สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จากวิกฤตแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม สู่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน อย่าแค่เงียบ...ล้มระบบอุปถัมภ์!!!

จากประชาชาติธุรกิจ

ข่าวอื้อฉาว การทุจริตโรงเรียนนายอำเภอ  ซึ่ง"บิ๊กข้าราชการ" รับใบสั่งจากผู้มีอำนาจการเมือง เป็นข่าวที่ตอกย้ำความเสื่อมในระบบราชการ ที่ตกต่ำถึงขีดสุด
  ไม่นับการแต่งตั้งโยกย้ายที่ เด็กนักการเมือง ต่างได้ดีกันทั่วหน้า  !!!
กล่าวกันว่า   ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การทุจริต คอร์รัปชั่น
ล่าสุด ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ บก.เว๊บไซต์ www.pub-law.net  ได้เขียนบท บรรณาธิการ เรื่อง "ทำไมประเทศไทยจึงมีปัญหาคอร์รัปชันมากนัก" เป็นคำถามที่น่าสนใจและยังมีข้อเสนอที่ท้าทาย เป็นอย่างยิ่ง
       
       ....เมื่อสองสามวันก่อน ได้เห็นภาพของเพื่อนกลุ่มหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อได้อ่านคำบรรยายใต้ภาพจึงทราบว่า เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นนักธุรกิจและเป็นเศรษฐี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงแสดงความยินดีกับเพื่อนตำรวจ เพื่อนทหาร และเพื่อนข้าราชการพลเรือน ที่ได้รับตำแหน่งสูงขึ้นจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา
                
ข่าว สังคมลักษณะนี้มีให้เห็นบ่อย ๆ ทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งโยกย้าย ก็จะต้องมีข่าว “โฆษณา” ให้คนทั่วไปทราบถึง “ความใกล้ชิด” ของผู้จัดเลี้ยงและ “ความก้าวหน้า” ของผู้ได้รับเลี้ยง แต่ไม่เห็นมีใครพูดกันเลยว่า คนเหล่านั้น “ก้าวหน้า” ขึ้นมาถึงจุดนั้นได้อย่างไร เป็นคนมีความรู้ความสามารถหรือไม่ โชคช่วยหรือไม่ หรือวิ่งเต้นจนได้ดิบได้ดี และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีบางคนที่ขึ้นมาถึงระดับนั้นได้ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ก็หมายความว่าในขณะเดียวกันต้องมีคนอื่นที่ดีกว่า เก่งกว่า เหมาะสมกว่า แต่ถูก “ข้ามหัว” ไปด้วยความไม่ถูกต้องเช่นกัน    คนประเภทหลังนี้ไม่เห็นมีใครเลี้ยงปลอบใจให้ทั้ง ๆ ที่เป็นคนที่น่าจะได้รับเลี้ยงมากที่สุด และคนประเภทนี้ก็มีจำนวนมากเสียด้วย ยิ่งบางรายที่กระโดด “ข้ามหัว” คนอื่นด้วยพลังแรงสูง ก็หมายความว่า 1 ตำแหน่งของตนเองที่ได้ไปกระทบกับคนอีกเป็นร้อยเป็นพันก็มีคนที่ถูกข้ามหัวไป ก็จะมีจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ      นี่คือสภาพของสังคมไทย สภาพของสังคมอุปถัมภ์ที่เรารับทราบกันอยู่ คนมีตำแหน่งและมีอำนาจเท่านั้นที่จะได้รับความสนใจ ได้รับการยอมรับและได้รับการยกย่องจากสังคมครับ !!!
        ข่าวอื้อฉาวที่สุดก็คือ การแต่งตั้งโยกย้ายในมหาดไทย
     ในช่วงเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาของการโยกย้ายข้าราชการทุกประเภท ที่เป็นข่าวอื้อฉาวที่สุดก็คือ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจและข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่มีทั้ง ข่าวออกมาในเชิงลบและมีการร้องเรียนโดยผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการ แต่งตั้งโยกย้าย    ข่าวที่ออกมามีลักษณะคล้าย ๆ กันคือ ข้าราชการที่ได้รับการ “อุ้มชู” จากนักการเมืองก็จะ “ได้ดี” กันเป็นแถว แม้บางคนจะมีชนักติดหลังอยู่ก็ยังได้ดี บางคนถึงขนาดทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแย่ลงก็ยังได้ดี บางคนอาจทำให้พรรคการเมืองแตกได้ก็ยังได้ดี รวมความแล้วการ “ได้ดี” ของคน “บางคน” เป็นการ “ได้ดี” เฉพาะตัวเองและผู้แต่งตั้ง แต่อาจไม่เกิด “ผลดี” อะไรต่อประเทศชาติและสังคมเลยก็เป็นได้หากคนที่ได้ดีเหล่านั้นต้อง “ตอบสนอง” ผู้แต่งตั้งอันเนื่องมาจาก “บุญคุณ” ที่ทำให้ตนเองได้รับตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่ควร ก็เป็นไปได้
                 
