สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปปช.ประชุมต้านคอร์รัปชันนานาชาติ

ปปช.ประชุมต้านคอร์รัปชันนานาชาติ


'นายกฯ-ปปช.หอการค้าไทย'ลงนามประกาศต้านโกงในภาครัฐ


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 พฤศจิกายน 2553 18:35 น.

แม้อันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของมาเลเซียจะอยู่ที่ 56 เหมือนเดิม แต่คะแนนกลับลดลง

       เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - มาเลเซียออกมายอมรับวันนี้ (10) ว่า การทำงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน “ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ” หลังจากองค์กรอิสระเพื่อความโปร่งใสรายงานผลการสำรวจดัชนีภาพลักษณ์ คอร์รัปชัน (ซีพีไอ) ของประเทศตกต่ำลงจากปีที่แล้ว
       
       รายงานการสำรวจประจำปีขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเบอร์ลิน ที่เปิดเผยออกมาเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ชี้ว่า มาเลเซียได้คะแนนลดต่ำลงจาก 4.5 เป็น 4.4 ในคะแนนเต็ม 10 หากประเทศใดได้คะแนนต่ำ นั่นหมายถึงยิ่งมีกรณีการโกงบ้านกินเมืองจำนวนมาก อนึ่งประเทศเพื่อนบ้านของมาเลเซีย อย่างสิงคโปร์ มีคะแนน 9.3, บรูไน 5.5 และไทย 3.5
       
       “เรายอมรับผลคะแนนดังกล่าว แม้ว่ามันจะห่างไกลจากความพอใจ” ฮิสฮัม นอร์ดิน เจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งรัฐบาลมาเลเซีย เผย ซึ่งน้อยครั้งที่จะมีการออกมายอมรับผลคะแนนการทุจริตในประเทศของตน
       
       “เราไม่มีอะไรต้องปิดบัง แต่เรายังไม่ท้อถอย เพราะเรารู้ว่าได้ลงมือทำ และต่อสู้กับการคอร์รัปชันภายใต้โครงการปฏิรูปรัฐบาล (จีทีพี)” เจ้าหน้าที่ผู้นี้ระบุในคำแถลง โดยอ้างถึงแผนการที่ตั้งความคาดหวังไว้สูง ซึ่งออกมาเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเพื่อปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน
       
       “จากการเริ่มต้นอันมุ่งมั่นครั้งนี้ เรายังคงมีการปฏิบัติงานจริงต่อไป และมั่นใจว่า นโยบายต่างๆ จะประสบผลตามต้องการ”
       
       นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศเมื่อปีที่แล้ว และได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด การโกงกิน ติดสินบนเป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับสังคมและการเมืองมาเลเซียมายาวนาน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลชุดก่อนต้องพบกับหายนะจากผลการเลือกตั้ง ทั่วไปเมื่อปี 2008
       
       อย่างไรก็ตาม ในการจัดอันดับการคอร์รัปชันครั้งล่าสุดขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ มาเลเซียยังคงอยู่ในอันดับ 56 ซึ่งเป็นอันดับเดิมจากเมื่อปีที่แล้ว ในบรรดาประเทศทั้งหมด 178 ประเทศ
       
       ข้อมูลจากทีไอ ชี้ว่า มาเลเซียไม่สามารถจัดการกับผู้กระทำผิดคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงสำคัญๆ ได้ และผู้มีอำนาจยังคงหยิบยื่นโครงการใหญ่ต่างๆ ให้กับบริษัทพวกพ้อง โดยไม่มีการเปิดประมูลอย่างเสรี นำมาซึ่งการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการติดสินบนต่างๆ นานา
       
       ฮิสฮัม นอร์ดิน กล่าวเสริมว่า “แน่นอนว่า ในปี 2011 เราต้องทำงานกันอย่างเอาจริงเอาจังและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ด้วยระดับความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้น และตั้งเป้าปราบปรามการกระทำอันทุจริตให้หมดไป”


