สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศัพท์ตลาดทุน



กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Link)
กรมธรรม์ที่บริษัทประกันชีวิตออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันชีวิตได้มีการทำสัญญาประกันชีวิตและสัญญาการลงทุนในหน่วยลงทุน โดยมีการตกลงว่าผู้เอาประกันภัยจะชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตให้แก่บริษัทประกันชีวิตสำหรับการให้ความคุ้มครองต่อการมรณะหรือการจ่ายเงินเมื่อมีการทรงชีพ และผู้เอาประกันภัยจะชำระเงินค่าหน่วยลงทุนเพื่อการลงทุนในกองทุนรวมโดยผ่านบริษัทประกันชีวิต

กรรมการอิสระ (Independent Director)
กรรมการบริษัทจดทะเบียนที่มีความเป็นอิสระจากผู้ถือหุ้นใหญ่หรือกลุ่มของผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารของบริษัทนั้น กรรมการอิสระต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด กล่าวคือ ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวไม่เกิน 0.05% ต้องไม่เป็นกรรมการที่เป็นผู้บริหาร ไม่เป็นลูกจ้างหรือพนักงาน หรือที่ปรึกษาที่ได้รับผลตอบแทนประจำจากบริษัทไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต ไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทอันอาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระ คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งต้องมีกรรมการอิสระอย่างน้อย 3 คน

กองทุนพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Fund : ABF)
เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 โดยธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ และเขตเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิกรวม 11 ประเทศหรือที่รู้จักกันในนาม Executive’s Meeting of East Asia and Pacific Central Banks (EMEAP) ซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ และประเทศไทย กองทุน ABF จะมุ่งลงทุนในพันธบัตรเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ออกโดยรัฐบาลหรือ รัฐวิสาหกิจของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียยกเว้นพันธบัตรที่ออกโดยประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ กองทุนพันธบัตรเอเชียกองแรกนั้นมีวงเงินแรกเริ่มจำนวนประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

กองทุนพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Fund 2: ABF2)
กองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่ 2 หรือ กองทุน ABF2 จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2547 โดยมีวัตถุประสงค์ลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นของกลุ่มประเทศเอเชีย ทั้ง 8 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย เงินทุนใน ABF2 มีจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะได้รับการจัดสรรแบ่งเป็นกองทุนใหญ่ 2 กอง ได้แก่ กองทุนแพน-เอเชีย บอนด์ อินเด็กซ์ ฟันด์ (Pan-Asia Bond Index Fund ; PAIF) ซึ่งจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและกึ่งรัฐบาลในสกุลเงินท้องถิ่นของสมาชิก EMEAP 8 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ จำนวน 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และฟันด์ ออฟ บอนด์ ฟันด์ (Fund of Bond Funds; FoBF) ซึ่งเป็น 8 กองทุนย่อยใน 8 ประเทศซึ่งจะลงทุนในพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลและกึ่งรัฐบาลในสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละตลาด รวมจำนวน 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

กองทุนรวม (Mutual Fund)
กองทรัพย์สินที่จัดตั้งและบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมหรือเรียกย่อ ๆ ว่า " บลจ." มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุน แก่ผู้ลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ที่ให้ผลตอบแทนและมีความเสี่ยงในการลงทุนแตกต่างกันไป อาทิเช่น ลงทุนในหุ้นทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตราสารทางการเงินประเภทต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผลหรือกำไรจากการขายหน่วยลงทุน

กองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน (กองทุนปิด) (Closed-End Fund)
กองทุนรวมที่ บลจ. จะไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนจนกว่าจะครบกำหนดอายุกองทุนรวม เช่น 5 ปี 7 ปี เป็นต้น โดย บลจ. จะเสนอขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวตอนเริ่มต้นโครงการ ทำให้หน่วยลงทุนของกองทุนรวมประเภทนี้มีจำนวนที่แน่นอนและเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ลงทุน บลจ. มักนำหน่วยลงทุนไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ โดยผ่านบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ในราคาตลาด ซึ่งอาจจะต่ำกว่า หรือสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของหน่วยลงทุนนั้น ๆ

กองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (กองทุนเปิด) (Open-End Fund)
กองทุนรวมที่ บลจ. ขายหน่วยลงทุนและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการ เช่น เปิดทำการซื้อขายเดือนละครั้ง สัปดาห์ละครั้ง หรือทุกวันทำการ ในราคาซื้อขายหน่วยลงทุนที่คำนวณจากราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุนอยู่

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) (Property Fund “type 1 fund”)
กองทุนรวมที่ บลจ. จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป เพื่อไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้ประจำในรูปค่าเช่า เช่น อาคารสำนักงาน เซอร์วิส อพาร์ทเมนท์ เป็นต้น โดยรายได้ที่เกิดขึ้นจากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปให้ผู้ลงทุนในรูปเงินปันผล และ บลจ.จะนำกองทุนไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ กองทุนดังกล่าวจัดเป็นกองทุนปิด

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน (กอง 2)
(Property Fund for Resolving Financial Institution Problems “type 2 fund”)
กองทุนรวมที่ บลจ. จัดตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนสถาบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ในการนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนไปซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนในสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน และจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าว

กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน (กอง 3)
(Mutual Fund for Resolving Financial Institution Problems “type 3 fund”)
กองทุนรวมที่ บลจ. จัดตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนสถาบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนในทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง (กอง 4) (Property and Loan Fund “type 4 fund”)
กองทุนรวมที่ บลจ. จัดตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนสถาบันโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการนำเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนไปซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ และจัดหาประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว หรือลงทุนในสิทธิเรียกร้องหรือในทรัพย์สินอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน

กองทุนรวมตราสารแห่งทุน (equity fund)
กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ที่จะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ซึ่งตราสารแห่งทุนหมายความถึงหุ้นสามัญของบริษัทต่าง ๆ หุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น เป็นต้น

กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ( fixed income fund)
กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ที่จะลงทุนในตราสารแห่งหนี้ เช่น พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ เป็นต้น โดยจะไม่ลงทุนในหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น

กองทุนรวมผสม (mixed fund)
กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ที่จะดำรงอัตราส่วนการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนในขณะใดขณะหนึ่ง ไม่เกินร้อยละ 65 และไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ดังนั้น กองทุนรวมผสมจะลงทุนทั้งในตราสารแห่งทุนและตราสารแห่งหนี้

กองทุนรวมหน่วยลงทุน (fund of funds)
กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม เนื่องจากกองทุนรวมมีข้อดีหลายประการ ที่สำคัญคือ มีการกระจายการลงทุน ความเสี่ยงจึงลดลง ทั้งยังมีต้นทุนเฉลี่ยต่ำ กองทุนรวมหน่วยลงทุนจึงรับเอาข้อได้เปรียบดังกล่าวมา นอกจากนั้นแล้ว กองทุนรวมหน่วยลงทุนยังกระจายการลงทุนไปในหลาย กองทุนรวมภายใต้การจัดการของหลายผู้จัดการกองทุนและหลายบริษัทจัดการ จึงเป็นการกระจายความเสี่ยงที่กว้างขวางกว่า ข้อเสียของกองทุนรวมหน่วยลงทุน อยู่ที่มีค่าธรรมเนียมในการจัดการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซ้ำซ้อน

กองทุนรวมตลาดเงิน (money market fund)
กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก ตราสารหนี้ หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ซึ่งมีกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถามหรือจะครบกำหนดชำระคืนหรือมีอายุสัญญาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงทุนในทรัพย์สิน หรือเข้าทำสัญญาเหล่านั้น

กองทุนรวมมีประกัน (guaranteed fund)
กองทุนรวมมีประกัน คือ กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีบุคคลอื่นประกันว่าหากผู้ถือหน่วยลงทุนได้ถือหน่วยลงทุนจนครอบตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน จากการไถ่ถอนหรือการขายคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนเงินที่ประกันไว้

กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น (capital protected fund)
กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมวางแผนการลงทุนเพื่อให้ความคุ้มครองเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ ตามที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม

กองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (specific fund)
กองทุนรวมที่มีนโยบายในการกระจายการลงทุนน้อยกว่ามาตรฐานการกระจายการลงทุนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดสำหรับกองทุนรวมทั่วไป

กองทุนรวมดัชนี(indexfund)
กองทุนรวมที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาหลักทรัพย์ที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม โดยดัชนีราคาหลักทรัพย์ดังกล่าวต้องได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund : FIF)
กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาอนุญาตให้มีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้ในวงเงินจำกัดในแต่ละปี ต้องนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศทั้งจำนวน เว้นแต่เป็นกรณีเงินฝากในประเทศ เพื่อสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงานของกองทุน รอการลงทุน หรือรักษาสภาพคล่องของกองทุน เป็นต้น

กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์
(mutual fund for resolving capital problem of commercial banks)
กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ โดยจะต้องเป็นกองทุนรวมที่กำหนดอายุโครงการจัดการกองทุนรวมที่แน่นอน

กองทุนรวมวายุภักษ์ (Vayupak Fund)
จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. เพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้แก่ประชาชน
2. ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ
3. ทำให้การบริหารจัดการหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังถือครองอยู่เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มทางเลือกให้กับรัฐบาลในการจัดสรรเงินที่นอกเหนือจากการจัดสรรเงินจากงบประมาณ เพื่อนำไปลงทุนในกิจการที่มีความจำเป็นและต้องการการส่งเสริมจากภาครัฐ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (retirement mutual fund หรือ RMF)
กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมและการลงทุนของบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการเกษียณอายุที่มีคุณภาพ ผู้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มากกว่าการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป เพราะเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกินปีละ 300,000 บาท ทั้งนี้ ให้นับรวมเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วแต่กรณี ผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษีเงินได้ทันที ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มลงทุน

กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ (Country Fund)
กองทุนรวมที่เสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดแก่บุคคลซึ่งไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF)
กองทุนรวมตราสารแห่งทุนที่นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมที่ โดยทางการสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบัน (ซึ่งก็คือ กองทุนรวม) ที่จะลงทุนระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การเพิ่มผู้ลงทุนสถาบันดังกล่าวจะช่วยให้ตลาดทุนไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจในการลงทุน โดยเงินลงทุนซื้อหน่วยในกองทุนประเภทนี้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ โดยกำหนดเพดานสูงสุดไว้ที่ไม่เกิน 300,000 บาท นอกจากนี้ กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนหรือ capital gain tax ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินได้เมื่อเสียภาษี ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน

กองทุนรวมสึนามิ (Tsunami Fund)
กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากธรณีพิบัติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ในจังหวัดภาคใต้ 6 จังหวัด

กองทุนรวมอีทีเอฟ (exchange traded fund : ETF)
กองทุนรวมเปิดที่โดยทั่วไปบริษัทจัดการกองทุนรวมจะขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกับผู้ลงทุนรายใหญ่ และจัดให้มีตลาดรอง (organized market) สำหรับการซื้อขายหน่วยลงทุนของผู้ลงทุนใด ๆ โดยบริษัทได้จัดให้มีผู้ลงทุนรายใหญ่อย่างน้อยหนึ่งรายที่พร้อมจะซื้อและขายคืนหน่วยลงทุนเพื่อให้ราคาซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดรองสะท้อนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมได้อย่างใกล้เคียง

กองทุนรวมที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (flexible automatic redemption fund)
กองทุนรวมซึ่งมีข้อกำหนดระบุว่า บลจ. จะพิจารณาดำเนินการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติตามมูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 จากจุดเริ่มต้น หรือจากจุดที่ บลจ. ได้ทำการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติตามมูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้นครั้งล่าสุด เว้นแต่ในกรณีที่ บลจ. พิจารณาเห็นว่าการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติตามมูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างเต็มที่ หรือเว้นแต่ผู้ลงทุนจะแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความประสงค์ที่จะไม่ให้ บลจ. ทำการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ ลักษณะเด่นของกองทุนคือ ผู้ลงทุนจะได้รับเงินกำไรคืนโดยวิธีขายคืนอัตโนมัติร้อยละ 5 ทุกครั้งที่กองทุนมีผลตอบแทนร้อยละ 10 ผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเต็มที่คือ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ หรือภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากผลตอบแทนที่ได้รับ และมีสภาพคล่อง โดยสามารถซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ

กองทุนส่วนบุคคล (private fund)
กองทุนของลูกค้าแต่ละรายที่มีวงเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือกองทุนของคณะบุคคลซึ่งประกอบด้วยบุคคลไม่เกิน 9 คนและมีวงเงินไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดการลงทุนให้ เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการลงทุนในหลักทรัพย์ ทั้งนี้ผู้ดูแลจัดการกองทุนจะได้รับค่าธรรมเนียมเป็นผลตอบแทน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PROVIDENT FUND)
กองทุนสะสมสำหรับลูกจ้างเมื่อออกจากงาน กองทุนนี้จะสะสมเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือนโดยส่วนหนึ่งเป็นการหัก สะสมมาจากเงินเดือนของลูกจ้างและอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินสมทบของฝ่ายนายจ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์งอกเงยแก่กองทุนอย่างมีประ สิทธิภาพและจำกัดความเสี่ยง ทางการได้กำหนดขอบเขตการลงทุนของกองทุนและกำหนดสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภท ต่าง ๆ ไว้ การลงทุนของกองทุนจะต้องอยู่ภายใต้การจัดการของสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การขายเพื่อเอากำไร (profit taking)
การขายหลักทรัพย์ในระดับราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมาเพื่อที่จะรับผลกำไรจากระดับราคาที่สูงขึ้นมาคำนี้มักใช้อธิบายภาวะที่ราคาหลักทรัพย์กลับตกต่ำลงภายหลังจากที่ระดับราคาสูงขึ้นมาตลอดช่วงเวลาหนึ่ง

การครอบงำกิจการ (Takeover)
การที่บุคคลหรือนิติบุคคลใดเข้าไปถือหุ้นในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพื่อให้ได้สิทธิมากพอที่จะควบคุมการบริหารงาน ของกิจการนั้น

การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer)
การแจ้งแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง (โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลคณะหนึ่ง) ถึงความต้องการที่จะซื้อหุ้น บริษัทดังกล่าวจากผู้ถือหุ้น โดยระบุจำนวนหุ้น ราคา และกำหนดเวลาที่ต้องการรับซื้อไว้ด้วยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ มักจะเกิดขึ้นโดยผู้ทำคำเสนอซื้อมีวัตถุประสงค์จะเข้าไปบริหารบริษัทดังกล่าว ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์มีข้อกำหนดว่าผู้ที่ถือหุ้นในบริษัทหนึ่งบริษัทใดเพิ่มขึ้นมากถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องทำคำเสนอซื้อ และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการทำคำเสนอซื้อดังกล่าวด้วย

การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน (Automatic Switching)
การขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหนึ่งเพื่อซื้อหน่วยลงทุนของอีกกองทุนรวมหนึ่งที่อยู่ภายใต้บริษัทจัดการเดียวกัน ในการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนอาจไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือเสียค่าธรรมเนียมในอัตราที่ถูกกว่าการขายคืนหน่วยลงทุน

การให้ยืมหลักทรัพย์  (securities lending)
การโอนหลักทรัพย์ในช่วงระยะเวลาหนี่งจากผู้ให้ยืมไปยังผู้ยืม โดยผู้ยืมตกลงว่าจะโอนหลักทรัพย์ที่ยืมคืนให้กับผู้ให้ยืมเมื่อถึงวันครบกำหนดสัญญา และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการที่ผู้ยืมไม่สามารถส่งมอบหลักทรัพย์ที่ยืมคืนได้ ผู้ยืมจึงตกลงโอนทรัพย์สินในคราวเดียวกัน เพื่อวางเป็นประกันให้กับผู้ให้ยืม ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเงินสดหรือหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกัน โดยผู้ให้ยืมจะคืนทรัพย์สินที่วางเป็นประกันเมื่อได้รับหลักทรัพย์ที่ให้ยืมคืนจากผู้ยืม ในระหว่างที่ยังไม่คืนหลักทรัพย์ หากมีสิทธิประโยชน์ใด ๆ เกิดขึ้น เช่น เงินปันผล สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน เป็นต้นจากบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ยืมจะต้องชดเชยสิทธิประโยชน์นั้นแก่ผู้ให้ยืม

การแปรรูปสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์  (securitization)
การนำสินทรัพย์ของผู้ระดมทุน (originator) ซึ่งอาจจะมีสภาพคล่องในการซื้อขายต่ำมากองรวมกัน (Pool Assets) เช่น ลูกหนี้เงินกู้ที่อยู่อาศัย เงินกู้บัตรเครดิต หรือเงินกู้ซื้อรถยนต์ เป็นต้น และโอนให้กับบริษัทตัวกลางที่จัดตั้งขึ้น (special purpose vehicle : SPV) เพื่อออกหลักทรัพย์ที่มีกองสินทรัพย์ข้างต้นหนุนหลัง (asset backed securities หรือ ABS) เพื่อจำหน่ายให้แก่ นักลงทุนทั่วไป หรือขายแบบเจาะจง (Private Placement) ให้นักลงทุนสถาบันเฉพาะรายหรือเฉพาะกลุ่ม ซึ่งนักลงทุนสามารถนำหลักทรัพย์ดังกล่าวไปขายต่อได้ โดยมีสภาพคล่องสูงขึ้น  ทั้งนี้ ผลตอบแทนของหลักทรัพย์จะมาจากกระแสรายได้จากกองสินทรัพย์ดังกล่าว

การขายชอร์ต  (selling short หรือ short sell)
การขายหลักทรัพย์ที่ไม่มีอยู่ในครอบครอง เนื่องจากคาดว่าราคาหลักทรัพย์จะลดลง จึงขายไปก่อนที่ราคาปัจจุบัน และจะไปซื้อคืนในภายหลัง โดยผู้ขายชอร์ตต้องยืมหลักทรัพย์จากบุคคลอื่นเพื่อส่งมอบไปก่อน และไปซื้อคืนในภายหลัง เพื่อเอาหลักทรัพย์ไปคืนแก่เจ้าของเดิม สำหรับกำไรหรือขาดทุนจะเกิดตอนซื้อคืน ขึ้นอยู่กับว่าซื้อคืนในราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาตอนที่ขายหลังจากหักค่านายหน้าและค่าธรรมเนียม

การซื้อขายรายใหญ่ (big lot)
การซื้อขายหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่ง (อาจเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้ก็ได้) จำนวนเดียวโดยไม่แบ่งย่อย และมีปริมาณหรือมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ หรือสูงกว่าปริมาณหรือมูลค่าที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์กำหนดว่า การซื้อขายคราวละตั้งแต่ 1 ล้านหุ้น หรือมูลค่า 3 ล้านบาทขึ้นไป ถือเป็นการซื้อขายรายใหญ่ (big lot) ตลาดหลักทรัพย์จัด big-lot board (กระดานซื้อขายรายใหญ่) ไว้รองรับการซื้อขายเช่นนี้

การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (clearing and settlement)
กระบวนการที่บริษัทสมาชิกผู้ซื้อชำระราคาหลักทรัพย์และรับมอบหลักทรัพย์ที่ซื้อจากบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และบริษัทสมาชิกศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งต้องกระทำในวันทำการที่ 3 ภายหลังวันตกลงซื้อขายหลักทรัพย์ การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ดังกล่าวกระทำกันโดยใช้ยอดสุทธิซื้อและยอดสุทธิขายของแต่ละบริษัทสมาชิก

การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน (delisting)
การที่ตลาดหลักทรัพย์ถอนสภาพการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนของหลักทรัพย์ใด ๆ หลักทรัพย์จดทะเบียนที่ถูกเพิกถอนแล้ว จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป ในการเพิกถอนหลักทรัพย์นั้นอาจเป็นเพราะบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวขอถอนหลักทรัพย์ของตนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนโดยสมัครใจ (ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายทั้งหมด และต้องไม่มีผู้ถือหุ้นคัดค้านการของเพิกถอนเกินกว่า 10% ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายทั้งหมด) หรือตลาดหลักทรัพย์สั่งให้เพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนเมื่อพบว่าบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ดังกล่าว ได้กระทำผิดข้อตกลงการจดทะเบียนหลักทรัพย์ (listing agreement) อย่างร้ายแรง หรือในกรณีที่ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ตกต่ำลง จนอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ลงทุนสำหรับกรณีที่บริษัทจดทะเบียนมีปัญหาด้านฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงาน ตลาดหลักทรัพย์จะไม่เพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวโดยทันที แต่จะจัดให้หลักทรัพย์ดังกล่าวเข้าอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน และประกาศให้ผู้ลงทุนได้ทราบทั่วกัน ซึ่งบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์จะต้องจัดทำแผนปรับปรุงแก้ไข เพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อนเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเปิดเผยข้อมูล หากบริษัทสามารถแก้ไขปัญหาได้ตามแผน หลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวก็จะพ้นจากการเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน แต่ถ้าบริษัทไม่อาจแก้ไขได้ตามแผนและตลาดหลักทรัพย์เห็นว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ตลาดหลักทรัพย์จะเพิกถอนหลักทรัพย์ดังกล่าว

การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (due diligence)
การตรวจสอบและประเมินทรัพย์สินตลอดจนหนี้สินของบริษัทว่ามีมูลค่าถูกต้องครบถ้วนตามบัญชีและมีอยู่จริง ซึ่งในการตรวจสอบและประเมินมูลค่าดังกล่าว ผู้กระทำได้ใช้ความระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพอย่างเพียงพอวิธีการนี้มักจะใช้ในกรณีซื้อขายหรือเลิกกิจการ

การฟื้นฟูกิจการ  (rehabilitation)
การปรับโครงสร้างธุรกิจอาจโดยเป็นทั้งการปรับโครงสร้างทางการเงินและการบริหารงาน เพื่อให้ธุรกิจมีความสามารถกลับมาดำเนินงานทางธุรกิจและสามารถสร้างผลกำไรได้  ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดหมวด rehabilitation company สำหรับบริษัทที่ต้องเข้าข่ายถูกเพิกถอน แต่กำลังอยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ หรือแก้ไขปัญหาให้พ้นจากเหตุแห่งการถูกเพิกถอน

การจัดการความเสี่ยง  (risk management)
กระบวนการในการระบุ วิเคราะห์ ประเมิน ดูแล ตรวจสอบ และควบคุมความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับกิจกรรม หน้าที่ และกระบวนการทำงาน เพื่อให้องค์กรสามารถขจัดหรือลดความเสียหายจากความเสี่ยงต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

การตรวจสอบภาวะตลาด  (SURVEILLANCE)
การเฝ้าดูภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์หากพบภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ใดผิดไปจาก สภาพปกติที่ผ่านมา ก็จะทำการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าความผิดปกติดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎการซื้อขาย หลักทรัพย์หรือไม่ เช่น Insider Trading หรือ Price Manipulation เป็นต้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีส่วนงานหนึ่งในฝ่าย ห้องค้าและกำกับการซื้อขาย รับผิดชอบงานด้านนี้และมีระบบคอมพิวเตอร์ ชื่อ ATOMS ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิ ภาพงานด้านนี้

การวิเคราะห์ทางเทคนิค  (technical analysis)
วิธีการวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยใช้ระดับราคาหลักทรัพย์และปริมาณการซื้อขายเป็นข้อมูลแสดงเป็นแผนภูมิ (รูป กราฟ) ชนิดต่าง ๆ ให้ทราบถึงรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ในอดีต เพื่อจะใช้กำหนดหรือคาดหมายแนวโน้มของ ราคาในอนาคตของหลักทรัพย์นั้น โดยทั่วไปการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะใช้วิเคราะห์เพื่อคาดหมายแนวโน้มในระยะสั้นหรือระยะ ปานกลาง เพื่อใช้ตัดสินใจเลือกจังหวะเวลาในการเข้าซื้อหรือขายหลักทรัพย์ แต่ก็อาจใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อดูการเคลื่อนไหวที่เป็นวัฏจักรระยะยาว (Long-Term Cycle) ได้ด้วย การวิเคราะห์ทางเทคนิคจะต่างจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ตรงที่ไม่ได้ใช้ข้อมูลฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกหุ้นมาประกอบการวิเคราะห์

การกระจายหุ้น  (SHARE DISTRIBUTIION)
การกระจายหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่งไปยังผู้ถือหุ้น โดยบริษัทที่มีการกระจายหุ้นที่ดี การขายหุ้นออกจำนวนมากของผู้ถือหุ้นบางราย มักจะไม่กระทบราคาของหุ้นมากนัก

การเรียกหลักประกันเพิ่ม  (MARGIN CALL)
การที่บริษัทหลักทรัพย์เรียกให้ลูกค้านำเงินสดมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติม เพื่อให้มูลค่าหลักประกันของลูกค้า เทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ใน Margin Account ของลูกค้านั้นคิดเป็นอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า Maintenance Margin Rate ที่ถือเป็น เกณฑ์ Margin Call สมมุติว่า Maintenance Margin Rate ที่เป็นเกณฑ์ Margin Call เท่ากับ 35% สำหรับการกู้เงินซื้อหลักทรัพย์ หากว่านายก. ได้ซื้อหุ้นมูลค่า 100,000 บาท โดยวางหลักประกัน 50,000 บาท ไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ หากว่าราคาหลักทรัพย์ ที่ซื้อไว้ได้ตกต่ำลงเหลือ 75,000 บาท เป็นเหตุให้หลักประกันของลูกค้ามีมูลค่าเหลือ 25,000 บาท [คือ 50,000 - (100,000-75,000)] เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ปัจจุบัน 75,000 บาท คิดเป็นเท่ากับ 33.33% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ Margin Call ในกรณี นี้บริษัทหลักทรัพย์จะต้องเรียกให้ นาย ก. นำเงินมาวางมาร์จินเพิ่มเพื่อให้มูลค่าหลักประกันเทียบกับยอดมูลค่าหลักทรัพย์ ปัจจุบันแล้วมีอัตราไม่ต่ำกว่า 35% ซึ่งในกรณี นี้มูลค่าหลักประกันโดยรวมจะต้องสูงกว่า 26,250 บาท (หรือ 35% ของ 75,000 บาท) ดังนั้นนายก. ต้องนำเงินมาวางเพิ่มไม่ ต่ำกว่า 1,250 บาท (หรือ26,250-25,000 บาท) เป็นต้น หลักเกณฑ์นี้ได้นำมาใช้กับลูกค้า Short Sell ด้วย คือถ้าราคาหลักทรัพย์ที่ลูกค้าขายชอร์ตไว้เกิดสูงขึ้น เกิดผลขาดทุนจนมูลค่าหลักประกันเทียบกับมูลค่าหุ้นที่ขายชอร์ตไว้คิดเป็นอัตราที่ต่ำลงมาถึงระดับที่เป็นเกณฑ์ Margin Call แล้ว ก็ต้องมีการ เรียกหลักประกันเพิ่มเช่นเดียวกัน

กระดานต่างประเทศ (foreign board)
เป็นส่วนของระบบซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ASSET) ที่ใช้รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างผู้ลงทุนชาวต่างประเทศด้วยกัน ทั้งนี้หลักทรัพย์ที่มาขายผ่านกระดานต่างประเทศจะต้องเป็นหลักทรัพย์ที่มีชื่อชาวต่างประเทศเป็นเจ้าของ การที่ตลาดหลักทรัพย์จัดให้มี foreign board ขึ้นมา เนื่องจากหลักทรัพย์ของบางบริษัทได้มีชาวต่างประเทศเข้าลงทุนถือครองจนครบตามเกณฑ์ระดับที่ให้ชาวต่างชาติถือครองแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ลงทุนชาวต่างชาติต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวอยู่อีก เมื่อสั่งซื้อผ่านกระดานหลัก (main board) แล้วก็จะประสบปัญหาไม่อาจโอนรับหุ้นได้เพราะจะทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติเกินจากเกณฑ์ที่จำกัดไว้ ดังนั้นเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนชาวต่างประเทศตลาดหลักทรัพย์จึงจัดให้มี foreign board ขึ้นมา เพื่อให้ชาวต่างประเทศผู้ซื้อมั่นใจว่าจะสามารถรับโอนหุ้นเป็นของตนได้ เพราะเป็นการรับโอนจากชาวต่างประเทศด้วยกัน ไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนการถือครองหุ้นของชาวต่างประเทศรวมแต่ประการใด วิธีซื้อขายผ่านกระดานต่างประเทศกระทำได้ 2 วิธี คือ วิธี automatching และวิธี put thorugh แล้วแต่จะเลือกตามความเหมาะสม การซื้อขายบนกระดานต่างประเทศนี้ไม่ว่าจะใช้วิธีซื้อขายแบบใด ระดับราคาซื้อขายจะเป็นเท่าใดก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดเรื่อง floor price กับ ceiling price

กระดานซื้อขายรายใหญ่ (big-lot board)
เป็นกระดานการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์มีเพื่อรองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิชนิดต่างๆ หน่วยลงทุน และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว (Thai Trust Fund) ซึ่งมีปริมาณการซื้อขายตั้งแต่ 1 ล้านหลักทรัพย์ขึ้นไป หรือมีมูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป การซื้อขายบนกระดาน big-lot board ใช้วิธี put through ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายจะตกลงราคากันเอง โดยการซื้อขายบนกระดานนี้จะไม่มีข้อจำกัดเรื่องการขึ้นลงของราคา (ceiling and floor)

กระดานหลัก  (main board)
เป็นส่วนสำคัญที่สุดของระบบ ASSET ซึ่งเป็นระบบซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนที่เป็นmain board นี้ เป็นส่วนที่ใช้สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนที่เป็นหน่วยซื้อขาย (board lot) คือ ปริมาณหุ้นที่สั่งซื้อหรือสั่งขาย จะต้องเป็น 1 board lot (1 หน่วยซื้อขาย) หรือมากกว่าโดยเป็นจำนวนที่เป็นทวีคูณของ 1 board lot เช่น 2, 3, 4......board lots เป็นต้น การซื้อขายหลักทรัพย์บน main board ของระบบ ASSET ใช้วิธี automatching (วิธีซื้อขายแบบจับคู่อัตโนมัติ) ให้เกิดการซื้อขาย นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของราคาซื้อขายบน main board จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับเรื่อง price spread (ช่วงราคา) รวมถึงข้อกำหนด เรื่อง ceiling price และ floor price ด้วย หลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้รวมทั้งหุ้นกู้แปลงสภาพไม่ให้มีการซื้อขายบน main board แต่ให้ไปซื้อขายบน special board

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (fundamental analysis)
เป็นวิธีการวิเคราะห์หลักทรัพย์แบบหนึ่ง การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมุ่งจะประเมินมูลค่าของหลักทรัพย์ในปัจจุบัน โดยพิจารณาถึงผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับและราคาหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะขายได้ในอนาคต ผลจากการวิเคราะห์นี้จะใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจคือ จะซื้อหลักทรัพย์นั้นหากพบว่าราคาตลาดของหลักทรัพย์ดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าตามพื้นฐานที่คำนวณได้ และจะขายหลักทรัพย์นั้นหากพบว่าราคาตลาดของหลักทรัพย์ดังกล่าวสูงกว่ามูลค่าตามพื้นฐาน ในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะวิเคราะห์ถึงภาวะเศรษฐกิจ ภาวะการเมือง ภาวะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และผลการดำเนินงาน รวมทั้งฐานะทางเงินของบริษัทผู้ออกหุ้น วิธีวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะแตกต่างจากการวิเคราะห์ทางเทคนิค (technical analysis) ซึ่งมุ่งวิเคราะห์ลักษณะการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ และปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสำคัญ เพื่อคาดหมายแนวโน้มของราคาหลักทรัพย์

การซื้อขายหลักทรัพย์โดยบุคคลภายใน (insider trading)
การที่บุคคลภายในทราบข้อมูลภายในของบริษัทที่ยังไม่ได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณชน และใช้ข้อมูลนั้นเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ได้มีข้อกำหนดห้ามมิให้บุคคลภายในใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์และกำหนดโทษไว้ด้วย

การซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์  (over-the-counter : OTC)
การซื้อขายหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นนอกตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ การซื้อขายหุ้นนอกตลาด โดยทั่วไปจะมีขนาดหรือปริมาณการค้าน้อย มีสภาพคล่องต่ำ และมีการคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนน้อยกว่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีทางการกำกับดูแล

การครอบงำกิจการผ่านนิติบุคคลอื่น (Chain Principle)
กรณีที่ถือว่าเป็นการเข้าครอบงำกิจการผ่านนิติบุคคลอื่นซึ่งทำให้ต้องทำคำเสนอซื้อ คือ การได้หุ้นหรือมีอำนาจควบคุม > 50% ในนิติบุคคลอื่น รวมถึงการส่งบุคคลเข้าไปเป็นกรรมการในจำนวนที่มีนัยสำคัญ และนิติบุคคลอื่นทุกทอดจนถึงทอดสุดท้ายที่ถือหุ้นในกิจการรวมกับบุคคลตามมาตรา 258 ของนิติบุคคลดังกล่าวถือหุ้นในกิจการ > 25%

การบังคับซื้อ  (forced buy)
การที่บริษัทหลักทรัพย์นำเงินประกันของลูกค้าที่วางเป็นประกันการยืมหลักทรัพย์ (securities borrowing account) ไปซื้อหุ้นคืน บริษัทหลักทรัพย์จะบังคับให้ลูกค้าซื้อหุ้นคืนต่อเมื่อหุ้นที่ยืมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จนทำให้สัดส่วนหลักประกันต่อมูลหนี้มีค่าต่ำกว่าระดับ maintenance margin ที่เข้าเกณฑ์ forced buy ซึ่งจะต่ำกว่าระดับ margin call (เช่น ระดับ forced buy เท่ากับ 30% ขณะที่ระดับ margin call เท่ากับ 40% เป็นต้น) หลักเกณฑ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ลูกค้าแต่ละรายมีภาระหนี้เกินตัวจนไม่อาจแบกรับได้ (ซึ่งจะเห็นได้จาก การที่ถูก margin call แล้วไม่สามารถนำทรัพย์สินมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติมได้) หากปล่อยค้างไว้ ถ้าหุ้นที่ยืมมีมูลค่าสูงขึ้นไปอีก อาจทำให้มีหลักประกันไม่คุ้มมูลหนี้ จนกระทบถึงฐานะการเงินของบริษัทหลักทรัพย์และกระทบถึงความเชื่อมั่นต่อบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งระบบได้

การบังคับขาย  (forced sell)
การที่บริษัทหลักทรัพย์นำหุ้นของลูกค้าที่วางเป็นประกันเงินกู้ยืมซื้อหลักทรัพย์ (margin account) ออกขายเพื่อนำเงินค่าขายมาชำระหนี้เงินกู้ของลูกค้า บริษัทหลักทรัพย์จะบังคับขายหุ้นของลูกค้าต่อเมื่อหุ้นที่เป็นประกันของลูกค้ามีมูลค่าลดลง จนทำให้สัดส่วนหลักประกันต่อมูลหนี้มีค่าต่ำกว่าระดับ maintenance margin ที่เข้าเกณฑ์ forced sell ซึ่งจะต่ำกว่าระดับ margin call (เช่น ระดับ forced sell เท่ากับ 25% ขณะที่ระดับ margin call เท่ากับ 35% เป็นต้น) หลักเกณฑ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ลูกค้าแต่ละรายมีภาระหนี้เกินตัวจนไม่อาจแบกรับได้ (ซึ่งจะเห็นได้จาก การที่ถูก margin call แล้วไม่สามารถนำทรัพย์สินมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติมได้) หากปล่อยค้างไว้ ถ้าหุ้นที่วางเป็นประกันมีมูลค่าลดลงไปอีก อาจทำให้มีหลักประกันไม่คุ้มมูลหนี้ จนกระทบถึงฐานะการเงินของบริษัทหลักทรัพย์และกระทบถึงความเชื่อมั่นต่อบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งระบบได้

การปั่นหุ้น (manipulation)
การซื้อขายหลักทรัพย์ใด ๆ โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อสร้างสภาพการซื้อขายให้ผิดไปจากภาวะที่เป็นจริงโดยเจตนาให้ผู้อื่นซื้อหรือขายหลักทรัพย์ด้วยความเข้าใจผิด       การกระทำดังกล่าวนี้ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีบทกำหนดโทษไว้ด้วย

การควบกิจการ (merger)
การที่บริษัทตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไป รวมกิจการเข้าด้วยกัน โดยผลของการรวมอาจเกิดเป็นบริษัทใหม่ หรือคงเหลือเป็นบริษัทใดบริษัทหนึ่งเพียงบริษัทเดียวก็ได้

การชำระค่าซื้อขายแบบยอดสุทธิ (net settlement)
การชำระราคาหลักทรัพย์ในลักษณะที่บริษัทหลักทรัพย์นำค่าซื้อและค่าขายหลักทรัพย์ตัวเดียวกันในวันเดียวกันของผู้ลงทุนรายเดียวกันมาหักลบกันเพื่อหายอดสุทธิ และเมื่อถึงวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันชำระบัญชีซื้อขายหุ้น ผู้ลงทุนก็เพียงแต่ชำระเงินส่วนต่างที่มูลค่าซื้อมากกว่ามูลค่าขายเท่านั้น หากมูลค่าขายมากกว่ามูลค่าซื้อผู้ลงทุนก็ได้รับเงินในส่วนต่างสุทธิดังกล่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ การชำระค่าซื้อขายแบบยอดสุทธิช่วยให้ผู้ลงทุนไม่ต้องชำระเงินเต็มจำนวนยอดที่ซื้อทุกครั้ง ทำให้ผู้ลงทุนมีสภาพคล่องมากขึ้น

การชำระบัญชีแบบยอดสุทธิ  (net clearing)
ตลาดหลักทรัพย์ใช้หลักการชำระบัญชีแบบยอดสุทธิในการชำระราคาและส่งมอบหุ้นที่ซื้อขายระหว่างบริษัทสมาชิก สมาชิกที่มียอดซื้อสุทธิจะชำระเงิน โดยส่งมอบเช็คเพียง 1 ใบ แก่ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และสมาชิกที่มียอดขายสุทธิ จะได้รับชำระเงินค่าหุ้นจากบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ด้วยเช็ค 1 ใบในการส่งมอบหุ้น บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ จะหักจำนวนหุ้นในบัญชีฝากหุ้นของสมาชิกฝ่ายขายตามยอดขายสุทธิ และโอนหุ้นเข้าบัญชีฝากหุ้นของสมาชิกฝ่ายซื้อตาม ยอดซื้อสุทธิ

การขายหุ้นแบบเจาะจง (private placement)
การที่บริษัทออกหุ้นขายให้แก่ผู้ซื้อรายหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งโดยเจาะจงโดยที่ผู้ซื้อรับซื้อไว้เพื่อลงทุน มิใช่รับซื้อมาเพื่อนำออกจัดจำหน่าย  การออกหุ้นขายแบบ private placement บริษัทผู้ออกหุ้นไม่ต้องจัดทำข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณา แต่วิธี private placement จะต้องเข้าเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดโดย ก.ล.ต.

