สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นิธิ ส่องไฟทางออก ชนชั้นนำ ต้องยอมสละผลประโยชน์

จาก โพสต์ทูเดย์

ใกล้เลือกตั้ง แต่สัญญาณความขัดแย้งก็ยิ่งอึมครึมเป็นเหมือนเมฆดำที่ไม่เห็นทางออกว่า ถ้าได้รัฐบาลใหม่แล้วทุกอย่างจะคลายตัว

โดย....ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

อะไรคือ ปมปัญหาสำคัญของหัวใจความขัดแย้งแล้วเราจะปลดล็อคอย่างไร   ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง วิเคราะห์ ปัญหา ทางออกที่จะก้าวพ้นวังวนความแตกแยกแบบ “อยู่ร่วมกันได้” กันทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น  รวมถึงประเมินรัฐบาลใหม่และอุปสรรค  

 

0อาจารย์คาดหวังอะไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะดูแล้วจะกลับไปสู่วังวนความขัดแย้งเก่า

คืออย่างนี้ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้น จะเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันหรือรัฐบาลสมัครก็ตามแต่ มันเกิดกระแสการต่อต้านที่รุนแรงพอควร  เช่น ยึดทำเนียบ  ยึดสนามบิน ยึดสี่แยกราชประสงค์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ มันไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน ฉะนั้น ถามว่าสภาพ อปกติจะเกิดขึ้นต่อไปมั้ย ผมคิดว่า สภาพนี้ถ้าจะดำเนินต่อไปก็แปลว่า กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง ไม่พร้อมที่จะเล่นกันในกติกา จึงปล่อยให้ฝูงชน ละเมิดกฎหมายที่มันค่อนข้างรุนแรง แต่ถ้าเกิดว่ากลุ่มคนชั้นนำที่อยู่เบื้องหลังจะเป็นใครก็แล้วแต่ กลับมาคิดใหม่ว่า  เอาหล่ะเรามาเล่นกันตามกติกาในระบบเลือกตั้ง  มันก็จะกลับไปเหมือนก่อนหน้านี้ เช่น คุณอาจไม่พอใจรัฐบาล ไม่อยากได้เลยรัฐบาลชุดนี้ เมื่อตั้งรัฐบาลมาก็ตั้งใหม่ แล้วคุณก็อาจจะด่าเขาทางหนังสือพิมพ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  แต่ไม่ใช่ว่า คุณจะไปยึดสนามบินหรือ ยึดสี่แยกกลางเมืองแบบนั้น

0 ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างก็ต้องดำเนินและพัฒนาตามกลไกต่อไป 

ก็ต้องพัฒนาต่อไป เพราะถ้ามีการเลือกตั้งกันจริง  รัฐบาลที่มาใหม่จะเป็นใครก็ตาม ผมคิดว่ากลุ่มคนชั้นนำหมดตาเลือกที่จะเดินแล้ว คุณจะเดินอย่างไรต่อไป  คุณจะปล่อยให้มันมีม็อบไปเที่ยวยึดโน้นนี่แบบเก่าหรือ ผมคิดว่า มันเป็นไปไม่ได้

0  จะมีการบล็อคคุณทักษิณและพรรคพวกไม่ให้กลับมามีอำนาจไหม

บล็อกแน่ๆ.. แต่ผมว่า วิธีบล็อกจะไม่โฉ่งฉ่างเหมือนครั้งที่แล้ว   แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่า สมมติว่าเพื่อไทยได้อันดับหนึ่ง ซึ่งเสียงไม่ถึงครึ่ง ถามว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ผมว่ายาก และผมก็ได้ยินนักการเมืองในเพื่อไทย ก็พูดทำนองอย่างนี้ ว่าตั้งไม่ได้หรอก เว้นแต่ต้องได้เกินครึ่ง คือถ้าไม่โฉ่งฉ่างจะไม่เกิดหรอก เพราะเช่นเป็นต้นว่าผ่านไป 7 วันแล้ว เขายังไม่สามารถรวมขั้วกันได้ ประชาธิปัตย์ก็รวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว

สิ่งที่น่าคิดมากกว่าคือถ้าพรรคเพื่อไทยเกิดได้คะแนนชนะเกินครึ่ง ด้วย เหตุใดก็แล้วแต่ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้นะ หรือ สามารถฟอร์มรัฐบาลได้โดยวิธีใดก็ตาม  ผมว่า ก็ยากที่จะเกิด เช่น กลุ่มเสื้อเหลืองที่จะมาชุมนุมก็คงไม่มีคนออกมาร่วมมาก  ผมอยากทายว่าไม่  เพราะจนถึงนาทีนี้เสื้อเหลืองก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเลย แม้ว่าจะดึงเรื่องของอธิปไตยของประเทศ หรือดึงเรื่องสถาบัน เข้ามา ก็ไม่สามารถปลุกให้ชนชั้นกลางในเมืองเข้าไปร่วมด้วยอย่างมโหฬาร

ถามว่าชนชั้นนำที่จะเข้ามากำกับการเมืองจะมีทางเลือกอะไรได้บ้าง ผมว่าเลือกการใช้ม๊อบอย่างที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว  ก็เหลือทางเลือกทางเดียวคือยึดอำนาจ ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำเท่าไร เพราะเป็นทางเลือกที่ยากที่สุด คุณยึดอำนาจเสร็จถามว่า แล้วจะทำอย่างไร คุณจะไปเชิญใครมาเป็นนายกฯ แล้วทันทีที่การยึดอำนาจก็จะมีการลุกฮือของกลุ่มคนทุกสีเสื้อ มันก็จะเกิดความชอบธรรมทันที  ถึงแม้ว่า มันอาจจะไม่ถึง  50 %  ของประเทศ แต่ 40% ก็ปาเข้าไปกี่ล้านแล้วหล่ะ