IACC ชี้ไทยติดอันดับ 78 โกงทั่วโลก หวังพึ่งภาค ปชช.ช่วยตรวจสอบ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ป.ป.ช.จัดงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ยืนยันสภาไอเอซีซี ได้ให้คะแนนซีพีไอ 3.5 จากคะแนนเต็ม 10 อยู่อันดับที่ 78 จากการจัดอันดับทั้งหมด 178 ประเทศทั่วโลก หวังกระตุ้นภาค ปชช.เป็นแนวร่วมในการต้านทุจริตมากยิ่งขึ้น ด้าน “มาร์ค” บอกปราบโกงต้องใช้ศีลธรรม แค่ กม.เอาไม่อยู่
       
       วันนี้ (10 พ.ย.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 10-14 พ.ย.โดย นายแบร์รี่ โอคีฟ ประธานสภาไอเอซีซี นายปานเทพ กล้านรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. นางฮูเก็ต ลาเบลล์ ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นางจุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการองค์กรเพื่อความโปร่งใสประเทศไทย และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไทย ได้กล่าวเปิดงาน โดยมีตัวแทนองค์กรต่างๆ ร่วมงานกว่า 1 พันคน
       
       นายปานเทพ กล่าวว่า ปีนี้ประเทศไทยได้คะแนนซีพีไอ 3.5 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งค่าคะแนน 0 คือ คอร์รัปชันมากที่สุด 10 คือ คอร์รัปชันน้อยที่สุด และไทยอยู่อันดับที่ 78 จากการจัดอันดับทั้งหมด 178 ประเทศทั่วโลก โดยในปี 2552 ไทยได้คะแนน 3.4 และอยู่อันดับที่ 84 ของโลก ก็ถือว่าปีนี้ดีขึ้นนิดหน่อย สำหรับการลงนามในประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.คาดหวังว่า รัฐจะจริงจังกับการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศมากขึ้น เพราะการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันที่ได้ผล จะต้องเกิดจากความร่วมมือของ 3 ภาคส่วนด้วยกัน นั่นคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งในวันนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับคำสัญญาจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว ส่วน คณะกรรมการ ป.ป.ช.เองก็ขอเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมที่สัญญาว่า จะเฝ้าดู ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองคนดีได้เร็ว ยิ่งขึ้น
       
       นายปานเทพ กล่าวอีกว่า ในส่วนของงานไอเอซีซี ป.ป.ช.เชื่อมั่นว่า จะช่วยกระตุ้นพลังประชาชน ให้หันมาสนใจและเป็นแนวร่วมในการต้านทุจริตมากยิ่งขึ้น ปัญหาคอร์รัปชันไม่ใช่ปัญหาไกลตัว แต่สอดแทรกอยู่กับชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการคอรัปชั่นถนน นมโรงเรียน ปลากระป๋อง อิฐ หิน ดินทราย ฯลฯ ดังนั้น ทุกคนสามารถเป็นหู เป็นตา และช่วยป้องกันการคอรัปชั่นได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง คะแนนความโปรงใสของประเทศไทย น่าจะขึ้นไปถึง 5 คะแนนได้ในไม่ช้า
       
       ด้าน นางจุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย กล่าวสั้นๆ ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการหาวิธีป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่ปรับ เปลี่ยนรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดผลเสียมากมายต่อการพัฒนาประเทศ ยอมรับได้หรือไม่สำหรับสังคมที่มีค่านิยมความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นต้องมีการปลูกฝังจิตสำนึก วิธีคิดด้านการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น หากไม่มีความยุติธรรมแล้วก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ ผลกระทบจากการทุจริต ทำให้เกิดการชะลอตัวในการพัฒนาประเทศ ส่งผลให้คุณธรรมและจริยธรรมในประเทศนั้นๆ ลดลง ที่เลวร้ายที่สุดคือ เกิดความอยุติธรรม ทำลายคุณธรรมและจริยธรรมสังคมโดยรวม
       
