สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แฉเครือ มติชน ปัดส่งคนแจง พท.ซื้อสื่อ - เพื่อไทย ทุ่มซื้อโฆษณาเจ้าเดียว-จับพิรุธ วิม โกหกเมลฉาว

แฉเครือ มติชน  ปัดส่งคนแจง  พท.ซื้อสื่อ - เพื่อไทย  ทุ่มซื้อโฆษณาเจ้าเดียว-จับพิรุธ  วิม  โกหกเมลฉาว

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการ - เปิดรายละเอียดผลสอบ “เพื่อไทย” ซื้อสื่อ 3 นักข่าวเครือมติชน เมินให้ข้อมูล แค่ให้ บก.ส่งหนังสือแจง อ้างจะบรรเทาผลกระทบเอง จับพิรุธ “วิม” ให้สัมภาษณ์ขัดแย้งโฆษกพรรค อ้างอีเมลเปิดกว้างให้เช็กกำหนดการหาเสียง แต่นักข่าวสายเพื่อไทย ยันใช้อีเมลวิมไม่ได้ ผงะ “ข่าวสด-มติชน-ไทยรัฐ” เสนอข่าวเอียงข้าง “ยิ่งลักษณ์” ชัดเจน พบเพื่อไทยทุ่มลงโฆษณาเฉพาะเครือมติชน
              วันนี้ (17 ส.ค.) หลังจากที่คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมือง ระบุการให้เงิน และผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าผลการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เว็บไซต์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้เผยแพร่ “รายงาน คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมือง ระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ซึ่งเป็นเอกสารดิจิตอลจำนวน 19 หน้า
       
       เนื้อหาบางตอนในเอกสารดังกล่าว ระบุว่า แนวทางการตรวจสอบโดยได้กำหนดประเด็นอีเมลที่ปรากฏตามข่าวเป็นของใคร หนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงแต่ละฉบับมีการนำเสนอข่าวอย่างไรในช่วงหาเสียง เลือกตั้ง และผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพาดพิงมีการกระทำตามที่ปรากฏในอีเมลหรือไม่ และมีการจ่ายสินบนตามข้อกล่าวหาในอีเมลจริงหรือไม่ ซึ่งคณะอนุกรรมการได้เชิญผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงตามข่าว จำนวน 7 คน และผู้แทนเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ในฐานะผู้เผยแพร่ข่าวดังกล่าวเป็นที่แรกมาให้ข้อมูล
       
       ทั้งนี้ มีผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ 5 คน ได้ให้ความร่วมมือในการมาให้ข้อมูล ได้แก่ นางฐานิตะญาณ์ ธนพิศุทธิ์กุล บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น, นายปรีชา สอาดสอน บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม สำนักข่าวเนชั่น, นายสมหมาย ยาน้อย หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ นสพ.เดลินิวส์, นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ หัวหน้าข่าวการเมือง นสพ.ไทยรัฐ และ นายนิรันดร์ เยาวภาว์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
       
       • 3 นักข่าวเครือมติชนหลบให้ข้อมูล-จับโกหกคนชื่อ “ชลิต”
       
       อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้ถูกพาดพิงจำนวน 3 คนในเครือมติชน คือ นายจรัญ พงษ์จีน (ในอีเมลระบุ “พี่จรัญ”) นายทวีศักดิ์ บุตรตัน (หรือ “พี่เปี๊ยก”) และ นายชลิต กิติญาณทรัพย์ (หรือ “พี่ชลิต”) ไม่ได้มาให้ข้อมูล โดยบรรณาธิการ นสพ.มติชน ได้ทำหนังสือแจ้งมาว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการกระทำตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ส่วน นสพ.ข่าวสด ได้ทำหนังสือแจ้งมาว่า ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดชื่อ “ชลิต” ในกองบรรณาธิการ นสพ.ข่าวสด และข้อมูลที่เผยแพร่เป็นเท็จอย่างสิ้นเชิง
       
       ในภายหลังคณะอนุกรรมการ ทราบว่า นายชลิต เขียนบทความใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเช่นเดียวกับ นสพ.ข่าวสด จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอทราบข้อมูลการตรวจสอบจากบรรณาธิการ นสพ.มติชน อีกครั้ง พร้อมกับเชิญ นายจรัญ นายทวีศักดิ์ และนายชลิต มาให้ข้อเท็จจริง แต่ได้รับการตอบกลับจากบรรณาธิการ นสพ.มติชน ว่า บุคลากรของกองบรรณาธิการไม่ได้เกี่ยวข้องกับอีเมลดังกล่าว และไม่มีพฤติกรรมที่ปรากฏในอีเมลแต่อย่างใด และเห็นว่า เป็นหน้าที่โดยตรงของสื่อแต่ละฉบับที่ถูกพาดพิงจะบรรเทาผลกระทบที่จะเกิด ขึ้นเอง ส่วน นายจรัญ นายทวีศักดิ์ และ นายชลิต ก็ไม่ได้มาให้ข้อเท็จจริงและไม่ได้ทำหนังสือชี้แจงแต่อย่างใด
       
       นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการ ยังได้เชิญ นายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย มาให้ข้อมูลด้วย ซึ่ง นายวิม ได้ตอบรับที่จะมาให้ข้อมูลในวันที่ 10 ก.ค.แต่เมื่อถึงวันดังกล่าว นายวิม ได้แจ้งยกเลิก โดยอ้างว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคแนะนำไม่ให้มา เนื่องจากเกรงว่า ผลการตรวจสอบอาจจะส่งผลกระทบในด้านลบต่อพรรค ขอให้รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งก่อน อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการได้สอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากนายวิม ทางโทรศัพท์ในวันดังกล่าว ต่อมาเมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง คณะอนุกรรมการติดต่อ นายวิม อีกครั้งหนึ่ง แต่ถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ฝ่ายกฎหมายแนะนำไม่ให้มา เนื่องจากได้เกิดการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวไปยัง กกต.แล้ว
       
