สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญหา : เมื่อสัญญาให้เอกชนเข้าร่วมงานไม่เป็นไปตามกฎหมายร่วมทุน

ปัญหา : เมื่อสัญญาให้เอกชนเข้าร่วมงานไม่เป็นไปตามกฎหมายร่วมทุน



ในช่วงนี้มีข้อ วิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมาก ว่า สัญญาร่วมงานที่หน่วยงานของรัฐบางแห่งทำขึ้นกับเอกชน อาจเป็นสัญญาที่ขัดต่อกฎหมายร่วมทุน
คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535   ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป คือ    หน่วยงานของรัฐใดจะให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในโครงการใดที่มีวงเงิน หรือทรัพย์สินการลงทุน ตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป  จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้    จนขั้นสุดท้ายต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบจึงทำสัญญาได้


การทำสัญญาให้เอกชนร่วมงานที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวดังกล่าว จะมีปัญหาตามมา  ดังนี้คือ
    

1. สัญญาที่ทำขึ้นจะไม่มีผลผูกพันรัฐ   ซึ่งมีข้อวินิจฉัยสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว   คือ
          

1.1  กรณีที่กระทรวงการคลังมีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  เรื่อง  สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล  ทำสัญญาแต่งตั้งบริษัท จาโก้ จำกัด   เป็นผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติ (หวยออนไลน์)   สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นในเรื่องนี้  สรุป คือ  การทำสัญญาแต่งตั้งบริษัท จาโก้ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายอยู่ในบังคับที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535    เมื่อมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว   จึงไม่มีผลผูกพันในแง่ของสัญญากับหน่วยงานของรัฐ  (เรื่องเสร็จที่ 570/2542)
      

 1.2  คดีบริษัท จาโก้ จำกัด ยื่นฟ้องสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล  สืบเนื่องมาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทำสัญญาแต่งตั้งบริษัท จาโก้ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติ ในสัญญาดังกล่าวระบุว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาด    ต่อมาภายหลังการทำสัญญา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามสัญญา    บริษัท จาโก้ จำกัด จึงได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้ชี้ขาด   อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจ่ายค่าเสียหาย  แต่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม  บริษัท จาโก้ จำกัด  จึงยื่นฟ้องต่อศาล    และได้สู้คดีกันจนสู่การพิจารณาของศาลฎีกา   ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเกี่ยวกับประเด็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการ ให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ว่า   โครงการทำสัญญาแต่งตั้งบริษัท จาโก้ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติ อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว   แต่ไม่มีการดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้  จึงไม่ผูกพันคู่สัญญา   ซึ่งก็มีผลให้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่มีผลไปด้วย  (คำพิพากษาฎีกาที่ 2503/2552)

(คำพิพากษาฎีกาดังกล่าว อ้างอิงจากข้อมูลในเว็บไซต์ Public Law Net  ยังไม่พบข้อมูลจากฐานข้อมูลคำพิพากษาฎีกา)
   

1.3  คดีระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ผู้ร้อง (ผู้ฟ้องคดี) และบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน (ผู้ถูกฟ้องคดี)  คดีนี้มีเนื้อหาโดยสรุปคือ  ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำสัญญาเข้าร่วมงานดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ   ต่อมามีข้อพิพาทเกี่ยวกับการชดเชยค่าเสียหาย   และคณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้ผู้ร้องชดเชยความเสียหายให้ผู้คัดค้าน  โดยอาศัยข้อสัญญาที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลัง คือสัญญาข้อ 5 วรรคสี่    ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการชี้ขาดเกินขอบเขตของข้อตกลงตามสัญญา     จึงร้องขอต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว  ศาลปกครองกลาง  ได้วินิจฉัยให้เพิกถอนคำชี้ขาด  ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด   ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามขั้นตอนของพระ ราชบัญญัติ ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535  ว่าการเพิ่มเติม ข้อ 5 วรรค สี่ เข้าไว้ในสัญญาร่วมงาน โดยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงขัดต่อมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว    สัญญาข้อ 5 วรรคสี่ จึงไม่ผูกพันรัฐตามกฎหมาย    ศาลปกครองสูงสุดเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาด (คดีที่  อ. 349/2549)
     

 ข้อสังเกตจากคดีที่มีการฟ้องกันดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าคดีตาม 1.2  ฟ้องที่ศาลปกครอง  คดีตาม 1.3   ฟ้อง ที่ศาลยุติธรรม   การจะฟ้องคดีที่ศาลใด   ขึ้นอยู่กับสัญญาที่หน่วยงานของรัฐให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการนั้น เป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ โดยพิจารณาจากคำนิยามตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542  คือ  “สัญญาทางปกครอง”  หมายความถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลที่กระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน  สัญญาที่จัดให้ทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ"   หากเป็นสัญญาทางปกครองก็อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง     หากไม่ใช่สัญญาทางปกครองก็อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม 
     

2. ถือว่าหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการได้ทำละเมิดต่อเอกชนคู่สัญญา   ทั้งนี้ถือบรรทัดฐานจาก คดีที่บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี  ฟ้อง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1)   และสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาเข้าร่วมงานดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ กับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและมีการขอแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาข้อ 5 วรรคสี่   แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนตามที่กำหนดตามพระราช บัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535   ก่อให้เกิดความเสียหาย    จึงฟ้องต่อศาลปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายฐานทำละเมิด ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า กรณีนี้ถือได้ว่าหน่วยงานนั้นได้ทำละเมิดต่อเอกชนคู่สัญญา     อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ (คือต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535   แต่ไม่ดำเนินการ)


 แต่คดีนี้ ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า  ผู้ฟ้องคดีต้องทราบตั้งแต่วันลงนามในสัญญาว่าโครงการนี้ต้องปฏิบัติตามพระ ราชบัญญัติ ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษาอันถือได้ว่าประชาชนได้รับรู้แล้ว  จึงถือว่าได้รู้เหตุแห่งการฟ้องคดีตั้งแต่วันลงนามในสัญญา   แต่มาฟ้องคดีเมื่อล่วงเลยมาหลายปีแล้ว      คดีจึงขาดอายุความเพราะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้
                  

 ข้อที่น่าพิจารณา    จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ถือว่า ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ว่าสัญญาตามโครงการดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้น ตอนพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535  ตั้งแต่วันลงนามในสัญญา    ดังนั้นการที่เอกชนลงนามในสัญญาโดยไม่ทักท้วง  จึงน่าจะถือได้ว่าเอกชนคู่สัญญาก็มีส่วนผิดในการทำละเมิดนั้นด้วย

Tags : ปัญหา สัญญาให้เอกชนเข้าร่วมงาน ไม่เป็นไป กฎหมายร่วมทุน

view