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization)
การลดสัดส่วนหุ้นที่ทางการถือครองอยู่ในรัฐวิสาหกิจ โดยนำหุ้นออกขายแก่ภาคเอกชน (อาจจะขายแก่ผู้ประกอบการเอกชนที่มีความสามารถในธุรกิจของรัฐวิสาหกิจนั้น หรือโดยการกระจายขายให้ประชาชนทั่วไป) เพื่อให้เอกชนมีสิทธิในการควบคุมและบริหารมากขึ้น การดำเนินงานจะได้มีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวเทียบได้กับบริษัทเอกชน

การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์  (underwriting)
การที่บริษัทหลักทรัพย์รายหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งรับเอาหลักทรัพย์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งไปเสนอขายแก่ประชาชนใน การทำข้อตกลงให้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์อาจให้บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งรับเป็นผู้จัดจำหน่าย รับประกันการ จำหน่าย หุ้นทั้งหมด (firm commitment) หรืออาจให้ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์รับหุ้นไปพยายามจำหน่ายให้ได้มากที่สุด (best effort) ก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทจะออกหลักทรัพย์ใหม่ โดยให้สิทธิจองซื้อแก่ผู้ถือหุ้นเดิม บริษัทอาจทำข้อตกลงให้บริษัทหลักทรัพย์ รับซื้อหลักทรัพย์ที่เหลืออยู่เพราะไม่มีผู้ใช้สิทธิเพื่อไปขายต่อก็ได้ (standby commitment)

การเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชน (public offering)
การที่บริษัทนำหลักทรัพย์ของตนออกเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป จุดประสงค์เพื่อระดมเงินทุนไปขยายกิจการและเพื่อกระจายการถือครองหลักทรัพย์ให้ประชาชนทั่วไป การเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนจะต้องกระทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่รับเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriters) จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

การกำกับดูแลกิจการที่ดี  (good corporate governance )
ระบบที่จัดให้มีโครงสร้างและกระบวนการของความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายจัดการ คณะกรรมการ และผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างความสามารถ ในการแข่งขัน นำไปสู่ความเจริญเติบโตและเพิ่มคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นประกอบ

การเสนอขายหลักทรัพย์แบบ greenshoe option  
คือการที่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จะเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนในจำนวนที่มากกว่าบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เสนอขายอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งหลักทรัพย์ที่เกินนั้น ผู้จัดจำหน่ายจะไปทำ option กับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ เพื่อออกหุ้นส่วนที่ผู้จัดจำหน่ายขายเกิน ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และมีราคาตลาดสูงกว่าราคาเสนอขาย และในกรณีที่หลักทรัพย์ดังกล่าวเมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วมีราคาต่ำกว่าราคาเสนอขาย ผู้จัดจำหน่ายจะเข้าไปซื้อหลักทรัพย์ในจำนวนที่เกินดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์ วิธีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการระดมทุนในตลาดทุน เนื่องจากมีส่วนป้องกันไม่ให้ราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่เสนอขายในช่วงระยะเวลา แรกที่เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนมาก เพราะการเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าว จะมีลักษณะของการรักษาระดับราคาของหลักทรัพย์ที่เสนอขาย (stabilization) ซึ่งมีส่วนช่วยให้การเสนอขายหลักทรัพย์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การเสนอซื้อขาย ณ ราคาตลาด  (market price order)
เป็นคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์แบบไม่ระบุราคา (Non-Limit Price Order) เป็นคำสั่งซื้อหรือขายหุ้น ณ ราคาที่ดีที่สุดในเวลาที่สั่ง บริษัทหลักทรัพย์จะขายหุ้น ณ ราคาที่สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเวลานั้น หรือจะซื้อหุ้น ณ ราคาต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเวลานั้นให้กับลูกค้า

การแตกหุ้น  (split)
การแตกหุ้นของบริษัทหนึ่งที่ออกจำหน่ายแล้วให้มีจำนวนมากขึ้น มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่ราคาหุ้นขอบริษัทที่ซื้อขายกันในตลาดมีราคาสูง ประกอบกับบริษัทต้องการเงินทุนเพิ่มเพื่อการขยายกิจการ บริษัทจะทำการแตกหุ้น ซึ่งส่วนมากควรจะมีผลให้ราคาตลาดของหุ้นลดลง การซื้อขายจะคล่องตัวขึ้น และเมื่อบริษัทออกหุ้นใหม่เพื่อการเพิ่มทุนก็จะทำได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ การแตกหุ้นจะไม่ทำให้มูลค่ารวมของทุนจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนเฉพาะจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายและราคาตามบัญชีหุ้นเท่านั้น โดยไม่ทำให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นเดิมเปลี่ยนไปแต่อย่างใด เช่น บริษัทที่มีหุ้นสามัญ 1,000,000 หุ้น ต้องการจะแบ่งหุ้นในสัดส่วน 3 ต่อ 1 ฉะนั้นจะมีจำนวนหุ้นเปลี่ยนเป็น 3,000,000 หุ้น เป็นต้น

การจ่ายหุ้นปันผล  (stock dividend)
เป็นวิธีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นสามัญอีกแบบหนึ่ง ส่วนมากจะกำหนดเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าหุ้นสามัญ เช่น จ่ายหุ้นปันผล 10 % หมายความว่าผู้ถือหุ้นเดิมแต่ละคนจะได้รับหุ้นเพิ่ม 10 หุ้นจากหุ้นเดิมที่ถืออยู่ 100 หุ้น ดังนั้นถ้ามีหุ้นสามัญอยู่ทั้งหมด 30 ล้านหุ้น หลังการจ่ายหุ้นปันผล บริษัทจะมีหุ้นสามัญทั้งสิ้น33 ล้านหุ้น การออกหุ้นปันผลไม่มีส่วนกระทบต่อสัดส่วนความเป็นเจ้าของกิจการแต่อย่างใด บริษัทที่จ่ายหุ้นปันผล มักจะมีจุดมุ่งหมายที่จะเก็บเงินสดไว้เพื่อการลงทุน เช่น การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ใช้ในโรงงานหรือลงทุนในสินค้าคงเหลือและลูกหนี้ เพื่อการขยายตัวของธุรกิจตามแผนที่กำหนดไว้ บริษัทที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมักจะใช้เงินที่ได้จากกำไรสุทธิเพื่อเป็นเงินทุน บริษัทในลักษณะนี้จะไม่จ่ายปันผลเป็นเงินสด แต่จะจ่ายเป็นหุ้นโดยออกหุ้นใหม่ซึ่งมีจำนวนเท่ากับเงินปันผลทั้งสิ้นที่จะจ่าย ผลจากการออกหุ้นใหม่เพื่อมาจ่ายปันผลก็คือ ทำให้จำนวนหุ้นสามัญที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น แต่ไม่ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงมีการโอนเงินจากบัญชีกำไรสะสมตามราคาตลาดในเวลานั้นไปเข้าบัญชีทุนหุ้นสามัญและส่วนเกินทุน ส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ยังคงเดิม ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้บริษัทจะไม่จ่ายเงินปันผลก็ตาม แต่ว่าเงินส่วนนี้ได้ถูกเก็บไว้เพื่อการลงทุนซึ่งก่อให้เกิดรายได้ต่อไป ผลประโยชน์ที่ได้รับก็คือ ถ้าบริษัทสามารถขยายตัวได้ตามแผน กำไรต่อหุ้นจะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทในอนาคตสูงขึ้น

การถือหุ้นไขว้  (cross holding)
การที่บริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไปถือหุ้นซึ่งกันและกัน วิธีการถือหุ้นไขว้มักจะถูกนำมาใช้เพื่อการเกาะกลุ่มทางธุรกิจ หรือเพื่อสร้างโครงสร้างของกลุ่มบริษัท โดยเฉพาะโครงสร้างในลักษณะของบริษัทโฮลดิ้งที่มีบริษัทหนึ่งทำหน้าที่ควบคุมนโยบายการบริหาร การเงิน การจัดการ ตลอดจนดูแลการถือหุ้นของบริษัทในเครือให้มีบุคคลนอกกลุ่มเข้ามาครอบงำกิจการได้ นอกจากนี้การถือหุ้นไขว้ก็อาจจะเป็นโอกาสและช่องทางให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายจัดการบริษัทนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ได้ เช่น นำวิธีการถือหุ้นไขว้มาใช้เพื่อสร้างภาพ สถานะทางการเงินของบริษัทให้ดูดีโดยบิดเบือนจากความเป็นจริง หรือนำมาใช้เพื่อรักษาอำนาจในการควบคุมบริษัทของฝ่ายจัดการเองโดยให้บริษัทในเครือซึ่งตนเป็นผู้ควบคุมอยู่เข้าแย่งการครอบงำกิจการจากการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น หรือนำมาใช้เพื่ออำพรางการเป็นเจ้าของบริษัทในเครือ ซึ่งทำให้ยากแก่การตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทในเครือ เป็นต้น โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้กำหนดห้ามมิให้บริษัทที่ขออนุญาตเสนอขายหุ้นของตนเองต่อประชาชน เสนอขายหุ้นของตนเองให้แก่บริษัทในเครือ แต่การห้ามนี้ก็เป็นการห้ามเฉพาะบริษัทมหาชนที่ขออนุญาตเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเท่านั้น  ดังนั้น ถ้าเป็นบริษัทจำกัดที่แม้จะมีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก หรือบริษัทมหาชนที่ไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นต่อประชาชนจะไม่ตกอยู่ภายใต้เกณฑ์นี้

กำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gain)
ผลกำไรที่เกิดจากการขายหุ้นได้ในราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อมา ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ของกำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

กำไรต่อหุ้น (earning per share : EPS )
ส่วนของกำไรสุทธิที่แบ่งเฉลี่ยแก่หุ้นสามัญแต่ละหุ้น มีสูตรคำนวณดังนี้
                   กำไรต่อหุ้น =  กำไรสุทธิของบริษัท
                                       จำนวนหุ้นสามัญที่เรียกชำระแล้วของบริษัท



คณะกรรมการตรวจสอบ  (Audit Committee)
ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบ โดยกรรมการตรวจสอบแต่ละรายต้องเป็นกรรมการอิสระ และต้องมีคุณสมบัติและหน้าที่ในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าคุณสมบัติและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบมีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในการสอบทาน ความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้ รวมทั้งการทำหน้าที่อื่นในฐานะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 3 คน

ค่าธรรมเนียมการขาย (หรือค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุน)
ค่าธรรมเนียมที่จะบวกเข้าไปในมูลค่าหน่วยลงทุนที่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนต้องจ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนโดยหากมีการคิดค่าธรรมนี้ จะมีการระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน (หรือค่าธรรมเนียมการขายคืนหน่วยลงทุน)
ค่าธรรมเนียมที่หักจากผู้ถือหน่วยลงทุน เมื่อผู้ถือหน่วยลงทุนขายคืนหน่วยลงทุนทำให้เงินที่จะได้รับน้อยกว่ามูลค่าหน่วยลงทุน ณ วันที่ขายนั้นโดยหากมีการคิดค่าธรรมเนียมนี้จะมีการระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

ค่าธรรมเนียมการจัดการ
ค่าธรรมเนียมที่ บลจ. คิดจากกองทุนรวมสำหรับการทำหน้าที่บริหารกองทุนรวม โดยค่าธรรมเนียมนี้จะระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

ความเสี่ยงเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ (credit risk)
ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้น และดอกเบี้ย ถ้าเป็นพันธบัตรของรัฐบาลจะไม่มีความเสี่ยงประเภทนี้

ความเสี่ยงจากตลาด (market risk)
ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่เกิดจากราคา หรือผลตอบแทนปรับตัวขึ้นลง เนื่องจากความผันผวนของค่าเงิน อัตราดอกเบี้ย การเมือง เป็นต้น แต่ความเสี่ยงนี้สามารถลดลงได้ ถ้ามีการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์หลาย ๆ ตัว

ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง (liquidity risk)
ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่นักลงทุนต้องการขายตราสาร แต่ขายไม่ได้ หรือขายได้แต่ไม่ได้ราคาตามที่กำหนดไว้

ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (interest rate risk)
ความเสี่ยงจากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีการปรับตัวผันผวนอันเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ  ซึ่งมีผลให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวผันผวนด้วย

เครื่องหมายเอช (H)
เครื่องหมายนี้ย่อมาจาก halt trade ตลาดหลักทรัพย์ติดเครื่องหมายนี้ไว้บนหลักทรัพย์เพื่อแสดงให้ผู้ลงทุนทราบว่า หลักทรัพย์ดังกล่าวอยู่ระหว่างถูกห้ามซื้อขายสำหรับช่วงเวลาการซื้อขายรอบนั้น ตลาดหลักทรัพย์จะขึ้นเครื่องหมาย H แก่หลักทรัพย์ที่ปรากฏว่า มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้นในระหว่างเวลาซื้อขายรอบดังกล่าว และอยู่ระหว่างรอการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดเผยได้ทันที

เครื่องหมายเอ็นพี (NP)
เครื่องหมายนี้ย่อมาจาก Notice Pending ตลาดหลักทรัพย์ติดเครื่องหมายนี้ที่หลักทรัพย์เพื่อแสดงให้ผู้ลงทุนทราบว่า ณ เวลาขณะนั้นตลาดหลักทรัพย์กำลังรอคำชี้แจงหรือรายงานข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ดังกล่าว หรือกำลังรอการเปิดเผยงบการเงินหรือรายงานอื่นใดที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวจะต้องรายงานตามเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด

เครื่องหมายเอ็นอาร์ (NR)
เครื่องหมายนี้ย่อมาจาก notice received ตลาดหลักทรัพย์จะติด NR ไว้บนหลักทรัพย์ที่เพิ่งถูกถอนเครื่องหมาย NP เพื่อแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบว่าตลาดหลักทรัพย์ได้รับแจ้งข้อมูลข่าวสารหรือรายงาน หรือคำชี้แจงจากบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวอย่างพอเพียงและได้ทำการเผยแพร่เพื่อให้ทราบทั่วกันแล้ว

เครื่องหมายเอสพี (SP)
ย่อมาจาก suspension เป็นเครื่องหมายที่ตลาดหลักทรัพย์ติดบนหลักทรัพย์เพื่อแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบว่าหลักทรัพย์ ดังกล่าวอยู่ในระหว่างถูกห้ามซื้อขายชั่วคราว ตลาดหลักทรัพย์จะสั่งห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทใดเป็นการชั่วคราวเมื่อ

1.  บริษัทนั้นฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์
2.  ปรากฏข่าวสารหรือข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งมีผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทอย่างรุนแรง โดยที่ข่าวสารนั้นยังไม่ได้เปิดเผยต่อ สาธารณชนผ่านตลาดหลักทรัพย์ หรืออยู่ระหว่างที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังรอการเปิดเผยข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่สอบถามไป หรือกำลังรอการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเพราะรายงานที่ได้รับยังไม่ครบถ้วนชัดเจนเพียงพอ

บริษัทขอให้ตลาดหลักทรัพย์สั่งพักการซื้อขายหุ้นของบริษัทเนื่องจากมีข่าวหรือข้อมูลสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนิน การ ซึ่งอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ special board (กระดานพิเศษ) #sellingshortเป็นส่วนของระบบ ASSET ที่ใช้วิธีซื้อขายแบบ Put Through เพื่อรองรับการซื้อขายตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรหุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น ทั้งนี้แต่ละรายการซื้อขายจะต้องต่ำกว่า 1 ล้านหุ้น หรือมีมูลค่าต่ำกว่า 3 ล้านบาท(การซื้อขายตราสาร หนี้จำนวนมากดังกล่าวหรือมากกว่า จะต้องกระทำบน Big-Lot Board) การซื้อขายบนกระดานนี้ไม่นำเรื่อง Floor Price และ Ceiling Price มาใช้บังคับ

เครื่องหมายแสดงการไม่ได้รับสิทธิต่าง ๆ (X D , X R , X W , X S , X T , XI, XP, XA)
เครื่องหมายที่ตลาดหลักทรัพย์แสดงไว้บนหลักทรัพย์เป็นระยะเวลาล่วงหน้า 3 วันทำการก่อนวันปิดสมุดทะเบียน พักการโอนหลักทรัพย์ ในกรณีตราสารทุน และล่วงหน้า 2 วันทำการก่อนวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหลักทรัพย์ ในกรณีตราสารหนี้ เมื่อตลาดหลักทรัพย์ติดเครื่องหมายประเภทดังกล่าวไว้บนหลักทรัพย์ใด หมายความว่า ราคาที่ เสนอซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในช่วงระยะเวลาที่ขึ้นเครื่องหมายนั้น เป็นราคาที่ไม่รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่บริษัทผู้ออก หลักทรัพย์ให้หรือจะให้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์นั้น และ ผู้ซื้อหลักทรัพย์นี้จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ประเภทที่ระบุจากการ ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนี้
XD     (Excluding Dividend) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล
XR     (Excluding Right) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่
XW     (Excluding Warrant) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์
XS     (Excluding Short-term Warrant) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ระยะสั้น
XT     (Excluding Transferable Subscription Right) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
XI     (Excluding Interest) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับดอกเบี้ย
XP     (Excluding Principal) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับเงินต้นที่บริษัทประกาศจ่ายคืนในคราวนั้น
XA     (Excluding All) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิทุกประเภทที่บริษัทประกาศให้ในคราวนั้น

