สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละเครือข่าย ธุรกิจต่างชาติในแผ่นดินเขมร

จาก โพสต์ทูเดย์

จากข้อมูลของทางการกัมพูชา พบว่าประเทศที่เข้าไปลงทุนตรงในกัมพูชามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างไทยกัมพูชา และท่าทีของทางฝั่งกัมพูชาที่พยายามควานหา “ตัวกลาง” ในการไกล่เกลี่ยนั้น เป็นที่ชัดเจนว่ากัมพูชาต้องการชิงความได้เปรียบสร้างความเข้าใจให้ข้อมูล กับประเทศยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นพิเศษ ด้วยการเชิญทูตของทั้ง 5 ประเทศเข้ารับฟังข้อมูล

ขณะที่ 5 ชาติดังกล่าวเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีพิพาทระหว่างไทยกัมพูชาที่เกิดขึ้น โดยได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์การปะทะที่เกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น

ถ้ามองท่าทีทั้งหมดจากการแถลงการณ์แล้ว ทั้งจีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งรวมถึงเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ล้วนมีท่าทีเป็นกลางและต้องการให้ทั้งสองประเทศใช้ความอดกลั้นอย่างถึงที่ สุด และใช้กลไกของการ “พูดคุย” เข้าแก้ปัญหาอย่างสันติ

อย่างไรก็ตาม จากท่าทีที่ทางกัมพูชาให้ความสำคัญกับทั้ง 5 ประเทศเป็นพิเศษ นอกจากจะอยู่ในฐานะประเทศยักษ์ในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งปลุกให้กัมพูชามีความหวังเล็กๆ ที่จะมีโอกาสล็อบบี้ประเทศเหล่านี้ ชิงความได้เปรียบนำหน้าประเทศไทยแล้ว เมื่อเจาะข้อมูลของประเทศเหล่านี้ ตลอดจนความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงที่มีต่อประเทศกัมพูชาก็คือ ผลประโยชน์ร่วมกันในเชิงเศรษฐกิจและการลงทุน

ที่ชัดเจนที่สุดคือ ทุกประเทศทั้งหมดล้วนติดอันดับอยู่ในประเทศท็อปเทน ที่มีมูลค่าการลงทุนตรงกัมพูชาทั้งสิ้น

ฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคมของกัมพูชา ปัจจุบันก็มีธุรกิจอย่างเป็นกอบเป็นกำในกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารท่าอากาศยาน 3 แห่งหลักในประเทศ คือ สนามบินโปเช็นตง ในกรุงพนมเปญ สนามบินในเสียมราฐ และสนามบินพระสีหนุที่เมืองท่าสีหนุวิลล์นั้นอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ Societe Concessionaire des Aeroports บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส

โรงแรมใหญ่ที่สุดในประเทศก็เป็นของเครือ Accor อีกทั้งโรงแรมขนาดเล็ก เกสต์เฮาส์ และร้านอาหารอีกเป็นจำนวนมากที่อยู่ภายใต้การบริหารของนักธุรกิจฝรั่งเศส

ต้องเรียกว่า กัมพูชา ถือเป็น “ขุมทรัพย์” แห่งหนึ่งของฝรั่งเศสทีเดียว

ยังไม่นับรวมถึงเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลจากการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ ธรรมชาติในประเทศ โดย “โททัล” หนึ่งในบริษัทน้ำมันติดอันดับโลกสัญชาติฝรั่งเศส และเชฟรอน คอร์ป บริษัทน้ำมันข้ามชาติรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐ เป็นสองบริษัทใหญ่ที่เข้าดำเนินการขุดเจาะน้ำมันในเขตอ่าวไทยของกัมพูชา

และน้ำมันก็ถือเป็นแหล่งเงินที่โอบอุ้มรัฐบาลกัมพูชา

ทั้งนี้ จากข้อมูลของทางการกัมพูชา พบว่าประเทศที่เข้าไปลงทุนตรงในกัมพูชามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย

มูลค่าการลงทุนตรงของต่างชาติเข้าสู่ประเทศกัมพูชาส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไป ในด้านของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยข้อมูลจากสภาเพื่อการพัฒนาของกัมพูชา ในปี 2009 มูลค่าอยู่ที่ราว 339 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.04 หมื่นล้านบาท)

