สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การแทรกแซงกลไกตลาดเสรี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ


อดัม สมิธ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาเศรษฐศาสตร์จากการเขียนหนังสือ “The Wealth of Nations” นั้นในแก่นสารได้นำเสนอแนวคิดหลัก 2 ประการ
ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์ คือ
 

1. การแข่งขันกันโดยเสรีของประชาชนในฐานะผู้ซื้อ คือผู้แสวงหาสินค้าและบริการที่คุ้มค่าที่สุดตามความต้องการของตนเอง และในขณะเดียวกันการแข่งขันของผู้ประกอบการในการที่จะผลิตสินค้าและบริการ ให้ได้ในราคาถูกและคุณภาพดีที่สุดจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุดและให้ผล ประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจโดยรวม หมายความว่าความพยายามของทุกฝ่ายที่จะแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน (หรือความเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว) จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ส่วนรวม กล่าวคือการแข่งขันอย่างเสรีจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุดทางเศรษฐกิจ (economic efficiency)
 

2. โดยทั่วไปแล้วการตัดสินใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจึงไม่จำเป็นจะ ต้องมีหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรกลางใดที่จะต้องมีความรอบรู้หรือความสามารถ พิเศษเพื่อช่วยตัดสินใจหรือวางแผนเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการพาณิชย์ของประเทศ ตรงกันข้ามการกระจายอำนาจในการตัดสินใจ (decentralized decision-making) ให้ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งในส่วนนี้ระบบตลาดเสรีนั้นมีสมมุติฐานคล้ายคลึงกับระบบการเมืองแบบ ประชาธิปไตย กล่าวคือระบบตลาดเสรีคือการที่อำนาจทางเศรษฐกิจอยู่กับประชาชน ในขณะที่ในระบอบประชาธิปไตยนั้นอำนาจการปกครองอยู่กับประชาชนเช่นกัน
 

แต่ต่อมาก็สามารถมองเห็นข้อบกพร่องต่างๆ ของระบบตลาดเสรี ทำให้ต้องมีการเข้ามาแทรกแซงโดยภาครัฐในประเด็นต่างๆ ที่พอสรุปได้ดังนี้ คือ
 

1. ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจนั้นอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้จากกลไกตลาด เสรี กล่าวคือระบบเศรษฐกิจที่ความร่ำรวยกระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่คน ซึ่งหลายคนจะมองว่าไม่เป็นธรรมนั้นก็มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจได้ ทำให้มีเหตุสมควรที่รัฐบาลจะเก็บภาษีคนรวยเพื่อนำเอาไปช่วยเหลือคนจนให้มี ฐานะที่ดีขึ้น แต่การกระทำดังกล่าวย่อมจะบั่นทอนประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (เช่นหากพยายามเก็บภาษีคนรวยมากก็อาจทำให้ความกระตือรือร้นที่จะสร้างความ มั่งคั่งให้กับตัวเองและประเทศลดลงหรือคนเก่งก็อาจต้องย้ายถิ่นฐานออกไปอยู่ ประเทศอื่นๆ ที่เก็บภาษีน้อยกว่าก็ได้)
 

2. บริการบางประเภทของรัฐนั้นเป็นบริการที่ให้ประโยชน์แก่ส่วนรวม ทำให้ยากที่จะอาศัยกลไกตลาดผลิตออกมาได้ในปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม (public goods) เช่นงบประมาณด้านการทหารเพื่อปกป้องคุ้มครองประเทศเป็นค่าใช้จ่ายที่อาศัย กลไกตลาดไม่ได้ เพราะคนหลายคนจะอยากได้ประโยชน์จากบริการดังกล่าว แต่ไม่อยากร่วมจ่ายเงิน (free rider) ในกรณีดังกล่าวจึงต้องมีการบังคับจ่ายโดยการเก็บภาษี
 

3. มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงที่เศรษฐกิจจะซบเซาอย่างยาวนาน ภาครัฐจะต้องเข้ามาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการเร่งการใช้จ่ายและการลงทุน แม้ว่าจะต้องขาดดุลงบประมาณ (กู้เงิน) มาใช้ในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งที่สมควรทำเพราะเมื่อเศรษฐกิจขยาย ตัวดีสู่สภาวะปกติ รัฐก็จะมีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะใช้คืนเงินกู้ดังกล่าว
 

4. ในบางกรณีการผลิตสินค้าอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเสมือนกับการที่ ผู้ผลิตใช้ทรัพยากรของประเทศ (คือทำสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพสูงให้มีคุณภาพต่ำ) โดยไม่ต้องจ่ายเงิน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผลิตสินค้าดังกล่าวมากเกินไป (หรือการสร้างมลพิษมากเกินไป) ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเก็บภาษีเท่ากับผลกระทบต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก การผลิตสินค้าดังกล่าว
 

จะเห็นได้ว่า 4 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่รวมถึงพฤติกรรมของภาครัฐที่มักจะเข้าไปแทรก แซงระบบตลาดเสรีโดยการเข้าไปกำหนดราคาสินค้าบางประเภทในถูกกว่ากลไกตลาดหรือ กำหนดให้ราคาสินค้าบางประเภทสูงกว่ากลไกตลาด เช่น
 

1. การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ตรงนี้คือความหวังดีให้ผู้ใช้แรงงานได้มีค่าจ้างที่เพียงพอกับค่าครองชีพที่ สูงขึ้น นอกจากนั้นก็มักจะมีการคำนวณว่าหากค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น (เช่น) 10 บาทต่อวัน ก็จะทำให้ผู้ใช้แรงงาน 4 ล้านคนที่เป็นผู้ที่น่าจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 12,000 ล้านบาท (คำนวณจากการทำงาน 300 วันต่อปี) แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นมีสมมติฐานว่าทั้ง 4 ล้านคน จะมีงานทำที่ค่าจ้างใหม่ที่สูงกว่าและย่อมจะต้องเป็นเงินที่ได้มาจากนายจ้าง แต่คำถามคือทำไมจึงจะนึกว่านายจ้างจะมีผลกำไรจากการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นเพียง พอที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นถึง 12,000 ล้านบาทต่อปี? สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในความเป็นจริงคือ
 

