สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐบาลเพื่อไทย ไพร่ กลายเป็น อำมาตย์ ?

จาก โพสต์ทูเดย์

นักวิชาการร่วมชำแหละผลเลือกตั้ง2554 พร้อมมองการเมืองหลังเพื่อไทยโกยคะแนนท้วมท้นพร้อมจัดตั้งรัฐบาล

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอาวุโส และอดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ว่า การที่ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยมากขนาดนี้ อาจหมายถึงประชาชนปฏิเสธอำนาจที่อยู่เบื้องหลังพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นได้ ซึ่งที่ผ่านมาแสดงออกชัดว่าอยู่เบื้องหลังพรรคประชาธิปัตย์ เช่น กองทัพ เป็นต้น

“ผมไม่เชื่อว่าคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยทุกคนเป็นคนเสื้อแดง หรือต้องการทักษิณเท่านั้น แต่คือคนที่ไม่อยากให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลอีกต่อไป แปลว่าอำนาจที่อยู่เบื้องหลังพรรคประชาธิปัตย์ อาจไม่อยู่ในความเชื่อถือของคนไทยอีกต่อไป” นายนิธิ กล่าว

นิธิไม่เชื่อว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเลือกบริหารงานด้วยการประคองตัวเองให้รอดมากกว่าจะขัด แย้งกับอำนาจที่มีอยู่ ทั้งสองอำนาจจึงจะเลือก “เกี้ยเซี๊ยะ” กันมากกว่าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจในอนาคต 

“พรรคเพื่อไทยคงไม่เลือกที่จะขัดแย้งกับอำนาจในระบบแน่นอน เพราะนักการเมืองที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ชาวนา ไม่ใช่นักปฏิวัติ แต่เป็นนักธุรกิจ เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในตลาดทุนเหมือนกับนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ และในพรรคอื่นๆ เพราะฉะนั้นการชำระสะสางเรื่อง 91 ศพ หรือเรื่องความยุติธรรมที่คนเสื้อแดงพูดถึงกันมากก่อนหน้านี้นั้น จะไม่ถูกพูดถึงเลย และจะไม่ปลดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก แน่นอน เพราะเขาอยู่อย่างนี้สบายกว่า” นิธิ แสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ในประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” ในฐานะกรรมการคณะปฏิรูปประเทศไทยมองว่า เนื่องจากกลุ่มคนที่กำลังจะเข้าสู่อำนาจนั้น เป็นนักธุรกิจ และเป็นนายทุนทั้งสิ้น การนำเรื่องการปฏิรูปที่ดิน การกระจายอำนาจ หรือเรื่องการจัดโครงสร้างภาษีใหม่นั้น จึงจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

นิธิกล่าวถึงข้อเสนอของคปร.ที่เคยเสนอไปว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมีอำนาจ ตราบใดที่ระบบการเมืองของไทยยังคงมอบอำนาจให้นายทุนการเมืองครอบงำพรรคอยู่ การปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำก็ยังคงเกิดขึ้นยากในอนาคต คปร.จึงคาดหวังมากกว่าว่าในอนาคตประชาชนจะร่วมกันผลักดันข้อเสนอเหล่านี้ไป สู่รัฐบาลด้วยตัวเอง

“ประชาธิปไตยคือการฟังเวลาอีกฝ่ายหนึ่งพูด ผมคิดว่านักการเมืองไม่ใช่ลิงที่อยู่บนต้นไม้ แต่คือคนที่จะต้องฟังประชาชน ฉะนั้นหากเสนอไปมากๆ เข้าก็เชื่อว่าเขาจะต้องรับฟัง และนำไปเปลี่ยนแปลงบ้าง” นิธิ กล่าว

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีต คปร. ก็พูดในแนวทางเดียวกันว่า คงจะหวังได้ยากว่าหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการแสดงวิสัยทัศน์ที่ผ่านมาพรรคนี้ไม่เคยสนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ เลย รวมถึงพรรคการเมืองอื่นด้วย

“พรรคการเมืองต้องการให้มีความเหลื่อมล้ำมากๆ เพื่อให้สามารถบริหารอำนาจของตัวเองได้ง่ายขึ้น และลดพลังการต่อรองทางอำนาจลง ซึ่งผมเชื่อว่าหลังจากนี้คงไม่มีนโยบายการปฏิรูปประเทศไทยออกมาให้เห็น” ณรงค์ กล่าว