0 แล้วมันจะเกิดวิกฤตทางการเมืองอีกหรือไม่

ผมว่า ไม่เกิด ถ้าอย่าทำให้มันโฉ่งฉ่างจนเกินไป  ไม่ต้องล็อคใครเข้าไปในค่ายทหารอีก  ซึ่งมันก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย

0 แกนนำเพื่อไทย- เสื้อแดง บอกถ้าเขาได้ที่หนึ่งเขาต้องได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น

 คุณอภิสิทธิ์เคยบอกว่า ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ได้คะแนนอันดับหนึ่ง  ก็จะเปิดโอกาสให้พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดฟอร์มรัฐบาล ก็แสดงว่า คุณอภิสิทธิ์มั่นใจแล้ว คือ  คนที่มีใจนักกีฬาขนาดนี้ ก็ไม่น่าจะไปกอดคอกับเนวินในค่ายทหาร แต่แสดงว่า แกก็ต้องมั่นใจว่า ครั้งนี้ยังไงๆ ถ้าเพื่อไทยไม่ได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งคุณก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ แกถึงได้ออกมาพูดชัดเจนแบบนี้

ชนชั้นกลาง – ชนชั้นนำ-ดุลอำนาจใหม่

0หลังเลือกตั้งไม่ว่าเราจะได้ฝ่ายใดเป็นรัฐบาล ประเทศจะยังขัดแย้งต่อไป 

 

แน่นอนมันไม่มีอะไรจบ แต่คุณจะออกจากวิกฤตนี้ได้ด้วยวิธีไหน ก็มีวิธีเดียวคือปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวและขัดแย้งกันในทางการเมืองต่อไป กระทั่งถึงจุดหนึ่งแล้ว มันก็จะซาลงไปเองโดยที่ไม่มีใครได้อะไรไปเต็มร้อยสักฝ่ายเดียว

0อาจารย์คิดว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีการถ่วงดุล จัดสรรอำนาจใหม่ กันมากน้อยแค่ไหน

มันไม่มีมาก  คือ ว่าสมัยก่อนชนชั้นกลางมันมีจำกัด อย่างในสมัยพฤษภาทมิฬ เป็นพวกที่มีความรู้ มีรายได้ค่อนข้างดี กลุ่มนี้เป็นตัวที่มีพลังทางการเมืองสูงมาก แต่ปัจจุบันคนชั้นกลางมีมากขึ้น มันหมายถึงคนจำนวนหนึ่งที่มีอาชีพไม่เหมือนเก่าแล้ว  คือ ไม่ใช่เป็นนักบัญชี นักกฎหมาย แต่อาจเป็นผู้รับเหมารายย่อย ผู้ค้าพืชผลฺการเกษตร รวมทั้งเกษตรกรที่มีกิจการใหญ่พอสมควร ทั้งหมดนี้ เป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีทัศนคติทางการเมืองเหมือนกับกลุ่มชนชั้นกลางรุ่นเก่า พูดง่าย ๆ คือ ถามว่า เสื้อแดงก็คือ คนชั้นกลางกลุ่มนี้ กลุ่มที่มันเพิ่งเกิดใหม่จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ฉะนั้น ดุลยภาพการเมืองไทยตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว

อย่างในระบบเก่า คุณสามารถกลืนคนชั้นกลางในเมืองเข้ามาอยู่ในระบบได้พอสมควร แต่ปัจจุบันมันมีคนชั้นกลางจำนวนมหึมาที่เกิดขึ้นทั่วไปหมด ถาม ว่าคุณกลืนคนเหล่านี้ได้หรือไม่ คำตอบ คือ ยังไม่ได้ เมื่อไม่ได้แล้ว คุณบอกเขาให้ เฮ้ย..มึงอยู่นอกเวทีตลอดไปมันเป็นไปไม่ได้หรอก  ยังไงๆ เขาก็ต้องกระโดดเข้ามาในเวทีด้วย ปัญหาคือคุณจะกลืนเขาอย่างไร

0 วิกฤตที่ผ่านมา เป็นด้านบวกต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมากว่าด้านลบหรือไม่

ไม่เชิงขนาดนั้นนะ  เพราะถ้าสมมติว่า คนชั้นนำของไทยสามารถกลืนคนใหม่เข้ามาโดยการยอมเปลี่ยนกฎเกณฑ์ ยอมสละผลประโยชน์บางอย่างไปบ้าง มันก็จะสงบกว่า อย่างเดียวกับที่คนชั้นนำของเราเคยสามารถกลืน ชนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองได้พอสมควร เราเคยมีปัญหาเมื่อ 14 ตุลา 2516 ที่มันมีคนชั้นกลางเกิดขึ้นอย่างมโหฬาร แต่ปรากฎว่า ไอ้กลุ่มคนชั้นนำ ที่มีผู้นำสำคัญ คือ  กองทัพไม่ยอมเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับกลุ่มที่เกิดใหม่นี้เลย มันก็เกิดการปะทะกันเป็น 14 ตุลา โดยมีนักศึกษาเป็นหัวหอก แต่หลังจากนั้นถามว่า  คุณสามารถกลืนเข้ามาได้ไหม ผมว่า คุณกลืนเข้ามาได้พอสมควร เพราะว่า จริงหล่ะ มันมีกลุ่มคน 6 ตุลา2519 และคนที่หนีเข้าป่าจำนวนมากมาย แต่ที่สุดคุณก็มีนโยบาย  66/23  ดึงคนเหล่านี้กลับเข้ามาให้อยู่ในระบบได้ ก็อยู่กันมาได้ 

แต่วันนี้มันเกิดกลุ่มคนชั้นกลางที่อยากจะมีเวที หรือ พื้นที่ทางการเมือง แต่กลุ่มนี้ไม่ถูกกลืน  นอกจากนี้ยังถูกกีดกันนานาประการ โดยมี “สองมาตรฐาน” แม้แต่ฆ่าเขาตาย ถามว่า วิธีนี้จะสามารถกันเขาได้ตลอดไปไหม มันเป็นไปไม่ได้ 

