สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดัชนีชี้วัดประกันสังคมเอื้อประโยชน์รพ.เอกชน

จาก โพสต์ทูเดย์

ความเชื่อมโยงระหว่าง “ค่าเหมาจ่ายรายหัว” ในระบบประกันสังคม กับ “ผลประโยชน์” ที่สุมไว้ให้แก่โรงพยาบาลเอกชน สอดประสานกันอย่างมีนัยสำคัญ....

โดย ... ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน / วิทยา ปะระมะ

ความเชื่อมโยงระหว่าง “ค่าเหมาจ่ายรายหัว” ในระบบประกันสังคม กับ “ผลประโยชน์” ที่สุมไว้ให้แก่โรงพยาบาลเอกชน สอดประสานกันอย่างมีนัยสำคัญ และได้ทิ้งร่องลอยอันน่าเคลือบแคลงชวนให้ค้นหา

ประการหนึ่ง โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวถึง 2,105 บาท ต่อคนต่อปี ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) กลับพบว่านำมาใช้จริงเพียง 700 บาท

ยังผลให้เกิดคำถามถึงเงินส่วนต่างที่หล่นหายไปในรายละเอียด

 

นั่นเพราะ จำนวนผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน แปรผันตรงให้งบเหมาจ่ายรายหัวสูงขึ้นตาม โดยปี 2554 พบว่ามีงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมถึง 2.2 หมื่นล้านบาท ส่วนต่างที่เกิดจึงกว้างและมีจำนวนมหาศาล

กล่าวคือเงินจำนวน  1.4 หมื่นล้านบาท ได้หล่นหายไปในโรงพยาบาล หรืออาจกล่าวได้ว่าถูกโรงพยาบาล “กินเปล่า”

อีกประการหนึ่ง พบช่องโหว่ในการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยเฉพาะกรณีการให้คณะกรรมการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ล้วนๆ เข้ามากำหนดทิศทางการให้บริการรักษาพยาบาล

เป็นเหตุให้ถูกตั้งแง่ถึงความโน้มเอียงในการบริหาร ว่ามุ่งแสวงหาประโยชน์ให้แก่กลุ่มแพทย์และโรงพยาบาลเท่านั้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ออกมายืนยันเสียงแข็งว่า ระบบประกันสังคมไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีกำไร เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจาก สปส.มีจำกัด และตลอด 3 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีการปรับขึ้นค่าเหมาจ่ายรายหัว เป็นเหตุให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแบกรับภาระด้วยตัวเอง

“พบว่าขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเตรียมถอนตัวออกจากระบบประกันสังคม” คุณหมอเอื้อชาติ ระบุ

ผู้บริหารโรงพยาบาลรามคำแหงรายนี้ อธิบายว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ซึ่งสามารถดูแลผู้ประกันตนกว่า 2 แสนราย เริ่มทยอยออกจากระบบ ขณะที่โรงพยาบาลขนาดเล็กที่ดูแลผู้ประกันตนได้เพียง 2.5 หมื่นราย กลับเข้ามาในระบบแทน นั่นเพราะโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีต้นทุนการรักษาสูงแต่ได้รับเงินเหมาจ่ายอย่าง จำกัด จึงไม่คุ้มทุน หากเปิดให้บริการ

สอดรับกับข้อมูลจาก สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ที่แสดงจำนวนโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในระบบประกันสังคม โดยข้อมูลระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2553 มีโรงพยาบาลเอกชนถอนตัวออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง จากเดิม 134 แห่ง เหลือเพียง 92 แห่ง โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมรวม 243 แห่ง

นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้ข้อมูลว่า ในทุกๆ ปีจะมีโรงพยาบาลขอออกจากระบบประกันสังคมประมาณ 3 – 4 แห่ง แต่ก็จะมีโรงพยาบาลใหม่อื่นๆ สลับเข้ามาในระบบ โดยสาเหตุของการออกและเข้าจะแตกต่างกันออกไป

นพ.สมเกียรติ ฉะยาศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน บอกว่า ปี 2554 มีโรงพยาบาลที่ขอออกจากระบบประกันสังคม 5 แห่ง คือ 1.โรงพยาบาลเอกชัย จ.สมุทรสาคร  2 .โรงพยาบาลกาญจนบุรีเมโมเรียล จ.กาญจนบุรี 3.โรงพยาบาลรวมแพทย์ จ.เชียงใหม่ 4.โรงพยาบาลโคราชเมโมเรียล จ.นครราชสีมา 5.โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จ.นครราชสีมา

“สาเหตุของการออกจากระบบแตกต่างกันออกไป บ้างอาจเพราะต้องการบริการกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรืออาจไม่พึงพอใจอัตราการจ่างเงินของสปส. แต่ขอยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่ได้น้อยเกินไป” ปลัดกระทรวงแรงงานสำทับ

ทว่า หากพิเคราะห์ตัวเลขที่ปรากฏอย่างละเอียด จะเห็นว่าถึงแม้จะมีโรงพยาบาลเอกชนถอนตัวออกจากระบบบ้างก็จริง แต่ท้ายที่สุดแล้วจำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมก็ยังมากกว่า ช่วงแรกที่มีระบบประกันสังคมให้บริการ

คำถามคือ หากโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้กำไรจากระบบประกันสังคม เหตุใดต้องฝืนทนอยู่มากเพียงนี้

***กองทุนประกันสังคมจำนวนสถานพยาบาลโครงการประกันสังคม (หน่วย : แห่ง)*** 

ปี

สถานพยาบาลหลัก

รวม

สถานพยาบาลเครือข่าย

รัฐบาล

เอกชน

2538

126

63

189


2539

126

72

198


2540

127

69

196


2541

127

78

205


2542

128

103

231

1,730

2543

130

114

244

1,756

2544

133

128

261

2,048

2545

136

132

268

2,250

2546

137

131

268

2,600

2547

144

134

278

2,517

2548

147

127

274

2,625

2549

150

119

269

2,462

2550

153

113

266

2,530

2551

153

104

257

2,530

2552

152

98

250

2,313

2553

151

92

243

2,313

                                    ที่มา : สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม

Tags : ดัชนีชี้วัดประกันสังคม เอื้อประโยชน์ รพ.เอกชน

view