สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องคดียุบปชป.

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

5ประเด็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องยุบพรรคพรรคประชาธิปัตย์
เรื่อง  นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์

ประเด็นวินิจฉัย

ประเด็นที่ 1.กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประเด็นที่ 2.การกระทำของผู้ถูกร้องตามคำร้องอยู่ในบังคับพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550

ประเด็นที่ 3.ผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในปี 2548 เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือไม่

ประเด็นที่ 4.พรรคผู้ถูกร้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองปี 2548 ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่

ประเด็นที่ 5.กรณีมีเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจะต้องถูกตัดสิทธิ หรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 หรือประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.)ฉบับที่ 27 หรือพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 หรือไม่เพื่อให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีเป็นไปตามลำดับเหมาะสมจึงเห็นควรวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ก่อน

ประเด็นที่ 2 การกระทำของผู้ถูกร้องอยู่ในบังคับของพ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2541 หรือพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550

ผู้ร้องกล่าวหาว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นเหตุให้ต้องถูกยุบพรรคในช่วงเวลา พ.ศ.2547-2548 ในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในช่วงบังคับพ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2541 แต่ขณะที่ยื่นคำร้องได้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2550 แทน พ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2541 ในส่วนสารบัญญัติเกี่ยวกับเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองในขณะนี้จะต้องใช้บทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2541 บังคับขณะเกิดเหตุเป็นหลักในการพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ตามนัยยะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2550 การนำ พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2541 มาวินิจฉัยนั้นหมายถึงการพิจารณาวินิจฉัยในส่วนสารบัญญัติเท่านั้นกล่าวคือ หมายถึงบทบัญญัติกำหนดว่าการกระทำใดผิดหรือกำหนดข้อห้ามหรือข้อบังคับการปฏิบัติแต่ส่วนที่เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติจะต้องใช้บทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่ขณะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย

ประเด็นที่ 1 กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

การร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2550 มี 2 กรณีแยกต่างหาก กล่าวคือ

1.กรณีพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 94 นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีอำนาจแจ้งต่ออัยการสูงสุด(อสส.)เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองให้ได้นั้นตามมาตรา 95 วรรคสอง

2.กรณีพรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายหรือไม่จัดทำรายงานตามความเป็นจริงยื่นต่อกกต.ตามมาตรา 82 และมาตรา 42 มาตรา92 นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบกกต.มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 93วรรคสอง

คดีนี้ผู้ร้องได้ร้องขอให้ศาลยุบพรรคประชาธิปัตย์ผู้ถูกร้องในกรณีที่2ตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2550 มาตรา 93 โดยอ้างว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา 82 ที่บัญญัติให้พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมายจะต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายนั้นให้ถูกต้องยื่นต่อกกต.ไม่ใช่กรณีร้องขออสส.ที่ยื่นตามมาตรา 95 วรรคหนึ่ง

การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 93 กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในวรรคสองว่า "เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่งให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของกกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียน"

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเมื่อนายทะเบียนทราบว่ามีพรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 82 อันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองนั้นจะต้องถูกยุบตามมาตรา93 วรรคหนึ่ง เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนไม่ว่านายทะเบียนจะทราบเองหรือบุคคลใดแจ้งให้ทราบนายทะเบียนเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่าการกระทำตามที่ทราบมานั้นเป็นเหตุให้พรรคการเมืองถูกยุบหรือไม่

อำนาจในการพิจารณาในเบื้องต้นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอันฝ่าฝืนมาตรา 82 หรือไม่นั้นเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายทะเบียน หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 82 ย่อมเป็นกรณีที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนที่จะต้องขอความเห็นชอบที่จะขอความเห็นชอบจากกกต.เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองนั้นต่อไป การที่กฎหมายบัญญัติให้ขอความเห็นชอบจาก กกต.ก่อนก็เพื่อดำเนินการสำคัญเช่นนี้เป็นไปโดยความรอบคอบ

