สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอไขอนาคต แรงงานไทย

จาก ประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ โรดแมป ประเทศไทย


การ ประกาศนโยบายแรงงานของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในระหว่างการหาเสียงเพื่อเรียกคะแนนจากประชาชนผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ไม่ว่าจะกล่าวถึงการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจำนวนเท่านั้นเท่านี้ การเพิ่มจำนวนการจ้างงาน 5 แสน-1 ล้านคน การขยายประกันสังคมครอบคลุมผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตรและแรงงานนอกระบบ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ฯลฯ

เรื่องเหล่านี้มีข้อมูล และมีหลักฐานบ่งชี้จากไหน จะทำให้มั่นใจได้บ้างว่า ทำได้จริง และเป็นเรื่องใหญ่และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศ

"ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์" ผู้อำนวยการวิจัย การพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ต่อเรื่องนี้ว่า

หาเสียงเพิ่มจำนวนจ้างงาน "ไม่เวิร์ก"

ดร.ยง ยุทธเปิดประเด็นหลักเรื่องนโยบายหาเสียงเรื่องจำนวนการจ้างแรงงานที่พรรคการ เมืองบางพรรคระบุว่า จะเพิ่มการจ้างงานให้ได้ 1 แสนคนทันที หรือบางพรรคระบุจะเพิ่มการจ้างงาน 5 แสน- 1 ล้านคนนั้น

ข้อมูลจาก งานวิจัยของ ดร.ยงยุทธชี้ให้เห็นว่า โดยปกติแล้วทุกปีจะมีกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นในตลาดประมาณ 6-7 แสนคน ในทุกระดับการศึกษา และจะถูกดูดซับในกระบวนการจ้างงานอยู่แล้ว ในสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจขนาด 4-5% ซึ่งจะดูดซับแรงงานได้สัก 5-6 แสนคน เป็นปกติ

"ที่นักการเมืองพูดถึงตัวเลขเพิ่มการจ้างงานในระดับ 5 แสน-1 ล้านคน ย่อมหมายถึงการจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งบอกได้เลยว่า การเพิ่มอัตราแรงงานมากขึ้นจากปกติอีก 5 แสน-1 ล้านคน ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะจะไม่มีคนให้จ้าง"

ปัจจุบันไทยเผชิญกับปัญหา แรงงานตึงตัว โดยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.8% หรือคิดเป็นจำนวน 3 แสนคน แล้วในจำนวนนี้ 70% หรือเกือบ 2 แสนคน เป็นพวกไม่หางานทำ ซึ่งมีสาเหตุว่า 1) เขาไม่มีสติปัญญา ความสามารถที่จะไปเข้าสู่ตลาดแรงงาน และ 2) เป็นกลุ่มผู้มีฐานะ ซึ่งไม่สนใจจะทำงาน




"ดังนั้น แม้แต่ตัวเลขแรงงาน 1 แสนคนที่บางพรรคเอ่ยถึงก็หายาก เพราะประเทศไทยแรงงานตึงตัวมาก จึงไม่ทราบว่าการประกาศเพิ่มการจ้างงานให้ได้ 1 แสนคน พรรค การเมืองนำตัวเลขมาจากไหน"

อีกทั้งปัญหาแรงงานในไทยยังเป็นรูปตัวยู (U) กล่าวคือ มีการว่างงานของผู้มีการศึกษาน้อย (ต่ำกว่าประถมศึกษา) กับ การว่างงานของผู้มีการศึกษาสูง (ปริญญาตรี) เป็นจำนวนมาก

มีข้อมูล ว่า ปัจจุบันมีการขาดแคลนแรงงานทั้งหมด 247,000 คน ซึ่งเป็นอยู่ในกลุ่มการศึกษาระดับปริญญาตรีประมาณ 3 หมื่นคน แต่ขณะเดียวกันคนระดับการศึกษาขั้นนี้มีจำนวนผู้ว่างงานถึง 1 แสนกว่าคน

ส่วน การขาดแคลนแรงงานในกลุ่มผู้มีการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่ามีอยู่ประมาณ แสนคน ขณะที่มีจำนวนผู้ว่างงานในกลุ่มนี้ถึง 143,000 คน ในปี 2553

ดร.ยง ยุทธอธิบายว่า ปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานหมายถึง เขาเข้าไปทำงานแล้ว ทำไม่ได้ บางคนมองเรื่องไม่มีความสามารถ หมายถึงไม่มีความรู้ ไม่มีทักษะการทำงาน หรือมีทัศนคติที่ไม่เหมาะสมกับงาน แล้วการขาดแคลนแรงงานถึงแสนคนจึงไม่สามารถชดเชยด้วยจำนวนผู้ว่างงานที่มี อยู่ได้ ทั้งที่จำนวนผู้ว่างงานกับจำนวนการขาดแคลนแรงงานมีพอ ๆ กัน

นี่คือความผิดปกติ และโจทย์มันมีง่าย ๆ คำเดียวคือ "คุณภาพ"

