สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การตรวจสอบและรับรองบัญชีภาษีอากร (3)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์


ขอนำประเด็นปุจฉา - วิสัชนา แนวคิดในเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
           ขอนำประเด็นปุจฉา - วิสัชนา แนวคิดในเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

           ปุจฉา มีประเด็นการตรวจสอบและรับรองบัญชี เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับการกำหนดให้ “กิจการร่วมค้า” เป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” อย่างไร

           วิสัชนา ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามประมวลรัษฎากรอันเป็นผลสืบเนื่องมาแต่การกำหนดให้ “กิจการร่วมค้า” เป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ดังนี้


           1. ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีหรือประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 มิได้กำหนดให้ “กิจการร่วมค้า” เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป รวมทั้งการปิดบัญชี และการจัดทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน ดังเช่นกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแต่อย่างใด

           ในขณะที่ตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้ “กิจการร่วมค้า” ที่แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะมีสถานภาพเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน แต่ทว่าตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้เป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” เพื่อให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และให้เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีทำการ บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน

           2. การจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีภายใต้หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เป็นไปเพื่อแสดงฐานะการเงินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เพียง ณ วันใดวันหนึ่ง โดยจัดให้มีการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีภาษีอากร

           ในทางภาษีอากร โดยเฉพาะกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่จัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร โดยจัดให้มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีโดยบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร

           3. ในช่วงต้นของการกำหนดให้ “กิจการร่วมค้า” เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เพื่อให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2522 เป็นต้นมา กิจการร่วมค้ายื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 พร้อมทั้งแนบบัญชีงบดุล ที่มิได้มีการตรวจสอบใดๆ

           4. กรมสรรพากรจึงพิจารณาเห็นว่า การที่ “กิจการร่วมค้า” ยื่นแบบแสดงรายการโดยไม่มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีใดๆ เลย ย่อมเป็นภาระแก่กรมสรรพากรที่จะทำการตรวจสอบภาษีอากรในภายหลัง ดังนั้น อธิบดีกรมสรรพากร (นายพนัส สิมะเสถียร) โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2523 ดังนี้ 


           (1) กำหนดให้การตรวจสอบและรับรองบัญชี ซึ่งบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องจัดทำและยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร ให้กระทำได้โดยบุคคลผู้ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งมีคุณสมบัติและปฏิบัติตาม (2)-(4) ดังนี้


           (2) กำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรว่า ต้องเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA: Certified Public Accountant) และได้รับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี และให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี เป็นผู้ที่รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะสั่งเป็นอย่างอื่น 


           (3) ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีต้องรักษามรรยาทและปฏิบัติงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีหรือประกาศของคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี (ก.บช.) 


           (4) ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีต้องสอดส่องใช้ความรู้ และความระมัดระวังในการตรวจสอบและรับรองบัญชีเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพโดยทั่วไปจะต้องปฏิบัติ

           ในกรณีที่มีข้อสงสัยว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเจ้าของบัญชีนั้นได้มีการทำเอกสารประกอบการลงบัญชี และหรือลงบัญชีโดยที่เห็นว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง อันอาจเป็นเหตุให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น มิต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่ควรเสีย  ให้ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของบัญชี และแจ้งพฤติการณ์ที่สงสัยไว้ในรายงานการสอบบัญชีที่ตนจะต้องลงลายมือชื่อรับรองด้วย

           ทดสอบรายการในแบบแจ้งข้อความเกี่ยวกับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามรายการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด 


           (5) กรณีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดดังกล่าว อธิบดีกรมสรรพากรอาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นได้

           พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Tags : การตรวจสอบ รับรองบัญชีภาษีอากร

view