สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยุทธศาสตร์ Supply Chain แบงก์ผนึกเอกชนยกระดับขีดการแข่งขัน (จบ)

จากประชาชาติธุรกิจ

หมายเหตุ : การ สัมมนา "ยุทธศาสตร์ Supply Chain แบงก์ผนึกเอกชนยกระดับขีดการแข่งขัน" ฉบับนี้ต่อเนื่องจากฉบับที่ผ่านมา ที่ล่าสุดธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นรับกับมิติใหม่ที่สถาบันการเงินเข้าร่วมเป็นข้อต่อซัพพลายเชนระหว่าง ภาคธุรกิจขนาดใหญ่กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยนำนวัตกรรมทางการเงินหลากหลายมาตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในโลกธุรกิจยุค ใหม่มากขึ้น

ทางด้าน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประเด็นการบริหารธุรกิจขนาดใหญ่อย่างไรให้มีประสิทธิภาพว่า สาเหตุที่ทำให้ ปตท.เติบโตค่อนข้างมากมาจาก

1.การอยู่ในธุรกิจที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและประเทศชาติ

2.ใน ส่วนของการทำธุรกิจเองก็ต้องทำให้ครบวงจร คือทำตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เรามีธุรกิจก๊าซ น้ำมันและปิโตรเคมี ธุรกิจทั้ง 3 นี้เราทำมาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

หากมองในแง่ซัพพลายเชน ในธุรกิจก๊าซถ้ามองในเรื่องต้นทางก็จะมีบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ไปเสาะแสวงหาวัตถุดิบ และนอกจากจะหาเองแล้ว ปัจจุบันยังซื้อมาด้วยจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ก๊าซจากพม่าแล้วนำมาเพิ่มมูลค่า คือแยกก๊าซออกมา เป็นการใช้ทรัพยากรได้สูงสุด แล้วมีการขนส่งทางท่อแล้วส่งไปยังโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าที่จะใช้

หาก ธุรกิจถูกเบรกเป็นช่วง ๆ ก็จะขาดความต่อเนื่อง สูญเสียประสิทธิภาพในการผลิตขึ้นตามมา ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคต้องใช้ในราคาสูงขึ้น ดังนั้นหากดำเนินการบริหารตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ดีกว่า ต้นทุนก็สามารถแข่งขันได้ ส่งผลต่อผู้บริโภคได้ราคาถูกลง

ในการค้าขายน้ำมันระหว่าง ปตท.กับลูกค้า บางส่วนเราใช้บริการสินเชื่อผ่านธนาคารทหารไทยเหมือนกัน ทำให้ธุรกิจเกิดความต่อเนื่อง แต่การขนส่งส่วนใหญ่จะใช้รถบรรทุก เรือ รถไฟ ประสิทธิภาพจึงยังไม่สูงเท่าก๊าซที่ขนส่งทางท่อ

ทางด้าน ดร.ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในประเด็นการนำโซลูชั่นการบริหารซัพพลายเชนมาสนองลูกค้าเพื่อช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพและลดต้นทุนโลจิสติกส์ว่า ธนาคารเป็น ฟันเฟืองสีฟ้าเล็ก ๆ อันหนึ่งที่ช่วยให้เขา ขับเคลื่อนได้ คำถามก็คือ เราเข้าไปช่วยทำอะไรในซัพพลายเชนได้บ้าง ขอตอบว่าเราเข้าไปเป็นคนกลาง เพราะปกติผู้ที่ค้าขายกันจะยึดหลัก "จ่ายเงินเขาช้า ๆ เก็บเงินเขาเร็ว ๆ" หมายความว่า ทุกคนไม่อยาก ให้ใครติดหนี้ แต่มีอยู่ธุรกิจหนึ่งที่อยากให้คนติดหนี้ คือ ธุรกิจธนาคาร ปกติคนทำการค้าหากมีคนติดหนี้มากเกินไปจะเดือดร้อน ขณะที่ธนาคารมีคนติดหนี้น้อยจะเดือดร้อน จึงมีคำถามว่าจะทำอย่างไร ให้สิ่งเหล่านี้สมดุลกัน

จากที่ดูในระบบคนทำธุรกิจมีการติดหนี้การ ค้ากันไปมาประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่เป็นหนี้ธนาคารแบบชอร์ตเทอมระยะสั้นแค่ 20% เท่านั้น อีก 80% คือเราติดเขา เขาติดเรา สมมติว่าธนาคารจะเข้าไปแทนที่กรณีเราติดเขา เขาติดเรา เพื่อมิให้เกิดการขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ ก่อนจะปล่อยกู้ก็ต้องมีการขอดูงบดุลบัญชี ซึ่งเป็นปกติของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่วนใหญ่งบดุลบัญชีขาดทุนแต่มีข้อมูลอยู่ชิ้นหนึ่งก่อนที่จะปล่อยกู้ SMEs คือ statement แต่ statement ก็สร้างได้