       • “วิม-เด็จพี่” ให้สัมภาษณ์ขัดกันเอง ขโมยรหัสลับเป็นไปไม่ได้
       
       ในรายงานระบุต่อมาว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะอนุกรรมการมีความเห็นว่า อีเมลดังกล่าวน่าจะส่งมาโดยใช้บัญชี (Account) และรหัสผ่าน (Password) ของนายวิม จริง เนื่องจากหลังเป็นข่าวนายวิม ไม่ได้ปฏิเสธ แต่อ้างว่า เป็นบัญชีที่เปิดไว้เป็นอีเมลสาธารณะสำหรับสื่อมวลชนตรวจสอบกำหนดการลง พื้นที่หาเสียงในจุดต่างๆ ของพรรค ขัดกับคำกล่าวอ้างของนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ว่า มีความพยายามของคนบางกลุ่มขโมยรหัสลับในการเข้าสู่อีเมล แต่หากอีเมลดังกล่าวเป็นบัญชีสาธารณะจริง ก็ย่อมไม่จำเป็นที่จะขโมยรหัสลับในการเข้าไปใช้แต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่า ทีมงานโฆษกพรรคเพื่อไทยคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน ให้ข้อมูลไม่เป็นความจริงต่อสาธารณะ
       
       ทั้งนี้ เชื่อได้ว่า นายวิม น่าจะเป็นผู้เขียนข้อความในอีเมลฉบับดังกล่าวเอง ด้วยเหตุผลคือ เนื้อหาในอีเมลส่วนใหญ่มีความเป็นเหตุผลและตรงกับข้อเท็จจริงที่บุคคลใน ตำแหน่งในตำแหน่งของนายวิมน่าจะรับรู้ ซึ่งเนื้อหาหลายส่วนน่าจะเป็นเรื่องที่นายวิม หรือทีมงานเท่านั้นที่อยู่ในฐานะล่วงรู้ข้อมูลได้ นอกจากนี้ บทบาทของนายวิมตามอีเมลดังกล่าวที่ช่วยแจ้งประเด็น เช็กประเด็นจากสื่อมวลชน สร้างประเด็นหรือภาพกิจกรรม ประสานสื่อมวลชน ตลอดจนเตรียมประเด็นแถลงข่าวให้ผู้บริหารของพรรค ก็น่าจะสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของนายวิมในฐานะรองโฆษกพรรค และตรงกับข้อเท็จจริง เช่น กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงนโยบายกีฬาของพรรค
       
       • ตั้งชื่ออีเมลตัวเองให้สื่อผิดวิสัย-นักข่าวยันเข้าอีเมลวิมไม่ได้ตามอ้าง
       
       ประการต่อมา ภาษาที่ใช้ในอีเมลกลมกลืนกันเหมือนเขียนด้วยคนเดียว วิธีเรียกชื่อสื่อมวลชนในอีเมลดังกล่าวก็สอดคล้องกับวิธีที่นายวิมใช้เรียก บุคคลเหล่านั้น ส่วนข้ออ้างของนายวิมที่กล่าวว่า อีเมลดังกล่าวเปิดไว้เพื่อใช้โดยสาธารณะสำหรังสื่อมวลชนและผู้สื่อข่าว ไม่น่าจะสมเหตุสมผล เนื่องจากผิดปกติวิสัยในการใช้อีเมลของคนทั่วไป หากจะเปิดอีเมลไว้ใช้ในสาธารณะก็น่าจะใช้ชื่อบัญชีกลางๆ ไม่ใชื่อบัญชีของตน นอกจากนี้ เมื่อคณะอนุกรรมการ ขอรหัสผ่านปรากฏว่า นายวิม ก็ไม่ได้ให้ ทั้งๆ ที่นายวิมพูดว่าเขาได้ให้รหัสผ่านแก่สื่อมวลชนจำนวนมาก และจากการสอบถามนักข่าวที่ทำข่าวประจำพรรคเพื่อไทยของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยได้จัดคอมพิวเตอร์ในการใช้งานอย่างเป็นระบบ การจะเข้าไปใช้ต้องมีการ์ด และนักข่าวไม่สามารถใช้อีเมลของนายวิมได้ตามที่กล่าวอ้าง
       
       ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงหลายคนที่มาให้ถ้อยคำ เชื่อว่า นายวิมเป็นผู้เขียนอีเมลดังกล่าวจริง โดยบางรายได้โทรศัพท์ไปหานายวิม และนายวิม ได้กล่าวคำขอโทษ โดยจากคำขอโทษดังกล่าวทำให้บุคคลนั้น เชื่อว่า นายวิมเป็นผู้เขียนอีเมลดังกล่าวจริง และประการสุดท้าย นายวิม กล่าวกับคณะอนุกรรมการทางโทรศัพท์ ระบุว่า “ไม่แน่ใจ แต่ทางพรรคน่าจะลบ (อีเมล) หรือไม่ก็บล็อก (บัญชีอีเมล) ไปแล้ว” ทั้งที่ไม่ควรมีเหตุผลต้องลบเพื่อทำลายหลักฐานดังกล่าว เนื่องจากนายวิม เคยกล่าวว่า “ทีมกฎหมาย (ของพรรคเพื่อไทย) จะต้องสอบถามข้อเท็จจริงจากเรื่องนี้” และเนื่องจากบัญชีอีเมลดังกล่าวเป็นของนายวิมเอง ซึ่งต้องใช้เป็นประจำ จึงสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าได้มีการลบหรือบล็อกไปแล้วหรือไม่ โดยไม่ต้องคาดเดา จึงอาจเกี่ยวข้องกับความพยายามในการปกปิดข้อมูลบางประการ
       
       อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการไม่สามารถตรวจสอบให้เรื่องดังกล่าวเกิดความกระจ่างโดยปราศจาก ข้อสงสัยได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะแสวงหาพยานหลักฐาน และไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ถูกพาดพิงบางรายจึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตาม กฎหมายในการแสวงหาหลักฐานต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการฟ้องร้องเรื่องดังกล่าวต่อศาลตามที่ผู้ถูก พาดพิงบางคนกล่าวว่าอาจจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทต่อผู้ ที่ทำให้เกิดความเสียหาย
       