ทั้งนี้ หากผู้ซื้อผู้ขายตกลงกันที่จะชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์แบบทีละรายการ (gross settlement) และกำหนดวันที่จะชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์เร็วกว่าวันครบกำหนดชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ตามปกติ ผู้ซื้อหลักทรัพย์อาจยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ข้างต้น หากการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์เสร็จสิ้นก่อนวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(The Securities and Exchange Commission: SEC)
คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่วางนโยบายส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง เช่น ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจ หรือองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์การออกหลักทรัพย์จำหน่ายของบริษัทต่าง ๆ การเข้าถือครองหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (takeover) รวมถึงการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ คณะกรรมการนี้มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า SEC หรือ ก.ล.ต

เครื่องหมายดีเอส (DS)
เครื่องหมายนี้ย่อมาจาก designated securities ตลาดหลักทรัพย์จะติด DS ไว้บนหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบว่าหลักทรัพย์นั้นมีภาวะซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติในด้านราคาและ/หรือด้านปริมาณซื้อขายโดยที่ยังไม่ทราบเหตุผล และตลาดหลักทรัพย์กำลังตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ติดเครื่องหมาย DS ตลาดหลักทรัพย์กำหนดข้อปฏิบัติว่า ผู้ซื้อจะต้องใช้เงินสดชำระค่าหุ้นทันที และผู้ขายจะต้องส่งมอบใบหุ้นทันทีเช่นเดียวกัน บริษัทสมาชิกต้องงดซื้อขายหุ้นที่ติดเครื่องหมาย DS เพื่อบัญชีตนเองและจะต้องรายงานรายชื่อผู้ซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ๆ ให้ตลาดหลักทรัพย์ภายในเที่ยงวันของวันทำการถัดไป



เงินสดปันผล (cash dividend)
เงินปันผลที่ได้จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นในรูปของเงินสด ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลปกติจะจ่ายเป็นเงินสดให้แก่ผู้ถือหุ้นเพราะสะดวก และเป็นที่นิยมเนื่องจากผู้รับเงินปันผลสามารถนำเงินไปใช้ได้ทันที ในด้านของบริษัท การจ่ายเงินสดปันผลมีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัท แต่มักจะกระทบต่อกระแสเงินสดในปีต่อไป เช่น การจ่ายเงินปันผลจากผลกำไรในปี 2542 จะมีการตั้งเจ้าหนี้เงินปันผลค้างจ่าย ตั้งแต่ปี 2542 โดยจะจ่ายจริงในปี 2543 ทำให้กระแสเงินสดในปี 2543 จะลดลงเนื่องจากการจ่ายเงินปันผลของปี 2542 บริษัทส่วนมากจะจ่ายเงินปันผลในรูปของเงินสด เว้นแต่จะมีเหตุอื่นที่ทำให้เกิดผลดีแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวมากกว่า บริษัทจึงจะจ่ายปันผลในรูปอื่น

เงินปันผล (dividend)
ส่วนของกำไรที่บริษัท (หรือกองทุนรวม) แบ่งจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ (หรือผู้ถือหน่วยลงทุน) ตามสิทธิของแต่ละหุ้นปันผลแก่หุ้นบุริมสิทธิมักกำหนดไว้ตายตัวเป็นร้อยละของราคาตราไว้ แต่ปันผลแก่หุ้นสามัญ (หรือหน่วยลงทุน) จะมากหรือน้อยเปลี่ยนแปลงไปตามผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละปี คณะกรรมการบริษัทจะประกาศจ่ายปันผลแก่หุ้นสามัญเป็นคราว ๆ ไป ปันผลอาจจ่ายเป็นเงินสดหรือหุ้นก็ได้ แต่การจะจ่ายหุ้นปันผลในประเทศไทยยังติดขัดเรื่องภาระภาษีซึ่งผู้เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาแก้ไขอยู่rrant จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุใน covered warrant นั้น

เงินร่วมลงทุน (venture capital)
เงินลงทุนที่ใช้สำหรับจัดตั้งธุรกิจเริ่มแรกและธุรกิจขนาดเล็กที่มีการเติบโตที่ดี แต่ไม่สามารถระดมทุนผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ให้เงินร่วมลงทุนจะมีการช่วยเหลือด้านการบริหารงานแก่ธุรกิจที่เข้าไปลงทุน



จุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อ (Trigger Point)
การที่นิติบุคคลหรือบุคคลใดถือหลักทรัพย์ถึงจุดที่จะต้องทำคำเสนอซื้อคือ 25% 50% และ 75% ของสิทธิออกเสียง นิติบุคคลหรือบุคคลนั้นมีหน้าที่จะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์



ช่วงเวลาห้ามขายหุ้น (SILENT PERIOD)
ช่วงระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดห้ามผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้เกี่ยวข้องกับผู้บริหารและ/หรือผู้เกี่ยวข้อง กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนใหม่ ในการนำหุ้นบริษัทดังกล่าวที่ตนถือครองอยู่ออกขาย โดยทั่วไปช่วงเวลาห้ามขาย หุ้นจะประมาณ 6 เดือนนับแต่วันแรกที่ให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่ในบางกรณีอาจจะกำหนดให้นานกว่า 6 เดือนก็ได้ แต่ไม่เกิน 3 ปี



เซอร์กิตเบรกเกอร์ (circuit breaker)
เป็นมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์นำมาใช้หยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวในยามที่การซื้อขายโดยรวมในตลาดหลักทรัพย์เกิดตกต่ำลงอย่างมากมายผิดปกติ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ลงทุนโดยทั่วไปได้มีเวลาตรวจสอบข้อมูลและข่าวสารต่าง ๆ ระยะหนึ่งก่อนที่จะเปิดให้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ได้ต่อไป ในปัจจุบันนี้ระบบ circuit breaker ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดว่า หากระดับ SET Index ลดต่ำลงเท่ากับหรือเกินกว่า 10% จากจุดปิดของวันก่อน ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดพักการซื้อขาย 30 นาที เมื่อเปิดซื้อขายใหม่แล้วหาก SET Index ลดต่ำลงอีก จนมีระดับที่ลดลงเท่ากับหรือเกินกว่า 20% จากจุดปิดของวันก่อน ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดพักการซื้อขายอีก 1 ชั่วโมง แล้วเปิดให้ซื้อขายต่อจนสิ้นวัน ในการหยุดพักการซื้อขายกรณีใดกรณีหนึ่งข้างต้น ถ้าระยะเวลาในรอบการซื้อขายนั้นเหลือไม่ถึง 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงแล้วแต่กรณี จะพักการซื้อขายเพียงระยะเวลาที่เหลือในรอบดังกล่าวเท่านั้น แล้วเปิดซื้อขายรอบใหม่ตามปกติต่อไป



ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index)
ดัชนีราคาหุ้นประเภทที่คำนวณถัวเฉลี่ยราคาหุ้นสามัญแบบถ่วงน้ำหนักด้วยจำนวนหุ้นจดทะเบียน เป็นดัชนีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคำนวณขึ้น โดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ในการคำนวณสูตรการคำนวณเป็นดังนี้

SET Index
= ค่าเฉลี่ย (ถ่วงน้ำหนัก) ของราคาหุ้นสามัญทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ ณ วันปัจจุบัน x 100 / ค่าเฉลี่ย (ถ่วงน้ำหนัก) ของราคาหุ้นสามัญทุกตัวข้างต้น ณ 30 เม.ย. 2518
= มูลค่าตลาดโดยรวมของหุ้นสามัญจดทะเบียนทุกตัว ณ วันปัจจุบัน x 100 / มูลค่าตลาดโดยรวมของหุ้นสามัญข้างต้น ณ 30 เม.ย.2518

ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแสดงมูลค่าเฉลี่ยของหุ้นสามัญทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ ณ วันปัจจุบัน เทียบกับมูลค่าเฉลี่ยของหุ้นดังกล่าว ณ วันฐาน ค่าเปลี่ยนแปลงของดัชนีนี้จึงแสดงถึงระดับการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหุ้นสามัญทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ด้วย

ดัชนีเซท 50 (SET 50 Index)
เป็นดัชนีราคาหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์จัดทำขึ้นอีกตัวหนึ่ง เพื่อใช้แสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญ 50 ตัวที่มีมูลค่าตลาดสูงและการซื้อขายมีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ สูตรและวิธีการคำนวณเป็นเช่นเดียวกับการคำนวณ SET Index แต่ใช้วันที่ 16 สิงหาคม 2538 เป็นวันฐาน

ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม (sectoral index)
ดัชนีราคาหุ้นของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมใดจะใช้ราคาหุ้นสามัญทุกตัวที่จัดอยู่ใน กลุ่มอุตสาหกรรมนั้นในการคำนวณ เช่น ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร คำนวณขึ้นโดยใช้ราคาหุ้นสามัญทุกสถาบันในกลุ่มธนาคาร เป็นต้น ในปัจจุบันนี้ ตลาดหลักทรัพย์จัดหุ้นสามัญจดทะเบียนทั้งหมดกระจายอยู่ใน 30 กลุ่มอุตสาหกรรม และได้คำนวณดัชนี ราคาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 30 กลุ่ม เป็นรายกลุ่มด้วย



ตราสารแห่งทุน (equity instruments)
หมายถึงตราสารที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการในฐานะผู้ถือหุ้น การลงทุนในตราสารทุนนี้ จะมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของกิจการในกรณีที่เกิดการล้มละลายจะอยู่หลังเจ้าหนี้ ข้อดีของการเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นของกิจการก็คือ ถ้ากิจการมีกำไร จะมีส่วนแบ่งในกำไรของกิจการ อย่างเต็มที่ในรูปของเงินปันผล แต่ในทางกลับกันถ้ากิจการขาดทุน ผู้เป็นเจ้าของอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนเลย เพราะกิจการไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้นอกจากนี้ผู้ลงทุนในตราสารทุนก็อาจจะได้รับกำไร หรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่อยู่ในตลาดด้วย ตัวอย่างตราสารทุน ได้แก่ หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น

ตราสารแห่งหนี้ (debt instruments)
เป็นตราสารที่ออกโดยเจ้าของกิจการ รัฐวิสาหกิจ หรือรัฐบาล มีการจ่ายผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ พร้อมกับจ่ายเงินต้นให้แก่เจ้าของเงินเมื่อครบกำหนดที่ตกลงกันไว้ ซึ่งระยะเวลาครบกำหนดของตราสารหนี้ จะมีทั้งที่เป็นระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) ปานกลาง (1 ถึง 5 ปี) และระยะยาว(5 ปีขึ้นไป) ผู้ถือตราสารหนี้มีฐานะ เป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกตราสาร เนื่องจากเป็นผู้ให้กิจการกู้ยืมไปลงทุน และผู้ลงทุน ที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้นั้นจะมีสิทธิเรียกร้องการชำระคืนเงินต้นก่อนผู้เป็นเจ้าของหรือ ผู้ถือหุ้นของกิจการ ในกรณีที่เลิกบริษัทหรือล้มละลาย การลงทุนในตราสารหนี้ก็ยังคงมีความเสี่ยง ถ้าหากว่ากิจการที่ออกตราสารนั้นมีปัญหาทางด้านการเงิน หรือล้มละลาย ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นได้ทั้งหมด หรือหากตราสารหนี้มีมูลค่าเปลี่ยนแปลงลดลงเนื่องจากภาวะการซื้อขายในตลาดรอง ก็จะทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนได้ ตัวอย่างตราสารหนี้ ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้

ตราสารสิทธิที่จะซื้อหรือขายทรัพย์สิน (options)
ตราสารที่กำหนดให้สิทธิแก่ผู้ถือที่จะซื้อทรัพย์สินจากหรือขายทรัพย์สินให้ผู้ออกตราสารนั้น ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ เช่น ประเภทและคุณภาพทรัพย์สิน จำนวน ราคา วันหมดอายุของตราสารและกำหนดเวลาให้ใช้สิทธิได้ หากเป็นตราสารที่ให้สิทธิผู้ถือซื้อทรัพย์สินจะเรียกว่า ตราสารสิทธิเรียกซื้อทรัพย์สิน (call options) ถ้าเป็นตราสารที่ให้สิทธิผู้ถือขายทรัพย์สินจะเรียกว่าตราสารสิทธิให้ขายทรัพย์สิน (put options) สิ่งที่นำมากำหนดให้สิทธิซื้อหรือขายอาจจะเป็นหุ้นสามัญ ดัชนีราคาหุ้น พันธบัตรรัฐบาล เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าวโพด ทองคำ เป็นต้น ผู้ถือ (หรือผู้ซื้อ) options มีสิทธิเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ใช้สิทธิตาม options ก็ได้ แต่ผู้ขาย options มีพันธะจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใน options หากว่าผู้ถือขอใช้สิทธิ ถ้าผู้ถือไม่ใช้สิทธิจนกระทั่ง options นั้นหมดอายุ options นั้นจะไม่มีผลผูกพันต่อผู้ขายอีกต่อไป

ตราสารอนุพันธ์ (derivatives)
เป็นสัญญาทางการเงินระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไปเพื่อตกลงกันซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงินในปัจจุบัน แต่ทำการส่งมอบและชำระราคากันในอนาคต โดยอัตราผลตอบแทนอ้างอิงกับสินค้าหรือตัวแปรอื่น อาทิเช่น ราคาหลักทรัพย์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ย หรือราคาสินค้าใด ๆ

ตลาดการเงิน (financial market )
เป็นตลาดที่เกิดขึ้นตามวิวัฒนาการของระบบเงินตรา ระบบการเงินการคลังของแต่ละประเทศ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้มีเงินออมกับผู้ที่ต้องการเงินเป็นแหล่งกลางที่ระดมเงินออมจากผู้ออมและจัดสรรเงินทุนแก่ผู้ประกอบการทั้งในระบบของการให้สินเชื่อและการพัฒนาหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราทั้งนี้ ตลาดการเงินแบ่งเป็น 2 ตลาด คือ ตลาดเงิน (Money Market) และตลาดทุน (Capital Market)

ตลาดเงิน (money market)
ตลาดเงินคือตลาดที่มีการระดมเงินทุนและการให้สินเชื่อระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี การโอนเงิน การซื้อขายหลักทรัพย์ทางการเงินที่มีอายุการไถ่ถอนระยะสั้น เช่น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วเงินคลัง เป็นต้น เป็นที่รวมกลไกทั้งหลายที่ทำให้การหมุนเวียนของเงินทุนระยะสั้นเป็นไปด้วยดี อันได้แก่ การจัดหาเงินทุนเพื่อการประกอบการของธุรกิจ การให้สินเชื่อแก่บุคคลและการจัดหาเงินทุนระยะสั้นให้แก่ภาครัฐบาล แบ่งเป็น
1.  ตลาดเงินในระบบ ซึ่งประกอบด้วยสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์และนาคารกลาง กิจกรรมสำคัญในตลาดเงินในระบบ ได้แก่ การกู้ยืมระหว่างธนาคารด้วยกันเอง (Inter-bank loan หรือ Call loan) ระยะเวลาตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป การกู้โดยตรงหรือเบิกเกินบัญชี (Loan and overdraw) โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้โดยขายตราสารทางการเงิน ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตราสารการค้า ตลอดจนตราสารที่ธนาคารรับรอง
2.  ตลาดเงินนอกระบบ ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับสถานภาพ กิจกรรมที่สำคัญได้แก่ การให้กู้ การเล่นแชร์
3.  การขายฝาก ฯลฯ ตลาดเงินนอกระบบยังมีบทบาทมากในประเทศกำลังพัฒนา

ตลาดทุน (capital market)
แหล่งระดมเงินออมระยะยาวและให้สินเชื่อระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ได้แก่ เงินฝากประจำ หุ้นกู้ หุ้นสามัญและพันธบัตรทั้งของรัฐบาลและเอกชน แบ่งเป็นตลาดสินเชื่อทั่วไปและตลาดหลักทรัพย์ ตลาดสินเชื่อทั่วไปประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน ส่วนตลาดหลักทรัพย์แบ่งเป็นตลาดแรกและตลาดรอง ตลาดแรกคือตลาดที่ซื้อขายหลักทรัพย์ออกใหม่ เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ได้รับเงินทุนจากผู้ซื้อหลักทรัพย์ใหม่ ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดแรกเป็นการลงทุนที่แท้จริง ส่วนตลาดรองคือตลาดที่ซื้อขายหลักทรัพย์เก่า การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดรองมิใช่การลงทุนแท้จริง เพราะบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ไม่ได้รับเงินทุนจากการวื้อขายหลักทรัพย์นั้น การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดรองเป็นเพียงการเปลี่ยนมือระหว่างผู้ถือหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ตลาดรองก็มีบทบาทเกื้อกูลต่อตลาดแรก เพราะจะทำให้ผู้ซื้อหลักทรัพย์ในตลาดแรกมีความมั่นใจว่าจะสามารถแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์เป็นเงินสดได้เมื่อต้องการ สถาบันในตลาดทุน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ (สำหรับสินเชื่อระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทประกันชีวิต ฯลฯ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand)
ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์และการระดมทุนในประเทศ และต่อมาเมื่อปี 2535 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยมีบทบาทสำคัญ ดังนี้
1.  ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน และพัฒนาระบบต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายหลักทรัพย์
2.  ดำเนินธุรกิจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น การทำหน้าที่เป็นสำนักหักบัญชี (Clearing House) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ นายทะเบียนหลักทรัพย์ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3.  การดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange : BEX)
จัดตั้งขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเปิดให้บริการการซื้อขายแก่นักลงทุนทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 โดยให้บริการผ่านระบบการซื้อขายแบบเรียลไทม์ เพื่อที่จะพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านปริมาณการซื้อขาย คุณภาพของตราสารหนี้ ตัวกลางการซื้อขาย และแหล่งข้อมูลอ้างอิง โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการตลาดรองตราสารหนี้ที่สมบูรณ์แบบของประเทศไทย ให้บริการครอบคลุมผู้ลงทุนและผู้ค้าตราสารหนี้ทั้งหมด

ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment :MAI)
จัดตั้งภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอุตสาหกรรมการส่งออก อุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งให้การส่งเสริมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรืออุตสาหกรรมการผลิตที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2541 และได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2542

ตราสารอนุพันธ์ (derivative instrument)
ตราสารทางการเงินประเภทที่มูลค่าหรือราคาของตราสารนั้นเกี่ยวเนื่องอยู่กับมูลค่าของสินทรัพย์ที่ตราสารนั้นอิงอยู่ เช่น ตราสารสิทธิที่จะซื้อหรือขายหุ้น (Stock Options) เป็นตราสารอนุพันธ์ เพราะราคาของตราสาร ดังกล่าวจะเกี่ยวโยงกับราคา ของหุ้นที่จะใช้ตราสารสิทธินั้นไปซื้อหรือขายได้ สัญญาซื้อขายดัชนีราคาหุ้นล่วงหน้า (Stock Index Futures) เป็นตราสารอนุพันธ์ เพราะราคาของตราสารนี้สืบเนื่องมาจากดัชนีราคาหุ้นที่ตราสารอิงอยู่ การจัดให้มีการซื้อขายตราสารอนุพันธ์จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้อง กับ ตลาดการเงินมีเครื่องมือไว้ปกป้องและบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่ และเป็นการเพิ่มช่องทางลงทุนซื้อขายที่หลากหลายยิ่งขึ้น

