สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อร่อยตามรอยคนภูเก็ต

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ปิ่นอนงค์ ปานชื่น


@taste สัปดาห์นี้ชวนคุณลัดเลาะไปตามถนนในตัวเมืองภูเก็ต เริ่มต้นที่ถนนพังงา เยาวราช แล้วต่อไปถึงถนนภูเก็ต
@taste ฉบับนี้ชวนคุณลัดเลาะไปตามถนนในตัวเมืองภูเก็ต เริ่มต้นที่ถนนพังงา เยาวราช แล้วต่อไปถึงถนนภูเก็ต ไม่เพียงแต่เป็นถนนเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของชาวภูเก็ต ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน
 

สถาปัตยกรรมของอาคารบ้านช่องบนถนนเหล่านี้ล้วนแต่มีความงดงามที่แฝงไป ด้วยความหมายของความผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมระหว่าง จีน และ โปรตุเกส จนก่อให้เกิดศิลปะแบบชิโน-โปรตุกีส ขึ้นมา
 

เนื่องจากที่ภูเก็ตมีชาวจีนอาศัยอยู่มากมาย โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมีความสามารถในการทำเหมืองแร่ดีบุกทั้งในภูเก็ต ปีนัง และ สิงคโปร์ กล่าวกันว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 แร่ดีบุกเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเป็นอย่างมาก ทำให้ถึงกับขาดแคลนแรงงานชาวเหมือง พระยารัษฎานุประดิษฐ์ถึงกับต้องนำเรือออกเดินทางไปประเทศจีนเพื่อไปรับคนจีน ที่เมือง เอ้หมึง  มณฑลฮกเกี้ยนมายังเกาะภูเก็ต ปีละ 3 เที่ยวเลยทีเดียว
 

ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวจีนฮกเกี้ยนเข้ามาทำงานเหมืองแร่ดีบุก ประกอบอาชีพค้าขายและสืบเชื้อสายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้อาหารพื้นเมืองภูเก็ตจึงมีทั้งอาหารจีนฮกเกี้ยนหลายเมนู บางเมนูหากินได้ที่ภูเก็ตแห่งเดียว เช่น ลาโบะ และ โอ้เอ๋ว

บางเมนูก็มีส่วนผสมของเครื่องเทศแบบไทย และมลายู รวมไปถึงวัฒนธรรมทางตะวันตกที่มาทางอาหารและสถาปัตยกรรม ที่มีความเด่นชัดคือ โปรตุเกส ที่ส่งผ่านมาทางการติดต่อค้าขายระหว่างภูเก็ต ปีนัง มลายู
 

ด้วยเหตุนี้อาหารพื้นเมืองจังหวัดภูเก็ต จึงมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ แม้มีเครื่องเทศหลายชนิดผสมกันก็ไม่เผ็ดจัด มีรสชาติออกหวาน และกรรมวิธีการทำแบบจีน

อาหารพื้น เมืองภูเก็ตที่เราจะไปเยือนกันในวันนี้ มีทั้งร้านที่มีชื่อเสียงอย่างแพร่หลายเป็นที่รู้จักโดยทั่วกัน และร้านที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน หากเป็นการเดินทางไปชิมตามคำบอกเล่า และนำทางโดยคนภูเก็ต ซึ่งนิยมกินอาหารในร้านเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน กล่าวได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำมากเลยทีเดียว

หมี่ฮกเกี้ยนโกเพียร

"น้ำร้ายกว่าเนื้อ" คือ สโลแกนของร้านหมี่ฮกเกี้ยนโกเพียร ร้านนี้มิได้มีสื่อใดมาชวนชิม หากคนพาไปชิมนั้นเป็นคนภูเก็ตขนาดแท้ ร้านตั้งอยู่บนถนนกระบี่ตรงกันข้ามกับศาลเจ้าแม่ย่านาง ผู้ปกปักรักษาชาวเรือ

บะหมี่ฮกเกี้ยนมีลักษณะเป็นเส้นหมี่เหลืองอวบอ้วนขนาดใกล้เคียงกับเส้นโซ บะของญี่ปุ่น มีทั้งแบบผัดกับแบบน้ำ หมี่ฮกเกี้ยนแบบผัดนั้นที่มีชื่อเสียงมากต้องยกให้หมี่ต้นโพธิ์ ลักษณะเด่นคือ การนำไปผัดกับเนื้อหมู ปลา ปลาหมึก กุ้งและหอยตัวเล็กๆ ที่เรียกกันว่า หอยติบ (หอยที่ติดอยู่ตามโขดหิน) บางแห่งก็ใส่หอยนางรม  ผัดพอมีน้ำขลุกขลิก และตอกไข่ลงไปด้วยพอสุก