0ตอนนี้คนชนชั้นนำ ไม่สามารถ กลืนเสื้อแดงได้ 

 ผมยังไม่เห็นว่า จะกลืนได้นะ  ดูง่ายๆ การตั้งส.ว.สรรหา  คุณก็ยังตั้งคนที่คุณมั่นใจว่า จะมีพลังในการกีดกันกลุ่มคนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ออกไป แทนที่ คุณจะพยายามหาทางให้คนเหล่านั้นเข้ามาเป็นส.ว.สรรหาร่วมด้วย เพื่อทำให้ ส.ว.มีความชอบธรรมเพิ่มมากขึ้นเพราะตัวมันเองไม่มีความชอบธรรมอยู่แล้ว จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

0ถ้ายังกีดกันคนชั้นกลางที่เกิดขึ้นมาใหม่ หรือ คนเสื้อแดง จะเกิดอะไรขึ้น?

ก็เกิดคนเสื้อแดงอย่างนี้  ซึ่งนับวัน กลุ่มคนเหล่านี้ การที่เขาถูกกีดกันออกไป มัน ทำให้เขาปฎิเสธทุกอย่างของสถาบัน องค์กร  ของกระบวนการต่างๆ      ของสังคมที่ชนชั้นนำเป็นผู้นำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันตุลาการ แล้วคุณเองก็ใช้สถาบันเหล่านั้นไปกีดกันเขาด้วย ก็ยิ่งพังใหญ่

0ทางออกความขัดแย้งจากวิกฤตเชิงโครงสร้างควรเป็นอย่างไร

สรุปสั้นๆ คุณต้องหาทางกลืนเขาเข้ามาให้ได้ แต่จะกลืนเขาเข้ามา โดยรักษาทุกอย่าง มันเป็นไปไม่ได้  คุณก็ต้องยอมปรับบางอย่างที่จะทำให้คุณเสียผลประโยชน์ เสียอำนาจไปบ้าง อันนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา

0 คำถามใหญ่ของสังคมขที่ควรจะถามกันดังๆ ในช่วงเลือกตั้ง คืออะไร

ผมคิดว่า จากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ  และบางหน่วยงานที่ไปสำรวจพบว่า  ไม่ว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงหรือ เสื้อลายอะไรก็ตาม มันประกอบเป็นประชากรไทยอยู่ประมาณ  10 กว่าเปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งสิ้น คนก็หวังว่า คน ที่ไม่เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เขาจะเป็นพลังสำคัญที่จะมองเห็นปัญหาของประเทศเราเอง แล้วก็ผลักดันการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างของประเทศเราเอง  

คณะกรรมการปฏิรูปที่เราทำ  เป็นแนวทางที่เราเห็นว่า  สังคมเรามีคำตอบนะ  ไม่จำเป็นจะต้องฆ่ากันตาย หรือ ก่อรัฐประหาร มันมีทางออก แต่ทางออกนั้นจะทำโดยคนประมาณ 80 % ที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนี่แหละ ที่จะร่วมกันผลักดันให้เราเปลี่ยนประเทศเราเองไปสู่ระบบที่ทำให้คนอื่นทุกคน มีพื้นที่ทางการเมืองพอสมควร  จะให้เท่าเทียมกันเป๊ะ มันไม่มีหรอก แต่ให้เขาเองมีพื้นทางการเมืองเพียงพอที่จะปกป้องผลประโยชน์ของเขาเองได้

0 ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้กระทบกับสถาบันอย่างไร

เวลาเราพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ประกอบด้วยราชวงศ์อย่างเดียว ในแง่ของพลังทางการเมือง ต้องเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีเครือข่ายที่มี กลุ่มคนต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อเยอะมาก  เช่น กองทัพ ถามว่ากองทัพมาเชื่อมต่อกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ทุกคนเห็นอยู่ แต่ ถามว่าที่มาเชื่อมต่อเพื่อผลประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่กองทัพ พูดหรือไม่ ผมว่าใช่เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่ง มันมีผลประโยชน์ของกองทัพเองอยู่ในนั้นด้วย ทีนี้จะเห็นภาพที่ซับซ้อนขึ้นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะพลังทางการเมือง ประกอบด้วยกลุ่มคนจำนวนมากมาย  ทุนบางกลุ่มก็เข้ามาเชื่อม กองทัพก็มาเชื่อม ภาคราชการพลเรือนบางกลุ่มเข้าไปเชื่อม แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากความจงรักภักดีแต่เพียงอย่างเดียว ผมไม่ปฏิเสธ โอเค คุณจงรักภักดีด้วย แต่อีกส่วนก็คือ ผลประโยชน์ส่วนตัวคุณด้วย

ฉะนั้นเวลาเราพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มันหมายถึงกลุ่มผลประโยชน์ที่ค่อนข้างหลากหลายมากที่แวดล้อมตัวสถาบันอยู่ กลุ่มทั้งหมดเหล่านี้ขยับตัวเองสำหรับการรับเอาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมหรือไม่  จนถึงนาทีผมว่า ไม่... เพราะฉะนั้นเวลาถามถึงสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องมองทั้งเครือข่ายทั้งหมด เหล่านี้ในฐานะพลังทางการเมือง เขาไม่รู้หรือว่า อะไรเกิดขึ้น จึงไม่พร้อมจะปรับตัวเองเลย 