ตราสารสิทธิที่จะซื้อหรือขายดัชนีราคาหุ้น (stock index options)
เป็น options ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือที่จะซื้อหรือขายกลุ่มหุ้นที่เป็นองค์ประกอบในการคำนวณดัชนีราคาหุ้นกับผู้ขาย options ในตราสาร options จะต้องระบุว่าให้สิทธิผู้ถือซื้อ (call) หรือให้สิทธิขาย (put) ให้ใช้สิทธิได้ทุกวันหรือให้ใช้สิทธิในวันที่ ครบกำหนด อีกทั้งต้องระบุถึงดัชนีราคาหุ้นที่ใช้อ้างอิง มูลค่าตัวคูณที่ใช้แปลงค่า 1 หน่วยดัชนีเป็นจำนวนเงิน ระดับดัชนีที่ถือเป็น ราคาให้ใช้สิทธิ (exercise price) เดือนหมดอายุของตราสาร (มักกำหนดเดือนปัจจุบันและเดือนถัดไปต่อเนื่องกัน 3 ถึง 4 เดือน เป็นต้น) และวิธีการส่งมอบเมื่อมีการใช้สิทธิซึ่งจะให้ส่งมอบเป็นเงินสดตามผลต่างของระดับดัชนีบน options กับระดับดัชนีที่ ใช้อ้างอิง ณ วันใช้สิทธิ stock index options เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์และเกี่ยวข้องกับการลงทุนในหลัก ทรัพย์นิยมใช้ปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของภาวะตลาดหลักทรัพย์ การให้ซื้อขายตราสารนี้ยังเป็นการเพิ่มช่องทางลงทุนในตลาดทุน และสร้างโอกาสให้มีการทำ arbitrage มาช่วยให้กลไกตลาดมีประสิทธิภาพในการสะท้อนปัจจัยพื้นฐานได้ดีขึ้น

ตราสารสิทธิที่จะซื้อหรือขายหุ้น (stock options)
Options ที่ให้สิทธิผู้ถือที่จะซื้อหรือขายหุ้นสามัญกับผู้ขาย options ตราสารสิทธิประเภทนี้จะต้องระบุว่าให้สิทธิซื้อ หรือขายหุ้นสามัญบริษัทใด จำนวนเท่าใด ณ ราคาเท่าใด อายุของตราสารสิ้นสุดเดือนใด ให้ผู้ถือใช้สิทธิได้ทุกวันหรือเฉพาะเมื่อวัน ตราสารหมดอายุ และให้ส่งมอบอย่างไรเมื่อมีการใช้สิทธิ การจัดให้มีการซื้อขาย stock options จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีช่องทางลงทุนที่หลากหลายให้เลือก และยังช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับหุ้นสามัญที่มี Stock Options ไม่ว่าจะในแง่ทำธุรกิจหลักทรัพย์หรือการลงทุนมีเครื่องมือที่จะปกป้องความ เสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นสามัญตัวนั้น stock options ประเภท call (ประเภทให้สิทธิผู้ถือที่จะซื้อ) ของหุ้นใดมีลักษณะใกล้เคียง short-term warrants ของหุ้นนั้นอย่างมาก จะแตกต่างกันตรงที่ stock options มีอายุไม่เกิน 1 ปีและใครจะเป็นผู้ออกก็ได้ แต่ short-term warrants มักมีอายุประมาณ 2 เดือนและบริษัทผู้ออกหุ้นสามัญนั้นเท่านั้นที่เป็นผู้ออกได้ การใช้สิทธิ stock options ไม่ก่อให้เกิดหุ้นใหม่แต่ การใช้สิทธิ short-term warrants จะทำให้เกิดหุ้นใหม่

ตลาดซื้อขายอนาคต (future markets)
ตลาดซื้อขายอนาคตเป็นตลาดที่มีการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์หรือเงินตราต่างประเทศโดยมีการส่งมอบสินค้าในอนาคตอาจนานเป็น 3-12 เดือนหลังจากการซื้อขายแล้วแต่จะกำหนด ตลาดซื้อขายอนาคตประกอบด้วยบริษัทนายหน้า (broker) จำนวนหนึ่ง บริษัทนายหน้าเพียงแต่ทำหน้าที่ติดต่อในเรื่องของสัญญาซื้อขายเท่านั้น ไม่มีการนำสินค้ามาแสดง เพราะสินค้าต่างๆ ที่ซื้อขายผ่านบริษัทนายหน้าจะมีการกำหนดมาตรฐานอย่างละเอียดไว้แล้ว บริษัทนายหน้าเป็นผู้ประกันว่าสินค้าจะส่งถึงมือผู้ซื้อตามเวลา และประกันกับผู้ขายว่าจะได้รับเงินค่าสินค้าเต็มจำนวน สำหรับผู้ที่ซื้อสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดดังกล่าว อาจแบ่งเป็นผู้ซื้อที่ต้องการนำสินค้านั้นไปใช้ประโยชน์และผู้ซื้อที่ไม่ต้องการสินค้านั้น แต่เป็นการซื้อแล้วขายเพื่อการเก็งกำไร ตลาดซื้อขายอนาคตที่มีชื่อเสียงประเภทสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่ ตลาดที่ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดซื้อขายอนาคตเงินตราต่างประเทศที่สำคัญได้แก่ ตลาดที่ลอนดอน

ตลาดแรก (primary market)
เป็นตลาดเพื่อการเสนอขายหลักทรัพย์กลุ่มทุนที่ผู้ต้องการเงินทุนได้ออกใหม่ แล้วนำไปขายในตลาดหลักทรัพย์หรือ mai เป็นครั้งแรก การนำตราสารออกขายเป็นการระดมทุนโดยตรงจากผู้ออมที่ลงทุนซื้อตราสาร ไปยังผู้ออกตราสารเพื่อขายที่ต้องการเงินทุน โดยเงินทุนที่ระดมได้จะนำไปใช้เพื่อการลงทุนระยะยาว การเสนอขายหลักทรัพย์กลุ่มทุนที่ออกใหม่นั้นสามารถเลือกกระทำได้ทั้งการจำหน่ายในวงจำกัดและวงกว้าง โดยจะมีที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่าง ๆ ของการระดมทุน

ตลาดรองตราสารทุน (over the counter market)
ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินอื่นๆที่ไม่ได้จดทะเบียนทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการ เช่น การซื้อขายนอกตลาดโดยปกติจะมีขนาดหรือปริมาณการค้าจำนวนน้อยกว่า มีสภาพคล่องน้อยกว่า และมีการคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนน้อยกว่าตลาดที่เป็นทางการ ในสหรัฐอเมริกาได้มีการจัดทำระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับการซื้อขายนอกตลาดขึ้นเพื่อใช้ปฏิบัติกันเอง โดยสมาคมผู้ค้าหลักทรัพย์แห่งชาติ (The National Association of Securities Dealer : NASD) สำหรับประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้เห็นชอบในหลักการในการจัดตั้งตลาดรองตราสารทุนเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2537 โดยมุ่งเน้นนักลงทุนที่เป็นสถาบันเข้ามาลงทุนในตลาดนี้

ตลาดรอง (secondary market)
เป็นตลาดที่ทำหน้าที่เพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการซื้อขายในตลาดแรกแล้ว การซื้อขายในตลาดรองเป็นการซื้อขายเพื่อการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น ตลาดรองมีส่วนสนับสนุนตลาดแรกอย่างมาก เพราะตลาดรองช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทุนระหว่างผู้มีเงินออมหรือผู้ลงทุน ดังนั้น ถ้าตลาดรองมีการขยายตัวดี มีประสิทธิภาพก็จะช่วยทำให้ตลาดแรกขยายตัวเช่นกัน ตลาดรองที่สำคัญก็คือ "ตลาดหลักทรัพย์" หรือ "ตลาดหุ้น" ตัวอย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย



ที่ปรึกษาทางการเงิน (financial advisor)
สถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ในการให้บริการแก่บริษัทมหาชนจำกัด เกี่ยวกับคำปรึกษา ความเห็นและการจัดเตรียมเอกสารข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้นและประชาชนทั่วไป เช่น ในกรณีจะนำหุ้นออกขายต่อประชาชนทั่วไป จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ จะจัดทำแผนฟื้นฟูเพื่อแก้ไขฐานะการเงินและผลดำเนินงานของบริษัทให้พ้นจากการเข้าข่ายถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น



ธนาคารการลงทุน (investment bank หรือ investment banker)
สถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เป็น underwriter (ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์) หรือ agent (ตัวแทนจัดจำหน่ายหลักทรัพย์) โดยเป็นคนกลางระหว่างบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์กับประชาชนผู้ต้องการลงทุน หน้าที่ของ investment bank เริ่มตั้งแต่ให้คำปรึกษาก่อนการออกหุ้นจำหน่ายแก่ประชาชน จัดเตรียมเอกสารเพื่อให้ ก.ล.ต. พิจารณาการจะเสนอขายหลักทรัพย์ แนะนำราคาขายที่เหมาะสม จัดตั้งผู้ร่วมจัดจำหน่ายและจัดการการจัดจำหน่ายนอกจากหุ้นออกใหม่ investment bank ให้บริการจัดจำหน่ายหุ้นที่ออกจำหน่ายไปแล้วด้วย โดยการนำจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ต้องการขายมาจัดจำหน่ายทั่วไปหรือเจรจาต่อรองหาผู้ซื้อ ธนาคารการลงทุนยังอาจให้บริการรับซื้อคืน (maintain markets) หุ้นที่ตนจัดจำหน่ายออกไปแล้วด้วย รวมถึงให้บริการจัดหาผู้ซื้อในกรณีลูกค้าต้องการขายหุ้นแบบ private placement ด้วย investment bank ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็น broker (นายหน้า) และ dealer (ผู้ค้าหลักทรัพย์) ในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดรองด้วย รวมทั้งอาจให้บริการธุรกรรมการเงินอื่น ๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน



นายหน้าหรือบริษัทนายหน้า) (broker หรือ brokerage firm หรือ brokerage house)
บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนซื้อหรือขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ให้แก่ผู้แก่ผู้ลงทุน โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้าจากผู้ลงทุนเป็นผลตอบแทน บริษัทนายหน้าดังกล่าวนี้มักนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า broker  ซึ่งคำนี้จะมีความหมายครอบคลุมไปถึงบุคลากรของบริษัทนายหน้าด้วย



บริษัทจดทะเบียน (listed company)
บริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัทเพื่อให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดและต้องปฏิบัติตาม listing agreement

บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด (THAI NVDR CO., LTD.)
เป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2543 เพื่อออกตราสาร NVDR ด้วยทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 10 ล้านบาท โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือหุ้นร้อยละ 99 ของทุนจดทะเบียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งช่วยให้ชาวต่างประเทศลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนได้โดยไม่ติดเรื่องเพดานการถือครองหลักทรัพย์ของชาวต่างชาติ (Foreign Limit) พร้อมทั้งสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงิน เช่น เงินปันผล และสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ NVDR ยังช่วยขจัดปัญหาของผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศบางประเทศที่ไม่สามารถลงทุนในหน่วยลงทุน ซึ่งรวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว (Thai Trust Fund : TTF) ได้ ทั้งนี้ ผู้ถือ NVDR จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมของบริษัทจดทะเบียน (Non-Voting Rights) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า NVDR จะออกมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนของผู้ลงทุนชาวต่างประเทศ แต่ก็อนุญาตให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนใน NVDR ได้

บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (Thailand Futures Exchange PCL : TFEX)
เป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 เพื่อดำเนินการเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546 และได้รับใบอนุญาตการเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548

บริษัทสำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (Thailand Clearing House Co.,Ltd. : TCH)
จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 โดยมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 100 ล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์สำหรับตลาดทุนไทย และเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กล่าวคือ เป็นศูนย์กลางการชำระราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายใน บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน (Thailand Futures Exchange: TFEX) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การประกอบการในฐานะสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ บจ. สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) นั้นอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับดูแลการประกอบธุรกรรมต่าง ๆ ของสำนักหักบัญชี

บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(Thailand Securities Depository Company Limited :TSD)
เป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้บริการระบบหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ของประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และสำนักหักบัญชี โดยใช้ระบบยอดสุทธิในการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ สำหรับหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (mai) และตลาดตราสารหนี้ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ

บริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (holding company)
บริษัทแม่ที่ถือหุ้นหรือหลักทรัพย์ทั้งหมดหรือมากกว่าร้อยละ 50 ของบริษัทอื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุมยิ่งกว่าเพื่อการลงทุน บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อควบคุมดูแลบริษัทอื่นโดยเฉพาะจัดว่าเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง (Pure Holding Company) ส่วนบริษัทที่ทำธุรกิจของตนเองพร้อมกับดูแลบริษัทอื่นด้วยเรียกว่า บริษัทผู้ถือหุ้นแบบผสม (Mixed Holding Company or Holding-operating Company) บริษัทผู้ถือหุ้นสามารถเข้าถือสิทธิในบริษัทอื่นที่มีอยู่ก่อนโดยซื้อหุ้นของบริษัทนั้นหรือตั้งบริษัทใหม่และซื้อหุ้นส่วนใหญ่หรือหุ้นทั้งหมดของบริษัทใหม่ การก่อตั้งบริษัทผู้ถือหุ้นมีข้อได้เปรียบคือ
1.  เป็นวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายได้สิทธิการควบคุมเหนือบริษัทอื่นโดยวิธีการที่จ่ายต้นทุนน้อยกว่าวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นวิธีควบบริษัทหรือรวมบริษัทหรือซื้อสินทรัพย์ตามราคาตลาด
2.  บริษัทแม่รับเอาความนิยมและชื่อเสียงของบริษัทในเครือไว้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบหนี้สินของบริษัทดังกล่าว
3.  บริษัทแม่สามารถรับผลประโยชน์ตอบแทนโดยการซื้อหรือก่อตั้งบริษัทในเครือขึ้นในต่างประเทศที่มีกฎหมายรับรอง

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ถือหุ้นก็มีข้อเสียเปรียบด้วยเช่นกัน กล่าวคือความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทในเครือมีความซับซ้อน ทำให้การดำเนินงานขาดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การแยกเป็นหลายบริษัทอาจทำให้เสียภาษีซ้ำซ้อนมาก

บริษัทจัดการลงทุน (investment company หรือ investment management company)
บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทจัดการลงทุนโดยได้รับค่าธรรมเนียมเป็นผลตอบแทน บริษัทจัดการลงทุนจะจัดตั้งกองทุนรวมขึ้นมาโดยออกหน่วยลงทุนระดมเงินเข้ากองทุนรวม แล้วจัด สรรเงินที่ระดมได้ไปลงทุนต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนรวมนั้น ๆ บริษัทประเภทนี้อาจเรียกว่า Management Company ด้วย บริษัทจัดการลงทุนช่วยให้เงินของผู้ลงทุนรายย่อยและผู้ลงทุนที่ยังขาดความรู้และทักษะการลงทุนในหลักทรัพย์ สามารถลงทุนได้อย่างมืออาชีพ มีการกระจายการลงทุนและมีสภาพคล่อง

บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (TSFC Securities Ltd. : TSFC)
บริษัทหลักทรัพย์จัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อให้ธุรกิจหลักทรัพย์สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวและมีศักยภาพมากขึ้น เป็นบริษัทที่ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน กันยายน 2539 บริษัทนี้มีชื่อย่อว่า TSFC หรือ บ.ล.ล.ในภาษาไทย

บริษัทย่อย (subsidiary)
บริษัทย่อยคือบริษัทที่บริษัทจดทะเบียนถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้วของบริษัทนั้น

บัญชีซื้อขายหุ้นโดยวางหลักประกัน (MARGIN ACCOUNT)
บัญชีซื้อขายหุ้นที่ลูกค้าขอเปิดไว้กับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อการซื้อหุ้นโดยใช้สินเชื่อจากบริษัทนั้นและ/หรือ เพื่อการ Short Sell ในการเปิด Margin Account ลูกค้าจะต้องนำเงินหรือหลักทรัพย์จำนวนหนึ่งมาวางไว้กับบริษัทนายหน้าเพื่อเป็นหลัก ประกัน ทั้งนี้มูลค่าของหลักประกันที่นำมาวางเมื่อเทียบกับวงเงินที่จะซื้อหุ้นหรือที่จะขายชอร์ตจะต้องไม่ต่ำกว่า Initial Margin Rate ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด

ใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ระยะสั้น (short-term warrant)
เป็น warrant ประเภทที่มีอายุสั้น บริษัทจดทะเบียนที่ต้องการเพิ่มทุนอาจเลือกออกตราสารนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมแทนการให้ right โดยทั่วไป warrant ประเภทนี้มักมีอายุไม่เกิน 2 เดือน ผู้ถือสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกตราสารนี้ ตามอัตราสิทธิให้จองซื้อ ราคา และภายในระยะเวลาที่กำหนดบนตราสาร โดยทั่วไปบริษัทจดทะเบียนมักจะยื่นขอให้ตลาดหลักทรัพย์รับ short-term warrants เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนเพื่อสามารถ ซื้อขายเปลี่ยนความเป็นเจ้าของสิทธิได้ ช่วยให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้ short-term warrants มาแต่ไม่ต้องการใช้สิทธินั้น สามารถขาย ตราสารดังกล่าวให้ผู้อื่นที่ต้องการได้

ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ที่สำรองไว้ (covered warrant)
ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ที่ออกโดยผู้หนึ่งผู้ใดที่มิใช่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ออกตราสารได้มีการกันสำรองหลักทรัพย์ไว้หรือวางหลักประกันไว้ เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่ออกนั้น หากผู้ถือ covered warrant เรียกใช้สิทธิซื้อหลักทรัพย์ผู้ออก covered warrant

ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (derivatives warrant)
ใบสำคัญแสดงสิทธิการซื้อขายหุ้น หรือหลักทรัพย์ที่อิงกับราคาหุ้นหรือดัชนีหลักทรัพย์ ที่ออกโดยผู้หนึ่งผู้ใดที่มิใช่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ออกตราสารได้มีการกันสำรองหลักทรัพย์ไว้หรือวางหลักประกันไว้ เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่ออกนั้นตามราคาและระยะเวลาที่กำหนด

ใบมอบฉันทะ (PROXY)
หนังสือซึ่งผู้ถือหุ้นลงลายมือชื่อมอบฉันทะให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นแทนตน

ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ (warrant)
หลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่บริษัทมักจะออกควบมากับหุ้นกู้หรือหุ้นบุริมสิทธิหรือออกโดยการให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นสามัญของบริษัท เป็นหลักทรัพย์ที่บริษัทกำหนดให้สิทธิแก่ผู้ถือ ที่จะจองซื้อหุ้นสามัญจากบริษัทได้ในจำนวน ราคา และตามระยะ เวลาที่ระบุไว้ (กองทุนรวมบางกองทุนได้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหน่วยลงทุนควมากับการออกหน่วยลงทุนด้วย) อายุของ warrant จะยาวกว่า 1 ปี ตลาดหลักทรัพย์กำหนดว่า warrant ที่จะจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีอายุไม่ เกิน 10 ปี warrant มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า subscription warrant

ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (transferable subscription rights : TSR)
ตราสารที่บริษัทจดทะเบียนออกให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกคนตามสัดส่วนหุ้นที่ผุ้ถือหุ้นแต่ละรายมีอยู่ โดยผู้ถือหุ้นเดิมสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียนนั้น หรือขายตราสารดังกล่าวออกไปให้บุคคลอื่นใช้สิทธิแทน

ใบอนุญาต LBDU (Limited BDU)
การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (brekerage : B) การค้าหลักทรัพย์ (dealing : D) และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriting : U) ที่จำกัดเฉพาะหน่วยลงทุน (limited BDU license) คณะกรรมการ ก.ล.ต ได้กำหนดเกณฑ์ให้บริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ขอรับใบอนุญาตดังกล่าวได้



ปรับมูลค่าตามราคาตลาด (mark to market)
การปรับมูลค่าของหลักทรัพย์ให้เป็นจริงตามราคาตลาดล่าสุด

ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ (turnover)
ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ อาจรายงานปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นจำนวนหุ้นหรือเป็นจำนวนเงินก็ได้



ผู้จัดจำหน่าย
บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ได้รับ การแต่งตั้งจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมให้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยพนักงานผู้ทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุนเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ผู้จัดการกองทุนรวม (Mutual Fund Manager)
กรรมการหรือพนักงานของ บลจ. ที่ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ ทรัพย์สินอื่น หรือหาดอกผลโดยวิธีอื่น เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล (private fund manager)
กรรมการหรือพนักงานของ บลจ. ที่ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ ทรัพย์สินอื่น หรือหาดอกผลโดยวิธีอื่น เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ผู้ดูแลผลประโยชน์ (trustee)
สถาบันการเงินซึ่งทำหน้าที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยดูแลให้ บลจ. ปฏิบัติตามโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. และเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนรวม นอกจากนี้ จะต้องเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนรวม นอกจากนี้ จะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์กับ บลจ. ด้วย

ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน (Investor Contact)
ผู้ทำหน้าที่ติดต่อ ชักชวน ให้คำแนะนำ หรือวางแผนการลงทุน ให้กับผู้ลงทุน ซึ่งมีสองประเภท ได้แก่ ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ก และผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ข

ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ก (Investor Contact Category A)
ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนซึ่งสามารถทำการวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์ หรือจัดทำบทวิเคราะห์ รวมทั้ง สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขายได้ด้วย ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้วิเคราะห์ หรือผู้ขายนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับการได้รับมอบหมายหน้าที่จากบริษัทหลักทรัพย์ต้นสังกัด

ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ข (Investor Contact Category B)
ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนซึ่งไม่สามารถทำการวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์ได้ โดยจะสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ติดต่อ ชักชวน วางแผนการลงทุน หรือให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุน โดยอาศัยข้อมูลจากบทวิเคราะห์ที่บริษัทจัดทำขึ้น

ผู้ลงทุนสถาบัน (institutional investors)
หมายถึง ผู้ลงทุนดังต่อไปนี้
1.    ธนาคารพาณิชย์
2.    บริษัทเงินทุน
3.    บริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือเพื่อการจัดการโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจฟองซิเอร์
4.    บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
5.    บริษัทประกันภัย
6.    นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งมิได้เป็นบุคคลตาม ข้อ 9
7.    ธนาคารแห่งประเทศไทย
8.    สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
9.    ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
10.    กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
11.    กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
12.    กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
13.    กองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
14.    นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป
15.    นิติบุคคลซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตามข้อ 1 ถึงข้อ 14 ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้น ที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
16.    ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตามข้อ 1 ถึง ข้อ 15
17.    ผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนตามข้อ 1 ถึง ข้อ 16 ซึ่งซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป

ผู้สร้างสภาพคล่อง (market maker)
บริษัทสมาชิกของตลาดหุ้นแห่งใดแห่งหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ดูแลหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพื่อให้หุ้นดังกล่าว มีสภาพคล่องในการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง ในการทำหน้าที่เป็น market maker หุ้นใด บริษัทสมาชิกจะต้องส่งทั้งคำเสนอซื้อและคำเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวในขณะเดียวกัน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนที่ต้องการขายหรือต้องการซื้อหุ้นดังกล่าวนั้นจะสามารถกระทำได้เสมอ

ผู้ลงทุนรายย่อย (retail investor)
ผู้ลงทุนรายบุคคลที่ทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ด้วยตนเอง

ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน (VALUER)
นิติบุคคลที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งอาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะหรือวัตถุประสงค์ เฉพาะ ผู้ที่จะทำหน้าที่ประเมินราคาทรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายต่อประชาชนต้องเป็น ผู้ประเมินราคาที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบแล้วเท่านั้น รายงานการประเมินค่าทรัพย์สินที่จะใช้อ้างอิงเพื่อวัตถุประสงค์ สาธารณะ จะต้องจัดทำตามแนวทางที่สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยกำหนดและต้องมีอายุไม่เกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่ปรากฏในรายงาน

ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriter)
บริษัทหลักทรัพย์ที่รับทำหน้าที่จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ให้บริษัทที่ต้องการกระจายหุ้นให้แก่บุคคลทั่วไป

ผลตอบแทนจากการลงทุน
ผู้ลงทุนในกองทุนรวมจะได้รับผลตอบแทนใน 2 ลักษณะ ได้แก่ กำไรจากการขายหน่วยลงทุนและเงินปันผลของกองทุนรวม เงินปันผลหมายถึงส่วนแบ่งกำไรของกองทุนนั้น ๆ (ในกรณีเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล) ถ้าเป็นบุคคลธรรมดารับเงินปันผลจะถูกหักภาษี 10 % หรือนำมารวมคำนวณภาษีปลายปีในอัตราก้าวหน้า

ผู้ดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ หรือผู้รับฝากทรัพย์สิน (custodian)
ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ดูแลและเก็บรักษาใบหุ้นและสินทรัพย์อื่น ๆ ให้แก่กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บุคคลธรรมดา หรือบริษัทที่เป็นลูกค้า

ผู้ค้าหลักทรัพย์ (dealer)
บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตทำธุรกรรมในฐานะผู้ค้าหลักทรัพย์ ผู้ค้าหลักทรัพย์จะซื้อและขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีลงทุนของตนเอง และรับความเสี่ยงจากการซื้อขายนั้น ในกรณีที่ลูกค้าซื้อหุ้นจาก dealer ลูกค้าจะได้รับหุ้นที่โอนมาจาก portfolio ของ dealer นั้น การซื้อขายหุ้นโดย market maker เพื่อทำหน้าที่สร้างสภาพคล่องให้กับหลักทรัพย์ที่ตนดูแลอยู่ก็เป็นการทำหน้าที่ในฐานะ dealer ด้วย

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (major shareholder)
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือผู้ถือหุ้นที่ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในบริษัทจดทะเบียนรวมกันเกินกว่าร้อยละ 10 ของทุนชำระแล้วของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งการถือหุ้นดังกล่าวนี้นับรวมถึงหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย



พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
(The Securities and Exchange Act B.E. 2535)
พระราชบัญญัติเพื่อกำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย ประกาศใช้ในปี พ.ศ.2535 แทนพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ซึ่งแก้ไขในปี พ.ศ.2527 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงการออกหลักทรัพย์จำหน่ายในตลาดแรก การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดรอง การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์และองค์กรต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ รวมถึงการพัฒนาตลาดทุนให้ก้าวหน้า ทันสมัยและมีเสถียรภาพ

พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 (The Derivatives Act B.E.2546)
พระราชบัญญัติเพื่อกำกับดูแลธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเทศไทย ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2546 โดยกำหนดให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 (Provident Fund Act B.E. 2530)
พระราชบัญญัติเพื่อกำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2530 โดยแต่งตั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกกฎกระทรวงและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ต่อมาได้แก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2542 และเมื่อ พ.ศ. 2543 กระทรวงการคลังได้โอนการกำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่คณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบในเรื่องต่าง ๆ

พอร์ตโฟลิโอ ดูเรชั่น (portfolio duration)
อายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกระแสเงินสดที่ได้รับจากทรัพย์สินของกองทุนรวม ซึ่งคำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมบริษัทจัดการกำหนดลงทุนที่ต้องการขายหรือต้องการซื้อหุ้นดังกล่าวนั้นจะสามารถกระทำได้เสมอ



มูลค่าหน่วยลงทุน
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวม
มูลค่าตามบัญชี (book value)
เป็นมูลค่าของหุ้นสามัญ 1 หุ้นที่ได้จากการประเมินค่าสินทรัพย์สุทธิ (net asset value) ต่อหุ้นตามงบดุลล่าสุดของบริษัทผู้ออกหุ้นซึ่งหมายความว่าหากบริษัทนี้เลิกกิจการและสามารถนำสินทรัพย์รวมถึงหนี้สินต่าง ๆ ไปแปรเป็นเงินสดได้ตามมูลค่าที่ระบุในงบดุลนั้นแล้วผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินคืนในจำนวนเท่ากับมูลค่าตามบัญชีต่อการถือหุ้น 1 หุ้น
มูลค่าตามบัญชี = สินทรัพย์รวม – หนี้สินรวม / จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทออกเรียกชำระเงินค่าหุ้นแล้ว

มูลค่าตามราคาตลาด (market capitalization)
มูลค่าโดยรวมของหุ้นสามัญของบริษัทใด ๆ ที่คำนวณขึ้นโดยใช้ราคาตลาดของหุ้นนั้นคูณกับจำนวนหุ้นสามัญจดทะเบียนทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว

มูลค่าตามหน้าตราสาร (มูลค่าที่ตราไว้) (face value หรือ par value)
มูลค่าของหลักทรัพย์ที่กำหนดระบุไว้บนใบตราสารซึ่งจะเป็นไปตามข้อกำหนดในหนังสือบริคณห์สนธิของแต่ละบริษัท มูลค่าที่ตราไว้เป็นข้อมูลที่แสดงให้ทราบถึงมูลค่าเงินลงทุนเริ่มแรกสำหรับหุ้นแต่ละหน่วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางบัญชี และใช้แสดงให้ทราบถึงทุนจดทะเบียนตามกฎหมาย เช่น ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แบ่งเป็น 10 ล้านหุ้น มูลค่าตราไว้หุ้นละ 10 บาท เป็นต้น มูลค่าที่ตราไว้มีประโยชน์ในการกำหนดอัตราผลตอบแทนสำหรับผู้ถือหุ้นกู้ พันธบัตร และหุ้นบุริมสิทธิ เพราะดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ พันธบัตร รวมถึงเงินปันผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะกำหนดเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าที่ตราไว้
มูลค่าที่ตราไว้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับราคาตลาดที่ตกลงซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ราคาตลาดจะถูกกำหนดขึ้นโดยภาวะอุปสงค์และอุปทานในตลาด ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์นั้น ๆ และสภาวะการซื้อขายในตลาด par value อาจเรียก face value (มูลค่าตามหน้าตราสาร) หรือ nominal value (มูลค่าที่กำหนดไว้)

มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (net asset value หรือ NAV)
ทรัพย์สินของกองทุนรวมตามราคาตลาดในขณะใดขณะหนึ่งหักด้วยหนี้สินของกองทุนรวมนั้น สำหรับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยลงทุนหมายถึงมูลค่าสินทรัพย์สุทธิหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น มูลค่าสินทรัพย์ สุทธิต่อหน่วยลงทุนถือเป็นมูลค่าจริงของหน่วยลงทุน ณ วันที่ทำการคำนวณ การคำนวณดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจสอบ และให้ความเห็นชอบโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมนั้น
Net Asset Value = Book Value ในกรณีของหุ้นสามัญ



รอบการซื้อขาย (trading session หรือ session)
ช่วงเวลานับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์เปิดให้มีการซื้อขายจนกระทั่งหยุดการซื้อขาย 1 รอบ ในปัจจุบันนี้ตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดให้มีการซื้อขาย 2 รอบใน 1 วัน คือ รอบการซื้อขายช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 12.30 น. และรอบการซื้อขายช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา14.30 น. - 16.30 น.

ราคาขายหน่วยลงทุน
จะเท่ากับมูลค่าหน่วยลงทุนบวกค่าธรรมเนียมการขาย (ถ้ามี) โดยปกติค่าธรรมเนียมการขายจะคิดเป็นร้อยละของมูลค่าหน่วยลงทุน

ราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน
จะเท่ากับมูลค่าหน่วยลงทุนหักด้วยค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน (ถ้ามี) โดยปกติค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนจะคิดเป็นร้อยละของมูลค่าหน่วยลงทุน

ราคาเสนอซื้อสูงสุด (bid)
ราคาเสนอซื้อสูงสุดของหลักทรัพย์หนึ่ง ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งเวลานั้นอาจมีราคาเสนอซื้อเข้ามาหลายราคา แต่ระบบซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์จะแสดงราคาเสนอซื้อที่สูงสุดไว้ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ว่า ผู้เสนอซื้อที่ให้ราคาสูงกว่าควรได้สิทธิซื้อก่อนรายอื่น ๆ

ราคาเพดาน (ceiling price)
ระดับสูงสุดที่ราคาหุ้นจะขึ้นไปได้ในแต่ละวันทำการ ปัจจุบันนี้ตลาดหลักทรัพย์กำหนดว่าการสูงขึ้นของราคาหุ้นในแต่ละวันจะเกินกว่าร้อยละ 30 ของราคาปิดวันก่อนไม่ได้ เช่น หุ้น A มีราคาปิดวันก่อนที่ 100 บาท ราคาเพดานในวันนี้จะเท่ากับ 130 บาท หมายถึงว่าวันนี้การซื้อขายหุ้น A จะกระทำที่ราคาสูงกว่า 130 บาท (ราคาเพดาน) ไม่ได้ (ดู floor price และ daily price limit) ข้อกำหนดเรื่องราคาเพดานไม่บังคับใช้กับการซื้อขายบน foreign board และบน big-lot board ในกรณีที่รายการซื้อขายมีปริมาณเท่ากับหรือเกินกว่า 10% ของทุนจดทะเบียน

ราคาปิด (close หรือ closing price)
ราคาของหลักทรัพย์ใด ๆ ที่เกิดจากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นรายการสุดท้ายของแต่ละวัน

รายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2)
(reporting of acquisition or disposal of securities : Form 246-2)
เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ที่ผ่านทุก ๆ 5% ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทมหาชนจำกัด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนอำนาจในการบริหารบริษัทในอนาคตได้ โดยจะต้องส่งแบบรายงานภายใน 1 วันทำการ

รายงานการถือครองหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (แบบ 59-1)
(Management’s Securities Holdling : Form 59-1)
รายงานการถือครองหลักทรัพย์ของผู้บริหารและผู้สอบบัญชี เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งเป็นครั้งแรก โดยจะต้องรายงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (แบบ 59-2)
(Change of Management’s Securities Holdling : Form 59-2)
รายงานการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหารและผู้สอบบัญชี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหารและผู้สอบบัญชี เนื่องจากผู้บริหารและผู้สอบบัญชีเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับข้อมูลภายในบริษัท โดยจะต้องรายงานภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่มีการซื้อ ขาย โอน หรือโอนหลักทรัพย์นั้น

ระบบเครดิตบาลานซ์ (credit balance)
เป็นระบบบัญชีลูกค้าเงินกู้เพื่อหลักทรัพย์ (margin account) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้นำมาใช้แทนระบบ margin account ที่ใช้กันมาแต่เดิม ตามระบบ credit balance ผู้ลงทุนที่ต้องการกู้เงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์จะต้องนำเงินสดจำนวนหนึ่งมาวางไว้กับบริษัทนายหน้าของตน เช่น 1,000,000 บาท จากนั้นบริษัทนายหน้าก็จะกำหนดวงเงินให้ซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับระดับ initial margin rate ที่กำหนดไว้ หาก initial margin เท่ากับ 50% วงเงินให้ซื้อหลักทรัพย์จะเท่ากับ 1,000,000 / 50% = 2,000,000 บาท ซึ่งความหมายว่า 1,000,000 บาทแรกซื้อด้วยเงินสดของผู้ลงทุนส่วนที่เกินจากนั้นอีก 1,000,000 บาทเป็นเงินที่บริษัทสมาชิกให้กู้หากผู้ลงทุนซื้อหุ้นน้อยกว่า 1,000,000 บาทที่วางไว้ เช่นซื้อหุ้นเพียง 400,000 บาท เงินสดส่วนที่เหลืออีก 600,000 บาท จะได้รับดอกเบี้ยทำนองเดียวกับการฝากเงิน หากซื้อหุ้น 1,700,000 บาท ส่วน 700,000 บาทที่เกินจากเงินสดของตน ผู้ลงทุนต้องเสียดอกเบี้ยเงินเงินกู้ให้แก่บริษัทสมาชิกผู้ให้กู้นอกจากนี้หลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนซื้อไว้ในบัญชี credit balance จะต้องมีการ mark to market (ปรับมูลค่าตามราคาตลาด) ทุกวัน เพื่อให้สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงตามราคาตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป หากราคาของหลักทรัพย์ที่ซื้อไว้ปรับตัวสูงขึ้นจะมีผลให้กำลังซื้อของผู้ลงทุนรายนี้เพิ่มสูงขึ้นเท่ากับมูลค่าที่สูงขึ้นของหลักทรัพย์ แต่ถ้าหลักทรัพย์ที่ซื้อไว้นั้นมีราคาลดลง กำลังซื้อของผู้ลงทุนนั้นก็จะลดลงตามมูลค่าหลักทรัพย์ที่ลดลง

ราคาพื้น (floor price)
ระดับราคาต่ำสุดของแต่ละหลักทรัพย์ที่จะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้สำหรับวันทำการหนึ่ง ๆ ซึ่งคำนวณขึ้นจาก daily price limit ของตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันระดับที่เป็น floor price คือระดับราคาที่ต่ำลง 30% จากราคาปิดของวันก่อน เช่น วันก่อนปิดที่ราคา 50 บาท ราคาพื้นวันนี้จะเป็น 35 บาท วันนี้จะมีการซื้อขายในราคาต่ำกว่า 35 บาทไม่ได้

ราคาตลาด (market price)
ราคาหุ้นใด ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดจาการซื้อขายครั้งหลังสุดเป็นราคาที่สะท้อนถึงความต้องการซื้อและความต้องการขายจากผู้ลงทุนโดยรวมในขณะนั้น

ราคาเสนอขาย (Offer)
ราคาขายต่ำที่สุดของแต่ละหลักทรัพย์ที่มีการเสนอขายเข้ามาในระบบซื้อขาย ณ ขณะใดขณะหนึ่งอาจจะมีราคาเสนอขายเข้ามาหลายราคา แต่ระบบซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์จะแสดงราคาเสนอขายต่ำที่สุดไว้ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ว่า ผู้เสนอขายที่ราคาต่ำกว่าควรได้สิทธิขายก่อน

