สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนคำให้การยิ่งลักษณ์อดีตมีผลผูกพันปัจจุบัน

จาก โพสต์ทูเดย์

ย้อนคำให้การ "ยิ่งลักษณ์" ในส่วนของการถือครองหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ที่ส่งผลให้กลุ่มเครือข่ายพลเมืองฯนำโดยนพ.ตุลย์-แก้วสรรยื่นเรื่องให้หน่วย งานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ "ความสุจริต"

โดย....ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

กลายเป็นประเด็นทางการเมืองสำคัญพอสมควรสำหรับอนาคตทางการเมืองของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ผู้ที่มีหลายสถานะทางการเมืองในเวลานี้ ตั้งแต่ ผู้สมัครสส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย, ผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย และ โคลนนิ่งของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรม คอรัปชั่นทักษิณ (คนท.) นำโดยนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายคนเสื้อหลากสี

ยิ่งลักษณ์

ประเด็นสำคัญที่ใช้ในการเคลื่อนไหวของคนท. คือ "ความสุจริตของยิ่งลักษณ์" อันเป็นการขยายผลมาจากคดียึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยพุ่งเป้าไปที่การให้การเท็จของยิ่งลักษณ์ต่อคตส.และต่อศาลฎีกาในส่วนของ การถือครองหุ้นบริษัท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เตรียมให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งล่าสุดทางยิ่งลักษณ์พร้อมประกาศสู้ตามหลักนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรม

มาดูกันว่าคำพูดอะไรของยิ่งลักษณ์ในอดีตถึงได้กลายเป็นวิบากกรรมให้กับตัวเองในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552 ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้คัดค้านที่ 4 เข้าเบิกความต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ สรุปความได้ว่า ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเล่นการเมืองเคยบอกว่าจะขายหุ้นชินคอร์ปทั้งหมดให้กับนายพานทองแท้ จึงขอซื้อหุ้นจำนวน 2 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเก็บไว้เป็นของตัวเอง แต่เนื่องจากยังไม่มีเงินมากนัก จึงขอทำเป็นหนังสือสัญญาจ่ายเงินเมื่อทวงถามแบบไม่มีดอกเบี้ย ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าอะไรเพราะเห็นว่าทำงานให้บริษัทมานาน ไม่ได้เป็นการถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ แต่การซื้อหุ้นดังกล่าวไม่ได้รายงาน ก.ล.ต.เนื่องจากเป็นจำนวนหุ้นไม่ถึง 1 %

“เนื่องจากชินคอร์ป มีทีมผู้บริหารมืออาชีพบริหารงานแล้ว โดยตั้งแต่ถือหุ้นชินคอร์ป ได้รับเงินปันผลจำนวน 6 ครั้ง รวมมูลค่าประมาณ 97,200,000 บาท โดยงวดแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 ได้จำนวน 9 ล้านบาท แต่ได้นำไปโอนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นค่าซื้อหุ้นทั้งหมด ส่วนงวดที่ 2 ได้จำนวน 12 ล้านบาทเศษ จำไปชำระให้ พ.ต.ท.ทักษิณ 11 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจ่ายให้กับ น.ส.พิณทองทา เป็นค่านาฬิกาที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนเงินที่เหลือเก็บเข้าบัญชีออมทรัพย์”

“สำหรับเงินปันผลที่ได้มาไม่ได้โอนเข้าบัญชี พ.ต.ท.ทักษิณ หรือ คุณหญิง พจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) เนื่องจากเป็นรายได้ของตนเอง โดยทำเรื่องขอกู้เงินธนาคาร 60 ล้านบาท นำไปใช้ในการสร้างบ้านบนเนื้อที่ 4 ไร่ครึ่ง พื้นที่ใช้สอบ 2,500 ตารางเมตร และนำเงินรายได้ค่าปันผลมาตกแต่งสวน ทำสนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ จำนวน 20 ล้านบาท เก็บไว้ใช้ส่วนตัว 6 ล้านบาท ซื้อทองคำ 13 ล้านบาท ซื้อเครื่องเพชร 11 ล้านบาท ซื้อเงินตราต่างประเทศ 10 ล้านบาท สำรองไว้ 8 ล้านบาท”