การที่กฎหมายให้พิจารณาเบื้องต้นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา82 หรือไม่ เป็นอำนาจนายทะเบียนนั้นเนื่องจากมาตรา 82 เป็นเรื่องการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองให้ถูกต้องรวมทั้งการปฏิบัติงานทางด้านเอกสารการจัดทำเอกสารให้ถูกต้องการทำรายงานให้ถูกต้องตามรายงานประจำปกติเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของนายทะเบียนที่ดูแลให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายอันเป็นเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่นายทะเบียนตรวจสอบประจำอยู่แล้ว มาตรา 93 จึงเป็นบทบัญญัติให้นายทะเบียนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ซึ่งต่างจากการกระทำตามมาตรา94ซึ่งเป็นการกระทำที่ร้ายแรงกว่า มาตรา 95 จึงบัญญัติให้นายทะเบียนต้องส่งเรื่องให้อสส.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้อสส.ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายดำเนินการ

ในการพิจารณานายทะเบียนกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องพิจารณาด้วยตนเองนายทะเบียนจึงมีอำนาจที่จะแต่งตั้งหรือขอความเห็นจากผู้หนึ่งผู้ใดหรือขอความเห็นจากกกต.ก็สามารถทำได้การตัดสินใจขั้นนี้นั้นก็ยังเป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะต้องพิจารณาแล้วมีความเห็นก่อนว่ามีเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองหรือไม่ กกต.แม้จะเป็นองค์กรที่ใหญ่กว่านายทะเบียนก็ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่ามีเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองนั้นตามมาตรา 82หรือไม่ คงมีอำนาจเพียงให้ความเห็นชอบตามที่นายทะเบียนเสนอเท่านั้น

จากคำร้องของผู้ร้องคำชี้แจงและคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายผู้ถูกร้องประกอบกับคำร้องคัดค้าน คำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของนาย อภิชาต สุขัคคานนท์ นายทะเบียนพรรคการเมือง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อเดือนมีนาคม 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นาย เกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทยได้แจ้งนายทะเบียนขอให้ตรวจสอบว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนพ.ร.บ.พรรคการเมืองรวม 2 กรณี 1.การที่บริษัททีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน)จ่ายเงินค่าจ้างทำสื่อโฆษณาให้บริษัทให้ บริษัทเมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด เป็นการอำพรางการบริจาคเงินของบริษัทีพีไอฯให้ผู้ถูกร้อง และ 2.การใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องเป็นไปตามกฎหมายและรายงานการใช้เงินไม่ตรงตามความเป็นจริง

หลังจากได้รับแจ้งแล้วนายอภิชาตได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมกกต.เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 กกต.ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าวเพื่อรายงานให้กกต.ทราบมีนาย อิศระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธาน

คณะกรรมการสืบสวนฯ ทำการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ผู้ถูกร้องมิได้กระทำผิด2ประเด็น โดยมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในประเด็นที่ 2 ซึ่งเป็นมูลกรณีของคดีนี้ และได้รายงานผลการสืบสวนสอบสวนให้กกต.ทราบ

ต่อมา เมื่อวันที่17 ธันวาคม 2552 กกต.ได้ประชุมเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนฯแล้วมีมติด้วยเสียงข้างมากให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามมาตรา 95 แห่งพ.ร.บ.พรรคการเมือง2550 ที่ไม่เกี่ยวกับมูลคดีนี้ต้องดำเนินการตามมาตรา 93

ในการลงมติดังกล่าวนายอภิชาต ในฐานะประธานกกต.มีความเห็นว่าและลงมติ 2 กรณีว่า

1.ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าบริษัท ทีพีไอฯ บริจาคเงินให้ผู้ถูกร้อง และ

2.กรณีการใช้เงินของพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมายและรายงานการใช้เงินไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นกรณีตามคำร้องในคดีนี้ นายอภิชาตมีความเห็นว่า "จากการตรวจสอบเอกสารการใช้จ่ายเงินของพรรคประชาธิปัตย์ตามข้อมูลที่ผู้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์อนันต์จำกัด ไม่พบความผิดปกติในระบบเอกสารแต่อย่างใดจึงเชื่อตามเอกสารที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับสนับสนุนตามวัตถุประสงค์จริงประกอบกับจากพยานหลักฐานการสอบสวนนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ชี้แจงลายลักษณ์อักษร คำให้การนาย ปกครอง สุนทรสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการกกต.ที่ให้การแทนพล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานกกต.ประกอบกับพยานเอกสารรับฟังได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้นำเงินสนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าวใช้ตามวัตถุประสงค์ตามโครงการโดยมีการขอปรับโครงการและได้รับอนุมัติแล้ว เป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้กล่าว จึงให้ยกคำร้องคัดค้านตามความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน"