หรือ ตัวอย่างคือ สถาบันตุลาการ ถามว่าปรับตัวเองหรือไม่ กับข้อสงสัยที่เกิดขึ้นถึงความไม่เที่ยงตรงของสถาบัน เช่น จากศาลรัฐธรรมนูญที่เขาสามารถให้เราพูดถึงได้ ถามว่าในศาลที่มีการถ่ายคลิปและชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรม ของผู้ทำหน้าที่เป็นตุลาการ สิ่งที่คุณต้องทำทันที คือ เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมันจริงหรือไม่ แต่นี่ไม่มีอะไรขยับเลย  มีแต่การมาลงโทษคนที่เอาคลิปมาแฉ  ทั้งที่ปัญหาที่เราต้องรักษาไว้ให้ได้ คือ ความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญเอง ที่ยังไม่มีใครแก้

0 ถ้าไม่แก้แล้วจะเป็นอย่างไร 

มันก็จะพาลไปหมดทุกอย่าง คุณเป็นประธานในการเลือกส.ว.สรรหา  แต่การสรรหาทั้งหมด หายไปกับตัวคุณ มันพังไปหมดทุกส่วน เพราะไม่มีใครพร้อมเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น และนี่เป็นครั้งแรกที่สถาบันศาลของไทยถูกตั้งข้อสงสัยมากขนาดนี้  ที่ผ่านมากองทัพถูกตั้งข้อสงสัยตลอดมา แต่ศาลไม่เคยโดนขนาดนี้มาก่อน 

0จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสถาบันถูกหยิบยกมาพูดถึงมากๆ

ถ้ากลุ่มชนชั้นนำทั้งหมด ไม่ร่วมมือปรับตัวเอง และพยายามกลืนคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้ตัวเองสูญเสียอำนาจ และผลประโยชน์ไปบ้าง ถ้าเขาไม่ดึงคนเหล่านี้เข้ามา ถ้ามองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ผมเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงมากขึ้น

0 รุนแรงทางกายภาพหรือ

 อย่างที่บอก ชนชั้นกลางกลุ่มนี้ เป็นชนชั้นกลาง ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมฉะนั้นจึงเป็นกลุ่มคนที่ ต้องการพื้นที่ทางการเมืองในประเทศ   มันก็ มีสองทางเลือก  คือ   ถีบคนชั้นกลางกลุ่มนี้ออกไป กับ  เปิดพื้นที่ให้เขาเข้ามาด้วยในปริมณฑลหนึ่ง  ถามว่าตอนนี้ใช้วิธีไหน ผมว่ายังใช้วิธีสกัดกั้นไม่ให้คนเหล่านี้ขึ้นเวที ซึ่งคิดว่าจะไม่มีทางทำได้สำเร็จและก็จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น   

0หากประชาธิปัตย์และพรรคร่วมเป็นรัฐบาลเหมือนเดิม อาจทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงและทักษิณซาลงในอนาคต

ทักษิณซาแน่  เพราะตอนนี้เสื้อแดงที่ไม่สนใจทักษิณมีมากขึ้น ผมคิดว่า ทักษิณตายไปแล้วในทางการเมือง ไม่มีความหมายแล้ว แต่ถามว่าคนเสื้อแดงจะหยุดแค่นี้หรือเดินต่อ ผมคิดว่าเดินต่อ

เสื้อแดง-เพื่อไทย—ขั้วที่สาม

0จะมีหน่อเนื้อเสื้อแดงก้าวหน้าพันธุ์ใหม่ก้าวข้ามทักษิณ 

 แน่นอน (เสียงเข้ม) ถ้าวันหนึ่งทักษิณไม่สามารถเรียกคะแนนเสียงได้ ผมเชื่อว่าเสื้อแดงส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะบอกว่า ไม่สนใจคุณทักษิณ เวลานี้ที่คนจงรักภักดีต่อคุณทักษิณ ผมไม่เชื่อว่าจะจงรักภักดีจริงๆ ส่วนหนึ่งมันก็มี แต่อีกส่วนหนึ่งมองว่า มันยังให้ผลกำไรทางการเมืองแก่คุณอยู่ เช่น ภักดีกับทักษิณทำให้ได้คะแนนเสียง  แต่วันหนึ่งผลตอบแทนความจงรักภักดีจะลดน้อยลงๆ  จนไม่คุ้มจนได้

0 วันนี้เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยขั้นไหนของพัฒนาการ เพราะมันขยับตั้งแต่ 2475 -2490 -2516  2535- 2553 

ไม่ๆ  มันอยู่ในยุคของมันเอง  คือ ประชาธิปไตยทุกแห่งในโลกนี้มันเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่มีอำนาจที่จะมาอยู่บน เวทีทางการเมือง ตกลงกันเองว่า เราจะใช้วิธีนี้ แต่เวทีการเมืองมันไม่เคยอยู่นิ่ง มันขยายขึ้น จนต้องเปลี่ยนกติกา ให้คนที่โผล่หน้ามาใหม่ตลอดเวลา ในอังกฤษ อเมริกา ก็เหมือนกันทั้งนั้นเพราะฉะนั้น ในเมืองไทยวันนี้มันขยายมาถึงจุดหนึ่งแล้ว คือ จุดที่รวมคนจำนวนมากได้เข้ามาสู่ตลาด  คือ เขาไม่ได้ผลิตอะไรเพื่อเลี้ยงตนเองอีกแล้ว  เขาผลิตเพื่อไปขายในตลาด ซึ่งเป็นตลาดลักษณะที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูงมาก ฉะนั้น คนเหล่านี้ต้องการพื้นที่เวทีทางการเมือง 

0จะมี “ต้นทุน” อะไรที่สังคมไทยต้องสูญเสียไป ถ้าไม่มีใครปรับตัวทันจากความขัดแย้งครั้งนี้ 

 แน่นอนเลย  มันปรับไปทางใดก็ได้ทั้งสองอย่าง  เป็นต้นว่า กลุ่มชนชั้นนำ รวมหัวสร้างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ  หรืออีกทาง คือล้มระบบเก่า เกิดระบบใหม่ขึ้นมา ไม่มีใครบอกได้ถูก เช่น อาจเกิดระบอบเผด็จการ มันก็เสียเลือดเนื้อ หรือเกิดระบอบล้มหมด พังหมดทุกอย่าง มันก็เสียเลือดเนื้อ เหมือนกัน ไม่มีอะไรน่าดูสักทางเดียว

