สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุณธรรมของชนชาติไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย วีรพงษ์ รามางกูร



เมื่อ เดือนตุลาคมปีนี้ได้ไปทำความสะอาดห้องสมุดส่วนตัวที่บ้าน พบหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่งชื่อ "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" เป็นบันทึกพระปาฐกถาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงหน้าพระที่นั่งที่สมัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2470

ปาฐกถา ที่ทรงแสดงหน้าพระที่นั่ง ครั้งนั้นมีผู้เข้าฟังเป็นจำนวนมาก ทรงเล่าถึงลักษณะการปกครองประเทศสยามว่าได้คลี่คลายพัฒนาด้านต่าง ๆ มาอย่างไร เช่น การปกครองในราชธานี การปกครองหัวเมือง ความเป็นมาของฝ่ายตุลาการ การบังคับใช้กฎหมาย การจัดกำลังคนทั้งไพร่และทหาร เป็นต้น

มีอยู่ตอนหนึ่งเป็นตอนที่ 4 ในทั้งหมด 12 ตอน ทรงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด ชนชาติไทยจึงได้เป็นใหญ่ในดินแดนประเทศสยาม และสามารถปกครองดินแดนสยามประเทศ ดำรงความเป็นเอกราชมาได้เป็นเวลาช้านานถึงกว่า 700 ปี

สมเด็จท่านทรง ให้เหตุผลว่า ชนชาติไทยรวมทั้งชนชั้นผู้ปกครองของไทยเราได้นำเอาคุณธรรมอันมีอยู่ใน อุปนิสัยของชนชาติไทย เมื่อได้ทรงพิจารณาจากพงศาวดาร ทรงเห็นว่าชนชาติไทยมีคุณธรรม 3 อย่างเป็นสำคัญ จึงได้สามารถปกครองประเทศสยามมาได้ช้านาน คุณธรรมอันฝังแน่นอยู่ในอุปนิสัยของชนชาติไทยดังกล่าว ประกอบด้วย ความจงรักอิสระของชาติ ๑ ความปราศจากวิหิงสา ๑ และความฉลาดในการประสานประโยชน์ ๑ หรือถ้าจะเรียกเป็นคำอังกฤษก็คือ Love of National Independence, Toleretion and Power of Assimillation คุณธรรมทั้งสามอย่างนี้ พระองค์ท่านเห็นว่าสำคัญกว่าคุณธรรม อย่างอื่น

ที่ ว่าอุปนิสัยรักความเป็นอิสระของชาตินั้น คงจะเห็นกันได้มาอย่างช้านาน ความเป็นอิสระ ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจอาณัติของชนชาติอื่น เมื่อถูกรุกรานแล้วรู้ว่าสู้ไม่ได้ก็อพยพถอยร่นมาจนสามารถตั้งประเทศของตน ได้ เมื่อสามารถตั้งประเทศของตนได้แล้ว ถึงคราวต้องตกทุกข์ได้ยากก็พยายามกอบกู้เอกราชกลับคืนมา ทุกครั้งที่ถูกประเทศที่ใหญ่กว่ามาย่ำยีก็สามารถรวบรวมพละกำลังลุกขึ้น ต่อสู้ เอาชีวิต เข้าแลกกู้อิสระของชาติกลับคืนมาได้

คุณธรรม ในอุปนิสัยข้อนี้ ในสมัยที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ก็ได้ถูกกล่าวย้ำอยู่เสมอว่า คนไทยนั้นรักความเป็นอิสระ แม้แต่ คำว่า "ไท" ก็แปลว่าอิสระ ไม่ยอมให้ใครมาใช้อำนาจกดขี่โดยไม่เป็นธรรม จึงมีคำพูด ที่ว่าเป็น "ไท" แก่ตัว

เมื่อชนชาติไทยได้ต่อสู้ประกาศเอกราชจากขอม ซึ่งพระองค์ท่านยอมรับว่าขอมก็คือเขมร ไทยเราก็มิได้เอาอย่างขอมในการปกครองประเทศ ขอมนั้นเอาอย่างอินเดียในการปกครองประเทศ กล่าวคือถืออาญาสิทธิของพระเจ้าแผ่นดินมาเป็นหลักในการปกครอง สมมติว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระโพธิสัตว์ หรือพระอิศวร พระนารายณ์ แบ่งภาคลงมาเลี้ยงโลก และอาศัยพราหมณ์เป็นเจ้าตำราในการปกครอง ลักษณะที่ขอมปกครองราษฎรจึงคล้ายกับนายปกครองบ่าว ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Autocratic Government