ณรงค์ ยกตัวอย่างข้อเสนอของคปร.ที่ต้องการให้มีการรวมตัวของแรงงานเพื่อการต่อรอง หรือเรียกร้องสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการมากขึ้น แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดตอบรับ สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีพรรคการเมืองใดอยากจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างแท้ จริง ทั้งที่มีอดีตผู้นำแรงงาน เป็นคณะทำงานด้านนโยบายของทั้งสองพรรคการเมือง

“ในอนาคตเรามีปัญหาแน่ เพราะผลวิจัยระบุชัดเจนว่าในอนาคต เราจะมีจำนวนชาวนาลดลง และจะมีแรงงานที่เข้ามาทำงานในเมืองเพิ่มอีก 5-6 ล้านคนภายในไม่กี่ปี หากยังปล่อยให้พรรคการเมืองนำนโยบายฉาบฉวยอย่างการขึ้นค่าแรง หรือการเอาใจคนด้วยการเพิ่มเงินเดือน”​ ณรงค์ ระบุ

สำหรับปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา อาจารย์ณรงค์ กล่าวว่า ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้น แต่เกิดระหว่างกลุ่มคน ซึ่งในกลุ่มคนนั้นๆ มีหลายชนชั้นอยู่ภายใน เมื่อผลการเลือกตั้งแบ่งออกมาชัดขนาดนี้ ความขัดแย้งก็จะดำรงอยู่ต่อไป

“จากเดิมพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงเรียกตัว เองว่าไพร่ แต่เมื่อไพร่เข้าสู่อำนาจรัฐก็จะกลายเป็นอำมาตย์ไปโดยปริยาย คนที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจก็กลายเป็นไพร่แทน ในเมื่อสังคมมันจำกัดกันอยู่ที่คน 2 กลุ่มนี้ ไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขปัญหาอื่นๆ หรือการรวมตัวกันของคนกลุ่มอื่น สุดท้ายก็จะเกิดความขัดแย้งกันเหมือนเดิม” ณรงค์ แสดงความคิดเห็น

อาจารย์จุฬาฯ เปรียบเทียบนโยบายประชานิยมของทุกพรรคว่าเปรียบเสมือน “ลูกกวาด” และเหตุที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนมากขนาดนี้เนื่องจาก “ลูกกวาด” ของพรรคเพื่อไทยมีรสหวานหอมกว่าและกินง่ายกว่าลูกกวาดพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้พรรคเพื่อไทยมีคะแนนเหนือพรรคประชาธิปัตย์

ณรงค์ ยังวิเคราะห์ไปถึงกลุ่มคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยว่า เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้ ซึ่งก็คือคนชั้นกลางในเมือง หรือมนุษย์เงินเดือน แต่ปัญหาของคนเหล่านี้มักจะเชื่อในสิ่งที่หวือหวามากกว่า ดังนั้นหลังจากนี้คือเร่งสร้างความเข้าใจในระยะยาวว่า ขณะนี้ประเทศกำลังประสบปัญหาอะไร และจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร เช่น เรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศ เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว ซึ่งก็หวังว่าข้อสรุปที่คปร.เสนอมาจะมีประชาชนให้ความสนใจ และหยิบไปให้พรรคการเมืองนำไปปฏิบัติบ้างในอนาคต

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง เปิดเผยในรายการเลือกตั้ง 54 ก้าวใหม่ประเทศไทย ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) ว่า การที่ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยมาก สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนไม่ต้องการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้   

นอกจากนี้ยังเห็นว่า สาเหตุที่คนกรุงเทพฯ ไม่เลือกประชาธิปัตย์ เพราะนักธุรกิจ และประชาชนรู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลไม่ตัดสินใจในหลายเรื่อง เช่น โครงการมาบตาพุด การชั่งไข่ขาย ที่กลายเป็นเรื่องตลก ราคาน้ำมันพืชที่มีการเชื่อมไปถึงการมีผลประโยชน์จึงทำให้ราคาแพง

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาแสดงว่าประชาชนตัดสินแล้วว่า ต้องการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองให้ฝ่ายค้านกลับมาบริหารประเทศ ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนมาก และสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนอกวิถีรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ประชาชนรับไม่ได้ ควรจะหยุดได้แล้ว ให้ประเทศเป็นไปตามครรลอง

Tags : รัฐบาลเพื่อไทย ไพร่ กลายเป็น อำมาตย์

view