สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขันติธรรมในสังคมประชาธิปไตย

ขันติธรรมในสังคมประชาธิปไตย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  มติชนรายวัน  วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11069
แล้วเหตุการณ์วันที่ 20 มิถุนายน ก็ผ่านไปโดยเลือดไม่ตกยางไม่ออก ทุกคนโล่งใจ หุ้นดีดตัวขึ้นทันทีที่พันธมิตรฝ่าด่านตำรวจเข้าไปโดยไม่เกิดการปะทะกัน
เสียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรงของสังคมคงมีผลอยู่ไม่น้อย ในขณะเดียวกันดูเหมือนจะมีการเรียนรู้ในฝ่ายรัฐด้วยว่า การใช้ความรุนแรงกับประชาชนเพื่อแก้วิกฤตทางการเมือง เมื่อสถานการณ์ได้ขยายตัวถึงขั้นที่มีฝูงชนจำนวนมหึมาเช่นนี้ ไม่มีทางนำมาซึ่งชัยชนะได้ แม้ความเคลื่อนไหวของฝูงชนนั้นไม่มีความชอบธรรมทางกฎหมายเลยก็ตาม
เพียงแค่ฝ่ายรัฐ (ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร) สำนึกได้ว่า ความชอบธรรมทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้ทุกกรณี สำนึกนี้ก็ถือว่าเป็นการก้าวแรกบนสันติวิถีที่สังคมไทยจำเป็นต้องก้าวเดินไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในฝ่ายประชาชนผู้ร่วมประท้วงกับพันธมิตร สันติวิธีเป็น "อำนาจ" อันเดียวที่ตัวมีอยู่ ฉะนั้นโดยทั่วไปแล้ว ผู้นำการประท้วงมักพยายามที่จะรักษาภาพของสันติวิธีไว้อย่างถึงที่สุด
แต่ที่น่าชื่นชมเป็นพิเศษในครั้งนี้คือท่าทีของประชาชนทั่วไป เพราะไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยหรือไม่กับการประท้วงของพันธมิตรก็ตาม ต่างยืนยันหนักแน่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ควรใช้ความรุนแรง และในกรณีนี้สื่อโดยเฉพาะทีวีทำหน้าที่ได้ดี ที่เปิดให้ความเห็นของประชาชนกลุ่มที่อยากเห็นรัฐบาลได้ทำงานไปอย่างราบรื่น แต่ก็ต่อต้านมาตรการความรุนแรงทั้งหลายที่รัฐใช้หรืออาจใช้อย่างหนักแน่น
การเรียนรู้ของฝ่ายรัฐก็ตาม ขันติธรรมของสังคมโดยรวมก็ตาม บ่งชี้ว่าสังคมไทยก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งในความเป็นประชาธิปไตย นั่นคือเห็นต่างกันได้ แต่ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงเข้าใส่กัน
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลึกไปกว่าผลบั้นปลาย คือหลีกเลี่ยงการนองเลือดได้ สังคมไทยอาจไม่ได้ก้าวหน้าไปในวิถีทางประชาธิปไตยมากนัก นอกจากขันติธรรมต่อความแตกต่างของผู้คนในสังคมซึ่งมีเพิ่มขึ้น
ฝ่ายรัฐยืนยันตลอดมาว่า จะสกัดฝูงชนไว้ไม่ให้เคลื่อนมาถึงทำเนียบรัฐบาลได้ นอกจากยืนยันด้วยคำพูดแล้วยังยืนยันด้วยการเตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจนับหมื่นนาย รวมทั้งอุปกรณ์การสกัดฝูงชนเพียบ ในขณะเดียวกันก็พยายามสกัดกั้นมิให้ผู้ร่วมประท้วงจากต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ด้วยวิธีต่างๆ ทั้งที่ทำและไม่ทำให้ทรัพย์สินผู้ประท้วงเสียหาย
แต่จำนวนของผู้ร่วมประท้วงนั้นมืดฟ้ามัวดิน เกินกว่าที่ตำรวจจะสามารถสกัดกั้นได้ ฉะนั้นจึงไม่เหลือทางอื่นใดแก่รัฐบาลมากไปกว่าปล่อยให้ผู้ประท้วงฝ่าด่านเข้าไปถึงหน้าทำเนียบ
การเตรียมการทั้งหมดเหล่านี้แสดงว่า หากกลุ่มผู้ประท้วงมีจำนวนไม่มาก รัฐก็จะไม่ยินยอมให้ฝูงชนเคลื่อนไปถึงทำเนียบรัฐบาลได้ และเป็นไปได้ว่าตำรวจอาจได้รับคำสั่งให้ใช้กำลังระดับหนึ่ง เมื่อถูกผู้ประท้วงละเมิดเขต รวมทั้งอาจใช้อุปกรณ์ที่เตรียมมา เช่น แก๊สน้ำตา เป็นต้น
สอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีพูดทางทีวีหลังเหตุการณ์ว่า หากประชาชนทั่วไปทนไม่ได้กับการประท้วง นายกฯ เองก็จะจัดการตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตน อาการทนไม่ได้ของประชาชนแสดงออกได้ด้วยจำนวนของผู้เข้าร่วมการประท้วงลดลง
ฉะนั้นโดยเนื้อแท้แล้ว รัฐไม่ได้เคารพสิทธิในการประท้วง หรือสิทธิการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการประท้วงของประชาชนจริง การระงับใช้กำลังกับฝูงชนเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ว่า หากกลุ่มผู้ประท้วงสามารถรวมตัวกันได้ด้วยจำนวนผู้คนมากมายเช่นนี้ การใช้กำลังมีแต่จะนำความเสียหายมาแก่รัฐบาลเอง เป็นไปได้ว่ากองทัพ (ซึ่งนายกฯ เข้าไปหารือด้วย) ซึ่งมีประสบการณ์นี้มานานเป็นผู้ให้คำแนะนำ ผบ.สส.ให้สัมภาษณ์ในภายหลังเหตุการณ์ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ทหารจะทำอะไรได้ดีไปกว่าตำรวจ เพราะทหารไม่มีวิธีสกัดฝูงชนด้วยวิธีอื่นนอกจากวิธีแบบทหาร
หากการประท้วง กระทำโดยสงบอย่างแท้จริง แต่ทำโดยกลุ่มคนที่ไม่มีจำนวนมืดฟ้ามัวดินเช่นนี้ ดังการยกขบวนเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีของชาวจะนะที่ต่อต้านท่อก๊าซที่เมืองหาดใหญ่ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็สามารถใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยสงบนั้นด้วยวิธีรุนแรงได้เหมือนเดิม
สิทธิในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธจึงยังไม่ได้เปิดขึ้นแก่คนไทยทุกคน
ในทางตรงกันข้าม สันติวิธีก็เป็นเพียง"อาวุธ"ของฝ่ายประท้วง เพราะเป็นเงื่อนไขของสิทธิที่รัฐธรรมนูญประกันไว้ (การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็หาได้มีท่าทีแห่ง"สันติ"แต่อย่างใดไม่
การเคลื่อนขบวนกระทำกันภายใต้แผนยุทธวิธีที่เรียกว่า"สงคราม"เก้าทัพ หรือ"สงคราม"ครั้งสุดท้าย ก่อนการเคลื่อนขบวนก็มีการขู่ว่าจะตัดน้ำตัดไฟหน่วยราชการที่ค้างจ่ายค่าน้ำค่าไฟ การชุมนุมรวมถึงการปิดถนนขวางกั้นการจราจร ซึ่งกระทำอย่างต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ สำนวน"ตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร"ถูกใช้บนเวทีอยู่บ่อยๆ และหลายครั้งด้วยกันก็ชี้ผู้คนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมให้กลายเป็นศัตรูไปหมด สื่อของฝ่ายประท้วงยุให้ทำร้ายร่างกายผู้ที่ตนเห็นว่าเป็นศัตรูทางความคิด ข้อเรียกร้องของฝ่ายประท้วงก็เป็นข้อเรียกร้องสุดโต่ง (คือให้รัฐบาลลาออกเท่านั้น) ปิดหนทางการประนีประนอมอย่างสิ้นเชิง
ทั้งหมดนี้ไม่อาจเรียกว่า"สันติวิธี"ซึ่งแปลว่า"ปราศจากความรุนแรง"ในทุกความหมายได้
ฉะนั้นสิ่งที่เราเผชิญอยู่เวลานี้ คือสังคมที่ไม่"ประชาธิปไตย"เอาเลย ที่รอดมาจากการนองเลือดได้ ก็เพราะเงื่อนไขไม่เหมาะที่จะใช้ความรุนแรงแก่กันเท่านั้น ใครที่ได้อำนาจไว้ในมือ ไม่ว่าอำนาจนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือความสามารถในการนำฝูงชน ไม่ได้มีขันติธรรมต่อความคิดความเห็นที่ต่างจากตัว พร้อมจะใช้กำลังอำนาจที่มีในมือในการทำร้ายปฏิปักษ์ด้วยความรุนแรงตลอดเวลา (หากเงื่อนไขอำนวย)
ความหวังอันเดียวสำหรับประชาธิปไตยไทย คือสังคมโดยรวมก้าวหน้ามากขึ้นในด้านขันติธรรม ดังที่กล่าวแล้ว หากเมืองไทยจะอยู่เป็นปกติสุขต่อไปในอนาคต ก็อยู่ที่เราจะทำให้ขันติธรรมของสังคมโดยรวมนี้พัฒนาก้าวหน้าต่อไปให้มากๆ ขึ้นได้อย่างไร
view