1.1 ต้องมีคนงานตกงานมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่ขาดประสบการณ์และมีฝีมือน้อย กล่าวคือกลุ่มคนงานที่หางานได้ยากอยู่แล้วจะยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยค่าจ้างขั้น ต่ำที่สูงเกินไป ในประเทศสหรัฐจากการตรวจสอบข้อมูลจะพบว่ากลุ่มที่มีอัตราว่างงานมากที่สุด คือผู้ที่มีการศึกษาน้อย ผู้ที่อายุน้อยและคนผิวสี เป็นต้น จึงสรุปได้ว่าการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงเกินไปจะช่วยคนที่มีประสบการณ์ และมีฝีมือมีงานทำอย่างมั่นคงมากกว่า
 2.2 กำลังซื้อของผู้ใช้แรงงานอาจไม่เพิ่มขึ้นก็ได้เพราะแม้ว่าเงินเดือนจะสูง ขึ้น แต่หากปริมาณแรงงานที่ได้รับการจ้างงานลดลงเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้เงินค่าจ้างโดยรวมลดลง เช่น หากมีการจ้างงาน 4 ล้านคนที่ค่าจ้างขั้นต่ำ 7,000 บาทต่อเดือนก็จะมีรายได้ต่อเดือน 28,000 ล้านบาท แต่เมื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไปที่ 8,000 บาทต่อเดือน การจ้างงานลดลงเหลือ 3,400,000 คน เงินเดือนทั้งหมดก็จะเหลือ 27,000 ล้านบาท เป็นต้น สิ่งที่เป็นไปได้ทางหนึ่งคือการหลบเลี่ยงกฎหมาย รวมทั้งการใช้แรงงานต่างด้าวซึ่งจะกลายเป็นแหล่งทำมาหากินของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องการตักตวงผลประโยชน์ให้กับตัวเองและสำหรับผู้ประกอบการก็จะยิ่งต้อง ตัดสินใจยากลำบากมากขึ้นเพราะคู่แข่งที่ไม่เคารพกำหมายจะได้เปรียบ ทำให้เกินความเสื่อมถอยในการเคารพกฎหมายของประเทศ
 

2. การกำหนดราคาสินค้าเกษตรขั้นสูง เช่นการประกันราคาข้าวที่ระดับสูงเพื่อเอาใจชาวนาโดยรัฐบาลซื้อข้าวมาตุนเอา ไว้เพื่อหวังทำกำไรในอนาคต แต่ก็มักจะขาดทุนจากต้นทุนสูงในการเก็บรักษา การคาดการณ์แนวโน้มราคาข้าวผิดพลาดและการรั่วไหลจากการคอร์รัปชัน นอกจากนั้นยังส่งผลเสียต่อการส่งออกข้าวเพราะทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคา ตลาดโลก ต่อมารัฐบาลเปลี่ยนเป็นการให้ชาวนาได้รับเงินเท่ากับส่วนต่างของราคาตลาดกับ ราคาประกัน ซึ่งช่วยให้รัฐไม่ต้องรับภาระการเก็บตุนข้าว แต่ชาวนาย่อมมีแรงจูงใจให้แจ้งกับรัฐว่ามีผลผลิตสูง (และอาจสูงเกินจริง) และที่สำคัญอาจเน้นบริการการผลิตมากกว่าคุณภาพและพยายามกดดันทางการเมืองให้ ตั้งราคาประกันให้สูง กล่าวคือแทนที่จะมีแรงจูงใจจากกลไกตลาดเสรีให้ผลิตสินค้าที่ราคาต่ำแต่ คุณภาพดี ดังที่ อดัม สมิธ วิเคราะห์การแทรกแซงอาจทำให้ชาวนาแบ่งเวลามาล็อบบี้รัฐบาลให้ตั้งราคาประกัน สูงๆ และเน้นการผลิตมากๆ โดยไม่เน้นคุณภาพเพราะผลิตเพื่อ “ขาย” ให้แก่รัฐบาล
 

3. การควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นเพื่อ “ช่วย” ลดค่าครองชีพของประชาชนก็เป็นการหวังดีที่มักให้ผลร้าย เพราะหากกดราคาขายต่ำกว่าราคาต้นทุนก็จะทำให้สินค้าดังกล่าวขาดตลาด ซึ่งจะยิ่งทำให้พ่อค้าหาทางกักตุน (เพราะรู้ว่าจะขาดแคลนมากขึ้นเรื่อยๆ) แต่หากกดราคาขายให้ผู้ประกอบการผลิตโดยมีกำไรลดลง ก็อาจทำให้ยังมีการผลิตเพียงพอกับความต้องการในระยะสั้น แต่ก็เป็นไปได้มากกว่าผู้ผลิตจะไม่มีแรงจูงใจให้พัฒนาคุณภาพสินค้าดังกล่าว ในระยะยาว (หรือแอบขึ้นราคาโดยเปลี่ยนกล่องบรรจุใหม่ที่เล็กลง) จึงกลายเป็นว่าสินค้าที่ “จำเป็น” ต่อการดำรงชีพของประชาชนจะหาได้ยากขึ้นและคุณภาพลดลงในระยะยาว แต่สินค้าที่ “ไม่จำเป็น” จะได้รับการพัฒนาและปรับปรุงตามกลไกตลาดเสรี

Tags : การแทรกแซงกลไกตลาดเสรี

view