"ดังนั้นในแง่โครงสร้างตลาดแรงงานบ้านเรา สิ่งที่นักการเมืองใช้และพูดว่า จะเพิ่มการจ้างงาน บอกได้เลยว่า นโยบายนี้ไม่เวิร์ก"

เพิ่ม "คุณภาพชีวิต" แก้ปมค่าแรงขั้นต่ำ

อีก ประเด็นหาเสียงของพรรคการเมืองคือ เรื่องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปี หรือขึ้น 58% ภายใน 3 ปี หรือขึ้นประมาณ 300 บาททันทีทั่วประเทศ

ดร.ยงยุทธระบุว่า นโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องเข้าใจได้ ถ้าพิจารณาจากการขึ้นค่าจ้างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างแท้จริง (real wage) ของไทยแทบไม่ได้ขยับเลย เกือบจะเป็นเส้นตรงด้วยซ้ำ

แต่อย่างไรก็ตาม ได้ให้ข้อเสนอถึงการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่การเตรียมความพร้อมและต้องมีกรอบเวลา

เนื่อง จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่สูงจะไปกระทบฐานค่าจ้างในโครงสร้างค่าจ้างเดิม หรือหากพรรคการเมืองกระตุกเงินเข้าไปมากอาจเกิดอาการช็อกได้สูง เพราะการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งมันกระทบทั้งระบบ และดันไปทั้งโครงสร้างซึ่งผูกโยงกับขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย

ดัง นั้นหากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องมีมาตรฐานอื่น ๆ รองรับ เนื่องจากที่ผ่านมาการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะควบคู่ไปกับค่าครองชีพ ซึ่งมันไม่พอแล้ว ปัจจุบันนายจ้างจึงต้องมีการ "คืนกำไร" คือการบวกเรื่องคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานบ้าง ซึ่งผู้ประกอบการต้องปันกำไรส่วนอื่นมาเติมให้

2 ทางเลือกเชิงนโยบายแก้ขาดแคลนแรงงาน

ส่วน อนาคตแผนพัฒนาแรงงานไทย เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน และการไม่มีคุณภาพของแรงงาน ซึ่งคาดการณ์ว่า อีก 50 ปีข้างหน้าแรงงานไทยในภาคการเกษตรจะลดลง เนื่องจากผลิตภาพต่ำ มูลค่าเพิ่มทางการเกษตรก็จะต่ำ และคนจะถูกดูดซับเข้าสู่ภาคบริการเพิ่มขึ้น เป็นความท้าทายของภาคการผลิต (real sector) ว่าจะปรับตัวตอบรับอย่างไร

ดร.ยง ยุทธได้ชี้ถึงทางเลือกนโยบายสำหรับ 10 ปีต่อจากนี้ว่า เมื่อกำลังแรงงานไทยมีน้อยกว่าความต้องการแรงงาน ก็มี 2 ทางเลือกที่จะน่าจะทำ คือ 1) ยกระดับด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) แรงงานให้เพียงพอกับการจ้างงาน หรือ 2) เพิ่มการนำเข้าแรงงานต่างด้าว

โดย ปัจจุบันไทยมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนอยู่ 3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 3 แสนคนเมื่อเปิดรับการนำเข้าแรงงาน ต่างด้าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 2539 กว่า 10 เท่าตัว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกมากแต่ต้องมีมาตรการรองรับและกำหนดโควตาการนำ เข้าแรงงานทั้งด้วยเหตุผลด้านสาธารณสุขและความมั่นคง

ขณะเดียวกัน การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการสร้างคนคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพแรงงานเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ต้องผนวกคนกับเทคโนโลยีและทุนจึงจะผลิตสินค้าออกมาได้

"ครั้งนี้คือ จุดเปลี่ยนผ่านด้านวิกฤต หากคุณไม่ผ่านจุดเปลี่ยนในทางความต้องการแรงงาน (demand side) ขณะที่ยังไม่ปรับปรุงด้านการสร้างแรงงาน (supply side) ทำเรื่องการพัฒนาคนของเรา มันก็ถึงเวลาที่ค่อนข้างอับจนพอสมควร เพราะขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยก็ตกโดยตลอด แม้จะมีการเพิ่มระดับมาบ้างแต่ก็เพิ่มได้เพียงไม่กี่ขั้นเมื่อเทียบกับ 57 ประเทศ ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาถึง 7-8 ปี มันน่าจะขยับได้หลายขั้นกว่านี้"

"มัน ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงแรงงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่นโยบายเรื่องแรงงานในอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องดูทั้ง 2 ฝั่ง คือจะทำอะไรในฝั่งของ "คน" (supply side) และปรับโครงการด้านอุปสงค์ (demand side) เช่น การทำให้มีช่วงอายุการทำงานเพิ่มขึ้น และการให้ค่าตอบแทนตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในระบบแรงงานไทย"

เพื่อสร้างคน ให้มีคุณภาพ สร้างผลิตภาพแรงงาน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แล้วจะฝากอนาคตไว้กับใคร วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคมนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโรดแมปประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

Tags : ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ไขอนาคต แรงงานไทย

view