สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับพิรุธ เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ดีลข้าว 1 ล้านตันอยู่หรือไป ?

จากประชาชาติธุรกิจ

การ ขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลมากกว่า 1 ล้านตันให้กับ บริษัท เอ็มที อินเตอร์เทรด ในเครือเม้งไต๋ ใกล้จะถึงบทสุดท้ายเต็มทีแล้ว หลังจากที่ยึกยักกันมานาน เมื่อ "นายเฉิน" หรือ จุ้งเชียง เฉิน กรรมการบริษัท ออกมายอมรับแล้วว่า ในขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการทำสัญญาซื้อขายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ที่ได้รับการ "อนุมัติ" จากนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้

โดยนายเฉิน อ้างว่า ระยะเวลารับมอบและขนย้ายข้าวสารที่กำหนดไว้ประมาณ 5 เดือนนั้น "ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน" พร้อมกับพูดจาในทำนองที่ว่า ถ้ารัฐบาลอยากจะขายข้าวลอตนี้ให้กับบริษัท รัฐบาลควรที่จะขยายระยะเวลาการขนย้ายข้าวออกไปเป็น 18 เดือน ทั้งหมดนี้มีการการันตีเพียงแค่ "คำสั่งซื้อข้าว" หรือออร์เดอร์ของบริษัท กวางตง กวางหง อิมพอร์ท แอนด์ เอ็กพอร์ท จำกัด รัฐวิสาหกิจจีนที่ ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้งมาแสดงเท่านั้น

ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบในสิ่งที่เรียกว่า "หลักการใหม่" สำหรับกรอบระยะเวลาการรับมอบและขนย้ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา จากก่อนหน้านี้ที่กำหนดให้ 1) ข้าวหอมปทุมธานี นาปี 2551/52 นาปรัง 2552 ผู้ซื้อจะต้องรับมอบข้าวและขนย้ายให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 60 วันนับจากวันทำสัญญาซื้อขายข้าวกับ อคส./อ.ต.ก.ขยายมาเป็น 90 วันแทน

2) ข้าวเหนียวขาว 10% นาปี 2551/52 นาปรัง 2552 จากเดิมให้รับมอบและขนย้ายภายในระยะเวลา 60 วัน ขยายมาเป็น 90 วันแทน และ 3) ข้าวขาว 5% นาปรัง 2551 นาปี 2551/52 นาปรัง 2552 ผู้ซื้อ จะต้องรับมอบข้าวและขนย้ายให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วันนับจากวันทำสัญญา ขยายมาเป็น 150 วันแทน

นั้นหมายความว่า ก่อนที่นายเฉินจะออกมาร้องขอให้ขยายระยะเวลาการรับมอบข้าวและขนย้ายข้าวออก ไปไม่น้อยกว่า 18 เดือนนั้น รัฐบาลโดยนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ได้ขยายระยะเวลาการรับมอบข้าวแบบเงียบ ๆ อย่างลับ ๆ ระหว่าง 1-5 เดือนมาให้รอบหนึ่งแล้ว แต่บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ก็ยังไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายข้าวกับ อคส./อ.ต.ก.ได้ ทั้งหมดนี้สร้างความสงสัยว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังทำอะไรกับดีลขายข้าวมากกว่า 1 ล้านตัน ให้กับบริษัท no name จาก อ.ม่วงสามสิบ ?

คำตอบในเรื่องมา จากการตั้งข้อสังเกตของผู้คนในวงการค้าข้าวถึงดีลที่ "ผิดปกติ" ที่คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ชุดของ นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดี กรมการค้าต่างประเทศ อนุมัติขายข้าวจำนวน 1.9 ล้านตันให้กับบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรดดังต่อไปนี้




1) บริษัทนี้มีตัวตนจริงหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท แจ้งประกอบกิจการขายปุ๋ย-ค้าส่งที่ทำการตั้งอยู่ 169/80-81 บริเวณตึกร้านโจ๊กซีฟู้ดส์ รัชดา ไม่ปรากฏร่องรอยของผู้ประกอบกิจการส่งออก-ค้าข้าว เมื่อตรวจสอบลึกลงไปพบว่าบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเอ็มทีฯ คือบริษัทเม้งไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล ทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท ในเครือเม้งไต๋ ตั้งอยู่ที่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี แจ้งประกอบกิจการให้กู้ยืมเงิน-บริการ ทั้ง 2 บริษัทมีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามกลุ่มเดียวกัน คือ นายจุ้งเชียง เฉิน กับ น.ส.ภารินี จารุมนต์