0 พลังทั้งสองฝ่าย เหมือนขบวนรถไฟสองขบวนกำลังชนกัน แล้วยันไม่ลง

ผมคิดว่ายันกันลงนะ  ถ้าคุณไม่ทำไรเลย  ผมคิดว่า พลังของฝายชนชั้นกลางระดับล่างที่เกิดขึ้นใหม่  มันมหาศาลมาก

0 นักการเมืองกำลังตั้ง พรรคการเมืองใหม่ ประกาศจุดยืน ไม่เอาทั้งสองขั้ว จะแก้ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองได้ไหม 

คุณจะเป็นพรรคการเมืองแบบไหนก็แล้วแต่ คุณต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะให้คนเหล่านี้ไปอยู่ตรงไหนบนเวทีการเมือง จะ ตั้งพรรคการเมืองใหม่มันไม่ใช่คำตอบ แต่คำตอบ คือ จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนเหล่านี้ แล้วจะเปิดอย่างไรทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้โดยสงบสุขกว่า ... จะล้มศาลทั้งหมด(เสียงเข้ม) ..ก็ไม่ได้ มันก็นองเลือดอีกเหมือนกัน  ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ขึ้นมาบนเวทีแล้วได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับคน อื่นๆ ในด้านกระบวนการยุติธรรม

0 ที่พรรคขนาดกลาง เล็ก เสนอ  “นายกฯ ขั้วที่สาม” เพื่อปรองดอง

พวกนี้ พูดเหมือนไม่รู้จัก ประเทศไทย คือ ประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิดเลย  เขาคิดแค่วา ประเทศไทยจะอยู่รอดหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ผู้นำเพียงคนเดียว ย้อนไปตั้งแต่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ ไม่มีเรื่องผู้นำคนเดียว

0 ข้อเสนอนิรโทษกรรม ถ้าเกิดขึ้นจริง วิกฤตต่างๆ จะจบไหม

มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างที่ผมบอก  เพราะอันนี้ คือปัญหาเล็กๆ ปัญหาใหญ่กว่า  คือ มันมีคนชนชั้นใหม่เกิดขึ้นมา และชนชั้นนี้ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองของตัวเอง แล้วคุณจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้เขาได้อย่างไร  ถ้าคุณไม่ให้เขา มันก็ไม่มีทางสงบหรอก

0ฟังอาจารย์พูดทั้งหมด  เรายังมีปัญหาซับซ้อนมากกว่าที่จะคิดอะไรง่ายๆ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้

 แน่นอน วันนี้ไอ้ความแตกร้าวที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มันทำให้เราเถียงกันในประเด็นที่ไม่ใช่ประเด็น เช่น เอาทักษิณกลับมาทุกอย่างจะดีหมด บ้าซิ… ทักษิณมันไม่ใช่เทวดา อีกฝ่ายอยากให้มีนายก ฯ พระราชทาน ทุกอย่างจะดี  บ้าซิ...ที่ผ่านมายังไม่มีนายก ฯ พระราชทานแก้ปัญหาบ้านเมืองได้เลยซักคน  รวมถึงท่านอานันท์ด้วย ทางออกก็คือ จะตอบชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นใหม่อย่างให้เขามีพื้นที่ทางการเมืองในการต่อรอง

0วันนี้ก็ยังไม่เห็นทางออกง่ายๆ เพราะกลไกต่างๆ ยังไม่ได้ทำอะไร 

ยังไม่ได้ทำอะไร  ที่จริงเชื่อว่า ถ้าพรรคเพื่อไทย หรือ พรรคอะไรก็แล้วแต่ ขึ้นมาปกครองประเทศ ใน 3-4 ปีข้างหน้า ผมเชื่อว่า พรรคนั้นก็ไม่สามารถจะตอบปัญหาทั้งหมดของกลุ่มบุคคลคนชั้นใหม่ได้ก็ยังมี บางกลุ่มอาจจะแตกไปหากับประชาธิปัตย์ หรือพรรคอื่น ต่อไป นี่ก็ปกติ ธรรมดา

0ถ้า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นนายก แก้ได้ไหม

อันนี้เดาไม่ถูก แต่ผมเชื่อว่าใครก็ตามแต่ที่จะมาเป็นนายกฯ ที่มาจากเพื่อไทย จะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของพรรคการเมืองมากขึ้น เช่น เข้ามาปั๊บ จะเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้คุณทักษิณ อันนี้ไม่ใช่  ผมไม่แน่ใจว่า นักการเมืองรู้หรือเปล่าว่า เสื้อ แดงเหล่านี้ไม่ใช่ลูกกระเป๋งมึง คือ เมื่อก่อน เดือน เม.ย.- พ.ค. ปีที่ผ่านมา นักการเมืองเพื่อไทยมีส่วนช่วยขนคน หรือ ผลักคนให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มเสื้อแดง  แต่หลังจากนั้นไม่ใช่แล้วนะ  เสื้อแดงเขามีพลังของเขาเองขึ้นมาแล้ว

สำหรับเพื่อไทย ถ้าเรื่องที่ทักษิณต้องการทำ ถ้าเรื่องนั้นมันไม่สร้างความบาดหมางในสังคมจนเกินไป ก็คงเดินไม่ได้ ขนาดนิรโทษกรรมก็ตาม  คุณต้องยอมรับก่อนว่าคุณผิด แสดงว่าคุณทักษิณยอมรับใช่มั้ยว่าเมื่อตอนไปซื้อที่ คุณทักษิณให้เมียไปเกี่ยวข้อง  ผมว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดที่ คุณทักษิณเรียกร้องให้นิรโทษกรรม การที่จะนิรโทษกรรมได้ ต้องยอมรับก่อนว่าคุณผิด แสดงว่าทักษิณยอมรับใช่มั้ยว่าเมื่อตอนไปซื้อที่ดินรัชดา ว่าถือโอกาสเป็นนายกฯ ไปประมูลที่ดินของรัฐ เพราะถ้าคุณเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมอย่างนั้น แสดงว่าคุณตั้งใจทำอย่างนั้น