แต่มี statement อยู่ชิ้นหนึ่งที่สร้างไม่ได้ ที่บอกสภาพธุรกิจ SMEs นั้นดีไม่ดีก็คือ statement การซื้อขายระหว่างซัพพลายเชน เช่น ลูกค้าที่ซื้อน้ำมันจาก ปตท.ตลอด ก็แสดงว่าเขาขายสินค้าได้ ทำให้ธนาคารพอที่จะปล่อยสินเชื่อได้ และเป็นการลดการให้สินเชื่อ อันนี้คือที่มาที่ไปของคอนเซ็ปต์ซัพพลายเชน

ดัง นั้นถ้าเราร่วมมือกัน 3 ฝ่ายแก้ปัญหาให้ซัพพลายเออร์ที่ปวดหัวในการจ่ายเงิน หรือดีลเลอร์ที่วิ่งจ่ายเงินโดยธนาคารจะเข้ามาดูแลในส่วนนี้แทน อันนี้คือโจทย์ของพวกเราทำเพื่อจะทำให้ดอกเบี้ยลดลง เอกสารก็ลดลง ทำให้ประหยัดเวลา

ที่ผ่านมาเวลาจะขายของ 100 บาท ต้องมีวงเงิน 300 บาท จากเหตุเราติดเขา เขาติดเรา อย่างวาง L/C 100 บาท ต้องหาหลักประกัน 100 บาทไปวางธนาคาร พอมี L/C สมมติจะซื้อเงินสดอีก 3 วันจ่าย แล้วเอาไปขายต่ออีก 3 เดือนจึงได้เงิน เขาก็เดือดร้อนและต้องรีบใช้เงิน จะรีบขายเช็คก็มาจากสารพัดธนาคารก็ขอวงเงินในเช็คโดยรูดบัตร รวมแล้วเป็น 300 บาท สรุปแล้วขายของ 100 บาท ต้องมีวงเงิน 300 บาท เรื่องเราติดเขา เขาติดเรา จึงกลายเป็นติด 3 เท่า จะขายของ 100 บาท ต้องมีวงเงิน 300 บาท

ส่วน ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ V-SERVE GROUP ได้กล่าว ตอนท้ายเพื่อสะท้อนมุมมองและภาพรวมด้านโลจิสติกส์ของไทยว่า เรื่องซัพพลายเชนกับ SMEs ฟังดูเหมือนง่าย แต่ทำยาก เพราะการเป็น SMEs ต้องรู้ตัวเองว่าเราอยู่ในโซ่อุปทานตรงไหน เรามีขีดความสามารถแค่ไหน ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจในการต่อรอง เช่น ลูกค้าต่อรองกับซัพพลายเออร์ อย่างจะซื้อเหล็กจากบริษัทญี่ปุ่นและซื้อกระดาษคราฟต์จาก SCG ก็ต้องจุดธูป 3 ดอกซื้อ ต้องวางแบงก์การันตีทั้งที่ราคายังไม่กำหนดออกมา

ในปี 2015 ไทยจะมีการเปิดประเทศครั้งใหญ่จากการเป็นเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) เพื่อจุดมุ่งหมายให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนอย่างเสรี ภาษี AEC จะเป็น 0% หมด

ดังนั้นการเปิดเสรีในครั้งนี้เราจึงไม่กลัวเวียดนามเท่าไร แต่เรากลัวเวียดนามที่มีมาเลเซียหรือสิงคโปร์เป็นเจ้าของกลัวลาวที่มีจีน เป็นเจ้าของบริษัท

ฉะนั้น เราต้องเน้นการสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนให้แข็งแรง ระบบโลจิสติกส์ก็ต้องดี เพราะต้นทุนของคุณก็คือต้นทุนของเรา ต้องจัดการเรื่องการสูญเสียที่มากเกินไปให้น้อยลง ด้านการผลิตต้องมีปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจบ้าง ต้องมี QC ระบบขนส่ง ต้องไม่โบราณ มีการนำ IT มาใช้เพราะอีเมล์เดี๋ยวนี้ก็แทนจดหมายแล้ว

การ ลดต้นทุนได้ 1 บาท ง่ายกว่าการขึ้นราคาขายสินค้า ฉะนั้นต้องร่วมกันแก้ระบบโลจิสติกส์ของคู่ค้าด้วย เรื่องซัพพลายเชนจึงมีผลมากในการแข่งขัน เป็นเรื่องใกล้ตัวต้องอ่านหนังสือด้านนี้ให้มาก อ่านแล้วต้องนำมาปฏิบัติใช้ด้วย

Tags : ยุทธศาสตร์ Supply Chain แบงก์ผนึกเอกชน ยกระดับ ขีดการแข่งขัน

view