แต่หมี่ฮกเกี้ยนของโกเพียรจะเป็นหมี่น้ำและหมี่แห้ง คล้ายๆ กับก๋วยเตี๋ยวบะหมี่ที่เราคุ้นเคย ต่างกันตรงลักษณะของเส้นและเครื่องที่ใส่ ซึ่งมีทั้งเครื่องในหมู เนื้อหมู กุ้ง แคบหมู โรยหน้าด้วยใบกุยช่ายและหอมเจียวทอด ถ้าสั่งแห้งก็จะโรยด้วยถั่วลิสง ส่วนน้ำที่ว่าร้ายกว่าเนื้อนั้น น้ำซุปมิต้องปรุงก็กลมกล่อม (สั่งแห้งก็เสิร์ฟน้ำซุปให้ด้วย) ส่วนใครที่ชอบแซบๆ แนะนำให้สั่งแบบต้มยำ รสชาติออกเปรี้ยว หวาน เผ็ด เสิร์ฟมาชนิดเต็มชาม สาวตัวเล็กๆ กินแล้วอิ่มได้ง่ายๆ ราคาขาย ธรรมดา 30  บาทพิเศษ 35 บาท จัมโบ้ 40 บาท  เลือกอิ่มได้ตามความสามารถ  คนต่างถิ่นแวะไปชิมกรุณาดูปฏิทินสักนิด เพราะร้านโกเพียรหยุดทุกวันพระ

โลบะ

ติดกับร้านหมี่ฮกเกี้ยนโกเพียร มีร้านขายของทอดอยู่ใกล้ๆ หน้าตาชวนรับประทานจะว่าเป็นเต้าหู้ทอดก็ไม่เชิง เนื่องจากมีของทอดมากมาย สอบถามจากเจ้าถิ่นได้ความว่า อาหารชนิดนี้มีชื่อว่า โลบะ ได้ยินแล้วก็ต้องขอฟังซ้ำอีกสองครั้งกว่าจะเข้าใจ

อันว่า "โล" นี้มาจากคำว่า "พะโล้" ส่วน "บะ" หมายถึง "ทอด"   โลบะ จึงหมายถึงอาหารพะโล้ ทอด ซึ่งได้แก่ หัวหมู เครื่องในหมู หมูสามชั้น เนื้อหมู หมูแดง นำไปต้มพะโล้แล้วก็นำมาทอดรับประทานกับน้ำจิ้มรสเปรี้ยวที่มีส่วนผสมของน้ำ มะขาม

นอกจากเครื่องใน เนื้อหมูต้มพะโล้ทอดแล้ว โลบะยังมีเต้าหู้ทอด เต้าหู้ทอดไส้แป้งถั่วงอกผสมกุ้ง แป้งทอดผสมถั่วงอกโรยหน้าด้วยกุ้งทอด และ เกี้ยน (เนื้อหมู กุ้ง ปู สับผสมมันแกว เผือก ห่อด้วยฟองเต้าหู้แล้วนำไปนึ่งให้สุกก่อนนำมาทอด)

อยากจะกินอะไรก็สั่งได้ว่าจะเอา ตับ ไต ปอด ลิ้น หู เต้าหู้ หรือว่า เกี้ยน เลือกได้ตามสะดวก

ลกเที้ยนศูนย์รวมอาหารพื้นเมืองภูเก็ต

จากถนนกระบี่มุ่งหน้าสู่ถนนเยาวราช บริเวณแยกตัดกับถนนดีบุกติดกับโรงหนังเฉลิมตันเก่า มีศูนย์อาหารที่คล้ายฟู้ดคอร์ตแบบเปิดโล่ง เป็นอาคารชั้นเดียวภายในรวบรวมร้านขายอาหารพื้นเมืองภูเก็ตหลายชนิด เรียกขานกันว่า ลกเที้ยนศูนย์รวมอาหารพื้นเมืองภูเก็ต ขายกันมานานมากกว่า 50 ปี เรียกได้ว่าถ้าแวะมากินที่นี่แห่งเดียวก็ได้ครบทั้งอาหารว่าง คาว และ หวาน ราคาก็มาตรฐาน หมี่ผัดฮกเกี้ยน ธรรมดา 35 ใส่ไข่ 40 บาท พิเศษ 50 บาท  บี้หุ้นผัด ธรรมดา 35  บาท ใส่ไข่ 40 บาท พิเศษ 50 บาท  บี้หุ้นกระดูกหมู 30 -40 บาท