ยิ่งลักษณ์ เบิกความต่อไปอีกว่า ในปี 2544 หุ้นชินคอร์ป มีการแตกพาร์จากราคา 10 บาท เหลือ 1 บาท ทำให้พยานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็น 20 ล้านหุ้น แต่ยังมีมูลค่ารวมเท่าเดิม ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2549 ได้ขายหุ้นให้กับบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง ในเครือกลุ่มทุนเทมาเส็กประเทศสิงคโปร์ ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ได้เงินประมาณ 912.3 ล้าน โดยการขายหุ้นดังกล่าวขายพร้อมกับ นายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน และได้นำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน เงินส่วนหนึ่งนำไปบริจาคมูลนิธิไทยคม นำไปลงทุนกองทุน ใช้หนี้ และปล่อยกู้ แต่ถูก คตส.สั่งอายัดไว้จำนวน 337 ล้านบาท

“พ.ต.ท.ทักษิณ จากคนที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทุจริตคดโกง รวมไปถึงญาติพี่น้องไม่สามารถอยู่รวมกันได้อย่างอบอุ่น ดิฉันไม่ใช่นักการเมืองยังถูกผลกระทบเล่นงาน นับตั้งแต่ที่พี่ชายและครอบครัวถูกกล่าวหา ก็มีหมายเรียกให้ดิฉันไปเป็นพยาน แต่สิ่งที่ คตส.ทำแตกต่างกับคนอื่น ไม่ยอมให้คนครอบครัวชินวัตรนำทนายความเข้าร่วม ดิฉันต้องถูกคน 7-8 คน รุมถามด้วยคำถามนำ อยู่นานถึง 9 ชั่วโมง หุ้นทั้งหมด พ.ต.ท.ทักษิณ มีก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง และดิฉันก็ซื้อหุ้นนั้นมาด้วยความสุจริต ขอศาลให้ความเป็นธรรมด้วย” น.ส.ยิ่งลักษณ์ เบิกความตอนท้ายด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

 

แก้วสรร / นพ.ตุลย์

ต่อมา 26 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอน21ก ซึ่งพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน 1,419,490,150 หุ้น โดยให้ครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นและรับเงินปันผลไว้แทน

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับน.ส.ยิ่งลักษณ์จนนำมาสู่การพิพากษาว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นผู้ถือหุ้นชินคอร์ปปรากฎในคำพิพากษาดังนี้

“สำหรับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งอ้างว่าได้รับเงินปันผลรวม 6 งวด เป็นเงิน 97,200,000 บาทเมื่อได้รับเงินปันผลงวดแรกจำนวน 9,000,000 บาทได้สั่งข่ายเช็คชำระให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณทั้งหมด เงินปันผลงวดที่ 2 จำนวน 13,500,000บาท ได้สั่งจ่ายชำระให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เลขานุการเขียนตัวเลขในเช็คผิดจึงแก้ไขไปจาก 13,500,000 บาท เป็น 11,000,000 บาท เงินปันผลงวดที่ 2 ที่เหลืออีก 2,500,000 บาท ได้สั่งจ่ายเช็คให้ผู้คัดค้านที่ 3 (น.ส.พินทองทา ชินวัตร) เป็นการคืนเงินที่ฝากน.ส.พินทองทา ซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศ

ส่วนเงินปันผลงวดที่ 3 ถึงที่ 6 ได้สั่งจ่ายเช็ครวม 44 ฉบับ เป็นการสั่งจ่ายเข้าบัญชีธนาคารของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 2 ฉบับรวมเป็นเงิน 2,100,000 บาท เช็คอีก 42 ฉบับเป็นเงินสดรวม 68,000,000 บาท นำมาตกแต่งบ้าน ทำสวน สนามฟุตบอล และสระว่ายน้ำ ประมาณ20,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 6,000,000 ซื้อทองคำแท่ง 13,000,000 บาท ซื้อเครื่องเพชรและเครื่องประดับ 11,000,000 บาท ซื้อเงินตราต่างประเทศประมาณ 10,000,000 บาท และสำรองไว้ที่บ้าน 8,000,000 บาท โดยมิได้ส่งเงินให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการใช้เงินสดจำนวนมากถึง 68,000,000 บาทมาแสดง ข้ออ้างของน.ส.ยิ่งลักษณ์จึงรับฟังไม่ได้”

ผลจากคำพูดของยิ่งลักษณ์ในอดีตซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาเป็นที่ข้อ ยุติแล้วนั้นมีผลให้อย่างน้อยยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญหน้ากับสองคดีสำคัญ คือ 1.การให้การเท็จต่อคตส.ในฐานะเจ้าพนักงาน และ 2.เบิกความเท็จต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 ตามคำกล่าวโทษของคนท. ทำให้ต้องติดตามกันต่อไปด้วยใจระทึกว่ายิ่งลักษณ์จะผ่านด่านนี้ไปอย่างไร

Tags : ย้อนคำให้การ ยิ่งลักษณ์ อดีตมีผลผูกพันปัจจุบัน

view