หลังกกต.ได้มีมติดังกล่าวแล้ว นายอภิชาตได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 ตามมติกกต.เสียงข้างมากโดยมีม.ล.ประทีป จรูญโรจน์เป็นประธานกรรมการ ซึ่งการตั้งกรรมการตรวจสอบฯเพื่อพิจารณาตามกฎหมายนั้นนายทะเบียนย่อมดำเนินการได้ตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง

ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2553 ประธานกรรมการตรวจสอบฯได้สรุปข้อเท็จจริงพร้อมเสนอความเห็นต่อนายทะเบียนวันเดียวกันนั้นนายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนได้บันทึกความเห็นในท้ายหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบฯว่า "ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่คณะทำงานของนายทะเบียนได้รวบรวมเพิ่มเติมจากที่กกต.ได้เคยแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนฯได้รวบรวมในเบื้องต้น อาจมีการกระทำตามมาตรา 94 แห่งพ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อันควรสู่การพิจารณามีมติของกกต. จึงให้เสนอเรื่องนี้ให้กกต.พิจารณาโดยด่วน โดยผ่านประธานกรรมการการเลือกตั้ง" และปรากฏตามเอกสารหมาย ร 14 ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นเพียงว่า อาจมีการกระทำตามมาตรา 94 แห่งพรบ.พรรคการคเมือง 2550 หรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จึงเสนอให้คณะกรรมการ กกต.พิจารณามีมติ

นายอภิชาต ในฐานะประธานกกต.ได้เรียกประชุมเมื่อวันที่12 เมษายน 2553 ได้นำผลตรวจสอบให้ที่ประชุมกกต.พิจารณา ที่ประชุมกกต.มีมติคำร้องคดีนี้มีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้องและมีมติเสียงข้างมากให้นายทะเบียนแจ้งต่ออสส.เพื่อให้อสส.ยื่นคำร้องยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 95 นายอภิชาตในฐานะประธานกกต.มีความเห็นส่วนตนว่า "ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของกกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15วันตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 93 วรรคสอง"

ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2553 กกต.ได้ประชุมกันอีกครั้งหนึ่งโดยนายทะเบียนในฐานะประธานกกต.ไม่ได้เข้าประชุมด้วยโดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้นายทะเบียนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 93 ถือว่าความเห็นส่วนตนของนายอภิชาตที่ได้ลงมติไว้เมื่อ12 เมษายน 2553 เป็นความเห็นของนายทะเบียน

จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อว่าความเห็นของประธานกกต.เป็นคำวินิจฉัยส่วนตนในการประชุมกกต.เมื่อวันที่12เมษายน 2553 นั้นเป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือไม่

เห็นว่า ถึงแม้พ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2550 มาตรา6วรรคหนึ่งจะบัญญัติให้ประธานกกต.เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองแต่พ.ร.บ.ดังกล่าวก็แบ่งแยกอำนาจหน้าที่ขอกกต.และนายทะเบียนไว้ต่างหากจากกัน และบางกรณีจะบัญญัติให้กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองใช้อำนาจหน้าที่ลักษณะร่วมมือหรือถ่วงดุลกัน กรณีบัญญัติให้เป็นอำนาจของกกต. เช่น ตามมาตรา 74 ให้กกต.มีอำนาจหน้าที่จัดสรรเงินสนับสนุนพรรคการเมืองควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียนและพัฒนาพรรคการเมืองกรณีตามมาตรา 81 กกต.อาจกำหนดให้พรรคการเมืองได้รับกรสนับสนุนด้านต่างๆเป็นต้นส่วนกรณีที่บัญญัติให้เป็นอำนาจนายทะเบียนผู้เดียวคือมาตรา12 และ 13 ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ในการรับจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง หรือมาตรา 41 ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจพิจารณารับหนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรคการเมืองและข้อบังคับพรรคการเมืองเป็นต้น

