สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขรหัส ยิ่งลักษณ์ ตกม้าขาวผ่านคำพิพากษายึดทรัพย์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย…ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากสำหรับอนาคตทางการเมืองของน.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แม้ว่าตอนนี้กระแสตอบรับจากโพลหลายสำนักจะให้มาแรงแซงโค้งเหนือคู่แข่ง แต่ปรากฏว่าเส้นทางขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ในฐานะสุภาพสตรีคนแรกนั้นกลับเห็นอุปสรรคสำคัญลางๆให้เห็นแล้ว

เป็นเพราะเริ่มมีการพูดถึงคดีความของครอบครัวชินวัตร ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 46,373 ล้านบาทเป็นของแผ่นดิน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตจากนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจถูกดำเนินคดีใน 3 ส่วน คือ  1.เบิกความเท็จต่อศาลฎีกาในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 2.ให้การเท็จต่อ คตส. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในเวลานั้น 3.คดีการโอนหุ้นเป็นเท็จต่อ ก.ล.ต. ในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ

การจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูคำพิพาษาดังกล่าวในคดีหมาย เลขแดงที่ อม.1/2553 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอน21ก ซึ่งจะเป็นการชี้ให้เห็นว่าคำคัดค้านของนส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้คัดค้าน ที่4ในดคีนี้สวนทางกลับคำพิพากษาของศาลฎาจนเป็นที่มาน.ส.ยิ่งลักษณ์อาจต้อง ถูกดำเนินคดีในอนาคต

ในคำพิพากษาบรรยายว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำคัดค้านว่าเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป 20,000,000 ล้านหุ้น โดย ซื้อมาจากผู้ถูกกล่าวหา (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) โดยชอบไม่ได้ถือหุ้นแทนพ.ต.ท.ทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขายหุ้นดังกล่าวให้บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงิน  982,365,125 บาทแล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาพหลโยธิน เลขที่ 014-1-11300-9 ที่คตส.อายัด โดยมีเงินฝาก 602,979.05 บาทของน.ส.ยิ่งลักษณ์รวมอยู่ด้วย

ผู้ร้อง (อัยการสูงสุด) ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนี้ คตส.ที่ดำเนินการตรวจสอบไม่มีความเป็นกลาง คตส.บางคนเป็นปฎิปักษ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ คณะกรรมการป.ป.ช.ที่ดำเนินการต่อจากคตส.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งจาก พระมหากษัตริย์ตามกฎหมายไม่มีอำนาจดำเนินการ อัยการสูงสุดยื่นคำร้องนี้โดยไม่ให้โอกาสน.ส.ยิ่งลักษณ์ นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อพิสูจน์ทรัพย์สิน

ต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน 1,419,490,150 หุ้น โดยให้ครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นและรับเงินปันผลไว้แทน โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับน.ส.ยิ่งลักษณ์จนนำมาสู่การพิพากษาว่าพ. ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นผู้ถือหุ้นชินคอร์ปปรากฎในคำพิพากษาดังนี้

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“สำหรับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งอ้างว่าได้รับเงินปันผลรวม 6 งวด เป็นเงิน 97,200,000 บาทเมื่อได้รับเงินปันผลงวดแรกจำนวน 9,000,000 บาทได้สั่งข่ายเช็คชำระให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณทั้งหมด เงินปันผลงวดที่ 2 จำนวน 13,500,000บาท ได้สั่งจ่ายชำระให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เลขานุการเขียนตัวเลขในเช็คผิดจึงแก้ไขไปจาก 13,500,000 บาท เป็น 11,000,000 บาท เงินปันผลงวดที่ 2 ที่เหลืออีก 2,500,000 บาท ได้สั่งจ่ายเช็คให้ผู้คัดค้านที่ 3 (น.ส.พินทองทา ชินวัตร) เป็นการคืนเงินที่ฝากน.ส.พินทองทา ซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศ

ส่วนเงินปันผลงวดที่ 3 ถึงที่ 6 ได้สั่งจ่ายเช็ครวม 44 ฉบับ เป็นการสั่งจ่ายเข้าบัญชีธนาคารของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 2 ฉบับรวมเป็นเงิน 2,100,000 บาท เช็คอีก 42 ฉบับเป็นเงินสดรวม 68,000,000 บาท นำมาตกแต่งบ้าน ทำสวน สนามฟุตบอล และสระว่ายน้ำ ประมาณ20,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 6,000,000 ซื้อทองคำแท่ง 13,000,000 บาท ซื้อเครื่องเพชรและเครื่องประดับ 11,000,000 บาท ซื้อเงินตราต่างประเทศประมาณ 10,000,000 บาท และสำรองไว้ที่บ้าน 8,000,000 บาท โดยมิได้ส่งเงินให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการใช้เงินสดจำนวนมากถึง 68,000,000 บาทมาแสดง ข้ออ้างของน.ส.ยิ่งลักษณ์จึงรับฟังไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม การขยายผลในคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์พบว่าไม่มีอยู่ในสารบบของสำนักงานคณะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายเมธี ครองแก้ว กรรมการป.ป.ช.ระบุว่า มีแต่เพียงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ยื่นคำร้องเข้ามาให้ดำเนินคดีกับพ.ต.ท.ทักษิณ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในขณะนั้นเท่านั้น

จากประเด็นดังกล่าวต้องจับตาว่าในอนาคตจะมีใครหาญกล้าหยิบยกเรื่องนี้ ขึ้นมาเป็นประเด็นฟ้องร้องต่อป.ป.ช.หรือจะเป็นป.ป.ช.ที่อาจจะขยายผลจากคดี ที่มีอยู่หากปรากฎเชื่อมโยงถึงตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้เส้นทางสู่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกเริ่มโรยด้วยลวดหนามแล้ว

โดยประเด็นที่ต้องห้ามคลาดสายตา คือ หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศแล้วแต่ปรากฏว่าในเวลาต่อมาป.ป.ช.พบหลัก ฐานเชื่อมโยงขึ้นมาซึ่งเพียงพอจะชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ ปัญหาที่ตามมาคงหนีไม่พ้นการถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมที่นั่งในตำแหน่งต่อ ไปว่ามีหรือไม่

เนื่องจากในมาตรา 55 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 อาจจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องตกเก้าอี้กลางอากาศแบบ ไม่ทันตั้งตัวตามที่ได้ระบุเอาไว้ว่า

“ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล และข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องที่ประธานวุฒิสภาส่งมาตามมาตรา 43 (1) หรือผู้เสียหายยื่นคำร้อง เพื่อดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 43 (2) นับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติ หน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษา แล้วแต่กรณี”

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

เรื่องนี้อาจถูกนำมาเทียบเคียงในกรณีของอดีต 3 รัฐมนตรีสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ประกอบด้วย 1.น.พ.สุรพงศ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง 2.นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน และ3.นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.คมนาคม ถูกคตส.ชี้มูลความผิดในคดีโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2-3 ตัวสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณในฐานะที่ทั้ง 3 คนเป็นรัฐมนตรีในสมัยนั้น

แต่ทว่าสามารถดำรงตำแหน่งในรัฐบาลสมัครต่อไปได้ เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนชัดว่าการถูกชี้มูลความผิดของบุคคลที่ได้ดำรงตำแหน่ง ในอดีตจะมีผลผูกพันมาถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปัจจุบันหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะไม่ได้ระบุถึงสภาพบังคับไว้ชัดเจนขนาดนั้นแต่ย้อนกลับไปก่อหน้านี้ในเดือนพ.ย.ปี2551 ‘อภิรักษ์ โกษะโยธิน’ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.)สมัยที่สองได้สร้างมาตรฐานใหม่ขึ้น มาเมื่อครั้งถูกชี้มูลความผิดในคดีรถดับเพลิงในฐานะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.สมัยแรก (29 ส.ค. 2547 - 28ส.ค. 2551) ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงสปิริตทางการเมือง

น่าสนใจว่าถ้าเกิดเรื่องทำนองนี้กับยิ่งลักษณ์ขึ้นมากฎหมายหรือบรรทัดฐานทางสังคมอันไหนสำคัญกว่ากัน
ดัง นั้น อย่าได้แปลกใจว่าทำไมระยะนี้เริ่มมีการพูดกันอย่างหนาหูถึงนายกรัฐมนตรีที่ อาจไม่ใช่ชื่อ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล

Tags : ไขรหัส ยิ่งลักษณ์ ตกม้าขาว คำพิพากษายึดทรัพย์

view