สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ออกแบบ วิถีการดำเนินงานฝ่าวิกฤติการเงิน ซับไพร์ม

"ออกแบบ" วิถีการดำเนินงานฝ่าวิกฤติการเงิน "ซับไพร์ม"
ธงชัย สันติวงษ์ คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์
กรุงเทพ ธุรกิจ ออนไลน์

จากกรณีการล้มละลายของวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ลำดับ 4 ของสหรัฐ และ AIG ถือเป็นจุดเริ่มของพายุใหญ่ของวิกฤติการเงินที่จะก่อความเสียหายทั้งสั้นและ ยาว โดยแม้จะทุ่มใช้เงินแก้ไขมากถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังไม่แน่ว่าความเสียหายมีมากขนาดไหน จะแก้ได้หรือไม่ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรไทยเราซึ่งไม่ได้รับการยกเว้น เพราะอยู่ในยุคโลกใบเดียวกัน ย่อมต้องประเมินสถานการณ์ วางแผนและ "ออกแบบ" (Design) เลือกวิถีการดำเนินงาน เพื่อให้อยู่รอด ปลอดภัย และยังคงโตได้ท่ามกลางสารพัดพายุที่พัดกระหน่ำแรงไปทั่วโลก

ก่อนการออกแบบแก้ไขวางกลวิธีดำเนินงาน จากนี้เป็นต้นไป ควรได้เข้าใจถึงสภาพเงื่อนไขและสถานการณ์ภายนอกที่กำลังเกิดขึ้นให้ชัดเจน ก่อน เพื่อให้มีการกรอบคิดออกแบบกลวิธีดำเนินงานได้สอดคล้อง และกระชับตรงกับเงื่อนไข และข้อจำกัดใหม่ที่เกิดขึ้น

วิกฤติซับไพร์ม (Sub prime) คือ ปัญหาหนี้เสียจากการเสื่อมลงของมูลค่าทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์เกรดสอง ทำให้เกิดการเสียหายเกิดปัญหากำไรตกกับสถาบันการเงินมากมาย ซ้ำเติมด้วยฟองสบู่แตกจากการใช้เงินและบริโภคเกินตัว

ซึ่งหนักเบาแค่ไหนอยู่ที่การเข้าใจ ธรรมชาติเศรษฐกิจและการเงินของโลกใหม่ ที่ซึ่งการเงินโลกได้พัฒนาแปลกพิสดาร และเพิ่มความเสี่ยงสูงกว่าเดิมมาก

โดยโลกสภาพใหม่ "เงินจะมีอำนาจอิทธิพลพร้อมกับมายา" มากมาย "นวัตกรรมการเงิน" ทำให้เงินท่วมโลกได้ จากการที่สถาบันการเงินสามารถสร้าง "เงินเทียม" หรือ "เงินอนาคต" ออกมาใช้สนับสนุนต่อการผลิต และการบริโภคที่ขยายไวได้ แล้วยังมีการทำเครื่องมือการเงินใหม่ๆ ออกใช้ เพื่อขยายปริมาณเงินให้ยืดเหยียดขยายได้อีกหลายๆ ชั้น ทั้งตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์ จนทำให้ "ฟองสบู่" การเงินกลายรูปขยายตัวพองโตเพิ่มขนาดกลายเป็นพายุใหญ่ เป็นเงาดำครอบคลุมทั้งโลก

แต่ธรรมชาติของเครดิตแบบใหม่หรือเงิน เทียมที่สร้างขึ้นนี้ มีปัญหาตรงที่โตขึ้นมาจากความว่างเปล่า ไม่มีฐานของทรัพยากรหรือของมีค่ารองรับ แต่เป็นความเชื่อ หรือคำโฆษณาจากการสร้างภาพเพื่อใช้เก็งและสร้างกำไร เครดิตจากการเงินโลกจึงกลายสภาพจะเป็นได้ทั้งเทวดา (คล้ายผีน้อยผู้น่ารัก) ที่โผผินบินไปมาได้ทั่วโลกยุคการเงินเสรี โดยให้ความมั่งคั่งได้ในชั่วข้ามคืน หรืออาจเป็นมาร (วิญญาณ) ร้าย คล้ายพายุฟองสบู่ใหญ่ที่ไหลลอยล่อง หลอกหลอนและหยอกเอินข้ามโลกได้ ซึ่งอาจแตกลงกลายเป็น "ลมเพชรหึง" ที่มีพลังรัศมีกับอำนาจทำลายกว้างและรุนแรงไปทั่วโลกได้