สำหรับกรณีที่บัญญัติให้กกต.และนายทะเบียนมีอำนาจลักษณะร่วมกันหรือถ่วงดุลกันเช่นมาตรา92 ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีพรรคการเมืองมีเหตุต้องเลิกถ้าเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองจริงให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของกกต.สั่งเลิกพรรคการเมืองนั้น หรือมาตรา 93 วรรคสองกรณีดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง เนื่องจากพรรคการเมืองไม่ดำเนินการตามมาตรา 42 วรรคสองหรือมาตรา 82 เป็นต้น

พ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2550 ได้แบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนต่างหากจากประธานกกต.ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกกต. การดำรงตำแหน่งที่ต่างกันจึงมีภาระหน้าที่แตกต่างกันด้วย

ปัจจัยที่จะนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์วินิจฉัยปัญหาใดๆย่อมขึ้นอยู่กับตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นว่ามีภาระหน้าที่อย่างไรการที่กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนวินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา 82 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 หรือไม่ เนื่องจากนายทะเบียนพรรคการเมืองมีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดและเป็นผู้ที่ทราบรายละเอียดการปฏิบัติของพรรคการเมืองเป็นอย่างดีส่วนประธานกกต.และกกต.มิได้มีหน้าที่ควบคุมดูแลของพรรคการเมืองคงมีอำนาจตรวจสอบว่าความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองมีเหตุสมควรหรือไม่ ประเด็นวินิจฉัยจึงต่างกันในสาระสำคัญ

ถึงแม้วันที่ 12 เมษายน 2553 นายอภิชาตได้ทำความเห็นไว้สองความเห็น คือความเห็นตามที่เกษียณสั่งให้นำเข้าสู่ที่ประชุมกกต.โดยระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามเอกสารหมาย ร 13 และ ร 14  ส่วนความเห็นในการลงมติในการประชุมกกต.นั้นเป็นการออกความเห็นในฐานะประธานกกต. ซึ่งความเห็นของนายอภิชาตในการลงมติดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของมติที่ประชุมคณะกรรมการกกต. ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจใดๆที่จะร่วมลงมติในการประชุมของคณะกรรมการกกต. การลงมติดังกล่าวจึงแตกต่างจากการเกษียณสั่งที่ให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ได้มีความเห็นเช่นนั้นก่อนแล้ว จึงเสนอความเห็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ความเห็นของนายอภิชาต ในการลงมติในฐานะประธานกกต. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2553 จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง เพราะหากถือเป็นเช่นนั้นก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายอภิชาติได้เคยลงมติในฐานะประธานกกต.ไปก่อนหน้านั้นแล้วในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม2552 ว่า ผู้ถูกร้องได้นำเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมีการขอปรับโครงการ และได้รับการอนุมัติแล้ว ซึ่งก้หาได้มีการถือว่าความเห็นในฐานะประธานกกต.ดังกล่าว เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองแต่ประการใดไม่

อนึ่งการที่กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องคดีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมหมายความว่าประธานกกต.ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ฉันใด การทำความเห็นส่วนตนของนายอภิชาตในการประชุมกกต.ในฐานะประธานกกต.เมื่อวันที่12 เมษายน 2553 จึงมิใช่การทำความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองฉันนั้น

นอกจากนี้การเกษียณสั่งของนายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองตามที่ปรากฎในบันทึกข้อความเอกสารหมาย ร 13 ก็ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือเป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคหรือไม่ แต่เป็นเพียงการเสนอเรื่องให้กกต.พิจารณาว่าอาจมีการกระทำตามมาตรา94 หรือไม่ก็ได้ ทั้งการกระทำตามมาตรา 94 ก็มิได้เกี่ยวกับการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองผิดกฎหมายหรือการรายงานไม่ตรงตามความเป็นจริงอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 82 ที่เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามมาตรา 93 แต่อย่างใด

เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา93 การให้ความเห็นชอบของกกต.เมื่อวันที่ 21เมษายน 2553 จึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะมีผลให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องได้

