบอร์ดก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องปันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะดำเนินการเอาผิดกับบอร์ดทอท.ได้

เชิญคณะกรรมการพิจารณารายได้-เอกชนชี้แจง12ต.ค.

ในวันที่ 12 ต.ค. นี้ กรรมการจะเชิญคณะกรรมการพิจารณารายได้ ที่มีนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ในฐานะประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าวในขณะนั้นมาชี้แจงในช่วงเช้าและในช่วง บ่ายจะเชิญ เอกชนมาชี้แจงข้อเท็จจริง 

ทั้งนี้จากการหารือในที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตว่า 1.มีการตีความอย่างไรว่ามูลค่าโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยประเด็นนี้คณะกรรมการพิจารณารายได้ต้องชี้แจงว่าทำไมจึงประเมินว่ามูลค่า โครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท 2.เหตุใดจึงกำหนดคุณสมบัติ บริษัทที่ร่วมประกวดราคาไว้ที่มีประสบการณ์ในการบริหารลานจอดรถ 1,000 คัน จากเดิมที่กำหนดไว้ 5,000 คัน จากนั้นก็ลดลงเหลือ 2,500 คัน จนกระทั่งเหลือเพียง 1,000 คัน

3.ผู้ประกอบการดำเนินการตามตามเงื่อนไขที่สัญญากำหนดหรือไม่และทอท.เองใน ฐานะคู่สัญญาดำเนินการได้ถูกต้องแล้วหรือไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ และสมควรหรือไม่ในการยกเลิกสัญญากับเอกชน   4.การจ่ายเงินล่วงหน้าของเอกชนที่ต้องจ่ายให้ทอท.ซึ่งต้องหารือกันว่าจ่าย กันหรือไม่เพราะเท่าที่ทราบทอท.ไม่ได้รับเงินตามสัญญาที่กำหนดไว้ในสัญญา  5.มีการทำสัญญากันเม.ย.53  และมีการตรวจสอบหรือไม่ว่ามีปัญหาในการบริหารสัญญาอย่างไร เพราะพบว่าไม่มีคณะกรรมการบริหารสัญญาทั้งๆที่ต้องมี

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ในส่วนของการจ่ายเงินล่วงหน้ารายได้ขั้นต่ำให้กับทอท.นั้นจะทางทอท.ได้ชี้ แจงต่อเอกชนที่เข้ามาประกวดราคาอย่างครบถ้วนและทั่วถึงหรือไม่ หรือมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่ต้องสอบสวนกันในวันที่ 12 ต.ค.นี้  รวมถึงต้องชี้แจงข้อดีข้อเสียในการเก็บเงินเองกับเปิดให้สัมปทาน ซึ่งทอท.ต้องชี้แจงไห้ได้

ทอท.ยันเอกชนต้องคืนพื้นที่ภายใน15ต.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 11 ต.ค. ได้มีการประชุมบอร์ด ทอท.โดยมีนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) ทอท .เป็นประธาน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงโดยนายปิยะพันธ์ เปิดผยว่า ทอท.ได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญากับทางบริษัทปาร์คกิ้ง เมนเนจเม้นท์  แล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2553 เป็นต้นมา

 

สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุมกับคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ / ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

ทั้งนี้ สัญญาการว่าจ้างกับบริษัทดังกล่าวนั้นได้แบ่งออกเป็น 2 สัญญาประกอบด้วย1.สัญญาการว่าจ้างให้บริหารจัดการอาคารและลาด ซึ่งมีผลยกเลิกทันที่ และ 2. สัญญาเช่าพื้นที่อาคารลานจอดรถเพื่อประกอบธุรกิจตามสัญญาแรก ในส่วนนี้ตามสัญญานั้นทางทอท.จะต้องให้เวลากับทางบริษัทดังกล่าวเป็นเวลา 7 วันเพื่อคืนพื้นที่หรือภายในวันที่ 15 ต.ค. 2553

นายปิยะพันธ์ กล่าวว่า ยังได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารไปทบทวนว่าหลังจากนี้จะใช้วีการในการบริหาร จัดการอาคารลานจอดรถอย่างไร และวิธีการไหนมีความเหมาะสมที่สุด  ซึ่งในเบื้องต้นมีแนวทาง 3 แนวทางคือ 1การบริหารเอง ,2.จ้างบริหารและ3.ให้สัมปทาน นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารไปทบทวนโครงการและสัญญาการให้สัมปทานทุกโครงการ ว่ามีโครงการใดที่ส่อแววว่าจะเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกับการให้สัมปทานบริ ษัทปาร์คกิ้งฯบ้าง

“ได้สั่งการไปยังฝ่ายบริหารของทอท.ด้วยว่าให้ไปพิจารณาสัญญาระหว่างทอ ท.กับเอกชนที่อาจจะมีลักษณะเช่นเดียวกับที่ทำกับบ.ปาร์คกิ้งฯด้วย เพราะอาจจะเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันในอนาคต” นายปิยะพันธ์ กล่าว

นายปิยะพันธ์ กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันที่ 11 ต.ค. 2553 ทางบริษัท ปาร์คกิ้งฯได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ในข้อหาละเมิดสัญญามูลค่า 6.5 ล้านบาท พร้อมขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน ซึ่งศาลได้พิจารณาในวันเดียวกันและมีคำสั่งให้ยกฟ้อง เนื่องจากคดีไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งแต่เป็นคดีของศาลปกครองกลาง   ซึ่งคาดว่าเร็วๆนี้ ทางผู้บริหารของบ.ปาร์คกิ้งคงจะไปฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งได้ให้ฝ่ายกฏหมายของทอท.เตรียมข้อมูลเพื่อไปชี้แจงต่อไป 

Tags : ปิดฉาก ลานจอดฉาว สุวรรณภูมิ กู้วิกฤต ทอท. รักษารายได้

view