       • พบ “ไทยรัฐ-มติชน-ข่าวสด” เอียงข้างยิ่งลักษณ์ชัดเจน
       
       คณะอนุกรรมการโดยการสนับสนุนของทีมงานที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบ สื่อ ได้สำรวจและวิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับที่ถูกพาดพิงเป็นข่าว คือ ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ และ คมชัดลึก ในระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-3 ก.ค.2554 โดยศึกษาเนื้อหาใน 5 ส่วน ได้แก่ ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ, พาดหัวข่าว/ความนำ ประเด็นข่าวและการเรียงลำดับประเด็นข่าว, บทสัมภาษณ์พิเศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว, คอลัมน์การเมือง และ โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ โดยในกรณีของการลงโฆษณาจะศึกษาหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจด้วย ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าวให้ข้อค้นพบดังต่อไปนี้
       
       1.ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ พบว่า หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ ค่อนข้างนำเสนอภาพข่าวในทางสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะข่าวสด และมติชน ซึ่งให้พื้นที่ ขนาด เนื้อหาของภาพเชิงบวกต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยมาก และมีข้อสังเกตว่า ภาพข่าวหลายภาพของไทยรัฐ มติชน และ ข่าวสด มีความคล้ายกันมาก มีลักษณะสื่อสารทางการเมืองมากกว่าภาพข่าวปกติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับภาพข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ คมชัดลึก นอกจากนี้ ภาพข่าวทั้งหมดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด คือ เชิงบวก และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือทางการเมือง แตกต่างกับของ นายอภิสิทธิ์ ที่มีทั้งภาพข่าวเชิงลบและบวก
       
       2.พาดหัวข่าว/ความนำ การเรียงลำดับประเด็นข่าวเลือกตั้ง ข่าว สด มติชน และ ไทยรัฐ แสดงออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจน ว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับ มักใช้การพาดหัวข่าวในการกำหนดประเด็นข่าว ซึ่งอาจชี้นำความคิดผู้อ่านให้เอนเอียงไปในทางที่โจมตีนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ และสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย โดยกรณีของข่าวสดนั้นมีความชัดเจนที่สุด
       
       3.บทสัมภาษณ์พิเศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว ผลการศึกษาพบว่า หนังสือพิมพ์มติชน ให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคเพื่อไทยถึง 4 ครั้ง คือ การสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในขณะที่มีการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เพียง 2 ครั้ง คือ การสัมภาษณ์ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และ นายสาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยกว้างขวางนัก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้สัมภาษณ์ของพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ข่าวสดเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่แปลบทสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอบีซีนิวส์ โดยลงเนื้อหาทั้งหมดที่ไม่มีการตัดทอน ส่วน ไทยรัฐ และ เดลินิวส์ ไม่มีบทสัมภาษณ์พิเศษของพรรคการเมือง
       
       4.คอลัมน์การเมือง หนังสือพิมพ์ข่าวสด มีคอลัมน์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาโจมตีนายอภิสิทธิ์ ชัดเจนและมากที่สุด เนื้อหาทั้งหมดยังสนับสนุนและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งแตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่ค่อนข้างมีความสมดุล ส่วนมติชนก็มีคอลัมน์ที่วิพากษ์วิจารณ์นายอภิสิทธิ์มากเช่นกัน แต่วิธีการสื่อภาษาไม่ชัดเจนเท่ากับหนังสือพิมพ์ข่าวสด
       
       • แฉเพื่อไทยทุ่มซื้อหน้าโฆษณาเฉพาะเครือมติชน
       
       5.โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่ โฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ 29 หน้าสี ซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งลงโฆษณา 18 หน้าสี นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทย ลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทมติชนเท่านั้น คือ หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และ ประชาชาติธุรกิจ (12, 12 และ 5 หน้าตามลำดับ) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ลงโฆษณาใน 5 ฉบับ คือ ข่าวสด มติชน ประชาชาติธุรกิจ เดลินิวส์ และ คมชัดลึก เช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดกลางอื่นๆ ที่ได้ลงในหนังสือพิมพ์ทั้ง 4-5 ฉบับ ทั้งนี้ ไม่พบโฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2554
       
       จากผลการศึกษาดังกล่าว เชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทย น่าจะมี “การบริหารจัดการสื่อมวลชน” อย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการสร้างและประสานประเด็นข่าว ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์บาง ฉบับ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า พรรคเพื่อไทย อาจมีการ “ดูแล” ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคบางรายด้วย
       
       • ไม่ฟันนักข่าวถูกพาดพิง อ้างหลักฐานน้อย-กังขา “ปรีชา-โจ้” ไม่แตะ “วิม”
       
       ส่วนการตรวจสอบเนื้อหาข่าว หรือบทความที่ผู้ถูกพาดพิงเขียนลงในหนังสือพิมพ์ต้นสังกัด พบว่า นายปราโมทย์ ซึ่งเขียนคอลัมน์วิเคราะห์ข่าวการเมือง วันอาทิตย์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พบว่า มีเนื้อหาที่ค่อนข้างมีความสมดุลกว่าคอลัมน์เดียวกันของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในวันอื่นๆ ด้าน นายสมหมาย ที่เขียนคอลัมน์สังคม หน้า 5 ประจำวันเสาร์ ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยใช้นามปากกาว่า “อันดามัน” แม้จะพบว่า ข้อเขียนที่ปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าวมักสนับสนุน น.ส.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ ผู้สมัคร ส.ส.เขตจตุจักร ของพรรคเพื่อไทย และพบข้อเขียนที่เสียดสีนายอภิสิทธิ์บ้างก็ตาม ผู้เขียนก็เคยวิจารณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคนเสื้อแดงอย่างมีเหตุผลด้วยเช่นกัน
       
       ขณะที่ นายชลิต พบบทความในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในช่วงเวลาที่ศึกษาเพียงบทความเดียว แม้จะมีเนื้อหาที่อาจแสดงถึงความโน้มเอียงบางประการ แต่บทความที่เกี่ยวข้องที่คณะอนุกรรมการ พบในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีจำนวนน้อยเกินไป ส่วน นายทวีศักดิ์ พบบทความในคอลัมน์ “เดินหน้าชน” เพียง 2 บทความ แม้จะมีเนื้อหาโจมตี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอาจแสดงถึงความโน้มเอียงบางประการของนายทวีศักดิ์ ก็ตาม แต่บทความที่เกี่ยวข้องที่คณะอนุกรรมการ พบในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีจำนวนน้อยเกินไปเช่นกัน ส่วนบทความในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ก็มีเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
       