แต่บริษัทนี้หรือกลุ่มเม้งไต๋ สามารถคว้าสัญญาซื้อขายข้าวในสต๊อกรัฐบาล 1.9 ล้านตัน เกือบ 1 หมื่นล้านบาทมาครอบครองได้ ในขณะที่ผู้ส่งออกข้าว 1-5 อันดับแรกของประเทศไม่มีใคร "กล้า" เสนอซื้อข้าว ใน สต๊อกรัฐบาลคนเดียวมากมายขนาดนี้ ภายใต้เงื่อนไขการรับมอบข้าวเพื่อการ ส่งออกภายในระยะเวลา 90 วันนับจากวันทำสัญญาซื้อขาย สร้างความสงสัยว่าบริษัทเอ็มทีฯ เครือเม้งไต๋ ที่มียอดการส่งออกข้าวปีละ 1,000 กว่าตัน จะบริหารจัดการ ส่งออกข้าวมากกว่า 1 ล้านตันให้ทันกำหนดระยะเวลารับมอบข้าวได้อย่างไร

2) การขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลชุดนี้ ได้ถูกคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร อ้างมาโดยตลอดว่า เป็นการดำเนินการในทางลับ พร้อมกับตีความว่า "ทางลับ" ในทางปฏิบัติก็คือ ไม่มีการเปิดประมูลเป็น การทั่วไป ไม่มีการประกาศว่าใครคือ ผู้ได้รับการอนุมัติให้ซื้อข้าวได้ในปริมาณเท่าใด และไม่มีการประกาศราคากลาง-ราคาซื้อขาย ส่งผลให้กระบวนการซื้อขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลครั้งนี้ไม่โปร่งใสเป็นอย่างยิ่ง

จนถึงกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยต้อง ทำหนังสือมาถึงนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขอ "ความเท่าเทียม" ในการรับทราบข้อมูล ในการเปิดระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ให้กับสมาชิกสมาคมได้ทราบ เพื่อให้ทุกคนเกิดความเสมอภาคใน "โอกาส" ทางธุรกิจการค้า ไม่ใช่ถูกผูกขาดกับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

3) คำสั่งซื้อข้าวมากกว่า 1 ล้านตันของบริษัทกวางตง กวางหง อิมพอร์ท แอนด์ เอ็กพอร์ท ที่บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด นำมาแสดงให้คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสารมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐวิสาหกิจจีน มีเป็นหมื่นเป็นแสนราย และได้รับความ น่าเชื่อถือในวงการค้าสินค้าเกษตรน้อยมาก หากไม่มีการติดต่อกันเป็นเวลานาน กระทรวงพาณิชย์เองในอดีตก็มีบทเรียนจากการขายสินค้าเกษตรให้กับรัฐวิสาหกิจ จีนเหล่านี้ดี แต่ทำไมไม่มีการตรวจสอบคำสั่งซื้อข้าวมากกว่า 1 ล้านตันในครั้งนี้

4) หากบริษัทกวางตง กวางหง อิมพอร์ท แอนด์ เอ็กพอร์ท รัฐวิสาหกิจจีนมีความประสงค์จะซื้อข้าวในสต๊อกจากรัฐบาลไทยมากกว่า 1 ล้านตันจริง ทำไม ไม่ดำเนินการซื้อแบบจีทูจี ซึ่งรัฐบาลไทยเปิดโอกาสและพร้อมที่จะขายให้อยู่แล้ว แต่กลับต้องทำเรื่องให้ลึกลับซับซ้อนด้วยการดำเนินการเปิดออร์เดอร์ ผ่านบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ให้เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวจากรัฐบาล และส่งมอบให้บริษัทอีกต่อหนึ่ง เมื่อบริษัทเอ็มทีฯไม่สามารถวาง ค้ำประกันได้ เรื่องราวก็ชักจะไปกันใหญ่ เมื่อมีข้อเสนอจากบริษัทจะให้รัฐวิสาหกิจจีนเข้ามาเป็นผู้วางค้ำประกันและทำ สัญญา ซื้อขายข้าวเสียเอง ถ้าทำแบบนี้แล้วจะมีบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรดไว้ทำไม

ส่วนข้ออ้างที่ว่า ที่ต้องดำเนินการในลักษณะนี้เพราะต้องการให้เป็นเรื่องลับนั้น ถือเป็นเรื่องตลกในวงการค้าข้าว อีกทั้ง ข้ออ้างดังกล่าวก็ละม้ายคล้ายกับข้ออ้างของคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร ที่ต้องการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลแบบ เงียบ ๆ อย่างลับ ๆ มาก