ระบบแอสเซท (Automated System for the Stock Exchange of Thailand: ASSET)
เป็นระบบคอมพิวเตอร์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มักเรียกสั้น ๆ ว่า ASSET เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2534 โดยใช้แทนระบบซื้อขายแบบเดิมซึ่งใช้วิธีประมูลโดยตัวแทนบริษัทสมาชิกจดแจ้งราคาที่ต้องการซื้อหรือขายบนกระดานซื้อขายในห้องค้าหลักทรัพย์ซึ่งเรียกว่า post on board เมื่อใช้ระบบ ASSET ก็ไม่ต้องมีตัวแทนของบริษัทสมาชิกในห้องค้าหลักทรัพย์ การส่งคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายกระทำโดยตัวแทนของบริษัทสมาชิกซึ่งอยู่ที่บริษัท ป้อนข้อมูลดังกล่าวผ่านคอมพิวเตอร์ของตนที่ต่อเชื่อมกับระบบ ASSET ระบบ ASSET จะบันทึกข้อมูลทั้งหมดเข้าระบบและจัดเรียงลำดับการได้สิทธิซื้อ (หรือขาย) ก่อนและหลังของแต่ละคำสั่งซื้อ (หรือคำสั่งขาย) หากราคาซื้อและราคาขายตรงกันระบบ ASSET จะจับคู่ให้เกิดการซื้อขายโดยอัตโนมัติ (automatching) อย่างไรก็ตาม ระบบ ASSET ก็รองรับรายการซื้อขายที่ตกลงกันได้แล้วค่อยส่งแจ้งรายงานเข้ามาในระบบด้วย ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า put through ซึ่งให้ใช้สำหรับการซื้อขายหุ้นที่จัดเป็นการซื้อขายรายใหญ่ (big lot) ตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดและการซื้อขายตราสารหนี้
ในระบบ ASSET จัดแบ่งการทำงานเป็น 4 ส่วนคือ ส่วนจำเป็น main board สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ปกติทั่วไป ซึ่งปริมาณการซื้อขายต้องเต็มหน่วยซื้อขาย (board lot) ส่วนที่เป็น odd - lot board สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนต่ำกว่า 1 หน่วยซื้อขาย ส่วนที่เป็น big - lot board สำหรับการซื้อขายหลัก



วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน
วันที่บริษัทจัดการ หรือตัวแทนเพื่อซื้อหรือขายหน่วยลงทุนทำการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งที่ได้รับจากผู้ลงทุน ทั้งนี้ บลจ. จะกำหนดไว้หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนรวม

วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น (book-closing date)
วันที่บริษัทกำหนดให้นายทะเบียนหลักทรัพย์ปิดรับการโอนหุ้นของบริษัทเพื่อให้นายทะเบียนหลักทรัพย์ตรวจสอบและรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนหลักทรัพย์ ณ วันดังกล่าว เป็นผู้ได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่บริษัทประกาศมอบให้แก่ผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุดนั้น เช่น สิทธิรับเงินปันผล สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน หรือสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น ดังนั้นหากผู้ลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นในวันดังกล่าว หรือหลังจากนั้นก็จะไม่ได้รับสิทธิที่บริษัทประกาศมอบให้แก่ผู้ถือหุ้นในคราวนั้นๆ

วาณิชธนกิจ (merchant banking)
ธุรกรรมทางการเงินที่ให้บริการโดย investment banker (ธนาคารการลงทุน) เช่น การให้บริการปรึกษาและเจรจาต่อรองแก่ลูกค้า ที่ต้องการควบรวมกิจการหรือซื้อกิจการ รวมถึงบริการจัดการลงทุนในหลักทรัพย์ให้ลูกค้า เป็นต้น

วันจองซื้อหุ้น (subscription date)
วันที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์กำหนดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวยื่นใบจองซื้อและชำระเงินค่าจองซื้อ



ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (share depository)
หน่วยงานที่ให้บริการเป็นศูนย์กลางรับฝากและถอนหลักทรัพย์ให้สมาชิก รวมทั้งบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่นการโอน และงานทะเบียนผู้ถือหุ้น การทำหน้าที่ดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ที่ซื้อ ขายกัน เนื่องจากสมาชิกทุกรายต่างก็มีบัญชีฝากหุ้นอยู่ที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ การส่งมอบหุ้นที่ซื้อขายกันสามารถ กระทำได้โดย ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ทำการโอนจำนวนหุ้นในบัญชีของสมาชิกผู้ขายไปเข้าบัญชีของสมาชิกผู้ซื้อ ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องเสียเวลาและมีภาระในการส่งมอบรับมอบใบหุ้นระหว่างกัน สถาบันที่ทำหน้าที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ในประเทศไทย คือ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Thailand Securities Depository Co., Ltd. หรือ TSD ซึ่งเป็นบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย



สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (The Office of the Securities and Exchange Commission)
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 17 ของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อปฏิบัติการใด ๆ ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และปฏิบัติงานอื่นตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (The Association of Investment Management Companies: AIMC)
เป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2537 เป็นศูนย์รวมของบริษัทหลักทรัพย์ประเภทบริษัทจัดการลงทุน ในอันที่จะสร้างมาตรฐานและพัฒนาการประกอบธุรกิจด้านนี้ พัฒนาการลงทุนและตลาดทุนไทย รักษาผลประโยชน์และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนในกองทุนรวม

สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (The Association of Securities Companies: ASCO)
สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 จุดประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมของบริษัทหลักทรัพย์ทุกประเภท ในอันที่จะร่วมมือกันและให้ความร่วมมือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมพัฒนาตลาดทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ของไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์มีชื่อย่อ ๆ ว่า ASCO

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating agency)
บริษัทซึ่งทำหน้าที่ให้บริการจัดอันดับคุณภาพและความเสี่ยงของตราสารประเภทหนี้ หรือของบริษัทหรือองค์การต่าง ๆ ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ จะพิจารณาระดับความสามารถของบริษัทผู้ออกตราสารที่จะชำระคืนเงินต้นและชำระดอกเบี้ยได้ตามเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ผลการจัดอันดับจะเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้ทราบเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนหรือประโยชน์อย่างอื่น อันดับความน่าเชื่อถือจะแสดงเป็นสัญลักษณ์ตัวอักษร โดยเริ่มจากความน่าเชื่อถือ ระดับสูงสุดไปจนถึงระดับต่ำสุด เช่น อาจจะใช้สูงสุด AAA ไปจนต่ำสุดที่ D เป็นต้นการจัดตั้ง Credit Rating Agency จะต้องได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ต้องไม่เป็นบริษัทเงินทุนหรือหลักทรัพย์ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และจะต้องร่วมทุนหรือมีข้อตกลงรับการถ่ายทอดวิชาการกับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีสถาบันประเภทนี้จัดตั้งขึ้นแล้ว คือ The Thai Rating and Information Service Co., Ltd. หรือ TRIS และ The Fitch Ratings (Thailand) Ltd.

สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน (Thailand Securities Institute: TSI)
เป็นสถาบันที่จัดตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการเงินและการลงทุนให้ เยาวชน นิสิต นักศึกษา ผู้ลงทุน ประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้ประกอบวิชาชีพในธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มความเข้าใจและความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินและการลงทุน รวมทั้ง เป็นสถาบันจัดทดสอบความรู้แก่บุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์

สมาคมบริษัทจดทะเบียน (The Listed Companies Association)
สมาคมที่บริษัทจดทะเบียนร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของบริษัทจดทะเบียนในการให้ความเห็นต่าง ๆ ต่อการดำเนินงานและการพัฒนาตลาดทุนไทย ให้ความร่วมมือและประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการเติบโตของตลาดทุนไทย รวมถึงส่งเสริมการประกอบพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมของสมาชิกสมาคม สมาคมนี้จดทะเบียนก่อตั้งใน พ.ศ. 2532

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (Federation of Thai Capital Market Organizations : FeTCO)
จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 2547 โดยความร่วมมือของ 6 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนไทยภายใต้เป้าหมายหลัก 3 ประการคือ เสริมสร้าง พัฒนาตลาดทุนให้มีเสถียรภาพ มั่นคง ผลักดันบรรษัทภิบาล

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (The Thai Bond Market Association : ThaiBMA)
ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ภายใต้มาตรา 230 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อทำหน้าที่หลักในการเป็นองค์กรกำกับดูแลสมาชิกและเป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านตลาดตราสารหนี้ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้

สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่ (right)
สิทธิที่บริษัทจดทะเบียนมอบให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในการที่จะจองซื้อหุ้นสามัญจากการเพิ่มทุนของบริษัท ผู้ถือหุ้นจะได้สิทธิตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่ถือครองอยู่ ราคาจองซื้อหุ้นใหม่ตามสิทธิจะต่ำกว่าราคาตลาดหรือต่ำกว่าราคาที่เสนอขายแก่บุคคลทั่วไป (public offering price) สิทธิที่มอบให้ผู้ถือหุ้นเดิมนี่จะกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิไว้ด้วยโดยปกติจะไม่เกิน 2 เดือน right ดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า subscription right

สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (The Securities Analyst Association : SAA)
สมาคมที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และมูลนิธิอาเซียจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาวิชาการด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์และการเงิน เสริมสร้างมาตรฐานจรรยาบรรณและคุณภาพของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เพื่อการเจริญก้าวหน้าของตลาดทุนไทย สมาคมนี้จัดอบรมโครงการ CFA (Chartered Financial Analyst) ของสหรัฐอเมริกา

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (Thai Investors Association)
สมาคมมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้และพิทักษ์สิทธิผู้ลงทุนไทย โดยเมื่อปี 2545 ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เป็น “องค์กรผู้ถือหุ้นรายย่อย” ทำหน้าที่ช่วยเหลือ ให้ความรู้ และเป็นแกนนำของผู้ถือหุ้นรายย่อย ในการปกป้องสิทธิประโยชน์จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย และเผยแพร่ข่าวสารแก่ผู้ลงทุน ร่วมมือและประสานงานกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในหลักทรัพย์และพัฒนาตลาดทุนไทย สมาคมนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2532

สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Institute of Directors : IOD)
องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ อันได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิกองทุนพัฒนาระบบตลาดทุน และธนาคารโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและสนับสนุนกรรมการของบริษัทให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นเวทีสำหรับกรรมการบริษัทในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของกรรมการ และการบริหารงานของบริษัท เพื่อนำเสนอเป็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการบริษัทให้เป็นที่น่าถือมากยิ่งขึ้น

สถาบันวิทยาการตลาดทุน (Capital Market Academy)
เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถด้านตลาดทุน มีวิสัยทัศน์อันเป็นพลวัต กอปรด้วย ภาวะผู้นำ ที่สามารถทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย ทั้งด้านธุรกิจ และด้านบทบาทและความสัมพันธ์ในสังคม

ส่วนของผู้ถือหุ้นหรือส่วนของเจ้าของ (owner’s equity)
ถ้าเป็นกิจการค้าของบุคคลคนเดียว ส่วนของเจ้าของควรแสดงให้เห็นจำนวนทุนที่อยู่ในวันต้นงวด กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในงวดนั้น ส่วนที่เจ้าของเบิกไปใช้ส่วนตัวและจำนวนทุนทั้งสิ้นที่เหลืออยู่ในวันปลายงวดหรืออาจจะนำเอายอดเบิกใช้ส่วนตัวไปหักจากทุนยกมาต้นงวดเพื่อให้ได้ตัวเลขแสดงทุนที่ใช้ในการดำเนินงานในงวดนี้เสียก่อน แล้วจึงเอาผลกำไร(ขาดทุน) ประจำงวดไปบวก(หัก) ทีหลัง เพื่อจะได้ทราบทุนยกไปงวดถัดไป
ถ้าเป็นบริษัทจำกัด ส่วนของผู้ถือหุ้นแสดงด้วยรายการหุ้นสามัญ กรณีที่บริษัทมีการออกหุ้นบุริมสิทธิ รายการหุ้นบุริมสิทธิถูกจัดอยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้น โดยอยู่ในลำดับก่อนหุ้นสามัญในงบดุล ทั้งนี้การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับหุ้นบุริมสิทธิจะบันทึกตามราคาตราไว้ ซึ่งเป็นราคาที่ระบุไว้บนใบหุ้นและการคิดเงินปันผลก็จะคำนวณจากราคาตราไว้เช่นกัน

สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่ (right)
สิทธิที่บริษัทจดทะเบียนมอบให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในการที่จะจองซื้อหุ้นสามัญจากการเพิ่มทุนของบริษัท ผู้ถือหุ้นจะได้สิทธิตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่ถือครองอยู่ ราคาจองซื้อหุ้นใหม่ตามสิทธิจะต่ำกว่าราคาตลาดหรือต่ำกว่าราคาที่ เสนอ ขายแก่บุคคลทั่วไป (Public Offering Price) สิทธิที่มอบให้ผู้ถือหุ้นเดิมนี้จะกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิไว้ด้วยโดยปกติจะ ไม่เกิน 2 เดือน Right ดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า Subscription Right

สิทธิในการออกเสียง (voting right)
สิทธิของผูถือหุ้นสามัญในอันที่จะออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการบริหารงานของบริษัท สิทธิในการออกเสียงนี้อาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทนได้

สัญญาซื้อขายดัชนีราคาหุ้นล่วงหน้า (stock index futures)
สัญญาซื้อขายกลุ่มหุ้นที่เป็นองค์ประกอบในการคำนวณดัชนีราคาหุ้นโดยกำหนดให้ส่งมอบกันในอนาคต ใน Stock Index Futures จะต้องระบุดัชนีราคาหุ้นที่ใช้อ้างอิง มูลค่าของ 1 สัญญาซื้อขาย (หมายถึงตัวคูณที่แปลงค่า
1 หน่วยดัชนี เป็นจำนวนเงิน เช่น ตัวคูณของ SP 500 Futures เท่ากับ $500 เป็นต้น) เดือนกำหนดส่งมอบ(มักกำหนดเป็นเดือนมี.ค., มิ.ย., ก.ย., และ ธ.ค.) และวิธีการส่งมอบ ซึ่งจะกำหนดให้ส่งมอบกันด้วยเงินสดตามผลต่างของระดับดัชนีที่ซื้อกับที่ขาย (ถ้าเป็นกรณี รอถึงกำหนดส่งมอบจะคิดจากผลต่างของระดับดัชนีที่ซื้อ (หรือที่ขาย) กับระดับดัชนีที่ใช้อ้างอิง ณ วันส่งมอบ) Stock Index Futures เป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ (ทั้งบุคคลธรรมดาและสถาบัน) และผู้ทำธุรกิจหลักทรัพย์ใช้ปกป้องและบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของภาวะตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ลงทุนมีช่อง ทางลงทุนเพิ่มขึ้น และช่วยให้กลไกราคาในตลาดหลักทรัพย์สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการที่สามารถกระทำ Arbitrage จากผลต่างที่ผิดปกติระหว่างระดับดัชนีในตลาดหลักทรัพย์กับระดับดัชนีในการซื้อขาย Stock Index Futures ซึ่งการทำ Arbitrage จะผลักดันให้ราคาที่ผิดปกติกลับสู่ระดับตามปัจจัยพื้นฐานได้เร็วขึ้น

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (futures หรือ futures contract)
สัญญาระหว่างคู่สัญญาสองฝ่ายตกลงราคากัน ณ ปัจจุบัน และจะมีการส่งมอบสินทรัพย์และชำระเงินในอนาคตตามราคาที่ตกลงไว้ไม่ว่าราคาในขณะนั้นจะเป็นเท่าไรก็ตาม การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถือว่าทั้งสองฝ่ายมีภาระผูกพันต่อกันต้องปฏิบัติตาม เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีเซท 50 (SET 50 Index Future) และมีศูนย์ซื้อขายล่วงหน้าเป็นตลาดรองไว้ให้ซื้อขายเปลี่ยนความเป็นเจ้าของสัญญาด้วย

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีเซท 50 (SET 50 Index Future)
ดัชนีหุ้นสามัญที่ตลาดหลักทรัพ์จัดทำขึ้น เพื่อใช้แสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญ 50 ตัวที่มีมูลค่าตลาดสูงและการซื้อขายมีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ โดยนำดัชนีหุ้นดังกล่าวมาเป็นสินทรัพย์อ้างอิง ในการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า



หนังสือชี้ชวน (prospectus)
เอกสารที่บริษัทผู้เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปต้องจัดทำขึ้น เพื่อเปิดเผยข้อมูลแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัท และรายละเอียดของการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งนั้น หนังสือชี้ชวนจะต้องแสดงข้อมูลลักษณะธุรกิจของบริษัท โครงการในอนาคต โครงสร้างการบริหารงานผู้บริหารบริษัท ข้อมูลทางการเงิน ผลประกอบการในอดีตและที่คาดการณ์ว่าจะเป็นไปในอนาคตประเภทของหุ้นที่เสนอขาย จำนวนหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ ราคาเสนอขาย และวันเวลาที่ให้จองซื้อหุ้น ข้อมูลในหนังสือชี้ชวนมีความสำคัญต่อผู้ลงทุนที่จะใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนในหุ้นนั้น ร่างหนังสือชี้ชวนของบริษัทจะต้องผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก่อนจัดทำเผยแพร่ให้ประชาชนจองซื้อหุ้น

หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน
เอกสารที่ บลจ. จัดทำขึ้นเพื่อชี้ชวนให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวม โดยหนังสือชี้ชวนจะมี 2 ส่วนคือ ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบ และส่วนข้อมูลโครงการ และต้องมีรายละเอียดตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

หุ้นชั้นดี (blue chip)
หุ้นสามัญของบริษัทที่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เป็นบริษัทที่สามารถทำผลกำไรให้เติบโตและจ่ายปันผลได้ต่อเนื่องมายาวนาน อีกทั้งมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพของผู้บริหาร สินค้า และการให้บริการ

หุ้นบริษัทชั้นดี (blue chip stock)
หุ้นของบริษัทที่มีการดำเนินงานที่มั่นคง สามารถรักษาระดับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอและเป็นบริษัทที่มีการวางแผนขยายกิจการโดยคำนึงถึงผลกำไรระยะยาวยิ่งกว่าการทำกำไรระยะสั้น ในตลาดหลักทรัพย์ที่สัดส่วนของจำนวนนักลงทุนมีมากกว่านักเก็งกำไร ราคาของหุ้นบริษัทชั้นดีมักจะมีราคาสูงเพราะอุปสงค์มีมาก แต่ในตลาดหลักทรัพย์ที่นักลงทุนมีสัดส่วนน้อยกว่านักเก็งกำไร ราคาหุ้นชั้นดีกลับอยู่ในระดับต่ำ ไม่เป็นที่นิยมของนักเก็งกำไรเพราะปั่นราคาได้ยาก ไม่สามารถใช้กลเม็ดด้านข่าวลือหรือข่าววงใน