       สำหรับ นายจรัญ พบว่า คอลัมน์ “ลึกแต่ไม่ลับ” ในหนังสือพิมพ์มติชน สุดสัปดาห์ มีเนื้อหาค่อนข้างมีความสมดุล รอบด้าน โดยเนื้อหาส่วนมากเน้นการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส่วนคอลัมน์ “เรียงคนมาเป็นข่าว” ในหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งใช้นามปากกา “พลุน้ำแข็ง” นั้นนำเสนอข้อมูลตามข่าวที่เกิดขึ้น และมักกล่าวถึงแนวโน้มการเลือกตั้งตามที่เป็นข่าวโดยทั่วไปตามปกติ ขณะเดียวกัน นายปรีชา ซึ่งยอมรับว่า รู้จักและเคยตีกอล์ฟกับนายวิม น่าจะไม่อยู่ในฐานะที่สามารถนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทยด้วย ตนเองโดยลำพังโดยง่าย เนื่องจากรับผิดชอบอยู่คนละสายข่าว ส่วน นางฐานิตะญาณ์ ภรรยา นายปรีชา ให้ข้อมูลว่า ได้ไปพบ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล จริง ไม่มีอำนาจในการคัดเลือกข่าวเพื่อนำเสนอในสื่อต่างๆ ในเครือเนชั่น
       
       อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการ มีข้อสังเกตว่า เมื่อปรากฏข่าวของอีเมลที่เป็นปัญหา ทั้งนายปรีชา และ นางฐานิตะญาณ์ ก็ไม่ได้โทรศัพท์ไปสอบถามหรือต่อว่านายวิมเลย ทั้งที่ นายวิม รู้จักเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เมื่อนายวิมโทรศัพท์ติดต่อมาที่ นายปรีชา กลับไม่ได้รับสาย และไม่ได้ติดต่อกลับ ทั้งที่ นายปรีชา รู้จักกับนายวิมมาก่อน แต่นายปรีชากลับให้การว่าจะเตรียมการฟ้องร้องต่อผู้ที่ทำให้ตนได้รับความ เสียหาย ซึ่งอาจรวมถึงนายวิมด้วย ซึ่งโดยสรุป คณะอนุกรรมการ เชื่อว่า ผู้ที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว แม้จะยังมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปรกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว

 


 

แถลงการณ์เครือมติชน-ข่าวสด ต่อรายงานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองฯ

จาก ประชาชาติธุรกิจ

แถลงการณ์เครือมติชน-ข่าวสด

 

ต่อรายงานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จ จริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมือง ระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

 

ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงิน และผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จากการเสนอข่าวอีเมล 2 ฉบับ ที่ใช้หัวข้อว่า "จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์" ส่งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 และ "ข้อเสนอ วิม"  ส่งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 เผยแพร่ในเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ซึ่งพาดหัวว่า "กุนซือ ′ปู′ ซื้อสื่อที่ละ 2 หมื่น" โดยเนื้อหาข่าวพาดพิงถึงการทำหน้าที่ของสื่อหนังสือพิมพ์หลายสังกัด ที่เป็นองค์กรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยมีรายชื่อคณะอนุกรรมการดังต่อไปนี้

1.นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน 2. นางบัญญัติ ทัศนียะเวช 3. รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ 4. ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ 5. ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นเลขานุการ
    

ซึ่งผลการสอบสวนระบุว่า คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การนำเสนอข่าวสารและบทความในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของหนังสือพิมพ์ที่ถูก พาดพิงบางฉบับโดยเฉพาะข่าวสด และรองลงมาคือ มติชน น่าจะมีความเอนเอียงในการก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การนำเสนอข่าว คอลัมน์การเมืองและบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม เห็นว่า บทความของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงในช่วงที่ศึกษาไม่ได้ แสดงความเอนเอียงที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างแจ้งชัด

เครือมติชน-ข่าวสด ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสอบสวนดังกล่าว ไม่สามารถยอมรับผลการสอบสวนดังกล่าวได้ และมีความเห็นว่าการสอบสวนครั้งนี้ดำเนินไปโดยผิดหลักทั้งด้านกฎหมาย ความมีเหตุผล และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ดังนี้
     

1.คณะอนุกรรมการดำเนินการสอบสวนนอกเหนือไปจากขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย
     

ทั้งที่หัวข้อการสอบสวนของสภาการหนังสือพิมพ์นั้นระบุอย่างชัดเจนว่าเป็น การ "ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงิน และผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน"

แต่แทนที่จะดำเนินการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย ดังชื่อของรายงานการสอบสวนคณะอนุกรรมการกลับตั้งประเด็นการสอบสวนว่า

ก.อีเมลที่ปรากฏตามข่าวเป็นของใคร

ข.หนังสือพิมพ์ที่ถูดพาดพิงแต่ละฉบับมีการเสนอข่าวอย่างไรในช่วงเวลาการ หาเสียงเลือกตั้ง และผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพาดพิงมีการกระทำตามที่ปรากฎในอีเมลหรือไม่

ค.มีการจ่ายสินบนตามข้อกล่าวหาในอีเมลจริงหรือไม่

จะเห็นได้ว่า ประเด็น "หนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงแต่ละฉบับมีการนำเสนอข่าวอย่างไร ในช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง" ถูกเพิ่มขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่ง

2.คณะอนุกรรมการกระทำผิดหลักการและมรรยาทของการสอบสวนข้อเท็จจริง
     

ไม่เพียงแต่จะกำหนดหัวข้อการสอบสวนขึ้นมาใหม่เอง แต่คณะอนุกรรมการผู้ดำเนินการสอบสวนที่ขยายขอบเขตของการสอบสวนออกไปโดยมิได้ แจ้งให้ผู้ใดทราบ

ซ้ำยังไม่ดำเนินการเรียกหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากองค์กรที่ตนเองพาดพิงไป ถึง เป็นการดำเนินการลับหลังแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งทำให้เกิดข้อสมมุติฐานและข้อสรุปที่ผิดพลาด