ด้วยขนาดที่ใหญ่นี้เอง ผลกระทบจึงอาจคงอยู่ยาวนาน จนทำให้องค์กรและคนที่อ่อนแอต้องตายจากไป ทางแก้คือ การต้องเข้าใจแล้วสามารถ "ออกแบบ" วางวิถีทางเดิน เพื่อดำเนินธุรกิจและใช้ชีวิตให้สามารถหลบหลีกและอยู่รอดปลอดภัยได้

วิกฤติการเงิน หรือ Credit Crunch ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ต้องนับว่าขนาดปัญหาใหญ่โตมโหฬาร ต่างจากวิกฤติการเงินในครั้งก่อนๆ 2 ครั้ง คือ ถ้ากล่าวบนพื้นฐานจากประเทศไทย วิกฤติการเงินที่ไทยเคยเผชิญมาก่อนสองครั้ง คือ

1. "วิกฤติสภาพคล่องจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน" ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2516 สาเหตุมาจากปัจจัยทรัพยากรของโลกขาดแคลน ทำให้ราคาน้ำมันและดอกเบี้ยโลกพุ่งสูง ก่อผลกระทบด้านกำไรตก สภาพคล่องหดหาย จนทำให้สถาบันการเงินบางแห่งล้มไป ต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2520 ได้เกิด "วิกฤติสภาพคล่อง" จากความผันผวนของตลาดเงินโลก ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มเรียนรู้ถึงการต้องมี "วินัยการเงิน"

เพราะสถาบันการเงินที่มีปัญหาปล่อยกู้ มากเกินขนาดที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ต่างรีบส่งคืนเงินกู้ต่างประเทศเมื่อดอกเบี้ยโลกพุ่งสูงขึ้น การจำกัดสินเชื่อธนาคารโดยไม่ปล่อยกู้ จึงเป็น "เสมือนหักด้ามพร้าด้วยเข่า" ทำให้ลูกค้าสำลัก และเริ่มเรียนรู้ถึงเรื่อง "สภาพคล่อง" ที่ต้องระวังรักษาไว้ในโลกเศรษฐกิจที่มีสภาวะผันผวน (turbulent)

แต่นั่นคือ วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในโลกเศรษฐกิจแบบเก่า ที่เริ่มจะมีการขยายตัวเปลี่ยนแปลงและกำลังเริ่มจะก้าวข้ามไปสู่โลกเศรษฐกิจ ใหม่

2. "วิกฤติการเงินยุคโลกาภิวัตน์" หรือ "วิกฤติจากกับดักทางการเงิน" นั่นคือ วิกฤติจากธรรมชาติโลกที่เปลี่ยนไปสู่การเป็นโลกเศรษฐกิจใหม่ ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงสูงด้วย "นวัตกรรม" 2 อย่าง คือ จาก "เทคโนโลยีสารสนเทศ" ที่นำมาสู่การขยายตัวแบบไร้พรมแดน เป็นสภาพโลกที่ลื่นไหล มากด้วยความไว มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้มีการทุ่มผลิตสินค้ากระจายไปทั่วโลกได้

ต่อจากนั้น "นวัตกรรมการเงิน" ก็ได้สร้างเครื่องมือการเงินในรูปตราสารหนี้แบบต่างๆ มีสภาพคล้ายเป็น "เงินเทียม" หรือ "เงินอนาคต" เป็นเงินถูกเงินสบาย หาได้ง่ายโดยที่ปัจจัยพื้นฐานโตตามไม่ทัน กลายเป็นฟองสบู่นำมาสู่ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ในปี พ.ศ. 2540 ที่ฟองสบู่แตกในไทยแล้วกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทำให้เสียหาย ทรัพย์ถูกยึดไป ทำให้ผู้หลงใน "มายาการเงิน" ที่มองข้าม "แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง" และกู้ยืมเงินนอก ดอกถูก มาใช้เก็งกำไร ต้องกลายเป็นผู้สูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจโดยปริยาย

จนถึงวิกฤติจากการเสียหายของสินเชื่อ Sub-prime อันเกิดจากการปั่นราคาและเก็งกำไรจากอสังหาริมทรัพย์ชั้นรอง อันเป็นของหนักที่ไม่ล้นตลาด และไม่ก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการยืดเหยียดขยายเครดิตหลายชั้น จนทำให้การบริโภคเกินตัวและก่อปัญหาขาดดุลหนัก แล้วทำการแก้ไขสหรัฐจึงผิดวินัยการเงิน โดยออกพันธบัตรและตราสารหนี้เรื่อยไปมากจนเกินพอดี ทำให้สถาบันการเงินเกิดปัญหาสินทรัพย์เสื่อมค่า การผลิตตกต่ำ การบริโภคเกินตัว จนในที่สุด ความเป็นจริงก็ปรากฏให้เห็น คือ สถาบันการเงินขาดสภาพคล่อง จนต้องล้มละลายไป

ซึ่งจากวิกฤติต้มยำกุ้ง สหรัฐซึ่งเป็นต้นตำรับ สร้างฟองสบู่ด้วยเงินเทียม ได้สัญญาจะวางระเบียบควบคุมสถาบันการเงิน เพื่อปรามไม่ให้กองทุนเก็งกำไรสร้างความเสี่ยงข้ามรัฐและข้ามโลก แต่ไม่ได้ทำ แล้วกรรมก็ตามสนอง นั่นคือ วาณิชธนกิจทั้งหลายกลับขาดวินัยการเงินไปสร้างปัญหาฟองสบู่ในบ้านตนเอง จนฟองสบู่แตกครั้งใหญ่ และกำลังลามลึกไปเรื่อยโดยไม่ทราบว่าจะหยุดที่ตรงไหน

สำหรับเมืองไทยเราที่เคยโดนพิษต้มยำกุ้งมาแล้ว เมื่อรวมกับบทเรียนของวิกฤติการเงินสองครั้งแรก ทางออกที่ปลอดภัยในเวลานี้ คือ

1. การต้องระวังรักษาสภาพคล่อง (Liquidity) ให้เข้าสู่สภาวะไม่เสี่ยง โดยไม่ลงทุนหรือบริโภคใช้จ่ายเกินกว่ารายได้ที่หาได้ โดยมีเงินสำรองติดมือไว้ วิธีการ คือ การออกแบบอัตราส่วนของการใช้จ่ายลงทุนเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ อาทิเช่น ไม่ลงทุนเกิน 70% ของรายได้ เป็นต้น

2. การต้องออกแบบกลวิธีการปฏิบัติงาน (Designing Operating systems) ให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency) สามารถรักษาต้นทุนต่ำ เพิ่มผลผลิตกับคุณภาพสูงขึ้น (Productivity)

3. การออกแบบสูตรวิธีคำนวณวิเคราะห์ผลกำไรในการทำธุรกิจ (Profitability) โดยแยกวิเคราะห์ให้เห็นได้หลายมิติ คือ แยกตามกลุ่มธุรกิจ กลุ่มลูกค้า และผลิตภัณฑ์ แล้วทำการปรับการทำงานการใช้ทรัพยากรไปสู่กลุ่มที่ให้ประโยชน์สูงกว่า

4. ทำการทบทวนและออกแบบวางทิศทางกลยุทธ์การทำธุรกิจ (Business Strategy) ใหม่ เพื่อให้ธุรกิจผูกพันอยู่กับธุรกิจที่มีอนาคตและไม่เสี่ยง

5. ต้องปรับตัว รู้จักนำไอทีมาใช้กับจัดระบบทำงานที่ทันสมัย โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่า และไม่ฟุ่มเฟือย

6. การอบรมเสริมความรู้และวางนโยบายการพัฒนาคน ให้มีประสิทธิภาพ มีความรู้ พร้อมกับการดำรงชีวิตครอบครัวแบบมีคุณภาพ

กลวิธีข้างต้นนี้ หากมองให้ดี ก็คือ การออกแบบการดำเนินงานเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดีต่อพายุลมแรงของผลกระทบจากฟองสบู่แตกข้ามโลก

Tags : ออกแบบ วิถีการดำเนินงาน ฝ่าวิกฤติการเงิน ซับไพร์ม บัญชี ฝึกอบรม สำนักงานบัญชี ทุจริต ทำบัญชี ที่ปรึกษา สอบบัญชี การจัดการ เศรษฐกิจการลงทุน

view