สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประชาธิปไตยไม่ต้องมีสูตร

ประชาธิปไตยไม่ต้องมีสูตร

โดย วสิษฐ เดชกุญชร




ผม ยังพบปะและไปมาหาสู่กับเพื่อนฝูงที่เป็นนักศึกษาวิชารัฐศาสตร์อยู่หลายคน ที่ว่านักศึกษานี้ ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเสมอไป เรียนจบแล้วหรือไม่เคยเรียนมหาวิทยาลัยเลย แต่สนใจศึกษาเองเป็นส่วนตัว ก็เรียกว่านักศึกษาได้ ผมเองเคยเรียนรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยจนจบได้ปริญญา แต่จนทุกวันนี้ก็ยังเรียนอยู่ และถือตัวว่ายังเป็นนักศึกษาอยู่

เพื่อน นักศึกษาวิชารัฐศาสตร์ของผมบางคนเห็นว่า ความวิกฤตทางการเมืองในเมืองไทยในปัจจุบันแสดงว่า ประชาธิปไตยที่เราได้มาตั้งแต่ พ.ศ.2475 นั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วใช้ไม่ได้ เรามีรัฐสภามาหลายสิบสภา ทั้งแบบสภาเดี่ยวและสองสภา (คือมีวุฒิสภาด้วย) โดยหลักการ รัฐสภาเป็นผู้แทนประชาชน และใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน แต่ลงท้าย รัฐสภาก็เพี้ยน (หรือถูกหาว่าเพี้ยน) ทหารต้องทำรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครอง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และตั้งรัฐสภาใหม่ แต่แล้วสภาก็เพี้ยนอีก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (เพื่อนผมอ้างว่า) แสดงว่า ประชาธิปไตยที่ออกแบบโดยคณะราษฎร์ และเปลี่ยนแปลงแก้ไขในภายหลังโดยใครก็ตาม ใช้ไม่ได้ ต้องแก้ที่เหตุ โดยออกแบบประชาธิปไตยใหม่

เพื่อนอีกคนหนึ่งไม่โต้แย้ง แต่เสริมว่า ถ้าจะออกแบบประชาธิปไตยใหม่ คนที่ออกแบบจะเป็นนักวิชาการหรือนักการเมืองแต่พวกหนึ่งพวกใดหรือทั้งสองพวก ไม่ได้ ประชาชนต่างหากที่ควรจะมีส่วนโดยตรงในการออกแบบ

เพื่อนอีก คนหนึ่งแย้งว่า ประชาชนกว่า 60 ล้านคนมานั่งออกแบบประชาธิปไตยได้ยังไง ลงท้ายก็ต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือทำประชาพิจารณ์ ประชามติ หรือประชา ฯลฯ อยู่วันยังค่ำ อย่างที่เคยทำมาแล้วทำมาอีกนั่นแหละ แล้วประชาธิปไตยก็จะยังไม่สมบูรณ์อยู่นั่นเอง

อีกคนหนึ่งแสดงความ เห็นบ้างว่า พวกที่คิดแต่จะออกแบบนั้น เป็นพวกวิศวกรหรือสถาปนิกช่างฝัน ก่อนจะสร้างอะไรต้องวาดวิมานในฝันก่อน แต่ลืมนึกไปว่า สิ่งที่จะสร้างขึ้นนั้น จะให้ใครอยู่ใครใช้ ประชาธิปไตยที่ออกแบบนั้น ทุกครั้งคนออกแบบลืมนึกถึงประชาชน หรือนึกเอาเองว่าประชาชนต้องการอย่างนั้น แบบอาจจะแลดูงดงามเข้าท่า แต่พอเอาไปสร้างจริงๆ ประชาธิปไตยก็เป๋หรือโย้เย้ และพังในที่สุด

อีก คนหนึ่งสาธยายว่า รัฐธรรมนูญบางฉบับ ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุด เพราะแลดูแล้วเห็นว่าจะให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน และจะทำให้รัฐบาลดูแลรักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ใครจะไปนึกว่า ลงท้าย รัฐธรรมนูญฉบับงามนั้น จะกลายเป็นเครื่องมือทำให้แก๊งอภิมหาเศรษฐีสามารถเอาไปใช้ซื้อรัฐสภาได้ แล้วก็ใช้เพทุบายทางการบริหารจัดการ เบียดบังเอาเงินงบประมาณ (ก็คือเงินของประชาชนนั่นแหละ) ไปแจกเพื่อนร่วมแก๊งบ้าง แจกชาวบ้านบ้าง หรือให้ชาวบ้านยืม โดยไม่กำหนดเวลาและวิธีการ ว่าจะใช้คืนเมื่อใดและอย่างไร ไม่ต่างอะไรกับปลูกคฤหาสน์ขึ้น แล้วก็รื้อเอาส่วนประกอบออกไปแจกหรือไปให้ยืมทีละชิ้นทีละส่วน โดยไม่แยแส (และไม่มีใครนึก) ว่าคฤหาสน์หลังนั้นจะพังครืนลงมาในวันไหนเวลาใด