ไม่แต่เพียงเท่านั้น การเปิดเผยผลสอบออกมาก่อนที่จะมีมติของคณะกรรมการสภาหนังสือพิมพ์รับรองการ สอบสวนยังเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน นายสุนทร จันทรังสี รองประธานสภาหนังสือพิมพ์เองก็ยังระบุว่า "สภาการหนังสือพิมพ์ยังไม่ได้วินิจฉัยความผิดของผู้ถูกกล่าวหาว่าผิดตามข้อ กล่าวหาหรือไม่"

การที่คณะอนุกรรมการนำผลการสอบสวนที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาเปิดเผยก่อน ขณะเดียวกันก็มีกระบวนการอื่นๆ รับช่วงต่อเนื่องยึดโยงให้เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นทางการเมือง ย่อมส่อเจตนาอันไม่บริสุทธิ์

3.คณะอนุกรรมการละเมิดข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์เสียเอง
     

ข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์ หมวด 2 จริยธรรมของหนังสือพิมพ์ข้อ 14 ระบุว่า

"หนังสือพิมพ์ต้องปกปิดชื่อและฐานะของบุคคลที่ให้ข่าวไว้เป็นความลับ หากได้ให้คำมั่นแก่แหล่งข่าวนั้นไว้ หนังสือพิมพ์ต้องปกปิดนามปากกาหรือนามแฝงที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น เป็นความลับ"
     

แต่ในรายงานฉบับดังกล่าวของคณะอนุกรรมการกลับเปิดเผยนามปากกาของผู้ถูก สอบสวน โดยที่ผู้ถูกสอบสวนรายนั้นไม่ได้รับรู้และมิได้ให้ความยินยอม

4.คณะอนุกรรมการดำเนินการสอบสวนโดยมีเป้าประสงค์ในใจอยู่แล้ว
    

เพราะคณะอนุกรรมการฯ ก็ระบุเอาไว้เองว่า ทีมงานเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ซึ่งเป็นผู้นำอีเมล์ที่เป็นปัญหามาเผยแพร่ แทบไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวดังกล่าวเลย

เช่น ไม่ได้ตรวจสอบบัญชีอีเมลของผู้รับว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เป็นบัญชีของใคร ไม่ได้ตรวจสอบกับผู้ที่ถูกพาดพิงถึงในอีเมล โดยอ้างว่า หากสอบถามไป บุคคลที่ถูกพาดพิงก็อาจจะปฏิเสธได้ เพราะในเนื้อข่าวก็ยังไม่แน่ชัดว่าคนที่ถูกกล่าวถึงถูกพาดพิงถึงนั้นเป็นใคร และไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ที่ส่งข่าวมาให้เป็นใคร เป็นต้น

หากต้นตอของเรื่องไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ มิได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบเหมือนข่าวปกติทั่วไป เหตุใดคณะอนุกรรมการจึงให้น้ำหนักและให้ความสำคัญต่อข่าวดังกล่าว ถึงขั้นขยายการสอบสวนออกไปสู่ประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยเลยแต่ต้น

5.ผลสรุปของคณะกรรมการขัดแย้งกันในประเด็นสำคัญจนไม่น่าเชื่อถือ
     

ในขณะที่คณะอนุกรรมการสรุปว่าผู้ถูกกล่าวหาในเครือมติชน-ข่าวสด 2 ราย ไม่มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่ามีความเอนเอียงที่จะอำนวยประโยชน์ให้กับพรรค เพื่อไทย ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาอีก 1 รายมิได้อยู่ในสังกัดที่ถูกระบุถึงด้วยซ้ำ

แต่คณะอนุกรรมการกลับระบุว่าหนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสด มีความเอนเอียงเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โดยเลือกใช้ข้อมูลเฉพาะส่วนที่สนับสนุนความคิดของตนเองเท่านั้นเป็นเครื่อง ตัดสิน

6.คณะอนุกรรมการพุ่งเป้าที่จะสร้างความเสียหายให้กับหนังสือพิมพ์บางฉบับเป็นการเฉพาะ
     

ในกรณีของหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งได้ทำหนังสือชี้แจงว่า ไม่ปรากฏบุคคลที่มีชื่ออยู่ในอีเมล์อันเป็นที่มาของการสอบสวนอยู่ในกอง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด และข้อมูลที่เผยแพร่เป็นเท็จอย่างสิ้นเชิง อันแสดงให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์ข่าวสดมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดัง กล่าวมาแต่ต้น

แต่คณะอนุกรรมการกลับไปนำข้อมูลอื่น อันเป็นการทำหน้าที่ตามปกติของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยทั่วไปมาผสมรวม แล้วเลือกหยิบประเด็นที่ตนเองปักใจเชื่ออยู่แล้วกล่าวหาว่า การนำเสนอ ข่าวสารและบทความในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงบาง ฉบับโดยเฉพาะข่าวสด และรองลงมาคือ มติชน น่าจะมีความเอนเอียงในการก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การนำเสนอข่าว คอลัมน์การเมืองและบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย
     

การใช้ข้อมูลชนิดจับแพะชนแกะเพื่อให้ได้ผลสรุปตามที่ตนเองต้องการ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่นย่อมมิใช่วิสัยของวิญญูชน และมิใช่วิธีแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยความเที่ยงธรรม

7.คณะอนุกรรมการมีโมหาคติในการสรุปผลการสอบสวน โดยไม่เข้าใจหลักการจัดทำหนังสือพิมพ์
      

7.1 ระบุว่า ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพหนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ ค่อนข้างนำเสนอภาพข่าวในทางสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเฉพาะข่าวสดและมติชน ซึ่งให้พื้นที่ ขนาด เนื้อหาของภาพเชิงบวกต่อน.ส. ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยมาก
      

ทั้งที่การเสนอข่าวดังกล่าวเป็นไปตามข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในแต่ละวัน มิใช่เรื่องที่หนังสือพิมพ์เสกสรรปั้นแต่งขึ้นเองแต่อย่างใด

7.2 มีข้อสังเกตว่า ภาพข่าวหลายภาพของไทยรัฐ มติชน และข่าวสด มีความคล้ายกันมาก โดยภาพข่าวในหนังสือพิมพ์สามฉบับนี้ มีลักษณะสื่อสารทางการเมืองมากกว่าภาพข่าวปกติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับภาพข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ คมชัดลึก
     