หากจะว่าไปแล้ว เรื่องประเภทดังกล่าวมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแสนนาน การรัฐประหารหลาย ๆ ครั้งก็เกิดจากการแต่งตั้งโยกย้ายหรือที่เกิดจากการกลัวการแต่งตั้งโยกย้าย ก็เคยมีมาแล้ว มีข้าราชการกลุ่มหนึ่งที่เป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัยซึ่งไม่ว่ากาลเวลาจะ เปลี่ยนไป สภาพสังคมจะเปลี่ยนไป แต่ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำก็ไม่เคยเปลี่ยนไป
       ตราบใดก็ตามที่ระบบข้าราชการยังเป็นระบบ “ปิรามิด” และตราบใดก็ตามที่นักการเมืองยังเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย ความพยายามที่จะก้าวไปสู่ยอดปิรามิดด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ ดำรงอยู่ในสังคมไทยตลอดเวลาที่ผ่านมาและจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอย่างหลีก เลี่ยงมิได้
    จบลงในสภาพเดียวกันคือ “เงียบ”                    นอกเหนือจากข่าวของความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่กล่าว ไปแล้ว ก็ยังมีข่าว “อดีตข้าราชการ” บางคนที่แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้วแต่ก็ยังให้ความ “สนใจ” ในปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม ออกมาให้สัมภาษณ์เชิงวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม พร้อมกับชักชวนให้ข้าราชการและทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันต่อต้านการแทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมของนักการเมือง
                  ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีปัญหาประเภทนี้เกิดขึ้นหลายครั้งและทุก ๆ ครั้งก็จบลงในสภาพเดียวกันคือ “เงียบ”   เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเป็น “อำนาจบังคับบัญชา” ของผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดของหน่วยงาน แม้จะมีความพยายามในการวางเกณฑ์กันในบางกระทรวงโดยหวังที่จะเห็นการแต่งตั้ง โยกย้ายที่เป็นธรรม แต่ความพยายามเหล่านั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
     ไม่ต้องดูอื่นไกล ที่ผ่านมามีข่าวว่า กระทรวงหนึ่งต้องการได้ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดด้วยวิธีการที่ดี โปร่งใส เป็นธรรม อุตส่าห์ตั้งคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศ เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้คนที่ดีที่สุดมาแล้วก็เสนอให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง แต่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งกลับแต่งตั้งอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้รับการสรรหา แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไรกันดีครับ ก็ต้องขอแสดงความ “สงสาร” และ“เห็นใจ” คณะกรรมการสรรหาที่อุตส่าห์ทำงานกันแทบตาย แต่ในที่สุด “นักการเมือง” ก็คือ “นักการเมือง” มองคนที่ตัวเองต้องการว่าเป็นคนที่ดีที่สุด !!!
 นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง
                  สภาพปัญหาการโยกย้ายข้าราชการในปัจจุบันคงไม่แตกต่างไปจากในอดีตที่ผ่านมา นัก ในวันนี้ เรามีนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศได้เพราะนายก รัฐมนตรีไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง เนื่องจากต้องพึ่งพาเสียงจากพรรคการเมืองอื่นที่มาร่วมรัฐบาลและจากทหาร “ผู้พิทักษ์” แม้ว่าจะมีนักการเมืองหรือข้าราชการบางคน “พัวพัน” กับการทุจริตดังที่มีข่าวออกมาตลอดเวลา
       แต่สิ่งที่เราได้รับทราบจากปากของนายกรัฐมนตรีก็คือ “เรื่องเหล่านี้ต้องมีคนรับผิดชอบ” แค่นั้นเองที่เราได้ยินจากปากของนายกรัฐมนตรีของเรา ไม่เคยมีการพบคนรับผิดชอบ ไม่มีการลงโทษ รวมทั้งไม่มีการปลดออกใด ๆ ทั้งนั้นตามมาครับ
