สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์


ขอนำเสนอประเด็นจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร
ขอนำประเด็นจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร มาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
 
ปุจฉา จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดไว้อย่างไร

วิสัชนา อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 และข้อ 6 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

อธิบดีกรมสรรพากรจึงได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 123/2545 เรื่อง กำหนดจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 โดยยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 99/2544 เรื่อง กำหนดมรรยาท การปฏิบัติงาน การรายงาน และบทลงโทษสำหรับผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544
 
ปุจฉา จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่กำหนดในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 123/2545 กำหนดเรื่องที่สำคัญไว้อย่างไร
วิสัชนา จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี กำหนดเรื่องที่สำคัญดังนี้ 
1. ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต
2. ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน
3. จรรยาบรรณต่อผู้เสียภาษี
4. จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมอาชีพ 
5. จรรยาบรรณทั่วไป
 
ปุจฉา จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ว่าด้วยความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตกำหนดไว้อย่างไร
วิสัชนา จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ว่าด้วยความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตกำหนดไว้ดังนี้ 

1.ไม่รับตรวจสอบและรับรองบัญชีในกิจการที่ตนขาดความเป็นอิสระ เช่น กิจการที่ตนเองและครอบครัว เป็นหุ้นส่วนหรือมีส่วนได้เสีย
2.ไม่รับตรวจสอบและรับรองบัญชีในกิจการที่ตนขาดความเป็นกลางโดยมีผลประโยชน์หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้น หรือโดยมีเหตุอื่นที่อาจจะก่อให้เกิดความลำเอียงและส่งผลให้มีการละเว้นการเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง
3.ปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีด้วยความเที่ยงธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต
4.ไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญของงบการเงินที่ตนลงลายมือชื่อรับรองไว้ในรายงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดการหลงผิดและอาจเสียหายแก่ กิจการที่ตรวจสอบและรับรองบัญชีนั้น หรือแก่กรมสรรพากร หรือแก่บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
5.ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อ ขาย ออก หรือใช้ใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
6.ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงบัญชีหรือการทำเอกสารประกอบการลงบัญชี ซึ่งเป็นเหตุให้กิจการที่ตรวจสอบและรับรองบัญชีนั้นมิต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลงกว่าที่ควรเสีย
7.ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและรับรองบัญชีของกิจการใด ซึ่งมีเหตุผลเชื่อได้ว่ามีข้อมูลที่ผิดหรือบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงและมีการละเว้นหรือปิดบังข้อมูลที่จำเป็นต้องยื่นต่อกรมสรรพากร
8.ไม่รับรองบัญชีที่ตนเป็นผู้จัดทำขึ้นเอง หรือช่วยเหลือ หรือเป็น ผู้จัดทำบัญชีชุดอื่นขึ้น เพื่อเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Tags : จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี

view