ทั้งที่การเลือกนำเสนอข่าวของแต่ละหนังสือพิมพ์ ย่อมผิดแผกไปตามความสนใจของผู้อ่านของตนเอง ที่แต่ละฉบับต่างมีกลุ่มผู้อ่านแตกต่างกัน

7.3 ยังพบว่า ภาพข่าวทั้งหมดของน.ส. ยิ่งลักษณ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด คือ เชิงบวกและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือทางการเมือง แตกต่างกับของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่มีทั้งภาพข่าวเชิงลบและบวก
     

เช่นเดียวกับข้อ 7.1 ข่าวและภาพในแต่ละวันนั้น ย่อมเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หนังสือพิมพ์ไม่สามารถปั้นแต่งขึ้นมาเองได้ แต่จะต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมาด้วยความเคารพในความจริง

7.4 พาดหัวข่าว/ความนำ การเรียงลำดับประเด็นข่าวเลือกตั้ง: ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ แสดงออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจนว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และน.ส. ยิ่งลักษณ์ หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับมักใช้การพาดหัวข่าวในการกำหนดประเด็นข่าว ซึ่งอาจชี้นำความคิดผู้อ่านให้เอนเอียงไปในทางที่โจมตีนายอภิสิทธิ์และพรรค ประชาธิปัตย์ และสนับสนุน น.ส. ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย โดยกรณีของข่าวสดนั้นมีความชัดเจนที่สุด
     

หากคณะอนุกรรมการมีความรู้ความเข้าใจในหลักการและหลักปฏิบัติของการทำ หนังสือพิมพ์ ก็จะต้องทราบว่าพาดหัวข่าวหรือโปรยข่าวในแต่ละวันนั้น จะต้องสะท้อนข้อเท็จจริงของข่าวเป็นเบื้องต้น  โดยอาจจะสรุปภาพรวมหรือหยิบเอาประเด็นที่น่าสนใจที่สุดในข่าวขึ้นมา แต่ไม่สามารถที่จะพาดหัวหรือโปรยข่าวนอกเหนือไปจากความเป็นจริงในเนื้อข่าว ได้

7.5 บทสัมภาษณ์พิเศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว: ผลการศึกษาพบว่า หนังสือพิมพ์มติชน ให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคเพื่อไทยถึง 4 ครั้งคือการสัมภาษณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร, น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายณัฐวุฒิ   ใสยเกื้อ ในขณะที่มีการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เพียง 2 ครั้งคือ การสัมภาษณ์นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และนายสาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยกว้างขวางนักเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ ให้สัมภาษณ์ของพรรคเพื่อไทย
      

ในขณะที่ข่าวสดเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่แปลบทสัมภาษณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอบีซีนิวส์โดยลงเนื้อหาทั้งหมดที่ไม่มี การตัดทอน ส่วนไทยรัฐและเดลินิวส์ไม่มีบทสัมภาษณ์พิเศษของพรรคการเมือง
     

ข้อสรุปนี้แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนสำคัญในการสอบสวน นั่นคือการไม่ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงให้รอบด้าน

ในกรณีของหนังสือพิมพ์มติชนนั้น มีการทำจดหมายและติดต่อขอสัมภาษณ์นายอภิสิทธิ์ในช่วงการยุบสภา แต่นายอภิสิทธิ์ติดภารกิจไม่สามารถจัดเวลาให้สัมภาษณ์ได้ การสัมภาษณ์ถูกเลื่อนไปหลายครั้ง ความข้อนี้ทั้งนายอภิสิทธิ์และผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลย่อมยืนยันข้อ เท็จจริงได้

ไม่แต่เพียงเท่านั้น หนังสือพิมพ์มติชนยังติดต่อขอสัมภาษณ์นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอทราบและเผยแพร่แนวทาง-นโยบายในการหาเสียง แต่นายสุเทพเป็นฝ่ายบอกปัดปฏิเสธไม่ให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผย ความข้อนี้ก็มีพยานที่สามารถยืนยันได้เป็นจำนวนมาก

ในกรณีของหนังสือพิมพ์ข่าวสด การเลือกลงบทสัมภาษณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ใช้หลักการเช่นเดียวกันกับการเลือกพิจารณาข่าวอื่นๆ นั่นคือดูที่ความน่าสนใจและผลกระทบของเนื้อหาเป็นหลัก และหนังสือพิมพ์ข่าวสดย่อมไม่สามารถไปล่วงรู้ได้ว่า หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นจะให้ความสนใจในข่าวเดียวกันมากน้อยเพียงใด หรือจะลงข่าวใดบ้างในหนังสือพิมพ์วันต่อไป

7.6 คอลัมน์การเมือง: หนังสือพิมพ์ข่าวสดมีคอลัมน์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาโจมตีนายอภิสิทธิ์ ชัดเจนและมากที่สุด เนื้อหาทั้งหมดยังสนับสนุนและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่น.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งแตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่ค่อนข้างมีความสมดุล ส่วนมติชนก็มีคอลัมน์ที่วิพากษ์วิจารณ์นายอภิสิทธิ์มากเช่นกัน แต่วิธีการสื่อภาษาไม่ชัดเจนเท่ากับหนังสือพิมพ์ข่าวสด
     

ข้อสรุปนี้ยิ่งแสดงให้เห็นถึงอคติในการเลือกใช้ข้อมูล และการไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนของคณะอนุกรรมการ

เพราะหากติดตามอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสดมาโดยตลอดก็จะทราบว่า สิ่งที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดเรียกร้องต่อนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องรับผิดชอบสูงสุดต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนในเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 91 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 2,000 ราย ก็คือให้รัฐบาลอำนวยการให้การเปิดเผยความจริงและความยุติธรรมเกิดขึ้นโดย เร็ว รวมทั้งดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายให้ทั่วถึงและพอเพียง เพราะกรณีดังกล่าวจะเป็นปัญหาสังคมรุนแรงต่อไปในอนาคตหากขาดการจัดการที่ดี และดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด มิได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงการหาเสียงเลือกตั้งตามที่กล่าวอ้าง

หากผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ไม่มุ่งมั่นที่จะแสวงหาความจริง และมิได้มีจิตใจเห็นใจผู้ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน โดยเฉพาะความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากการสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บพิการ ย่อมไม่สมควรที่จะประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต่อไป

7.7 โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์: พรรคเพื่อไทย ได้ลงพื้นที่โฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ 29 หน้าสี ซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งลงโฆษณา 18 หน้าสี นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทมติชนเท่านั้นคือ หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และประชาชาติธุรกิจ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ลงโฆษณาใน 5 ฉบับคือ ข่าวสด มติชน ประชาชาติธุรกิจ เดลินิวส์ และคมชัดลึก เช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดกลางอื่นๆ ที่ได้ลงในหนังสือพิมพ์ทั้ง 4-5 ฉบับ ทั้งนี้ ไม่พบโฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2554
     

แสดงถึงการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้เป็นตามใจตนเองของคณะอนุกรรมการ

เพราะการที่ผู้ติดต่อขอลงโฆษณารายใดจะเลือกลงโฆษณาในสื่อหรือหนังสือ พิมพ์ใดๆ ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ลงโฆษณาเอง ว่าสื่อหรือหนังสือพิมพ์ที่เลือกลงโฆษณานั้นสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ ต้องการได้หรือไม่ สื่อหรือหนังสือพิมพ์ไม่สามารถไปกะเกณฑ์หรือตัดสินใจแทนได้

ยิ่งไปกว่านั้น การลงโฆษณายังมิได้มีผลอย่างใดการตัดสินใจต่อการนำเสนอข่าวของกองบรรณาธิการ ไม่เช่นนั้นแล้ว หากใช้หลักการของคณะอนุกรรมการมาสรุป หนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสดย่อมไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองใดได้ เลย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทย ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงว่าการทำหน้าที่ของกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับก็ยังดำเนินไปอย่างอิสระ

ไม่แต่เท่านั้น หากใช้ข้อสรุปแบบด่วนสรุปของคณะอนุกรรมการ โดยการนำเฉพาะตัวเลขหน้าโฆษณามาตัดสินใจอย่างง่ายๆ หนังสือพิมพ์ก็ยิ่งต้องเสนอข่าวในทางบวกให้กับพรรคการเมืองอื่นๆยิ่งกว่า พรรคเพื่อไทย เพราะว่าพรรคเหล่านั้นลงโฆษณามากกว่า ซึ่งในข้อเท็จจริงก็มิใช่เช่นนั้นอีก

8.คณะอนุกรรมการด่วนสรุปโดยไม่เป็นธรรม
     

จากข้อสรุปที่ระบุว่า

จากผลการศึกษาดังกล่าว เชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะมี "การบริหารจัดการสื่อมวลชน" อย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการสร้างและประสานประเด็นข่าว ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์บาง ฉบับ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า พรรคเพื่อไทยอาจมีการ "ดูแล" ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคบางรายด้วย
     

เพราะพรรคเพื่อไทยจะมีการบริหารจัดการสื่อมวลชนอย่างเป็นระบบหรือไม่ ก็เป็นเรื่องภายในของพรรคเพื่อไทยเอง จากข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นก็ชัดเจนว่า การจัดการภายในของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมิได้มีผลต่อการทำงานของ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แต่อย่างใด

พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอาจจะต้องการสร้างหรือประสานประเด็นข่าว ของตนเองขึ้นมา แต่มิได้หมายความว่าหนังสือพิมพ์จะต้องตอบสนองตามความต้องการนั้น

นอกจากนั้น การใช้วิธีการคาดเดาว่า "น่าจะ" มีการส่งภาพข่าวไปลงตีพิมพ์ แล้วด่วนสรุปเอาเองโดยทันที โดยไม่มีการสอบถามหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนรอบด้าน ย่อมแสดงถึงความโน้มเอียงของคณะอนุกรรมการเอง

แต่ที่เป็นการกล่าวหากันอย่างร้ายแรงที่สุด ก็คือการใช้ถ้อยคำกำกวมเพื่อให้ผู้ที่ได้อ่านเอกสารดังกล่าวตีความไปในทางลบ เช่น อาจมีการ "ดูแล"  ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคเพื่อไทย นอกจากไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา เพราะเป็นการอ้างข้อมูลที่เลื่อนลอยแล้ว ยังแสดงถึงเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ของผู้ดำเนินการสอบสวน ที่มีเป้าประสงค์มากกว่าตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับมอบหมาย

ฉะนั้น จากข้อเท็จจริงที่ได้ชี้แจงมาเบื้องต้นเครือมติชน-ข่าวสดจึงขอกราบเรียนด้วยความเคารพต่อหลักการของสภาการหนังสือพิมพ์ว่า

หนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ รวมไปถึงสื่ออื่นๆทั้งหมดในเครือ จึงไม่สามารถรับผลการสอบสวนและข้อสรุปที่ปราศจากข้อเท็จจริงและเป็นไป โดยอคติของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้
     

เครือมติชน-ข่าวสดขอยืนยันในความเป็นอิสระ ความสุจริต และความประพฤติที่เป็นไปตามกรอบจรรยาบรรณของบรรพสื่อมวลชน รวมไปถึงข้อบังคับทางจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ปลอดจากอามิสสินบนที่มิชอบในทุกรูปแบบ ซึ่งได้ปฏิบัติมาโดยตลอดตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และจะยังยึดถืออย่างแน่วแน่ต่อไปในอนาคต

จุดยืนที่ชัดเจน แน่วแน่ และสามารถตรวจสอบได้ของเครือมติชน-ข่าวสด ซึ่งสังคมประจักษ์อยู่แล้วก็คือ การยืนเคียงข้างประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และเป็นปากเสียงให้กับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม โดยมุ่งให้เกิดความสงบสันติ และความสุขสมบูรณ์ของสังคมและเพื่อนร่มชาติเป็นสำคัญ ดังที่เคยแสดงจุดยืนนี้มาแล้วในแถลงการณ์ร่วมของเครือเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ชุมนุมลดอุณหภูมิของการเผชิญหน้า และยุติการใช้กำลังในการแก้ไขปัญหาโดยทันที แต่ข้อเสนอเช่นนี้กลับมิได้รับการสนองตอบในทางที่ถูกต้องจากผู้มีอำนาจใน ฝ่ายบริหาร
     