อนึ่งมีเหตุผลการวินิจฉัยอีกทางหนึ่งว่า เนื่องจากเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มุ่งประสงค์ให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองถูกตรวจสอบโดยกกต. ซึ่งเป็นการตรวจสอบภายในองค์กรด้วยกันเองอันเป็นกฎหมายที่กำหนดในส่วนวิธีสบัญญัติที่กำหนดวิธีปฏิบัติของกระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองไว้แล้ว ประกอบกับกกต.เป็นองค์กรที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง และมีวินิจฉัยชี้ขาดและปัญหาข้อโต้แย้งที่เกิดจากการกระทำตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา 236 กกต.จึงมีอำนาจควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงต้องปฏิบัติตามมติของกกต.และนายทะเบียนต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดเป็นกระบวนการไว้ ในส่วนของกฎหมายวิธีสบัญญัติที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 93 วรรคสองและมาตรา 95

กรณีข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง2550 มาตรา 93 วรรคหนึ่งนั้น มาตรา93 วรรคสองมิได้บัญญัติให้นายทะเบียนต้องเสนอความเห็นด้วยว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่งต่อกกต.เพื่อขอความเห็นชอบของกกต.ยื่นคำร้องต่อศาลให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ต่างกับกรณีข้อกล่าวหาพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 94 ที่มาตรา 95 บัญญัติว่าเมื่อปรากฎต่อนายทะเบียน และนายทะเบียนได้ตรวจสอบแล้ว กล่าวคือนายทะเบียนต้องตรวจสอบแล้วใช้อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนก่อน แล้วจึงเสนอกกต.พร้อมความเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำตามมาตรา 94 หรือไม่ โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นความเห็นให้เสนอยุบพรรคการเมืองนั้นหรือไม่ อันเป็นการสอดคล้องเจตนารมณ์กฎหมาย เพื่อให้การใช้ดุลพินิจนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับการตรวจสอบกลั่นกรองจากกกต.ก่อน ทั้งกรณีเสนอให้ยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองนั้น

ฉะนั้นตามคำร้องคดีนี้นายทะเบียนจะเสนอความเห็นด้วยว่าพรรคผู้ถูกร้องมีเหตุตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง2550 มาตรา 93 วรรคหนึ่ง ต่อกกต.หรือไม่ก็ได้ เมื่อผู้ร้องได้รับหนังสือขอให้ตรวจสอบพรรคผู้ถูกร้องจากดีเอสไอและนายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์แล้ว ต่อมาวันที่30เมษายน2552 กกต.มีมติในการประชุมครั้งที่ 48/2552 ด้วยเหตุผลว่า เมื่อความปรากฎต่อกกต.กรณียังมิใช่ความปรากฎต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยมีเหตุอันสมควรว่ามีการกระทำอันใดมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ตามข้อกล่าวหาทั้งสองข้อกล่าวหา จึงตั้งกรรมการสืบสวนฯชุดนายอิศระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ในการประชุมกกต.ครั้งที่ 144/2552 ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนฯทั้งสองข้อกล่าวหาแล้ว มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากส่งเรื่องให้ผู้ร้องดำเนินการตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มาตรา95 ทั้งสองข้อกล่าวหา โดยผู้ร้องในฐานะประธานกกต.ได้ร่วมลงมติเป็นความเห็นเสียงข้างน้อยให้ยกคำร้องที่ให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องทั้งสองข้อกล่าวหาเพราะไม่พบการกระทำผิดนั้น ความเห็นของผู้ร้องไม่ผูกพันคณะกรรมการกกต.เพราะผู้ร้องต้องปฏิบัติตามมติเสียงข้างมาก แต่โดยที่มติของกกต.เสียงข้างมากเป็นการพิจารณารวมกันไปทั้งสองข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นกรณีต้องแยกพิจารณาแต่ละข้อกล่าวหาให้ชัดเจน เฉพาะมติกรณีข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 95 ถือได้ว่าเป็นมติเสียงข้างมากสั่งการให้ผู้ร้องพิจารณามีความเห็นก่อนแล้วจึงเสนอกกต.เพื่อพิจารณาต่อไปเป็นข้อกล่าวหาที่นายทะเบียนชอบที่จะตั้งกรรมการช่วยตรวจสอบก่อนเสนอความเห็นได้