0 หัวหน้าพรรคการเมือง ควรมองปัญหาอย่างนี้และหาทางออกอย่างไร

ถ้าคุณมีอำนาจหรือมีวิธีจะกดดัน ไม่ว่า ทหารหรืออะไรก็แล้วแต่  คุณต้องใช้ และไม่ต้องกลัวว่าคุณจะถูกออกก่อนหน้าที่จะสิ้นเทอมด้วย

0หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าขั้วไหนขึ้นมาเป็น เสถียรภาพของรัฐบาลจะอ่อนแอเหมือนเดิมไหม  คือเฉลี่ย 2 ปี

คิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่ผ่านการร่วมรัฐบาลมา ก็ไม่อยากทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ เพราะยังมีอำนาจที่มองไม่เห็นบีบไม่ให้ไปร่วมกับเพื่อไทย ถ้าออกจากรัฐบาลเมื่อไหร่ ก็หมายถึง คุณไม่ได้อะไรเลย ไม่ใช่ว่าออกแล้วจะฟอร์มรัฐบาลเองพรรคเดียวได้ ฉะนั้นหมายความว่า อภิสิทธิ์ ก็เป็นเบี้ยรองบ่อนให้กองทัพตลอดเวลา เพื่อรักษาตำแหน่งตัวเองเอาไว้

0 ถ้าเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล แล้วคุณเดินหน้าทำทุกเรื่อง

ถ้าโง่ทำอย่างนั้น เสื้อเหลืองกลับฟื้นคืนชีพแน่นอน

0 เพื่อไทยเข้าถึงหรืออาจมีเสียงประชาชนมากกว่า

ก็ใช่ แต่ขณะเดียวผมก็เห็นใจเขาด้วยที่ถูกรังแกมากเกินไป แต่ผมเห็นด้วย 100% เต็มว่าจะเสื้อแดงหรือเพื่อไทย น่าจะหันมาสู่เรื่องของนโยบายสักที ไม่ใช่ติดอยู่แต่เรื่องทักษิณอย่างเดียว

0พิสูจน์ว่าเพื่อไทยคิดเรื่องชิงอำนาจเหมือนพรรคการเมืองทั่วไป

ก็เหมือนกัน ผมไม่ได้คิดว่า  เพื่อไทยจะเป็นความหวังพิเศษของประเทศ

0การต่อสู้ของเสื้อแดง มีข้อเสนออะไรบ้างหรือกดดันได้แค่ไหน

ผมคิดว่าถ้ากลุ่มเสื้อแดงผูกพันกับคุณทักษิณหรือพรรคเพื่อไทยให้น้อยลง มันจะเป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ใหญ่มากในทางการเมือง และก็จะเกิดความจำเป็นที่เขาต้องอธิบายกับตัวเองและกับสังคมให้ได้ว่าเขา เคลื่อนไหวเพื่อจะแก้ไขอะไร ประเด็นที่เขาพูดเรื่องความไม่เป็นธรรมหรือสองมาตรฐานผมว่าเห็นชัด เพราะถ้าเราไม่อคติจนเกินไปก็จะปฏิเสธ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย แต่ปัญหาที่ตามมา คือ หลังจากที่เรายอมรับว่าประเทศเราสองมาตรฐาน  มีความเหลื่อมล้ำ  ไม่เป็นธรรม  คำถามต่อมาคือเราจะแก้กันอย่างไร ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่าคนเสื้อแดงไม่ได้มาช่วยกันคิดว่าเราจะแก้กันอย่างไร

0หลายคนมองว่า  ขบวนการเสื้อแดงนปช.แค่ช่วงชิงอำนาจนาจเฉยๆ จึงไม่มองการแก้ปัญหานโยบายระยะยาวในเชิงโครงสร้าง เช่น ข้อเสนอภาษีที่ดิน ภาษีมรดก

แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นใจพวกเขา เพราะถูกรังแกมากเกินไป ไม่ใช่จากรัฐอย่างเดียว แต่จากรัฐบาล ชนชั้นกลางในเมือง และจากสื่อเองซึ่งมีลูกค้าสำคัญคือ คนชั้นกลาง  เพราะทันทีที่เสื้อแดงมีการชุมนุมจะเกิดคำถามทันทีว่าจะเกิดความไม่สงบขึ้น ตำรวจก็พร้อมยกกำลังกันไปล้อมเขา  แล้วถามว่าทำไมคนอื่นที่เขาชุมนุม แล้วคุณไม่รู้สึกว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นแล้วทำไมเสื้อแดงชุมนุมจึงเกิดความวุ่นวายเสมอ เพราะฉะนั้นภาพนี้ทำให้เขาไม่มีโอกาสที่จะมาคิดถึงทางออกอย่างจริงจัง เฉพาะที่ถูกรังแกอย่างเดียว เขาก็ต้องตอบโต้แล้ว

 ปฏิรูป-ความคาดหวัง

0ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป หรือ คปร.(อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน) ซึ่งอาจารย์เป็นกรรมการอยู่  อยากเห็นพรรคการเมืองนำเรื่องใด ไปหาเสียงในการเลือกตั้งมากที่สุด  (ข้อเสนอดังๆ ที่ผ่านมาเช่น  ให้ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและให้โอนอำนาจบริหารทรัพยากรเศรษฐกิจ การเมืองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และให้ จำกัดสิทธิการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไว้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน)  