ส่วนการปกครองของไทยนั้นมีลักษณะพิเศษ เหมือนกับการปกครองกันในวงศ์สกุล แบบพ่อปกครองลูก ดังจะเห็นได้ว่าผู้ปกครองหมู่บ้านก็เรียกว่า "พ่อบ้าน" และเรียกราษฎรว่า "ลูกบ้าน" ผู้ปกครองเมือง ก็เรียกว่า "พ่อเมือง" ผู้ปกครองเมืองประเทศราชก็เรียกว่า "พ่อขุน" ข้าราชการตำแหน่งต่าง ๆ ก็เรียกว่า "ลูกขุน" เป็นต้น วิธีการปกครองอย่างนี้ พระองค์ท่านทรงเรียกว่า "ระบบพ่อปกครองลูก" หรือถ้าจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษก็เรียกว่า Paternal Government

ที่พระองค์ท่านเห็นว่าเราจะใช้ประเพณีของขอมมาปกครองโดย สมมติว่าผู้ปกครองเป็นพระโพธิสัตว์ หรือพระผู้เป็นเจ้าแบ่งภาคมาเกิด คงจะไม่ถูกกับอุปนิสัยคนไทย ที่ชอบความเป็นอิสระ ชอบระบบการปกครองที่ผู้ปกครองทำตนเหมือนพ่อ มากกว่าระบอบการปกครองที่ผู้ปกครองทำตนเป็น "นาย" แบบขอม "พ่อ" กับ "นาย" นั้นคงจะผิดกัน ไม่เหมือนกัน

สำหรับอุปนิสัยปราศจากวิหิงสาของ คนไทยนั้น คือมีความอารีต่อผู้อื่น ต่อบุคคลประเภทอื่น ซึ่งเข้ามาอยู่ในความปกครอง หรือแม้แต่ที่เข้ามาอาศัย ดังที่แจ้งอยู่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช และจารึกอื่น ๆ สืบมา ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ภาษาใด นับถือศาสนาใด คนไทยทั้งผู้ปกครองและราษฎรทั่วไปก็มิได้รังเกียจ

คุณธรรมอันนี้ยัง คงมีอยู่ในระบอบการปกครองของไทยเรื่อยมา ไม่ใช่เพียงไม่มีวิหิงสาต่อผู้มีความเชื่อ หรือความเห็นที่ แตกต่างกัน หรือเฉพาะความเชื่อทางศาสนา แต่รวมไปถึงความแตกต่างในความคิด ความเห็นในเรื่องอื่น ๆ ด้วย ไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่รบราฆ่าฟันกัน ด้วยเหตุผลที่ว่ามีความคิดเห็นต่างกันทั้งในเรื่องศาสนา การเมือง และการปกครอง

ด้วยความที่คนไทยนั้นปราศจากวิหิงสา จึงทำให้ชนชาติอื่น ๆ มิได้รังเกียจการปกครองของชนชาติไทยมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะเป็นระบบที่ผู้คนในครอบครัว ยังมีอิสระเสรีภาพในการคิดการปฏิบัติ มิได้ทำร้ายฆ่าฟันกัน

ในชั้นหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ฝ่ายชนะก็มิได้ทำร้ายฆ่าฟันกันอย่างในประเทศอื่น มีความเอื้ออารีต่อกัน ฝ่ายผู้มีอำนาจมาแต่เดิมก็มิได้มีความพยาบาทอาฆาตต่อฝ่ายที่มีความ คิดเห็นแตกต่างกัน กลับหันหน้าเข้ามาร่วมมือปรองดองกันโดยเร็ว เรื่องใหญ่จึง กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไป

ที่ว่าคนไทยฉลาดในการประสาน ประโยชน์นั้น พึงเห็นได้ตั้งแต่สมัยเมื่อแรกที่ไทยได้ปกครองประเทศสยาม ขณะนั้นพวกขอมยังเป็นราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศมีอยู่เป็นจำนวนมาก แทนที่ไทยเราจะกดขี่ ขับไล่ ฆ่าฟันให้ล้มตาย แต่กลับคิดเอาใจพวกขอมให้เข้ากับไทยด้วยประการต่าง ๆ ตัวอย่าง เช่น พระเจ้ารามคำแหงมหาราช ให้คิดแบบลายสือไทย ให้ใช้เขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ด้วยอักษรอย่างเดียวกัน และหรือประเพณีอันไหนดี ก็รับมาประพฤติ เป็นประเพณีไทยโดยไม่ถือทิฐิ