นอกจากนี้ยังมีโลบะ ข้าวมันไก่ ของหวานของภูเก็ตโอะเอ๋ว และที่ชวนชิมมากๆ เพราะนั่งห่อให้เห็นกันสดๆ คือ ปอเปี๊ยะฮกเกี้ยนสดเจ้าเก่าที่ขายกันมานาน 50 ปี พ่อครัวจะเรียงแผ่นปอเปี๊ยะต่อกันเหมือนตู้รถไฟ จากนั้นก็วางผักกาดหอม มันแกวผัด หมูแดง เนื้อปู หอมเจียว ห่อเป็นชิ้นอวบๆ เวลาเสิร์ฟก็ตัดเป็นชิ้นพอคำแล้วราดด้วยซอสปรุงรสที่มีส่วนผสมของบ๊วย เรียกว่า  ตีเจียว ลงไป ขายกันชิ้นละ 10 บาท พิเศษ 15 บาท เป็นของว่างที่น่าลิ้มลองเป็นอย่างยิ่ง

หมี่ฮกเกี้ยนผัดที่ลกเที้ยนก็มีชื่อเสียงลือลั่น เช่นเดียวกับ บี้ฮุ้นผัด และ บี้ฮุ้นกระดูกหมู  มาถึงบรรทัดนี้คนภูเก็ตอธิบายว่า หมี่ฮกเกี้ยนที่นำมาผัดจะมีด้วยกัน 4 แบบ  ชนิดแรกได้แก่ หมี่เหลืองเส้นขนาดใหญ่ที่เรารู้จักกันว่าหมี่ฮกเกี้ยน ชนิดที่สองคือ บี้ฮุ้น หมายถึงเส้นหมี่ (แต่มีขนาดใหญ่)  ส่วนก๋วยเตี๋ยวผัด คือ เส้นใหญ่ และ บี้ฮุ้นหมี่ผัด  คือ เส้นหมี่ และบะหมี่ผัดรวมกัน

โอ้เอ๋วโกโรจน์

เดินออกจากลกเที้ยนด้านถนนเยาวราชแล้วเลี้ยวขวาไปไม่ถึงร้อยเมตร จะพบกับร้านขายโอ้เอ๋ว ของหวานคลายร้อนของคนภูเก็ต ร้านตั้งอยู่ตรงข้ามกับซอยสุ่นอุทิศพอดี

โอ้เอ๋ว คือ อะไร หลายคนคงงงไม่น้อย แค่ชื่อก็เรียกยากแล้ว บ้างก็เรียก โอ้เอ๋ว บ้างก็ว่า โอ๊ะเอ๋ว แล้วแต่ความถนัดปากก็แล้วกัน

โอ้เอ๋ว เป็นชื่อของเมล็ดพืชชนิดหนึ่งคล้ายเม็ดแมงลัก นำมาแช่น้ำแล้วตัดเฉพาะเมือกมาใส่เจี่ยกอ (ส่วนผสมสำคัญในการทำเต้าฮวยกับเต้าหู้) เพื่อให้เกาะตัวกันเป็นก้อนคล้ายวุ้น แต่ก็มีส่วนผสมของกล้วยน้ำว้าอยู่ด้วยเช่นกัน วิธีทำยังเป็นปริศนาเพราะเจ้าของสูตรมิยอมปริปาก ใครอยากจะซื้อกินหรือซื้อไปขายก็ต้องไปซื้อกับแป๊ะหลี่ในซอยสุ่นอุทิศ กับโกโรจน์ที่มาเปิดร้านให้นั่งสบายอยู่ริมถนนเยาวราชตรงข้ามปากซอยสุ่น อุทิศกันเอาเอง

โอ้เอ๋ว เป็นของหวานที่กินแล้วคลายร้อน ช่วยบรรเทาอาการร้อนใน ในถ้วยโอ้เอ๋วจะประกอบไปด้วยโอ้เอ๋วสีใสๆ ถั่วแดงต้ม เฉาก๊วยโปะด้วยน้ำแข็งไสราดด้วยน้ำเชื่อมและน้ำแดง กินแล้วหอมชื่นใจคลายร้อน เหมาะกับอากาศของภูเก็ตที่เดี๋ยวอบอ้าว เดี๋ยวฝนได้เป็น

