สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตั้ง กมธ. มีตำหนิ ฉุดนิติบัญญัติลงเหว

จาก โพสต์ทูเดย์

กลายเป็นวาระร้อนแบบเงียบๆ ของประเทศไทยไปแล้วสำหรับภาพลักษณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติของไทย

โดย...ทีมข่าวการเมือง

กลายเป็นวาระร้อนแบบเงียบๆ ของประเทศไทยไปแล้วสำหรับภาพลักษณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติของไทย หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่น ย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี ทั้งๆ ที่รัฐสภาไม่น่าจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ

เป็นเพราะสืบสาวราวเรื่องไปเรื่อย ปรากฏว่าตำรวจไปพบ น.ส.วสา เทพเรียน เข้าไปเกี่ยวข้องกับนายกษิ ดิฐธนรัชต์ นักธุรกิจปุ๋ยยูเรียข้ามชาติ หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดี เรื่องนี้จะไม่เป็นเรื่องเลยถ้าสุภาพสตรีที่ชื่อ “วสา” ไม่ได้มีสถานะการเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร

เป็นปมสำคัญว่าทำไมบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติถึงได้เข้าไป มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบได้ ด้านหนึ่งหากมองด้วยความเป็นธรรม น.ส.วสาอาจจะเป็นการดำเนินการโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เป็นได้ เพราะตัว น.ส.วสาเองอาจไม่รู้แน่ชัดว่านายกษินั้นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ โดย น.ส.วสาจะผิดหรือถูกคงต้องให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม

แต่กับกรณีล่าสุดจากการเปิดโปงของนายวัชระ เพชรทอง สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในสองกรณี ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐสภาไทยเกิดความกังขาของสังคมมากขึ้นไปอีก

กรณีแรก นายจตุพร พรหมพันธุ์ สส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำคนเสื้อแดง เตรียมแต่งตั้งนายอารี ไกรนรา หัวหน้าการ์ดคนเสื้อแดงเป็นนักวิชาการประจำ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 7,000 บาท

กรณีที่สอง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ได้แต่งตั้งนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย แกนนำคนเสื้อแดง เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานทางการเมืองรองประธานสภา ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1 หมื่นบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2551 มาถึงปัจจุบัน

แน่นอนว่าการแต่งตั้งดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบของสภาผู้แทนราษฎรในส่วน สิทธิประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องกับวงงานรัฐสภา พ.ศ. 2550 แต่ในเรื่องความเหมาะสมนั้นยังเป็นข้อสงสัยอยู่ เป็นเพราะทั้งในส่วนของ “อารี” เป็นบุคคลตามหมายจับของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วน “วิภูแถลง” ก็อยู่ในระหว่างการควบคุมตัวในเรือนจำข้อหาก่อการร้าย ทำไม พ.อ.อภิวันท์ ถึงไม่มีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งดังกล่าว

ขณะที่ท่าทีของ “ชัย ชิดชอบ” ประธานรัฐสภา ก็เหมือนกับจะลอยตัวกับปัญหานี้พอสมควร โดยอ้างว่าเป็นอำนาจของประธาน กมธ. แต่ละคณะที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ประธานสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปจัดการอะไรไม่ได้

ไม่ต่างอะไรกับการปล่อยให้มะเร็งร้ายกัดกินต่อไป

ทว่าเรื่องปัญหาการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาทำงานในฐานะข้าราชการการเมืองของ สภานั้นไม่ได้เป็นเรื่องประหลาดแต่อย่างใด หรือจะว่าไปแล้วเป็นเรื่องธรรมชาติของสภาด้วยซ้ำ เนื่องจาก สส.แต่ละพรรคก็มักจะเอาคนของตัวเองมาช่วยทำงานอยู่แล้วในสถานะต่างๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณสมบัติหรือความเหมาะสมเท่าใดนัก เรียกได้ว่าเป็นการแต่งตั้ง “ตามอำเภอใจ”

ในเรื่องนี้ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก อดีต สว.กทม. และอดีตประธานคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา อธิบายว่า เรื่องนี้เป็นปัญหามานานจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว  โดยหลายคณะตั้งคนที่ไม่มีประโยชน์ต่องาน กมธ.เข้ามาแล้วก็ทำนามบัตรไปใช้เครดิต ใช้อภิสิทธิ์ หรือไปหาประโยชน์

“หลายคณะแบ่งโควตา คนของใครของมัน หรือมักตั้งผู้สมัครที่สอบตก สมาชิกพรรค คนใกล้ชิด บางครั้งถึงขนาดตั้งกิ๊กมาเป็น แถมไม่มาประชุม หรือตั้งคนมีปัญหาทุจริต ทำตัวเป็นนายหน้า โดยเฉพาะพวก กมธ.ที่เกี่ยวกับงานตำรวจ มหาดไทย เกษตร การศึกษา สามารถให้คุณให้โทษได้ทั้งข้อมูลอินไซด์การประมูลงาน หรือการตรวจสอบเรื่องทุจริต” นายวัลลภ ระบุ

ผลเสียที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น คือ คุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของแต่ละคณะกรรมาธิการที่เอาคนที่มี คุณสมบัติไม่เหมาะสมเข้าไปทำงาน จะสังเกตเห็นได้ว่าระยะหลังมานี้บรรดาคณะกรรมาธิการต่างๆ ไม่ค่อยรายงานผลการทำงานเสนอต่อที่ประชุมสภาให้รับทราบ หรือถ้ามีรายงานออกมาก็เป็นการเขียนแบบ “ตัดแปะ” เอางานวิชาการจากภายนอกมาใส่เอาไว้ในรายงานการทำงานของ กมธ.
ที่สำคัญยัง พบว่าบุคคลเหล่านี้ใช้สถานะของการเป็นที่ปรึกษาหรือเลขานุการในการเรียกรับ ผลประโยชน์จากบริษัทเอกชนภายนอก นำมาซึ่งความเสื่อมเสียของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอย่างมาก เพราะถูกมองจากบุคคลนอกวงการนิติบัญญัติว่าเป็นแหล่งทำมาหากินในทางที่ไม่ ถูกต้อง จนทำให้การทำงานของ กมธ.บางคนที่มีเจตนาที่ดีไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะการสร้างเครื่องมือในการทำงานอย่างร่าง พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ

ทั้งๆ ที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีความต้องการสร้างความร่วมมือให้บุคคลหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ของประชาชนเข้ามาชี้แจง แต่ก็ต้องถูกแรงต่อต้านจากภายนอก เพราะมองว่าเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจมากเกินไปจนทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถ ผ่านสภาได้สักที

เท่ากับว่าเป็นการเสียโอกาสในการมีเครื่องมือสำหรับการทำงานตรวจสอบไปแบบที่โทษใครไม่ได้

ความเสื่อมของคนบางคนที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบนี้ ส่งผลให้การทำงานของ กมธ.ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้เป็นเวทีในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร และเป็นหนทางหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ทั้งนี้ หากจะมองถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริงนั้นมาจากการปล่อยปละละเลยของ สส.ด้วยกันเอง เพราะแต่ละพรรคมองว่าการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองดังกล่าวเป็นอำนาจของใคร ของมัน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการเอาคนของตัวเองเข้ามานั่งในสภา ทำให้ขาดการตรวจสอบกันเอง บุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ จนกระทั่งกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะปัญหาไป

คงต้องรอดูว่าภายหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของ สังคมแล้ว บรรดาผู้ทรงเกียรติจะมีการปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นหรือไม่ เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ของรัฐสภาให้กลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

Tags : กมธ. มีตำหนิ ฉุดนิติบัญญัติ ลงเหว

view