เรื่องการปฏิรูปที่ดิน และ โครงสร้างอำนาจการบริหาร แม้วันนี้ผมยังไม่เห็นโอกาส แต่ผมก็ได้แต่หวังจาก เอ็นจีโอ หรือ ใครก็ตามจะใช้ประเด็นเหล่านี้ไปกดดันรัฐบาล

ผมไม่ทราบว่าพรรคการเมืองจะหยิบไหม แต่ผมมั่นใจว่า ถ้าประชาชนทวงถาม มันหยิบ แต่ถ้าประชาชนเฉยๆ มันไม่หยิบหรอก  ดังนั้น สังคมต้องรับลูก   การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ สังคมยอมรับว่าบ้านเมืองจะอยู่อย่างนี้ไม่ได้และต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น  ผมก็หวังว่า เราจะประสบความสำเร็จในการที่จะทำให้คนรู้สึกว่า เราไปกันอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ ยังไงๆเราก็ต้องเปลี่ยน

ความจริงเราอยากเสนอภาพรวมของการปฏิรูป ไม่ใช่แยกเป็นเรื่องๆ เช่น เรื่องที่ดิน เรื่องการศึกษา แต่ว่า เราไม่มีเวลาทำทั้งหมด อาจเสนอภาพรวมคร่าวๆ ได้ เช่น   ในด้านทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่คนไทยทุกคนเผชิญปัญหาร่วมกัน เพราะเราใช้มันอย่างไม่คุ้ม ไม่มีประสิทธิภาพ

ผมอยากให้พรรคการเมืองมีการเสนอนโยบายมากขึ้นกว่านี้  ลองย้อนไปคิดในสมัยที่พรรคไทยรักไทยลงครั้งแรกนั่นเป็นการแข่งขันเชิงนโยบาย แต่รัฐบาลของคุณชวนแทบจะไม่มีข้อเสนออะไรเลยก็ว่าได้ นอกจากสิ่งที่คุณชวนได้ทำไปแล้ว แล้วก็กลับมายืนยันว่าที่ทำไปแล้วมันดีอย่างไร แต่อย่างน้อยสุดพรรคไทยรักไทยเขาเสนอทางออกอีกทางหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน

0 ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจเป็นอย่างไร

ศูนย์อำนาจตรงส่วนกลางมีความสำคัญอย่างไร หัวใจสำคัญ คือ เป็นที่กำหนดทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น ป่าไม้ เหมืองแร่ที่ดินทั้งหมด ตลอดจนแม้กระทั่งทุนในท้องถิ่น โดยวิธีการเอาเงินทั้งหมดมากองไว้ตรงกลาง แล้วเป็นฝ่ายแจกเอง  ที่ผ่านมาเขาดึงอำนาจทั้งหมดไว้ตรงกลางแล้วมอบเป็นเรื่องๆ ไป จะถอนอำนาจคืนเมื่อไหร่ก็ได้ โดยวิธีนี้ทำให้ส่วนกลางไม่มีสมรรถภาพพอที่จะลงไปดูแลท้องถิ่น  นอกจากนี้ยังเอื้อให้ใครก็ตาม ที่มีอำนาจในส่วนกลาง สามารถทุจริตฉ้อฉลได้เยอะมาก ๆเ พราะทรัพยากรที่อยู่ภายใต้การดูแลมันมโหฬาร มันทำให้ส่วนกลางตัดสินใจแทนท้องถิ่นในเรื่องที่ตนเองไม่มีความรู้เลย ฉะนั้นจะแก้ปัญหาได้ คือ ท้องถิ่นต้องมีสัดส่วนที่จะตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรนานาชนิดใน พื้นที่ ได้ในระดับที่สูงพอสมควร  นี่คือโครงสร้างการปฏิรูปที่เรามุ่งหวังอยู่

0มองเพื่อไทย ว่ามีความชัดเจนเรื่องนโยบายอย่างไร (สัมภาษณ์ก่อนเพื่อไทยเปิดตัวนโยบาย)

เท่าที่ได้ยินยังไม่เห็นว่าเพื่อไทย เสนออะไรที่เป็นเชิงนโยบาย มากไปกว่าการพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้คุณทักษิณกลับเข้ามา ซึ่งน่าเสียดาย ว่า เขาเป็นพรรคการเมืองใหญ่ และน่าจะมีนโยบายที่จะมาเสนอประกวดแข่งขันกับอีกพรรคหนึ่งเพื่อให้ประชาชน เลือกทางออกได้ ยิ่งนโยบายมีความแตกต่างกัน ก็ยิ่งมีการถกเถียงในเรื่องนโยบายของประชาชนมากขึ้น ยิ่งมากขึ้นก็ยิ่งชัดเจนว่าเราจะเดินไปในแนวทางใด แต่ถ้าฝ่ายค้านเป็นพรรคใหญ่ด้วย ไม่มีข้อเสนอด้านนโยบายที่ชัดเจนอีกพรรคหนึ่งก็แทบนอนนิ่งไม่ได้เสนอะไร เหมือนกันกลายเป็นการแข่งขันกันที่บุคลิกภาพมากกว่า

0 สังคมสนใจข้อเสนอของคปร.มากแค่ไหน

ผมประเมินไม่ถูก แต่ถ้าดูจากสื่อก็เป็นประเด็นหนึ่งที่สื่อนำไปวิจารณ์สืบเนื่องมาเป็นเวลา หลายสัปดาห์ ถ้าดูเฉพาะกับสื่อก็เป็นที่น่าพอใจ แต่สิ่งนั้นมันจะกระทบกับสังคมจริงๆหรือไม่ก็ไม่ทราบ