ข้อมูลจากธนาคารกลางโลก ระบุว่า มูลค่าการลงทุนจากต่างชาติโดยรวมในปี 2009 อยู่ที่ 511 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.57 หมื่นล้านบาท) และตัวเลขคาดการณ์ในปี 2011 อยู่ที่ราว 639 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.96 หมื่นล้านบาท)

ดังนั้น นอกจากยักษ์จากฝั่งตะวันตก ทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐแล้ว จีนก็ยังถือเป็นประเทศผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ต่อกัมพูชา ประเทศที่มุ่งเป้าครองการลงทุนในส่วนของสาธารณูปโภคพื้นฐานในกัมพูชามากที่ สุด ทั้งการสร้างถนน สะพาน เขื่อนพลังงาน ในขณะที่ทางการกัมพูชาเองก็เล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ของการพัฒนาสาธารณูปโภค ในประเทศเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

จีนมีบริษัทกว่า 400 แห่ง ตั้งอยู่ในกัมพูชา

เมื่อปีที่แล้ว นายกฯ ฮุนเซนเชื้อเชิญบริษัทของจีนให้ร่วมเจรจาพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากร น้ำและอุตุนิยมวิทยากัมพูชา เพื่อหวังหนุนแผนการลงทุนครั้งใหญ่และจีนก็พอใจกับการเจรจาดังกล่าว

นอกจากนี้ เมื่อช่วงกลางปี 2010 สิงคโปร์ได้เปิดศูนย์สมาคมวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของสิงคโปร์ขึ้นใน กรุงพนมเปญ แม้ศูนย์ดังกล่าวตั้งขึ้นในหลายประเทศ แต่สิงคโปร์มีมุมมองที่ดีต่อการเติบโตของกัมพูชา มองเห็นความเป็นไปได้ว่าจะสามารถก่อเม็ดเงินกัมพูชาได้กว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6,148 ล้านบาท) และมุ่งมั่นวางรากฐาน

เพราะสิงคโปร์มองว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า กัมพูชาอาจจะมีการขยายตัว “บางทีอาจจะใหญ่เท่าๆ กับเวียดนาม”

ทว่าสำหรับธุรกิจที่เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงปากท้องของประชาชนก็คือ ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประชาชนชาวกัมพูชาราว 3.5 แสนคน คือลูกจ้างในโรงงานสิ่งทอของบริษัทต่างชาติกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ทั้งจากฮ่องกง มาเลเซีย เกาหลี และจีน อีกทั้งยังมีการประเมินว่าอุตสาหกรรมในส่วนนี้จะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

จากบัญชีรายชื่อบริษัทที่กระโจนเข้าใส่ธุรกิจในด้านนี้แล้ว ต้องเรียกว่ายาวเหยียดแบบนับไม่ถ้วน สาเหตุหลักก็เพราะอัตราค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ จึงเป็นที่ดึงดูดใจของต่างชาติ

ทั้งหมดทั้งมวลต้องยอมรับว่ากัมพูชาถือเป็นขุมทองที่เย้ายวนนักลงทุนต่างชาติอย่างพร่างพราว

สะท้อนให้เห็นว่ากัมพูชาเป็นที่โอบอุ้มผลประโยชน์ของหลายๆ ชาติไว้ ทั้งฝั่งตะวันตกและอาเซียน รวมทั้งประเทศสมาชิกในอาเซียนเอง

ส่วนไทยแลนด์ แม้จะถือว่าเป็นนักลงทุนในกัมพูชารายใหญ่สุด 1 ใน 5 ไม่ว่าจะในธุรกิจท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสิ่งทอ และพลังงาน เป็นต้น แต่นั่นไม่ได้รับประกันว่าธุรกิจของไทยจะยั่งยืนนัก

ในเมื่อยังมีอีกหลายชาติที่รอตอมผลประโยชน์ในกัมพูชาอีกไม่ถ้วน

Tags : ชำแหละเครือข่าย ธุรกิจต่างชาติ แผ่นดินเขมร

view