อย่างดี สนนราคาธรรมดาถ้วยละ 10 บาท พิเศษ 12 บาท ส่วนใครที่อยากชิมน้ำซาสี่ น้ำกุหลาบ น้ำครีมโซดา โกโรจน์ก็มีให้ลองชิม (โอ้เอ๋วโกโรจน์โทร. 089 728 9505)

อาโป๊งแม่สุณี

หายร้อนแล้วก็ออกเดินกันสักหน่อย อันที่จริงแล้วติดร้านโอ้เอ๋วเป็นร้านตัดเสื้อผ้าโบราณที่มีขนมพื้นเมือง ภูเก็ตขายด้วย ชื่อว่าร้านเต่งฮวดอาภรณ์ เช่น ขนมพริก บี้ฝ้าง ขี้มอด ผ้างเปี้ย เต้าส้อ เป็นต้น เหมาะสำหรับเป็นของฝาก หรือ ซื้อกลับไปลองชิมที่บ้าน

ขนมหวานอีกอย่างที่อยากให้ลองชิม คือ อาโป๊ง หรือ กระโปรงทอง ร้านอาโป๊งแม่สุณี ตั้งอยู่ปากซอยสุ่นอุทิศ เพียงข้ามถนนจากร้านโอ้เอ๋วก็จะได้ชิมกันแล้ว ร้านนี้ไม่มีที่นั่งเป็นร้านรถเข็นแต่มีชื่อเสียงโด่งดังขายกันมานาน

เดิมทีอาโป๊งเป็นขนมพื้นเมืองของมาเลเซีย ในช่วงที่ชาวปีนังย้ายมาตั้งหลักปักฐานที่ภูเก็ต วัฒนธรรมในการรับประทานอาโป๊งก็เดินทางมา จนกลายมาเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวภูเก็ตมาถึงทุกวันนี้

อาโป๊ง เป็นขนมที่มีส่วนผสมเรียบง่าย ทำมาจากส่วนผสมพื้นฐานได้แก่ แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย ไข่แดง กะทิ และยีสต์  เป็นขนมที่ใช้เวลาปรุงไม่นาน เสร็จแล้วควรรับประทานทันทีถึงจะอร่อย แต่ก็น่าแปลกที่ทิ้งไว้สักพักกลับมากินก็ยังอร่อยดีเหมือนกัน

บนรถเข็นจะตั้งเตาอั้งโล่ตั้งกระทะกลมขนาดกะทัดรัดไว้เรียงกัน 5 เตา วิธีทำก็เพียงแค่เทแป้งที่ผสมไว้ลงบนกระทะแล้วหมุนให้แป้งเป็นรูปแผ่นกลม พอเหลืองได้ที่เริ่มมีสีน้ำตาลทอง (ตรงนี้กระมังที่เป็นที่มาของชื่อกระโปรงทอง) ก็ลอกออกมาม้วนวางทิ้งไว้สักครู่แล้วก็ใส่ถุงจำหน่ายราคาชิ้นละ 3 บาท 7 ชิ้น 20 บาท 

รสชาติเหมือนแป้งกรอบ ตรงกลางนุ่ม รสหวานมันนิดๆ นี่แหละขนมเรียบง่ายที่เกิดจากแป้ง ไข่ น้ำตาล กะทิ ของกินบ้านเราที่นำเอามาสร้างสรรค์เป็นขนมรสเลิศได้มากมายหลายตำรับทีเดียว

โกปี๊ เดอ ภูเก็ต

มองหาร้านกาแฟเท่ๆ แนะนำให้ไปที่ โกปี๊ เดอ ภูเก็ต (Kopi de Phuket) หน้าร้านว่าเก๋แล้ว ผลักประตูเข้าไปภายในสัมผัสได้ถึงบรรยากาศภูเก็ตวันวานได้ทันใด กาแฟร้านนี้เป็นรสชาติในดวงใจของคุณหมอชาวภูเก็ตท่านหนึ่งที่มักจะมาดื่ม กาแฟที่นี่แทบทุกวัน จนต้องบอกกับตัวเองว่าดื่มกาแฟมากไปไม่ดีนะครับ