       ขณะที่ นายพีระพันธุ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า โลกาภิวัตน์ได้ทำให้การทุจริตเหมือนมะเร็งร้ายที่แพร่ลามไปทั่วโลก การทุจริตที่เริ่มจากประเทศหนึ่ง สามารถไปเกิดขึ้นในอีกประเทศหนึ่ง หากเราไม่ต่อต้าน สุดท้ายทุกคนก็จะเสียชีวิต การประชุมวันนี้จึงเหมือนการประชุมทีมแพทย์ เพื่อรักษามะเร็งนานาชาติ
       
       โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวสุนทรพจน์ ว่า การทุจริตเป็นภัยที่ทุกประเทศต้องร่วมกันต่อต้าน ความสำเร็จจากการประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่แค่พูดอะไร แต่จะดูจากผลที่ได้รับ ทุกวันนี้คนไทยและเยาวชนยอมรับการโกง หากทำให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า ซึ่งขัดกับความเชื่อมเดิมที่ว่า การโกงจะทำให้เศรษฐกิจเสื่อมถอย ทั้งที่ไม่มีการคอรัปชั่นใดที่จะมีผลดี ทั้งนี้การต่อต้านการทุจริต เป็นเรื่องทางศีลธรรม ใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ เพราหากประชาชนยังไม่รู้สึกต่อต้านการทุจริต เราก็ยังจะเผชิญปัญหานี้ในอนาคต
       
       “การสมรู้ร่วมคิดกับการทุจริต คือ ภัยร้ายแรงที่สุดของการทุจริต ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องมาร่วมมือกันต่อต้านการคอรัปชั่น โดยบทบาทของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนก็เป็นส่วนสำคัญในการต่อต้าน ขณะเดียวกับผู้มีตำแหน่งสำคัญและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็ต้องให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ไทยเป็น 1 ในประเทศที่วางมาตรการป้องกันการทุจริตที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และโชคดีที่ในหลวงให้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่หากคนไทยทุกคน สามารถทำได้ จะเป็นรากฐานในการสร้างศีลธรรมที่แข็งแกร่งได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการเปิดคลิปวีดีโอของ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดย นางฮิลลารี ได้กล่าวขอบคุณประเทศไทย ที่ได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต เพื่อเป็นการกำชับความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ที่สร้างความเสียหายและผลกระทบต่อทุกคนในประเทศ และต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องง่าย และจำเป็นต้องใช้เวลาและความร่วมมืออย่างจริงจัง ตามอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ และผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจจำนวน 20 ประเทศจะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามในช่วงถามตอบ ให้กับผู้ที่เข้าร่วมงานโดยเป็นคำถามจากเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชัน ธนาคารโลก จากประเทศแคเมอรูน สอบถามถึงแนวทางที่รัฐบาลทำอย่างไรให้วัยรุ่นและเยาวชนเข้าร่วมการต่อต้าน การทุจริต โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนพยายามเน้นย้ำถึงการสร้างมูลค่าทางความเชื่อ ดีกว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดของเยาวชน โดยสอนให้คำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งความมุ่งหมาย นั้นคือ การต้องการให้เยาวชนทราบถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นและมีแรงจูงใจต่อต้าน การคอร์รัปชัน ซึ่งเยาวชนไทยมีเครือข่ายดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก
       