หน่วยซื้อขาย (board lot)
จำนวนหน่วยขั้นต่ำของหลักทรัพย์ที่ตลาดหลักทรัพย์อนุญาตให้มีการซื้อขาย์บนกระดานหลัก (Main Board) ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้ 1 หน่วยซื้อขาย หรือ 1 Board Lot เท่ากับ 100 หุ้น (หรือหน่วยลงทุนหรือสิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุน) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่หลักทรัพย์ใดมีราคาซื้อขายตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป เป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน 6 เดือน หนึ่งหน่วยการซื้อขายจะเท่ากับ 50 หุ้น หรือ 50 หน่วยลงทุนหรือสิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุน

หุ้นของบริษัทที่บริษัทถือไว้เอง (treasury stock)
หุ้นที่บริษัทออกจำหน่ายแล้ว และบริษัทได้รับกลับคืนมาโดยวิธีต่างๆ เช่น ซื้อคืนหรือรับบริจาค เป็นต้น

หุ้นสามัญ (common stock)
หลักทรัพย์ที่บริษัทออกจำหน่ายเพื่อระดมเงินทุนมาดำเนินกิจการ ผู้ถือหุ้นสามัญมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของบริษัท มีสิทธิออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการบริษัท ร่วมตัดสินใจในนโยบายการดำเนินงานของบริษัท และร่วมตัดสินใจในปัญหาสำคัญของบริษัทผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผล (dividend) เมื่อราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นตามศักยภาพของบริษัท และมีโอกาสได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่ (right) เมื่อบริษัทเพิ่มทุนขยายกิจการ หากบริษัทเลิกกิจการ ก็จะได้รับส่วนแบ่งในสินทรัพย์ของบริษัทจากยอดสุทธิหลังจากชำระคืนเจ้าหนี้และพันธะต่าง ๆ หมดแล้ว หุ้นสามัญมีอีกชื่อหนึ่งว่า ordinary share

หุ้นกู้ (DEBENTURE)
เป็นตราสารการกู้เงินระยะยาว (อายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป) จากประชาชน ซึ่งออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัด รวมถึงนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ตามระยะเวลาและอัตราที่กำหนด และจะได้คืนเงินต้นเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามที่ระบุในตราสาร หลักทรัพย์ที่บริษัทนำออกจำหน่ายเพื่อกู้เงินจากผู้ลงทุน หุ้นกู้จะมี กำหนดเวลาไถ่ถอนคืนที่แน่นอน ผู้ถือหุ้นกู้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท จะได้รับดอกเบี้ยตอบแทนเป็นงวด ๆ ตามอัตราที่กำหนด ตลอดอายุของหุ้นกู้ อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดในหุ้นกู้จะสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับฐานะกิจการของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้และระดับอัตรา ดอกเบี้ยในตลาดการเงินขณะที่นำหุ้นกู้ออกจำหน่ายครั้งแรก

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (SUBORDINATED DEBENTURE)
หุ้นกู้ประเภทที่ผู้ถือมีสิทธิได้ชำระคืนเงินค่าหุ้นภายหลังหุ้นกู้ชนิดอื่นในกรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้นล้มละลาย ทั้งนี้เงื่อนไขจะเป็นไปตามที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ได้ระบุไว้บนหุ้นกู้ดังกล่าว

หุ้นกู้แปลงสภาพ (CONVERTIBLE DEBENTURE)
มีลักษณะคล้ายหุ้นกู้ทั่วไป โดยจะแตกต่างกันคือจะไม่คืนเงินต้นเมื่อครบอายุ แต่จะให้สิทธิแก่ผู้ถือในการแปลงหุ้นกู้นั้นเป็นหุ้นสามัญในระยะเวลา ราคา และอัตราส่วนที่กำหนดไว้ ผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทเหมือนผู้ถือหุ้นกู้ ทั่วไป ต่อเมื่อได้นำหุ้นกู้นี้ไปแปลงสภาพหรือแลกเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญตามสิทธิแล้วก็จะมีฐานะร่วมเป็นเจ้าของบริษัทตามจำนวนหุ้น สามัญที่ได้รับ

หุ้นที่เจริญเติบโตเร็ว (GROWTH STOCK)
หุ้นของบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงในปัจจุบันและเป็นที่คาดว่าจะสามารถหากำไรได้สูงต่อไปในอนาคต ซึ่งจะมีผลทำให้มูลค่าหุ้นนี้ในตลาดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่สูงกว่าหุ้นของบริษัทอื่นๆ

หุ้นบุริมสิทธิ (PREFERRED STOCK)
เป็นหุ้นที่มีลักษณะกึ่งเจ้าของกึ่งเจ้าหนี้ของบริษัท กล่าวคือผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิไม่มีสิทธิออกเสียง แต่ได้สิทธิในการได้รับผลตอบแทนในอัตราที่แน่นอน และจะได้สิทธิในการเรียกร้องในบริษัทก่อนผู้ถือหุ้นสามัญแต่หลังเจ้าหนี้ หลักทรัพย์ ประเภทที่ ผู้ถือ มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัทเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ แต่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะมีสิทธิพิเศษอื่น เช่น ได้รับเงินปันผลในอัตราที่กำ หนดไว้แน่นอน มีสิทธิได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหุ้นสามัญและมีสิทธิในสินทรัพย์ของบริษัทก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัท เลิกกิจการ (การจะมีบุริมสิทธิใด ๆ ต้องกำหนดระบุไว้บนหุ้นบุริมสิทธิ) โดยทั่วไปผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะไม่ได้รับสิทธิลงคะแนน เสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

หลักเกณฑ์เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (net capital rule: NCR)
เงินกองทุนสภาพคล่องของบริษัท หมายถึง สินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัทหักด้วยหนี้สินรวมของบริษัทนั้น เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ หมายถึง เงินกองทุนสภาพคล่องหักด้วยค่าความเสี่ยง ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิขึ้นมาใช้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรฐานเกี่ยวกับฐานะความมั่นคงทางการเงินของบริษัทหลักทรัพย์ และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทหลักทรัพย์จะดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอที่จะจ่ายคืนหนี้สินแก่ลูกค้าเมื่อบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน

หลักทรัพย์ในครอบครอง (portfolio)
หลักทรัพย์ทั้งหมดในความครอบครองของผู้ลงทุนรายใดรายหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วยหลักทรัพย์จำนวนตั้งแต่ 2 ชนิด หรือ 2 บริษัทขึ้นไป จุดประสงค์ของการสร้าง portfolio ก็เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนด้วยการกระจายลงทุนในหลักทรัพย์หลายบริษัทหรือหลายประเภท

หลักประกันเงินกู้ (COLLATERAL)
สิ่งที่ผู้กู้ใช้ในการค้ำประกันเงินกู้ ตามปกติผู้ให้กู้มีสิทธิยึดหลักประกันเงินกู้หรือดำเนินการอื่นใดตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืม เมื่อผู้กู้ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ หลักประกันเงินกู้อาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.  อสังหาริมทรัพย์ คือทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ เช่น ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น หลักประกันเงินกู้ประเภทนี้เป็นที่นิยมกันทั่วไปทั้งในการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบและนอกระบบ
2.  สังหาริมทรัพย์ เป็นทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ที่เคลื่อนย้ายได้ อาทิ เครื่องจักร สินค้า รถยนต์ ทองคำ เงินเดือน บัญชีเงินฝาก และหลักทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ

หลักประกันของลูกค้า (MARGIN)
จำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่ลูกค้าวางไว้กับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อการซื้อหุ้นโดยใช้สินเชื่อหรือเพื่อการขายชอร์ตกับบริษัทหลักทรัพย์นั้น ตลาดหลักทรัพย์จะกำหนดอัตราขั้นต่ำที่ลูกค้าต้องวางหลักประกันไว้เรียกว่า Initial Margin Rate เช่น ร้อยละ 50 ของมูลค่าหุ้นที่ซื้อหรือขายชอร์ต เป็นต้น ตลาดหลักทรัพย์อาจกำหนดเปลี่ยนแปลงอัตรา Margin ได้หากภาวะความเสี่ยงใน ตลาดหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลง เงิน Margin ที่ลูกค้าต้องวางเริ่มแรกนี้ เรียกว่า Initial Margin

หลักทรัพย์จดทะเบียน (LISTED SECURITY)
หลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนให้เป็นสินค้าเพื่อการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หลักทรัพย์จดทะเบียนและบริษัท จดทะเบียนผู้ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด

หน่วยลงทุน (unit trust)
หลักทรัพย์ที่ออกขายโดยบริษัทจัดการลงทุนเพื่อระดมเงินเข้ากองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้น แล้วจัดสรรเงินในกองทุนนั้น ลงทุนในตลาดการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน เช่น ลงทุนซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ลงทุนในตราสารการเงิน ต่าง ๆ และฝากไว้กับสถาบันการเงิน เป็นต้น ผู้ถือหน่วยลงทุนมีฐานะร่วมเป็นเจ้าของกองทุนนั้น ๆ และมีสิทธิได้รับเงินปันผลตอบ แทนจากผลกำไรที่เกิดขึ้น หากถือไว้จนถึงกำหนดไถ่ถอนก็จะได้รับส่วนแบ่งคืนจากเงินกองทุนตามสัดส่วนของหน่วยลงทุนที่ถืออยู่

หน่วยงานดูแลการปฏิบัติงานของสมาชิก (Compliance Unit)
คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนาคาร ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จัดตั้ง Compliance Unit ขึ้นในบริษัท เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล การปฏิบัติงานของบริษัทซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือจรรยาบรรณในทางวิชาชีพ รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียนของลูกค้า หลักการนี้นับเป็นแนวทางในการให้สมาชิกได้มีการกำกับดูแลตนเอง



อัตราส่วนการจ่ายปันผล (dividend pay - out ratio)
ส่วนของกำไรสุทธิที่ได้นำมาจ่ายเป็นปันผลแก่ผู้ถือหุ้นโดยคิดเป็นอัตราร้อยละ มีสูตรในการคำนวณดังนี้
อัตราส่วนการจ่ายเงินปันผล = มูลค่าปันผลต่อหุ้น / กำไรสุทธิต่อหุ้น * 100

อัตรามาร์จินเริ่มแรก (initial margin rate)
เป็นอัตราการวางเงินหลักประกันก่อนที่ลูกค้าจะซื้อหลักทรัพย์ด้วยเงินกู้หรือขายชอร์ต ในการวางเงินประกันเริ่มแรกนี้ มูลค่าที่ลูกค้านำมาวางเมื่อเทียบกับยอดหลักทรัพย์ที่ซื้อหรือที่ขายชอร์ตแล้วจะต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ initial margin rate ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด เช่น initial margin rate เท่ากับ 40% หากลูกค้าจะซื้อหุ้นมูลค่า 1,000,000 บาท จะต้องวางเงินมาร์จิน 400,000 บาทเป็นหลักประกัน

อนุญาโตตุลาการ (ARBITRATION )
วิธีระงับข้อพิพาททางแพ่งวิธีหนึ่งโดยคู่กรณีตกลงเสนอข้อพิพาทให้คณะบุคคลที่เรียกว่าคณะอนุญาโตตุลาการทำ หน้าที่พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทนั้น และคู่กรณีตกลงที่จะเห็นด้วยตามคำชี้ขาดที่จะมีออกมา ตามระเบียบเรื่อง อนุญาโตตุลาการโดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีนโยบายให้มีมาตรการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ลงทุนในตลาดทุน เนื่องจากมีผู้ลงทุนได้รับความเสียหายจากการที่บริษัทหลักทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือสัญญา หรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการที่ผู้ลงทุนจะได้รับการชดเชย ความเสียหายดังกล่าวอาจมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมากจนไม่คุ้มกับความเสียหายที่ได้รับ หรืออาจต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทั่วไป จึงเห็นควรจัดให้มีทางเลือกในการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับหลักทรัพย์ ที่สะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และประหยัดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ลงทุนเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ลงทุนสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวได้ โดยกำหนดกระบวนการระงับข้อพิพาทเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนแรก คือ กระบวนการรับข้อร้องเรียนภายในของบริษัทหลักทรัพย์ โดยเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่าง ผู้ลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับหลักทรัพย์ เช่น ตัวแทนขาย ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม เป็นต้น ผู้ลงทุนต้องดำเนินการร้องเรียนตามกระบวนการรับข้อร้องเรียนภายในของบริษัทดังกล่าวก่อนหากลูกค้าและบริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถตกลงกันได้หรือบริษัทไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนภายในระยะเวลาที่กำหนด ลูกค้าซึ่งเป็นผู้เสียหายและบริษัทหลักทรัพย์สามารถตกลงกันเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง คือ กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้ การเข้าสู่กระบวนการนี้เป็นการตกลงกันเข้ามาด้วยความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยผู้ร้องต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือข้อสัญญาว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินยอมให้มีการยุติข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการและในการยื่นคำร้องเพื่อเข้าสู่กระบวนการผู้ร้องสามารถเลือกที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนได้ หากคู่กรณียังไม่สามารถตกลงกันได้อีก ก็จะเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ

อัตราปันผลตอบแทน (DIVIDEND YIELD)
ค่าสถิติตัวนี้บอกให้ทราบว่า หากลงทุนซื้อหุ้น ณ ระดับราคาตลาดปัจจุบัน จะมีโอกาสได้รับเงินปันผลคิดเป็นอัตรา ร้อยละเท่าใด การคำนวณหาค่ามีสูตรคำนวณดังนี้
อัตราปันผลตอบแทน    = มูลค่าปันผลต่อหุ้น * 100
       ราคาตลาดของหุ้น

อัตรามาร์จินที่ต้องดำรงไว้ (MAINTENANCE MARGIN RATE)
อัตราที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้เป็นเกณฑ์บังคับว่า มูลค่าหลักประกันของลูกค้า(Margin) ที่วางไว้กับบริษัทหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ที่ซื้อด้วยเงินกู้(หรือที่ขายชอร์ต)ไว้จะต้องเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตรา MaintenanceMargin Rate ที่เป็นเกณฑ์บังคับนี้ ตลาดหลักทรัพย์กำหนด Maintenance Margin Rate ไว้ 2 ระดับ ระดับแรกคือระดับที่ใช้เป็นเกณฑ์ Margin Call (เรียกให้ลูกค้าวางมาร์จินเพิ่ม) เช่นกำหนดไว้ที่ 35% หากมูลค่ามาร์จิน (หรือหลักประกัน) ส่วนที่เหลืออยู่ของลูกค้าเมื่อเทียบกับ มูลค่าหลักทรัพย์ที่ซื้อ (หรือที่ขายชอร์ตไว้) แล้วมีอัตราเท่ากับหรือต่ำกว่า 35% บริษัทหลัก ทรัพย์เจ้าหนี้จะต้องเรียกให้ลูกค้าราย นี้วางมาร์จินเพิ่ม เพื่อให้มาร์จินกลับมาสูงกว่าอัตรา Margin Call ระดับที่สองคือระดับที่ใช้เป็นเกณฑ์ Forced Sell (กรณีเป็น ลูกค้าเงินกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์) หรือเกณฑ์ Forced Buy (กรณีเป็นลูกค้าขายชอร์ต)ระดับที่ สองนี้จะมีอัตราต่ำกว่าระดับแรก เช่น เกณฑ์ Forced Sell กำหนดที่อัตรา 25% เป็นต้น หากมูลค่ามาร์จินที่เหลืออยู่ของลูกค้า เทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ที่ซื้อไว้มีอัตรา ต่ำถึงระดับดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์เจ้าหนี้จะต้องทำการบังคับขายหลักทรัพย์บางส่วน ของลูกค้านั้นเพื่อลดภาระหนี้ของลูกค้า ซึ่งจะมีผลให้มาร์จินของลูกค้าเมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ที่เหลืออยู่มีอัตราไม่ต่ำกว่า เกณฑ์ Forced Sell นี้ เกณฑ์ Forced Buy ก็เป็นทำนองเดียวกัน (ดู Margin Call, Forced Sell, Forced Buy) ได้

อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (PRICE/BOOK VALUE RATIO หรือ P/BV Ratio)
อัตราส่วนเปรียบเทียบราคาตลาดของหุ้นสามัญกับมูลค่าตามบัญชีของหุ้นนั้นโดยคำนวณขึ้นจากสูตร
P/BV     = ราคาตลาดของหุ้น
       มูลค่าตามบัญชีของหุ้น

ค่าอัตราส่วนนี้บอกให้ทราบว่าราคาหุ้น ณ ขณะนั้นสูงเป็นกี่เท่าของมูลค่าในทางบัญชีของหุ้นดังกล่าว หากมีค่าสูง เป็นการแสดงว่าผู้ลงทุนทั่วไปในตลาดคาดหมายว่าบริษัทดังกล่าวมีศักยภาพที่จะเติบโตสูง แต่ขณะเดียวกันก็แสดงถึงระดับความ เสี่ยง ที่สูงด้วย

อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรต่อหุ้น (PRICE/EARNINGS RATIO หรือ P/E Ratio)
อัตราส่วนเปรียบเทียบราคาตลาดของหุ้นสามัญกับกำไรสุทธิต่อหุ้นของหุ้นสามัญนั้น ซึ่งคำนวณได้ดังนี้
P/E     = ราคาตลาดของหุ้น
       กำไรสุทธิต่อหุ้นประจำงวด 12 เดือนของหุ้น

การคำนวณอัตราส่วนตัวนี้อาจจะใช้ผลกำไรสุทธิต่อหุ้นประจำงวด 12 เดือนล่าสุดในการคำนวณ ซึ่งค่าอัตราส่วน ราคาตลาดต่อกำไรต่อหุ้นที่ได้จะเป็น Trailing P/E (P/E จากกำไรที่ผ่านมา) หากใช้กำไรสุทธิต่อหุ้นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้าในการคำนวณ ค่าอัตราส่วนที่ได้จะเป็น Forward P/E (P/E จากกำไรในภายหน้า) หุ้นที่มีค่า P/E ระดับสูง แสดงว่าผู้ลงทุนในตลาดยินดีจะจ่ายเงินลงทุนซื้อหุ้นดังกล่าวในราคาสูง เนื่องจากคาด หมายว่าผลกำไรของบริษัทผู้ออกหุ้นดังกล่าวจะขยายตัวในอัตราที่สูง ในขณะเดียวกันค่า P/E สูง ก็แสดงถึงการมีความเสี่ยงที่ สูงด้วย หุ้นที่มีค่า P/E สูงมักเป็นหุ้นของบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงสำหรับหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำ อาจจะเป็นหุ้นของกิจการที่อยู่ใน ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอัตราการขยายตัวต่ำและเติบโตเต็มที่แล้ว หรืออาจจะอยู่ในธุรกิจที่ไม่ได้รับความนิยมแล้ว หรืออาจจะอยู่ใน กลุ่มที่เป็น Blue Chip ก็ได้
view