คุณธรรม ในการรู้จักประสานประโยชน์ กับผู้ที่มีผลประโยชน์ขัดกันก็ดี หรือความคิดเห็นแตกต่างกันก็ดี ไม่เป็นเหตุให้ใช้วิธีการรุนแรงเข้ารบราฆ่าฟันกัน แต่ฉลาดพอที่จะประสานประโยชน์ของกันและกัน ด้วยเหตุนี้ในไม่ช้าราษฎรชาวขอมที่อยู่ในสยามประเทศก็กลายเป็นคนไทยไป

แม้ ในชั้นหลังเมื่อมีชาวจีนอพยพมาอยู่ในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ได้อาศัยความอารีของคนไทยก็สามารถประกอบอาชีพสร้างฐานะของตนเองให้มั่งคั่ง ร่ำรวยได้โดยเร็ว เมื่อร่ำรวยมีฐานะแล้ว คนไทยก็มิได้ตั้ง ข้อรังเกียจ อิจฉา ริษยา กลับไปแต่งงานด้วย ในไม่ช้าเพียงชั่วบุรุษหนึ่งหรือสองก็กลายเป็นชาวสยามไป ด้วยคุณธรรมในการรู้จักประสานประโยชน์ของคนไทย

แม้อารยธรรมของชาว ยุโรป ไทยในประเทศสยามก็แลเห็นคุณค่า มีความนิยมอารยธรรมของตะวันตกก่อนชนชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน และได้รับประโยชน์จากอารยธรรมนั้น ๆ สืบมาจนทุกวันนี้

คุณธรรมข้อนี้ น่าจะเป็นลักษณะพิเศษของคนไทยมาตั้งแต่ชาวยุโรปเริ่มเข้ามาในประเทศไทยอย่าง มากมายตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา ไทยเรามักจะยกเอาความคิด ความอ่าน ความเป็นอยู่เกือบทุกเรื่องมาเป็นมาตรฐานที่เราต้องพยายามยกตัวเองให้เทียบ เท่า "นานาอารยประเทศ" ให้ได้ แม้ทุกวันนี้ในสุนทรพจน์ของผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยังมีคำว่า "ให้เทียบเท่านานาอารยประเทศ" อยู่

ความที่เราเปิดใจยอมรับอารยธรรม ตะวันตก ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมเปิดมาโดยตลอด การจะปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ล้างสมองคนไทยจึงเป็นไปได้ยาก ผู้คนไม่ยอม จะทำได้ก็เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ในไม่ช้ากระแสก็จะตีกลับ

ด้วย คุณธรรมสำคัญ 3 ประการที่ กล่าวมา ประกอบกับคุณธรรมด้านอื่น จึงทำให้เราดำรงความเป็นเอกราช ความเป็นใหญ่อยู่ในแผ่นดินสยามประเทศมาได้ตลอดมา ถ้าปราศจากคุณธรรมหลัก 3 ประการนี้ ประเทศสยามเราคงจะตั้งตัวและดำรงอยู่เป็นเวลาช้านานไม่ได้

สังคม ไทย ด้วยคุณธรรมทั้งสามอย่าง แต่เดิมจึงเป็นสังคมที่ไม่ใช้แรงงานทาสเป็นแรงงานที่สำคัญในการผลิต ต่างจากสังคมในยุโรป หรือแม้แต่อเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งขึ้นใหม่ที่ใช้แรงงานทาสเป็นแรงงาน สำคัญในการผลิต

เราเริ่มมีทาสในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยรับเอามาจากขอม ขอมรับมาจากอินเดียอีกทีหนึ่ง แม้จะมีทาสก็มิได้ใช้ทาสเป็นกำลังสำคัญในการผลิต ทาสจึงมีอยู่ตามบ้านเจ้าขุนมูลนายไว้ใช้สอยในบ้าน แม้เชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนมาส่วนใหญ่ก็มิได้ควบคุมไว้ใช้งานในการผลิต แต่กลับปล่อยให้ไปหักร้างถางป่าตั้งเป็นหมู่บ้าน เป็นเมือง แล้วก็กลายเป็นคนไทยอิสระไปในที่สุด ด้วยคนไทยเป็นชนชาติที่ฉลาดพอที่จะประสานประโยชน์ทั้งที่เป็นรูปธรรมและ นามธรรม ประเทศชาติจึงดำรงคงอยู่ได้

แม้ในสมัยนี้ข้อสังเกตของเสด็จในกรมก็น่าจะคงอยู่

Tags : คุณธรรม ชนชาติไทย

view