ส่วนกรณีข้อกล่าวหาพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 93 วรรคหนึ่ง การที่กกต.มีมติเสียงข้างมากสั่งการรวมกันไปว่ามีความเห็นก่อนแล้วจึงเสนอกกต.นั้นเป็นความไม่ชัดเจนในการปรับบทบังคับใช้กฎหมายในองค์กรขณะนั้นเท่านั้น ต่อมาการประชุมครั้งที่ 41/2553 เมื่อวันที่12 เมษายน 2553 ความเห็นเสียงข้างมากให้เหตุผลว่าข้อเท็จจริงสองข้อกล่าวหาเกี่ยวพันกัน จึงยังคงมีมติให้แจ้งผู้ร้องดำเนินการตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 95เช่นเดิม โดยผู้ร้องและนาย วิสุทธิ์ โพธิแท่น กกต.มีความเห็นให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 93 วรรคสอง และต่อมาในการประชุมครั้งที่43/2553 วันทื่21 เมษายน 2553 กกต.จึงมติเอกฉันท์ที่ชัดเจน ยืนยันเห็นชอบให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง2550 มาตรา 93 วรรคสองแสดงให้เห็นว่ามติเสียงข้างมากของกกต.นั้น เห็นชอบให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรับธรรมนูญตามพ.ร.บ.พรรคการเรมือง 2550 มาตรา 93 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่17ธันวาคม 2552 แล้ว โดยผู้ร้องไม่จำเป็นต้องเสนอความเห็นก่อนแต่อย่างใด

กรณีถือได้ว่าคดีนี้ความได้ปรากฎต่อนายทะเบียนว่าพรรคผู้ถูกร้องมีกรณีตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2550 มาตรา 93 วรรคหนึ่งแล้ว และกกต.เห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว ระยะเวลาที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15วัน จึงต้องเริ่มนั้บตั้งแต่17ธันวาคม 2552 อันเป็นวันที่กกต.มีมติดังกล่าว

การที่ผู้ร้องมีคำสั่งที่ 9/2552 ลงวันที่ 29ธันวาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯเพื่อตรวจสอบสำนวนของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดนายอิศระ เป็นประธานอีก แล้วผู้ร้องเสนอโดยมิได้มีความเห็นให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องหรือไม่ประการใดเช่นเดิม และกกต.มีมติเสียงข้างมากในการประชุมครั้งที่ 41/2553 เมื่อ 12 เมษายน2553เห็นชอบให้ผู้ร้องแจ้งอสส.เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามคำสั่งพ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2550 มาตรา 94 (3) (4)และมาตรา 95 ทั้งสองข้อกล่าวหาอีกครั้งหนึ่ง

แม้ว่าต่อมา วันที่ 21 เมษายน 2553 กกต.จะมีมติเอกฉันท์ในการประชุมครั้งที่ 43/2553 เห็นชอบให้ผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพ.ร.บ.พรรคการรเมืองพ.ศ.2550 มาตรา 93 นั้นกระบวนการดังกล่าวข้างต้นเป็นการตรวจสอบภายในองค์กร และเป็นเพียงการยืนยันการปรับบทบังคับใช้กฎหมายให้ชัดเจนภายในองค์กรที่ยังคงต้องอยู่ในบังคับตามระยะเวลาที่พ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2550 มาตรา 93 วรรคสองกำหนด เป็นกรณีต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่17 ธันวาคม 2552 อันเป็นวันที่กกต.มีมติเสียงข้างมากในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนชุดที่กกต.มีมติแต่งตั้งนายอิศระ เป็นประธานในครั้งแรก และถือเป็นวันที่ความปรากฎต่อผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วย

เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงพ้นระยะเวลา15วันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงมิชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง ในประเด็นอื่นอีกต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้ยกฎหมาย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไปให้ยกคำร้อง

Tags : เปิดคำวินิจฉัยกลาง ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง คดียุบปชป.

view