5) การไม่ยอมเปิดประมูลเป็นการทั่วไป ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันทางด้านราคาและส่อให้เกิดการ "ฮั้ว" ในการเสนอราคารับซื้อข้าวจากผู้ส่งออกบางกลุ่ม ยกตัวอย่าง ข้าวหอมปทุมธานี ลอตแรก (28 กรกฎาคม) บริษัทเอเซียโกลเด้นไรซ์ ซื้อ 16,850 บาท/ตัน, บริษัทแคปปิตัลซีเรียลส์ ซื้อ 16,750 บาท/ตัน, บริษัทข้าวไชยพร ซื้อ 16,800 บาท/ตัน ลอต 2 (30 สิงหาคม) ถัดจากนั้นไม่ถึงเดือน บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ซื้อ 16,850 บาท/ตัน ทั้ง 4 บริษัทซื้อข้าวราคาห่างกันแค่ 50-100 บาท/ตันเท่านั้น

หรือข้าวขาว 5% ลอตแรก (16 สิงหาคม) บริษัทเอเซียโกลเด้นไรซ์ ซื้อ 12,000 บาท/ตัน, บริษัทข้าวไชยพร ซื้อ 12,005-12,010 บาท/ตัน ลอต 2 (30 สิงหาคม) บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ซื้อ 12,000 บาท/ตัน ทั้ง 3 บริษัทซื้อข้าวราคาห่างกันแค่ 5-10 บาท/ตันเท่านั้น พฤติกรรมการเสนอราคาซื้อข้าวโดยไม่มีการเปิดประมูลแบบนี้จะเรียกว่าอะไร หากไม่มีการตกลงหรือแอบเปิดราคากันมาก่อน

6) หลังจากที่คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร "อนุมัติ" ขายข้าว 1.9 ล้านตันให้กับบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลเร่ขายข้าวให้กับบริษัทผู้ส่งออกและโรงสีข้าวที่ต้อง การข้าวทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวเหนียว 10% ถึงกับมีคำสั่งอนุมัติให้เปิดคลังเพื่อตรวจสอบคุณภาพข้าวพร้อมส่งมอบได้ ทั้งนี้ผู้สนใจที่จะซื้อข้าวได้รับการบอกให้ทราบเงื่อนไขว่าต้องวางค้ำ ประกัน 10% ของมูลค่าข้าวที่จะซื้อ และผู้ซื้อจะต้องส่งเอกสารการส่งออกข้าวไปต่างประเทศให้กับผู้ขาย

การ ดำเนินการออกเร่ขายข้าวดังกล่าว กลับได้รับการปกป้องจาก นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ทำนอง ที่ว่า "ใคร ๆ เขาก็ทำกันมาก่อน" ทั้ง ๆ ที่เป็นการเร่ขายข้าวในประเทศ ผิดเงื่อนไขการระบายข้าวสต๊อกรัฐบาลที่กำหนดไว้ว่าระบายเพื่อการส่งออก

7) เมื่อข่าวความไม่ชอบมาพากลในการขายข้าวมากกว่า 1 ล้านตันให้กับบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ถูกเผยแพร่ออกไป ประกอบกับบริษัทไม่สามารถหาสถาบัน การเงินมาวางค้ำประกันมูลค่าข้าว 5% ประมาณ 690 ล้านบาท เพื่อทำสัญญาซื้อขายข้าวกับ อคส./อ.ต.ก. ได้มีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการค้าข้าวก็คือ ไม่มีใครที่จะเสี่ยงวางค้ำประกัน 10% เพื่อซื้อข้าวจากบริษัทเอ็มทีฯจนกว่าบริษัทจะได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวกับ อคส./อ.ต.ก.

ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวที่แท้จริง แต่เป็นเพียง บริษัทนายหน้า หรือตัวกลาง หรือนอมินีที่เข้ามา "หาประโยชน์" จากการขายข้าวลอตนี้ เนื่องจากตัวบริษัทเอง ก็ไม่มีความสามารถในการวางค้ำประกันมูลค่าข้าวเกือบหมื่นล้านบาท

กระบวน การต่อจากนี้ไปคงจะต้องจับตามองการตัดสินใจของ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กขช.จะเลือกอย่างไรระหว่างข้อเสนอ 3 ข้อ การ "ลากยาว" ดีลนี้ต่อไปด้วยการอนุมัติขยายระยะเวลาการรับมอบและขนย้ายข้าวสารตามคำขอของ บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด หรือยุติดีลนี้ทันทีแล้วหา "นอมินี" รายใหม่เข้ามาสวมซื้อข้าวใน สต๊อกรัฐบาลแทน หรือกลับไปขายข้าวให้กับผู้ส่งออกเหมือนเดิม

Tags : จับพิรุธ เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ดีลข้าว 1 ล้านตัน อยู่หรือไป

view