“บ่อเกิด” ของการทุจริตคอร์รัปชันที่สำคัญที่สุด
                  ทำไมการแต่งตั้งโยกย้ายจึงมีความสำคัญกับนักการเมืองมากมายนัก คงเป็นเรื่องผลที่จะตามมามากกว่า ไม่ว่าจะเป็น “ฐานเสียง” ในอนาคต หรืออาจเป็น “กระเป๋าสตางค์” ก็ได้ ผมไม่ได้มองนักการเมืองในแง่ร้าย แต่จากประสบการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยที่ผ่านมา   นักการเมืองพยายามที่จะ “วาง” คนของตนเองเอาไว้ในที่ ๆ ตนเอง “ได้ประโยชน์” ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในรูปแบบใดก็ตาม การวางคนของตนเองในลักษณะดังกล่าวกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่นักการ เมืองทุกคน “ต้องทำ” และก็ส่งผลทำให้ข้าราชการจำนวนหนึ่ง “เข้าหา” นักการเมืองโดยมุ่งหวังที่จะ “ถีบตัวเอง” ให้เข้าไปสู่จุดที่ตัวเองต้องการได้ง่าย ๆ โดยอาศัยมือของนักการเมือง สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็เป็นสิ่งที่ทุกคนทราบกันดีก็คือการตักตวงครับ !!!
                  ข้าราชการกับนักการเมืองสามารถ “ร่วมงาน” กันได้เป็นอย่างดี เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีจำนวนมากมายมหาศาล การจัดซื้อจัดจ้างเป็น “บ่อเกิด” ของการทุจริตคอร์รัปชันที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ในเมื่อการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของข้าราชการ นักการเมืองจึงต้องหาทาง “ดูแล” หรือ “เป็นเจ้าของ” ผู้มีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อ “หาประโยชน์” ให้กับตนเอง
                  กระบวนการสำคัญจึงเริ่มจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะต้องเอาคนของตัวเองเข้าไป สู่ตำแหน่งก่อน จากนั้นคนของตัวเองก็จะเข้าไปดำเนินการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อตอบสนองความต้อง การทั้งของตนเองและของ “เจ้านาย”
                  ทำไมประเทศไทยจึงมีปัญหาคอร์รัปชันมากนัก เป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบและต้องมีการแก้ไข เป็นปัญหาสำคัญเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศ แต่ก็อย่างที่ทราบ การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น “จุดจบ” ของเรื่อง ซึ่งการแก้ปัญหาตรงจุดจบก็สามารถทำได้ แต่ปัญหาก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว ที่ดีและถูกต้องควรแก้ตั้งแต่ “จุดเริ่มต้น” มากกว่า
      จุดเริ่มต้นที่ว่านี้คือการเข้าสู่ตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น หากเรายังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ การทุจริตคอร์รัปชันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตอบแทนการเข้าสู่ตำแหน่งก็จะยัง คงมีอยู่ต่อไป
ข้อเสนอ  3 มาตรการแก้ปัญหา
                   ผมเข้าใจว่า มีความพยายามอย่างมากจากหลายภาคส่วนที่จะแก้ปัญหาการทุจริต     คอร์รัปชัน แต่ยังไม่ตรงจุดเสียทีเดียวก็เลยยังแก้ไม่ได้   ผมจะขอลองเสนอเล่น ๆ ดูสัก 3 มาตรการด้วยกันโดยมุ่งหวังว่า หากมาตรการของผมน่าสนใจหรือพอมีทางเป็นไปได้ ก็ขอให้ผู้อ่านที่มีบุญญาบารมีช่วยกันผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไปครับ
                  มาตรการแรกที่จะเข้าไปแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้คือ การล้มระบบอุปถัมภ์ ทุกวันนี้หลาย ๆ คนก็ทราบกันดีว่า ก็เพราะระบบอุปถัมภ์นี่เองที่ทำลายประเทศไทย ระบบอุปถัมภ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีของสังคมไทยที่มีมานานถูกนำมา “บิดเบือน” ใช้จนกลายเป็น “สิ่งชั่วร้าย” ของสังคม