เขา ถามให้คิดว่า ในวิกฤตการณ์ปัจจุบันนี้ ถ้าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะ คุณสมัครยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือยุบสภา แล้วอะไรจะเกิดขึ้น? ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถ้าคุณสมัครลาออก สภาก็จะต้องหาคนอื่นไปเป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยความยินยอมและเห็นชอบของสภา คือจากพรรคพลังประชาชนและพรรคการเมืองอื่นๆ ที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนอีกนั่นแหละ แล้วใครคนนั้นจะถูกใจพันธมิตร หรือสามารถแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้จริงๆ หรือ?

ถ้าคุณสมัครยุบสภา ก็จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ถ้าพรรคพลังประชาชน (หรือพรรคอื่นชื่อใหม่ที่ตั้งไว้เพื่อคอยเสียบแทน หากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ) ได้รับเลือกกลับเข้าไปเป็นเสียงข้างมากในสภาอีก และตั้งรัฐบาลใหม่อีก พันธมิตรจะยอมหรือไม่? ถ้าไม่ยอม วิกฤตการณ์ก็ยังไม่สิ้น รัฐบาลใหม่ไม่ต้องทำอะไร นอกจากเตรียมเปิดทำเนียบให้พันธมิตรเข้าไปยึดอีก

หรือถ้าจับพลัดจับ ผลู ได้คนบ้าเลือด (ไม่จำเป็นต้องบ้าน้ำลายก็ได้) เข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรี ถือหลักและยืนกรานลูกเดียวว่า ตนได้รับเลือกรับแต่งตั้งตาม "วิถีทางประชาธิปไตย" สั่งให้ตำรวจทหารใช้กำลังสลายและสยบพันธมิตรพันธศัตรู ถ้า (ตำรวจและทหารเชื่อและยอมฟังคำสั่ง) สลายสยบสำเร็จ ก็คงจะมีคนตายคนเจ็บอีกแน่นอน

แต่ถ้าสลายสยบไม่สำเร็จ กลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ คนตายและคนเจ็บก็คงยิ่งมีจำนวนมากขึ้นไปอีก

ผม ฟังเพื่อนเสวนากันแล้ว ก็อดกลับมาคิดไม่ได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยนั้น ตั้งแต่รู้จักกันมาหลายพันปีแล้ว มีนักคิดนักเขียนคิดและเขียนกันมาจนทุกวันนี้ เป็นหนังสือนับเล่มไม่ถ้วน และคนคิดและคนเขียนก็ตายไปแล้วนับศพไม่ถ้วนเหมือนกัน แต่จนวันนี้ ก็ยังไม่เป็นที่ยุติว่า ประชาธิปไตยแท้หรือที่สมบูรณ์นั้น ควรจะมีรูปลักษณ์อย่างไร

กวีชาวอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งผมและเพื่อนนักศึกษาวิชารัฐศาสตร์ถือว่าเป็นอาจารย์คนหนึ่ง (ครับ กวีก็เป็นนักรัฐศาสตร์ได้ อย่างคุณเนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ นั่นยังไง) คือ Alexander Pope เขียนไว้เมื่อปี ค.ศ.1733-34 ในบทกวีนิพนธ์ของท่านชื่อ Essay on Man ความตอนหนึ่งมีว่า

"For form of government let fools contest;

Whate"er is best administer"d, is best:"

ผม ขอแปลเป็นภาษาไทยร้อยแก้วว่า "สำหรับแบบของการปกครองนั้น ปล่อยให้คนโง่ (มัน) แข่งขัน (หา) กันไปเถอะ อะไรที่ใช้ (ปกครอง) ได้ดีที่สุดนั่นแหละ (เป็นแบบของการปกครองที่) ดีที่สุด"

ความในวงเล็บนั้น ผมเติมเองเพื่อให้อ่านและเข้าใจชัดเจนขึ้น

ถ้า เชื่อและใช้คาถาของ Pope เราก็ควรจะยุติการเป็นปฏิปักษ์และเผชิญหน้ากัน แล้วลงนั่ง (ไม่ต้องจับเข่าก็ได้) หารือกันว่า จะทำอย่างไรให้ดีที่สุดกับการแก้ปัญหาบ้านเมืองปัจจุบัน โดยไม่ต้องคิดว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่เลิกหรือลดอัตตา ไม่เลือกฝ่ายเลือกข้าง ถือเอาการบำบัดทุกข์ของประชาชน และเอาประโยชน์สุขของประชาชนเป็นเป้าหมาย

คิดอย่างนี้และเขียนอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ก็ยังไม่รู้และยังไม่เห็นว่า "เรา" คือใคร และอยู่ที่ไหน

จาก มติชนออนไลน์
view