สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินเดือนพุ่ง-โบนัสหด ชะตากรรมมนุษย์เงินเดือนปี 2554

จากประชาชาติธุรกิจ

หากดูภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ จากรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด ที่คาดการณ์แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2554 นี้ว่า อยู่ที่ร้อยละ 3.0-5.0 ลดลง จากปี 2553 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.0-3.0 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.5-4.5 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ปี 2553

ผนวกเข้ากับรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2553 ของกระทรวงพาณิชย์ที่อยู่ที่ 108.57 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.3 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (ซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 3.4) แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปี 2553 นี้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.5 อยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี (โดยคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 3.0-3.5)

และเมื่อหันไปดูอัตราการว่างงาน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ามีแนวโน้มที่ต่ำลง เนื่องจากการเติบโตจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงต้นปีแรก

หลายคนตั้งตารอว่าปลายปีนี้ตัวเลขการปรับเงินเดือนของอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร เมื่อบวกลบคูณหารกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น จะทำให้มนุษย์เงินเดือนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตลอดรอดฝั่งทั้งเดือนหรือไม่

ซึ่งขณะนี้หลายค่ายได้ทยอยนำเสนอแนวโน้มการปรับอัตราค่าจ้างประจำปีกันมาเป็นระยะ ๆ ทำให้คนทำงานเริ่มยิ้มออก

ล่าสุด สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย อีกสำนักหนึ่งที่มีการสำรวจอัตราค่าจ้างเงินเดือนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ นักทรัพยากรมนุษย์และผู้บริหารในองค์กรต่าง ๆ ในการกำหนดค่าจ้างหรือปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีให้แก่พนักงานในองค์การได้อย่างเที่ยงตรงและยุติธรรมมากที่สุด ได้ออกมาตอกย้ำแนวโน้มการปรับเงินเดือนที่สร้างความมั่นใจให้กับคนทำงานว่า อย่างไรตัวเลขการปรับขึ้นเงินเดือนในปีนี้ก็ไม่ต่ำกว่ารอบปีที่ผ่านมาแน่นอน




โดยในปีนี้มีบริษัทเข้าร่วมโครงการกับสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทยมากถึง 140 บริษัท จำนวน 11 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วยธุรกิจก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์-วัสดุก่อสร้าง 5 บริษัท ธุรกิจการขนส่ง 13 บริษัท

การพิมพ์และสิ่งพิมพ์ 6 บริษัท พาณิชยกรรม 8 บริษัท ธุรกิจพลาสติก-เคมี-ยาง-หนัง-ปิโตรเลียม-แก๊ส 24 บริษัท กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 17 บริษัท ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 28 บริษัท กลุ่มโลหะและเหล็ก 5 บริษัท เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม 4 บริษัท อาหารและเครื่องดื่ม 16 บริษัท อื่น ๆ 14 บริษัท

ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดเป็นองค์การขนาดกลาง ที่มีรายได้ต่อปี 101-500 ล้านบาท คิดเป็น 24.43% รองลงมาคือองค์การที่มีขนาดใหญ่ ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 4,000 บาท คิดเป็น 23.66% และรายได้ระหว่าง 2,001-4,000 ล้านบาท คิดเป็น 16.79%

ผลการสำรวจครั้งนี้สรุปได้ว่า ด้านอัตราแรกจ้างสำหรับผู้ที่จบการศึกษาใหม่ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ มีระยะเวลาการทดลองงานอยู่ที่ 119 วัน 70 บริษัท และ 120 วัน 43 บริษัท 90 วัน 14 บริษัท และ180 วัน 5 บริษัท




อัตราเงินเดือนแรกจ้าง แบ่งตามวุฒิการศึกษา จากการสำรวจพบว่า ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปวช. สายเทคนิค 6,600 บาท สายพาณิชย์ 6,500 บาท ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปวส. สายเทคนิค 7,700 บาท สายพาณิชย์ 7,500 บาท

ระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรม 15,000 บาท สาขาวิทยาศาสตร์ 12,000 บาท สาขาคอมพิวเตอร์ 12,000 บาท สาขาบริหารธุรกิจ 10,000 บาท สาขาบัญชี 11,000 บาท สาขาสังคมศาสตร์ 10,000 บาท

ระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรม 18,000 บาท สาขาวิทยาศาสตร์ 17,585 บาท สาขาคอมพิวเตอร์ 17,000 บาท สาขาบริหารธุรกิจ 15,000 บาท สาขาบัญชี 16,000 บาท สาขาสังคมศาสตร์ 15,000 บาท

สำหรับการคาดการณ์การขึ้นเงินเดือนประจำปี 2554 เฉลี่ยของทุกกลุ่มธุรกิจอยู่ที่ 5.42% โดยกลุ่มธุรกิจที่มีการปรับขึ้นเงินเดือนสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่กลุ่มอื่น ๆ 7.00% กลุ่มการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 6.00% กลุ่มพลาสติก เคมี ยาง หนัง ปิโตรเลียม แก๊ส 5.79% และกลุ่มก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 5.64% และกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 5.13% ตามลำดับ

ส่วนการจ่ายโบนัสในปีนี้มีการคาดการณ์ว่า โบนัสคงที่ทุกกลุ่มธุรกิจ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.43 เดือน กลุ่มธุรกิจที่มีการจ่ายโบนัสคงที่สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ กลุ่มการขนส่ง 2.50 เดือน กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 2.30 เดือน กลุ่มพลาสติก เคมี ยาง หนัง ปิโตรเลียม แก๊ส 1.67 เดือน กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 1.29 เดือน และกลุ่มโลหะและเหล็ก 1.25 เดือน ตามลำดับ

โบนัสผันแปรประจำปี โดยเฉลี่ยทุกกลุ่มอยู่ที่ 1.91 เดือน กลุ่มธุรกิจที่มีการจ่ายโบนัสผันแปรสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มโลหะและเหล็ก 2.50 เดือน กลุ่มพลาสติก เคมี ยาง หนัง ปิโตรเลียม แก๊ส 2.30 เดือน กลุ่มการขนส่ง และกลุ่มพาณิชยกรรม 2.00 เดือน กลุ่มก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ 1.70 เดือน และ กลุ่มอื่น ๆ 1.50 เดือน ตามลำดับ

ซึ่งเมื่อรวมการจ่ายโบนัสคงที่และโบนัสผันแปรรวมประจำปี คาดการณ์ว่า โดยเฉลี่ยทุกกลุ่มอยู่ที่ 2.34 เดือน กลุ่มที่มีการจ่ายโบนัสรวมสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ กลุ่มโลหะและเหล็ก 3.75 เดือน กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 3.10 เดือน กลุ่มก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มการขนส่ง และกลุ่มพลาสติก เคมี ยาง หนัง ปิโตรเลียม แก๊ส 2.50 เดือน กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 2.02 เดือน และกลุ่มพาณิชยกรรม 2.00 เดือน ตามลำดับ

จากข้อมูลทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552/2553 จะพบว่า ในส่วนเปอร์เซ็นต์ของการขึ้นเงินเดือนนั้นเพิ่มขึ้น ขณะที่โบนัสคงที่และโบนัสผันแปรนั้น มีแนวโน้มจะลดลง สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยังคงชะลอตัว แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมาพบว่าแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจมีการปรับตัวที่ดีขึ้นก็ตาม


Tags : เงินเดือนพุ่ง โบนัสหด ชะตากรรม มนุษย์เงินเดือน ปี 2554

view