0ภาพของคปร.เป็นอย่างไร 

อันนี้พูดยาก แต่ถ้าดูต้นแต่วันเริ่มต้นที่ตั้งกรรมการชุดนี้ ผมจำได้ว่าวันแรก เมื่อคุณอานันท์เข้ามา มีคนชูป้ายหน้าบ้านพิษณุโลก ว่า เสียดายคนตายไม่ได้ปฏิรูป แล้ววันนี้การต่อต้านมันก็ลดลง แต่นั่นไม่ได้เป็นการตอบรับนะ  อาจเป็นเพราะว่า เหนื่อยเกินไปกับพวกหน้าด้านเหล่านี้ก็ได้ (หัวเราะ) แต่ว่า มันไม่ได้ถูกต่อต้านมากขึ้น แต่ก็เงียบหายไป

นอกจากนี้ จุดยืนของคณะกรรมการปฏิรูป ก็ชัดขึ้นว่า ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของพรรคประชาธิปัตย์   ข้อเสนอการปฏิรูปที่ดินครั้งที่แล้ว (จำกัดสิทธิการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไว้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน)   พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้พูดอะไรซักคำ แต่ทางประชาธิปัตย์ อย่างน้อย รมช.มหาดไทย ก็ออกมาพูดว่า ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ดีแล้วเพราะไม่ได้คิดว่าเขาจะมาเห็นด้วย

0 อาจารย์อยากเห็นอะไร

 ประชาชนควรจะถามนักการเมืองว่า คุณจะปฏิรูปที่ดินมั้ย จะปฏิรูปอย่างไร ในการที่จะลงเลือกตั้งครั้งนี้ 

0ต้องให้ประชาชนกดดันพรรคการเมือง

แน่นอน พรรคการเมืองไหนๆ ในโลกนี้ มันไม่ทำเองหรอก ทุกพรรคมันทำเพื่อหาเสียงทั้งนั้นแหละ

0 ประชาธิปัตย์ได้ตอบรับข้อเสนอของคปร.ได้อย่างน่าพึงพอใจไหม

ไม่ได้ทำอะไรเหมือนกัน ไม่ว่าประชาธิปัตย์ หรือ เพื่อไทย ก่อนจะทำอะไร ผมว่า เขาต้องหยั่งดูก่อนว่าสังคมจะเอาหรือไม่ ถ้าสังคมเอาเขาก็เอาด้วย  เพราะพรรคการเมืองที่ถ้าเป็นผู้ริเริ่มอะไรเองคนเดียวมีน้อยมาก ไม่มีพรรคไหนเสี่ยงที่จะไปริเริ่มด้วยตนเอง  เพราะสิ่งใดที่คุณริเริ่มด้วยตนเอง เมื่อนั้น คุณจะเผชิญกับศัตรูมากขึ้น สู้คุณตามดีกว่า กระแสไปทางไหนก็ตามไปทางนั้น ปลอดภัยกว่า

0 อย่างเรื่องที่ดิน พรรคการเมืองก็มีนายทุนมาก จึงไม่เห็นด้วย

เรื่องที่นักการเมือง นายทุนถือที่ดินจำนวนมาก ถ้ามองแบบกลางๆ ไม่เอาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว ผมว่า จริงๆแล้ว  อย่าไปห่วงนายทุนเลย นายทุนที่เก่งๆ ในโลกนี้ มันจะแปลงทุนของตนเองไปสู่สิ่งอื่น  ถ้าเกิดสิ่งที่ลงทุนไว้ให้ผลตอบแทนไม่คุ้ม เช่น ถ้ามีภาษีทรัพย์สินเกิดขึ้น การถือที่ดินมันก็ไม่คุ้มแล้ว  และเขาก็จะพร้อมที่จะขยับทุนส่วนที่อยู่บนที่ดินไปลงทุนด้านอื่นต่อไป  ไม่มีใครโง่ที่จะสูญเสียทุนของตนเองไปเปล่าๆ  ยกเว้น นายทุนโง่ๆ ที่ไม่รู้จะทำอะไร 

0รัฐบาลที่ไม่แสดงความจริงใจต่อการเอาผลสรุปคปร.ไปปฏิบัติ สุดท้ายก็เอาแค่ ฉาบฉวย

คณะกรรมการชุดนี้ได้ตกลงตั้งแต่ต้นว่า เราไม่สนใจรัฐบาล แต่เราสนใจว่าให้สังคมเกิดการปฏิรูปร่วมกัน ฉะนั้นรัฐบาลจะรับลูกหรือไม่ก็ไม่เกี่ยว

0ถ้าไม่สามารถหลุดจากวิกฤตตรงนี้ก็จะวนเวียนอยู่กับความขัดแย้งเรื่อง คุณทักษิณหรือไม่คุณทักษิณ

 มันก็เป็นอยู่อย่างนี้มีที่สิ้นสุด เราต้องไปให้พ้นจากตรงนี้ให้ได้

0ประเทศไทยควรมีการปฎิรูปเชิงโครงสร้างอย่างไร

การเลือกตั้งที่ผ่านมามีการเสนอแนวทางใน การแก้ปัญหาน้อยมาก แต่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองล้วนๆ ยิ่งกว่าทุกครั้งเลยก็ว่าได้ ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีข้อเสนอในการออกจากปัญหาที่ชัดเจน  พรรคประชาธิปัตย์ อาจมีข้อเสนอในบางเรื่อง แต่ไม่เคยผูกโยงเข้าหากัน แต่ว่าประชาธิปัตย์ ไม่ได้มองภาพใหญ่ แต่มองเป็นเรื่องๆ ไป ฉะนั้น สิ่งที่ประชาธิปัตย์เสนอจึงเป็นเพียงการหาเสียงเท่านั้นเอง เมื่อไม่ได้มองภาพใหญ่คุณก็ไม่รู้ว่าคุณทำสิ่งนี้แล้วจะไปจะเชื่อมโยงกับ เรื่องอื่นอย่างไร ปัญหาประเทศไทยที่เราเผชิญทุกวันนี้ มันถูกโยงกันและกันจนเป็นโครงข่ายของปัญหาที่ใหญ่มากๆ

Tags : นิธิ ส่องไฟทางออก ชนชั้นนำ ต้องยอม สละผลประโยชน์

view