แม้คุณหมอยังอดใจไม่ไหว เห็นทีต้องไปชิม และชมบรรยากาศกันสักหน่อย โกปี๊ เดอ ภูเก็ต มีด้วยกันสองสาขา สาขาแรกอยู่ที่โรงแรมออน ออน โรงแรมแห่งแรกของภูเก็ต สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง เดอะ บีช สถานที่บอกได้เลยว่าคลาสสิคมากเหลือเกินเนื่องจากเป็นอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส

ร้านโกปี๊ เดอ ภูเก็ต ตั้งอยู่ที่ชั้นล่างติดกับถนน บริเวณที่เคยเป็นห้องกาแฟเดิมของโรงแรม ใครที่อยากไปสัมผัสบรรยากาศย้อนยุคอารมณ์อบอวลไปด้วยอดีตเก่าแก่ควรไปที่นี่

ส่วนสาขาสอง ตั้งอยู่ที่ถนนภูเก็ต หน้าปากทางเข้าโรงแรมแดงพลาซ่า หรือ ตรงข้ามร้านอาหารนายยาว ร้านนี้ก็ตกแต่งไปด้วยบรรยากาศที่ชวนให้คิดถึงวัฒนธรรมบะบ๋า ย่าหยา

เมนูกาแฟมีให้เลือกมากมาย แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ต ได้แก่ โกปี๊ฮูเล้ง - กาแฟดำภูเก็ตใส่นม โกปี๊อ๊อ - กาแฟดำภูเก็ตไม่ใส่นม เซลองฮูเล้ง - ชาร้อนใส่นม เซลองอ๊อ - ชาร้อนไม่ใส่นม โกปี๊ซึ้ง - กาแฟเย็นโบราณ เซลองซึ้ง - ชาเย็นโบราณ

ส่วนคาปูชิโน่ ลาเต้ มอคค่า มีบริการไม่ตกหล่น รวมทั้งเครื่องดื่มสุขภาพ น้ำมะม่วงหิมพานต์ปั่น น้ำมะเขือเทศปั่น รวมไปถึงหล่อฮั้งก้วย

เมนูอาหารก็มีทั้งแบบพื้นเมือง รวมไปถึงของกินโบราณ และ อาหารฝรั่ง ในที่นี้ขอแนะนำเป็น เมนูของชาวภูเก็ตซึ่งมีให้เลือกหลากหลายเลยทีเดียว

อาหารว่าง มี บ๊ะจ่างภูเก็ต บ๊ะจ่างสามเซียน (เกาลัด ไข่เค็มขาวและแดง) กินคู่กับน้ำจิ้มรสเด็ด  ไส้กรอกภูเก็ตโบราณ (ไส้กรอกหมู และไส้กรอกข้าวเหนียวย่าง เสิร์ฟพร้อมพริกชี้ฟ้าและแตงกวา) กิมตี๊เปา - ซาลาเปาไส้ครีม  ที่ควรคู่กับการดื่มโกปี๊เป็นอย่างยิ่ง คือ ขนมปังสังขยาภูเก็ตสูตรโบราณ

เมนูอาหารจาน หลัก (เฉพาะสาขาถนนภูเก็ต) มี ซุปพระกระโดดกำแพง สเต๊กไก่ซอสจีน - ไก่หมักเครื่องเทศทอดราดด้วยซอสจีน เสิร์ฟกับข้าวสวยกรวยเล็กๆ และสลัดผักสด กระดูกหมูอ่อนตุ๋นเห็ด ข้าวปลาอินทรีเค็มชุบน้ำคั่วภูเก็ต สเต๊กปลาแยงซีเกียง หมูแผ่นเจงกิสข่าน-หมูแผ่นสไลด์บางย่างกรอบด้วยซอสรสบ๊วย จานนี้กินเรียกน้ำย่อยหรือกินกับโกปี๊ก็อร่อยเพลิน ที่เล่ามานี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น (เมนูอาหารของเค้ามากมายจริงๆ)

ส่วนขนมโบราณภูเก็ต จะซื้อเป็นของฝากหรือลองชิมก็เข้าที ขอบอกว่าหีบห่อออกแบบมาน่ารัก ทั้งยังมีของฝากเช่นเสื้อยืด ถ้วยกาแฟ กระเป๋า โปสการ์ดจำหน่ายในราคาย่อมเยา สอบถามเส้นทางได้ที่ โทร.076-212-225

Tags : อร่อย ตามรอย คนภูเก็ต

view