       ด้าน ไอเอซีซี ได้จัดแถลงข่าวถึงผลการประชุม โดย นายแบรี่ โอคีฟ ประธานสภาไอเอซีซี กล่าวสรุปผลการประชุมในช่วงเช้าทั้งหมด ซึ่งประธานองค์กร์เพื่อความโปร่งใสนานาชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การต่อต้านการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาคธุรกิจมีจุดสำคัญที่สุดคือ ประชาชน ต้องกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อไม่ให้การทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งตนไม่สามารถบอกได้ว่าการประชุมนี้จะมีผลเป็นอย่างไร แต่จะช่วยกันป้องกันการขยายตัวของการทุจริตในขณะที่การขยายตัว ความเจริญทางการค้าและการลงทุนเติบโตขึ้น ทั้งนี้ ทางไอเอซีซี ได้กดดันให้กลุ่มประเทศ จี 20 สนับสนุนให้มีความรับผิดชอบ ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ จัดการกับแหล่งทุนที่ทุจริต
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมของกลุ่มบุคคลระดับสูง ดังนั้น ไม่สามารถสร้างให้เกิดการป้องกันการทุจริตได้อย่างแท้จริง ประธานสภาไอเอซีซี กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะถูกต้องนัก ที่จะเห็นว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมของคนระดับสูง แต่จะมองเห็นว่ากลุ่มหรือบุคคลที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ส่วนใหญ่มาจากองค์กรพัฒนาภาคเอกชน หรือกลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนผู้ด้อยโอกาส เป็นเสียงที่เราได้ยินอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ใช่รัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งองค์กรเอกชนมาร่วมดำเนินด้วย ไอเอซีซี เชื่อว่าประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ เราต้องฟังเสียงพวกเขาเหล่านั้น
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการจัดงาน ป.ป.ช.โลก มีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัย รอบศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อย่างเข้มงวด โดยมีตำรวจ สันติบาล ทีมรปภ.และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ราว 1 พันคนกระจายกำลังอยู่โดยรอบ มีการตรวจวัตถุระเบิดยานพาหนะทุกคัน และให้ผู้เข้าร่วมงานที่ไม่มีบัตรประจำตัวทุกคนแลกบัตรถึง 2 ครั้ง ทั้งก่อนเข้าศูนย์ประชุม และก่อนเข้าห้องประชุม พร้อมเปิดทางเข้าออกเพียง 2 ทาง คือ ประตูเอ 2 สำหรับไปห้องประชุม และประตูซี สำหรับชมนิทรรศการ
       
       ทั้งนี้ มาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ได้ทำให้สื่อมวลชน ผู้ร่วมประชุม และประชาชนที่เดินทางมาดูงานบางส่วนโวยวายด้วยความไม่พอใจ เนื่องจากจำนวนบัตรเข้างานไม่พอ และเจ้าหน้าที่บางส่วนไม่ทราบข้อมูล จนทำให้ขั้นตอนต่างๆล่าช้า จนทำให้พิธีเปิดต้องล่าช้ากว่ากำหนดไปเกือบ 30 นาที กระทั่งต้องยอมอะลุ้มอล่วยให้ร่วมงานก่อน ค่อยมาแลกบัตรเข้างานภายหลัง


นายกฯ ห่วงค่านิยมหลงทาง-ชื่นชมการทุจริตเพราะทำให้ ศก.เติบโต

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

นายกฯ เปิดงานต่อต้านทุจริตโลก ชี้ สังคมกำลังยอมรับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยอ้างว่าทำให้ประเทศชาติเจริญขึ้น ยันต้องเดินหน้าทำให้การทุจริตน้อยที่สุด และสร้างจริยธรรมทางสังคมขึ้นมาใหม่ เตือนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่-ภาคเอกชน ต้องเป็นผู้นำการต่อต้านทุจริต เพราะสิ่งที่ร้ายแรงที่สุด คือ การสมรู้ร่วมคิด
       
       นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างการเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตครั้งที่ 14 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยระบุว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถือเป็นปัญหาสำคัญมากที่ต้องได้รับการแก้ไข และต้องสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการร่วมกันต่อต้านการทุจริต
       
       นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองเกิดความคิดว่า การที่สังคมทั่วไปรู้สึกว่าการทุจริตสามารถยอมรับได้ เพราะทำให้ประเทศชาติเเละเศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้น ได้กลายเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาในประเทศไทย ซึ่งคงถึงเวลาเเล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนความคิดใหม่ ด้วยการทำให้การทุจริตน้อยที่สุด โดยการสร้างจริยธรรมทางสังคมขึ้นมาใหม่
       
       นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวคงไม่สามารถทำได้โดยการตรากฎหมายให้มีความเข้มข้นเพียง อย่างเดียว โดยปราศจากการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับสังคมให้มีความรู้สึกต่อต้านการ ทุจริตพร้อมกับการที่เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหา ขณะเดียวกัน การทุจริตที่ร้ายแรงที่สุด คือ การสมรู้ร่วมคิด ภาครัฐ และเอกชนต้องร่วมกันต่อต้านและสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมใหม่ด้วยการไม่รับ หรือให้สินบน
       
       “ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องเป็นผู้นำในการดำเนินการต่อต้านการทุจริต เช่นเดียวกับภาคเอกชนในฐานะที่เป็นทั้งผู้ได้รับประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ก็ต้องร่วมกันวางจริยธรรมต่อต้านการทุจริตด้วย สำหรับในส่วนของรัฐบาลไทย แม้ว่าตอนนี้เราจะยังไม่มีการลงสัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อ ต้านการทุจริตแต่ในทางปฏิบัติเราก็ได้ดำเนินการต่อต้านทุจริตในหลายๆ ด้าน”
       
       นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสอนแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสอนให้ประชาชนรู้จักความพอดีและไม่มีความโลภ ซึ่งในเรื่องนี้ต้องนำมาเป็นรากฐานทางศีลธรรมต่อไป


ป.ป.ช.เผยทุจริตจัดซื้อจัดจ้างแสนล้านต่อปี

จาก โพสต์ทูเดย์

ป.ป.ช.เผย มีขบวนการค้าทุจริตระบบจัดซื้อจัดจ้าง 1 แสนล้านต่อปี ชี้ นักการเมือง-เอกชน-ข้าราชการ ต้นตอปัญหา

นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การจัดงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ย.นี้ทางป.ป.ช.มีความต้องการที่จะเน้นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นว่า ควรมีวิธีการดำเนินการอย่างไร นอกเหนือไปจากการเน้นว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทั้งนี้เท่าที่ผ่านมาในส่วนของไทยจากการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและภาค รัฐได้รับทราบข้อมูลว่ามีมูลค่าความเสียหายจากระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ โปร่งใสไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี

 

ภักดี

นายภักดี กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นการคำนวนมาจากงบประมาณในโครงการของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ เฉลี่ย 5-6 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งการลงไปสำรวจพบว่ามีถึง 20 % จากงบประมาณดังกล่าวที่ต้องสูญเสียไปจากการทุจริตซึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน ทั้งนี้ป.ป.ช.เองกำลังมองหาความร่วมมือจากภาคเอกชนอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาใน เรื่องนี้

“สาเหตุของเรื่องนี้มาจากการฮั้วของนักการเมือง ข้าราชการ และเอกชน หากเราสามารถตัดวงจรนี้ด้วยการดึงเอกชนออกมาได้ก็น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะที่ในส่วนของภาครัฐเองนอกเหนือไปจากการนำเสนอโครงการว่าจะทำอะไรแล้ว ยังต้องมีการจัดทำแผยประเมินความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการทุจริตด้วยว่าเป็น อย่างไรก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการ ซึ่งทั้งหมดป.ป.ช.กำลังจัดทำแผนเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป”นาย ภักดี กล่าว

ขณะเดียวกันนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายปานเทพ  กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. ร่วมพิธีลงนามประกาศเจตนารมย์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยนายกฯยืนยันว่า  การลงนามครั้งนี้จะเป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริตที่มีการ พัฒนารูปแบบ ซึ่งจะมีกำหนดแนวทางให้มีผลปฏิบัติอย่างจริงจัง  เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป

Tags : ปปช. ประชุมต้านคอร์รัปชันนานาชาติ

view