สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด 10 ปมหายนะเศรษฐกิจ ภัยคุกคามตลาดการเงินโลก

จากประชาชาติธุรกิจ

ในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่สื่อส่วนใหญ่อุทิศให้กับความวุ่นวายในโลกอาหรับ และภัยธรรมชาติที่ถล่มญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เว็บไซต์มาร์เก็ตออราเคิล มองว่า ยังมีหลายปัญหาเรื้อรังของโลกที่ยังสางไม่เสร็จ ทว่ายังพร้อมปะทุขึ้นทุกเมื่อ อีกทั้งยังทรงพลังมากพอที่จะพังตลาดการเงินโลกที่กำลังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ในปัจจุบัน

แต่ก่อนอื่นขอเปิดฉากด้วย "สงครามในลิเบีย" ที่กำลังร้อนแรง นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า การเข้าแทรกแซงของกองกำลังนานาชาติครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลิเบียมี น้ำมันมหาศาลอยู่ในมือ โดยลิเบียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของแอฟริกา พร้อมครอบครองแหล่งน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ทั้งนี้หลังต่างชาติเปิดฉากโจมตี โมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียออกมาประกาศกร้าวว่า "จะเป็นสงครามที่ยาวนาน" และนักวิเคราะห์เชื่อว่าไม่ว่าสงครามจะจบอย่างไร กำลังการผลิตน้ำมันของลิเบียจะชะงักงันไปอีกช่วงหนึ่ง และไม่ดีต่อเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งดิ้นพ้นบ่วงถดถอยมาหมาด ๆ

ส่วนอีก วิกฤตที่ถูกโยงกันคือ "การประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปในโลกอาหรับ" ซึ่งขณะนี้ขยายวงไปทั่วแอฟริกาเหนือและเกือบทุกประเทศในตะวันออกกลาง แต่ยังไม่ปะทุขึ้นใน "ซาอุดีอาระเบีย" ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันเบอร์ 1 ของโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาความวุ่นวายที่ยืดเยื้อในภูมิภาคนี้ยังเป็นตัวหนุนให้ราคาน้ำมันทรงตัว อยู่ในระดับสูงมากต่อไป และเป็นข่าวร้ายของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ "แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น" ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่น้อย เพราะญี่ปุ่นเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก และ ภัยพิบัติครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซาต่อไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า ภัยธรรมชาติครั้งนี้กระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจาก ญี่ปุ่น ดังนั้นจึงจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าบางประเภทเป็นระยะเวลาหนึ่ง พร้อมกันนี้คาดการณ์ว่า การนำเข้าและส่งออกของญี่ปุ่นจะลดลงอย่างมากช่วงหนึ่งด้วย ซึ่งย่อมส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน

ด้าน "วิกฤตนิวเคลียร์" ที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิชิจะส่งผลกระทบยาวนานต่อเศรษฐกิจโลก โดยผลกระทบที่เห็นได้แล้วคือ ทั่วโลกทบทวนแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายวิตกกังวลอย่างยิ่งคือ การปนเปื้อนของกัมมันตรังสี ซึ่งล่าสุดพบการปนเปื้อนในน้ำประปากรุงโตเกียวที่อยู่ในระดับอันตรายต่อทารก ขณะที่หลายประเทศเริ่มสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์นม น้ำนมดิบ สินค้าอาหารจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนคาดหวังคือ ทางการญี่ปุ่นจะสามารถควบคุมสถานการณ์ก่อนที่โตเกียวจะได้รับผลกระทบหนัก เพราะเมืองหลวงแห่งนี้คือหนึ่งในเมืองเศรษฐกิจสำคัญของโลก

หายนะ ลำดับต่อไปที่ต้องจับตามองคือ "ราคาน้ำมัน" ที่ขยับขึ้นเรื่อย ๆ และนักวิเคราะห์เชื่อว่า หากราคาทรงตัวในระดับสูงจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่ต้อง พึ่งพาน้ำมันราคาถูกสูง ทั้งนี้ข้อมูลของกระทรวงพลังงานสหรัฐระบุว่า ครัวเรือนสหรัฐเฉลี่ยจะใช้เงินซื้อน้ำมันเบนซิน แพงขึ้น 700 ดอลลาร์ในปีนี้ หากเทียบกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังไม่ควรมองข้าม "ภาวะราคาอาหารแพง" ที่หลายคนมองว่า ราคาอาหารที่พุ่งพรวดในช่วงที่ผ่านมาคือปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่จุดกระแส การประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปในแอฟริกาและตะวันออกกลาง

ข้อมูลของ องค์การสหประชาชาติเผยว่า ราคาอาหารโลกทำสถิติสูงสุดตลอดกาลในปีนี้ และคาดว่าราคาอาหารจะพุ่งสูงต่อไปตลอดทั้งปี ท่ามกลางซัพพลายอาหารที่ตึงตัวอยู่แล้วในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อผู้บริโภคต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้ออาหาร ก็จะเหลือเงินน้อยลงสำหรับใช้จ่ายซื้อสินค้าอื่น ๆ ซึ่งย่อมส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ยังมี "ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป" ที่อาจได้รับความสนใจน้อยลง แม้ว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเด็ดขาดและยั่งยืน ในช่วง ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศยุโรปหลายแห่งถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่โปรตุเกส สเปน กรีซ และไอร์แลนด์ยังอยู่ในบ่วงวิกฤตครั้งใหญ่ และล่าสุดการตัดสินใจลาออกของนายกรัฐมนตรีโปรตุเกสยิ่งสร้างความวิตกว่า โปรตุเกสอาจต้องรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อกู้วิกฤตหนี้

ถึง ขณะนี้เยอรมนียังมีความสามารถเข้าอุ้มประเทศในกลุ่มยูโรโซนได้ แต่หากสถานการณ์พลิกผันไป ย่อมกลายเป็นฝันร้ายสำหรับตลาดการเงินโลกอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมี "ดอลลาร์สหรัฐที่กำลังตาย" เป็นอีกปัจจัยที่มีพลังพอจะเขย่าตลาดการเงินโลก เพราะถึงตอนนี้มีความวิตกอย่างยิ่งเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์ เพราะก่อนหน้าเกิดสึนามิ ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรายใหญ่ หรือเป็นผู้ซื้อต่างชาติรายใหญ่อันดับ 2 ในปีที่ผ่านมา แต่วันนี้ญี่ปุ่นต้องระดมทุนฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย จึงอาจไม่มีเงินไปลงทุนในต่างประเทศ

ขณะเดียวกันกองทุนพันธบัตรราย ใหญ่ เช่น PIMCO เพิ่งประกาศว่า อย่างน้อยในช่วงนี้จะไม่ซื้อพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งนำมาสู่คำถามที่ว่า หากญี่ปุ่นและกองทุนพันธบัตร เช่น PIMCO ไม่ซื้อพันธบัตรมะกัน ใครจะมาเป็นผู้ซื้อ เพราะรัฐบาลสหรัฐจำเป็นต้องกู้ยืมเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้เพื่อชำระ หนี้ปัจจุบัน และใช้เป็นทุนใหม่

"การรั่วไหลของน้ำมันครั้งใหม่ใน อ่าวเม็กซิโก" อาจเป็นฝันร้ายอีกรอบของเศรษฐกิจโลก เพราะมีรายงานข่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าเกิดการรั่วไหล ครั้งใหม่ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบ

สุดท้ายอีกหายนะที่ไม่ควร มองข้ามคือ "ฟองสบู่ตราสารอนุพันธ์" ซึ่งตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งประเมินว่า ฟองสบู่ตราสารอนุพันธ์ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณพันล้านล้านดอลลาร์ และอาจแตกเมื่อใดก็ได้ ดังนั้นจึงเหมือนโลกกำลังจับตามองกาสิโนการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติ ศาสตร์ และหวังว่าจะหมุนต่อไปไม่หยุด

ทั้งนี้ ปัจจุบันเงินส่วนใหญ่ในวอลล์สตรีตไม่ได้เกิดจากการลงทุนใน ไอเดียธุรกิจดี ๆ แต่กลับมาจาก การเดิมพันอย่างฉลาดสุขุมของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ณ จุดหนึ่ง กาสิโนนี้จะล้มและจบเกมในที่สุด

ทั้งนี้ แม้จะไม่มีใครมั่นใจว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จะเป็นอย่างไรท่ามกลางความไม่ แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ไม่ได้มองในแง่ดีนัก โดย เดวิด โรเซนเบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลูสกิน เชฟฟ์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ เตือนว่า ครึ่งหลังของปีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากสำหรับเศรษฐกิจโลก

Tags : ปมหายนะ เศรษฐกิจ ภัยคุกคาม ตลาดการเงินโลก

view