    สิ่งหนึ่งที่ผมพบและเข้าใจว่าเป็นโรคระบาดในหมู่ข้าราชการและพ่อค้านัก ธุรกิจก็คือการเข้าอบรมหรือเรียนหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ ที่หน่วยงานของรัฐจำนวนมากจัดขึ้น หลักสูตรสำหรับผู้บริหารเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่สร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้นใน สังคมไทยเรา เข้าหลักสูตรเดียวกันเป็นพวกเดียวกันต้องช่วยเหลือกันกลายเป็นสิ่งที่ผู้คน ระดับหนึ่งในสังคมพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ภาครัฐภาคเอกชนเข้าไปอยู่ด้วยกันในช่วงเวลาหนึ่ง สร้างความคุ้นเคยกัน นำไปสู่ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและเมื่อต้องการความช่วยเหลือ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดูง่ายดายและเป็นไปได้อย่างดี ราบรื่น ระบบอุปถัมภ์ลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้อง “กำจัด” ออกไปจากสังคมไทยครับเพราะนอกจากผู้เข้าอบรมหรือผู้เข้าเรียนจะไม่ได้รับ ความรู้อะไรมากมายนักเพราะส่วนใหญ่จ้องจะเข้ามาหา “เพื่อน” ร่วมรุ่นแล้ว ยังเป็นการสูญเสียงบประมาณบางส่วนของประเทศชาติอีกด้วย
                  มาตรการต่อมาคือมาตรการทางกฎหมาย อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแต่ละปีมีจำนวนมาก การจัดซื้อจัดจ้างเป็นช่องทางสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ตั้งแต่ระดับล่าง เงินจำนวนน้อย ๆ ไปจนถึงระดับสูง เงินจำนวนมหาศาล
      ทุกวันนี้ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอยู่ภายใต้ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535” ระเบียบนี้เก่าและมีช่องโหว่มาก มีปัญหามาก การทุจริตคอร์รัปชันส่วนมากก็เป็นเพราะช่องโหว่ของระเบียบนี้
      ผมแปลกใจมากที่ไม่ว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิด ขึ้นมากมายเพียงใดก็ตาม แต่กลับไม่มีใครพูดถึง “เครื่องมือ” ที่เอื้อประโยชน์ต่อการทุจริตคอร์รัปชัน จริง ๆ แล้วกติกาของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐควรเป็นกฎหมายระดับสูงและควรแก้ไขปรับ ปรุงได้ตลอดเวลาให้ทันกับวิธีการในการทุจริตคอร์รัปชันที่พัฒนาไปมากในแต่ละ วัน ระเบียบที่ออกในปี พ.ศ. 2535 เกือบ 20 ปีมาแล้วคงไม่สามารถป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้เต็มร้อยอย่างแน่นอนครับ
       สมควรที่จะมีการสังคายนาระเบียบฉบับนี้เสียใหม่และทำเป็นกฎหมายระดับพระราช บัญญัติ วางกลไกในการจัดซื้อจัดจ้างเสียใหม่ให้เป็นระบบ มีบทกำหนดโทษที่รุนแรงอยู่ในกฎหมายและถ้าเป็นไปได้ หน่วยงานของรัฐทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐประเภทอื่น ๆ ก็ควรใช้เกณฑ์เดียวกัน หากเรามี “เครื่องมือ” ที่ดี การทุจริตคอร์รัปชันก็คงลดลงไปเองครับ
          มาตรการสุดท้าย คือ การ “ต่อต้าน” การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดช่องเอาไว้แล้วให้ข้าราชการตั้งสหภาพได้ เรื่องนี้ผมเคยเขียนไว้แล้วครั้งหนึ่งในบทบรรณาธิการ ครั้งที่ 182  ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ข้าราชการจะต้องรวมตัวกันต่อสู้กับการแต่งตั้งโยก ย้ายที่ไม่เป็นธรรม ต่อสู้กับนักการเมืองที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ต่อสู้กับข้าราชการที่ชอบวิ่งเต้น
       หากเราได้ข้าราชการที่ดี เข้าสู่ตำแหน่งด้วยความสามารถของตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งคือ เป็นแบบที่ไม่มีบุญคุณต่อกัน เมื่อไม่มีบุญคุณ การเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันก็ลดลงไปเอง.
        

Tags : จากวิกฤต แต่งตั้ง โยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน อย่าแค่เงียบ ล้มระบบอุปถัมภ์

view