ต่อการถูกสอบสวนครั้งนี้ บรรณาธิการของทั้งหนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือพิมพ์ข่าวสด ก็ให้ความร่วมมือกับคณะอนุกรรมการด้วยการชี้แจงเป็นเอกสาร ซึ่งยืนยันว่ามีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการภายในมาก่อนแล้ว และไม่พบพฤติกรรมที่ละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพแต่อย่างใด

ในข้อเสนอแนะประการที่ 4 จากรายงานของคณะอนุกรรมการดังกล่าวที่ระบุให้ สภา การหนังสือพิมพ์แห่งชาติควรตักเตือนหนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวและแหล่งข่าวที่ได้รับมาอย่างรอบคอบรัดกุม ก่อนนำเสนอข่าวที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และต้องไม่เสนอข่าวโดยเลื่อนลอยปราศจากแหล่งที่มาที่สามารถตรวจสอบได้ นั้น

น่าจะเป็นภาพสะท้อนการทำงานของคณะอนุกรรมการผู้จัดทำรายงานดังกล่าวด้วย อคติ ปราศจากการตรวจสอบที่รอบคอบรัดกุม และไม่เปิดเผยโปร่งใสมากกว่า

ที่ผ่านมาเครือมติชน-ข่าวสดถูกกล่าวหา ถูกใส่ร้ายป้ายสีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการยัดเยียดข้อหาล้มเจ้าหรือข้อหาบ่อนทำลายสถาบันยุติธรรม แต่ก็ใช้ความอดทนไม่ตอบโต้ และใช้การกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตนเองมาโดยตลอด จนความเป็นจริงปรากฎชัดเจนว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นเรื่องเลื่อนลอยไร้มูล ความจริงโดยสิ้นเชิง

ฉะนั้น เครือมติชน-ข่าวสดจึงขอสงวนสิทธิตามกฎหมายในฐานะพลเมืองไทย ในอันที่จะปกป้องสิทธิและชื่อเสียงของตนเอง หากถูกกล่าวหาโดยเลื่อนลอยและไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะจากองค์กรหรือบุคคลใดก็ตาม

ด้วยความมั่นใจในวัตรปฏิบัติและผลงานที่พิสูจน์ตนเองมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ว่าอยู่ในกรอบของจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และการทำงานของกองบรรณาธิการเป็นอิสระ-มีเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 ให้การรับรอง เครือมติชน-ข่าวสดเชื่อมั่นว่าสังคมและผู้อ่านสามารถตรวจสอบความสุจริตและ ความโปร่งใสในวิชาชีพของหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ ในเครือทั้งหมดได้ตลอดเวลา
     

จึงเรียนมาด้วยความเคารพ


มาร์คสวนสื่อบางฉบับดูตัวเอง

จาก โพสต์ทูเดย์

“อภิสิทธิ์” ปัดข้อกล่าวหาสนิท "ประสงค์” อดีต บก.มติชน สวนสื่ิอบางฉบับควรกลับไปดูตัวเอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อสรุปของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่หนังสือพิมพ์มติชนออก มาระบุว่า นายประสงค์ เลิศรัตน์วิสุทธิ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและอดีตบรรณาธิการเฉพาะ กิจสำนักพิมพ์ น.ส.พ.มติชน มีความใกล้ชิดกับนายอภิสิทธิ์ว่า  ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะมีการไปนำเอาจดหมายฉบับหนึ่ง ที่เสนอแนะเรื่องตัวปลัดกระทรวงหนึ่งและในที่สุดรัฐบาลก็ไม่ได้พิจารณาตามคำ แนะนำ อย่าไปเบี่ยงเบนประเด็น เวลาที่นักการเมืองถูกสอบ มักจะตำหนิว่า อย่าไปตอบโต้เรื่องตัวคนสอบ ให้ตอบโต้ชี้แจงด้วยเนื้อหาสาระ  วันนี้พอ มติชน ข่าวสด ถูกพาดพิงเอง กลับใช้วิธีที่ตำหนิคนอื่นมาตลอด

เมื่อถามว่า การที่ยังไม่มีกฎหมายในการที่จะมาดูแลวิชาชีพสื่อ มันคือช่องว่าง  นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นี่คือส่วนหนึ่งที่เราพยายามทำตอนนั้น  แต่เรื่องค้างอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะเราระมัดระวังเรื่องกฎหมายและพอเอาเรื่องกฎหมายและมีอำนาจรัฐเข้ามา เกี่ยว  เดี๋ยวก็ว่ารัฐก็เข้าไปแทรกแซง  เราพยายามให้เกียรติ  ให้สื่อตรวจสอบกันเอง และเมื่อตรวจสอบแล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการอะไรกันได้อย่างเป็นรูปธรรม มันก็จะเป็นปัญหาต่อไป เรื่องนี้มติชน  ข่าวสดก็ต้องไปชี้แจงต่อสภาการหนังสือพิมพ์ฯ

    
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาสภาการหนังสือพิมพ์ออกมากล่าวว่า ไม่เคยได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่ถูกพาดพิงนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ควรจะให้ความร่วมมือ เพราะเราอยากสื่อให้ร่วมมือกันเอง การที่สื่อดูแลกันเองได้ ก็ต้องมีองค์กรที่ให้ความร่วมมือ อย่าไปเปิดช่องให้เป็นเรื่องที่คนอื่นเข้าไปแทรกแซง

เมื่อถามย้ำว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยมีการบริหารจัดการสื่ออย่างเป็นระบบได้ในช่วงหาเสียงและ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลการบริหารจะเป็นระบบมากขึ้นหรือไม่  นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า  เริ่มมีสัญญาณอยู่  เริ่มมีข่าวอยู่ อีกไม่กี่วันก็จะเห็นชัดเจนขึ้น

Tags : แฉเครือมติชน ปัดส่งคนแจง พท.ซื้อสื่อ เพื่อไทย ทุ่มซื้อโฆษณาเจ้าเดียว จับพิรุธ วิม โกหกเมลฉาว

view