สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปปช.ชี้มูลความผิด'อภิรักษ์'คดีรถดับเพลิง


:

มี มติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดคดีรถเรือดับเพลิงกทม."สมัคร-โภคิน-ประชา-อภิรักษ์ -วัฒนา" รวมปลัดกทม.-ผอ.ปภ. ส่วน"สมศักดิ์-มาริโอ มีนาร์"ไม่มีมูล ด้านผู้ว่า"อภิรักษ์"แถลงพรุ่งนี้

กรุงเทพ ธุรกิจ ออนไลน์ : เวลา 18.15 น.ที่ผ่านมา ภายหลังการพิจารณาชี้มูลความผิดเกือบ 10 ชั่วโมง นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษก ป.ป.ช. และนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกันแถลงการณ์ชี้มูลการทุจริตโครงการจัดซื้อรถดับเพลิงของ กทม.

โดยนายกล้านรงค์ กล่าวว่า จากการไต่สวนของป.ป.ช.สรุปว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมีสิ่งไม่ชอบ 6 ประการได้แก่ 1.ร่างเอโอยู ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องด้านกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงต่างประเทศ 2.ขัดต่อมติครม. เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2535 ที่ไม่ส่งร่างเอโอยู่ให้อัยการสูงสุดตรวจพิจารณา

3.ขัดต่อมติครม.เรื่องการทำข้อตกลง กับต่างประเทศ การทำสนธิสัญญาต่างๆที่ต้องมอบให้กระทรวงต่างประเทศเป็นเจ้าของเรื่องดำเนิน การ และให้ครม.พิจารณาก่อนทุกครั้ง 4.ขัดต่อมติครม. ที่กำหนดว่า ส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ให้นำเข้าเฉพาะส่วนที่จำเป็น และที่ไม่มีหรือไม่สามารถผลิตได้ในประเทศเท่านั้น และต้องดำเนินการเรื่องการค้าต่างตอบแทน แต่เอโอยูดังกล่าว ไม่ระบุเรื่องความช่วยเหลือใดๆจากรัฐบาลออสเตรเลีย อีกทั้งรถดับเพลิง เรือดับเพลิง ก็มีคุณลักษณะที่ผลิตในประเทศได้ 

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า 5.ขัดต่อบทบัญญัติกทม.เรื่องการพัสดุ พ.ศ. 2538 โดยมีการกำหนดตัวผู้ขาย และสินค้าไว้ล่วงหน้า โดยไม่จัดประกวดราคา โดยผู้ลงนามทั้งสองฝ่ายมุ่งหมายจะให้สาระสำคัญในเอโอยูมีผลผูกพันต่อผู้ทำ สัญญา โดยเฉพาะฝ่ายไทย ให้เป็นไปตามที่กำหนดรายละเอียดทั้งหมดไว้แล้วในเอโอยู พฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เป็นการอาศัยข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อกำหนดความผูกพันเกี่ยวกับการขายสินค้า รวมถึงคุณลักษณะสินค้า ผู้ขายสินค้า ซึ่งผิดวิสัยของการทำข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติ 6.เอโอยูดังกล่าว เมื่อมีการลงนามแล้ว ได้เสนอครม.เพื่อทราบ ไม่ใช่เพื่ออนุมัติ ซึ่งผิดหลักปฏิบัติตามมติครม.เรื่องการทำสนธิสัญญา 

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เป็นเหตุให้บริษัท สไตเออร์ ได้เข้าร่วมดำเนินโครงการจัดซื้อรถดับเพลิง โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังร่วมกันแบ่งหน้าที่การทำทุจริตในการออกแบบ กำหนดราคา เงื่อนไข หรือผลประโยชน์ตอบแทน โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือบริษัท สไตเออร์ มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม การกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้แก่บริษัท สไตเออร์ 

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ที่ประชุมป.ป.ช.จึงมีมติเอกฉันท์ว่า การกระทำของนายโภคิน พลกุล อดีตรมว.มหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯกทม. พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บริษัท สไตเออร์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และความผิดตามพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 , 11 , 12 ประกอบมาตรา 83 ของประมวลกฎหมายอาญา พร้อมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ส่วนนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2547 ได้ทราบข้อมูลว่า มีการทุจริตโครงการดังกล่าว และมีการร้องเรียนเรื่องมาที่สำนักงานป.ป.ช. รวมทั้งมีการหารือในพรรคประชาธิปัตย์ ที่สำคัญยังพบว่า เอโอยู่ไม่ได้ส่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ ซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้อง แต่นายอภิรักษ์กลับไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว เพื่อยกเลิกหรือระงับการดำเนินการตามสัญญา นายอภิรักษ์เพียงแค่แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบรายละเอียดการ จัดซื้อเท่านั้น

อีกทั้งการที่นายอภิรักษ์ขอให้ กระทรวงมหาดไทย พิจารณาทบทวนการจัดซื้อตามโครงการนี้ตลอดมา ย่อมแสดงให้เห็นว่า นายอภิรักษ์ทราบข้อเท็จจริงว่า มีข้อบกพร่อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับอ้างว่าไม่มีอำนาจในการดำเนินการ และเป็นอำนาจของนายโภคิน พลกุล อดีตรมว.มหาดไทย รวมถึงมีการอ้างว่า ถูกเร่งรัดให้เปิดแอลซีแก่บริษัท สไตเออร์ ซึ่งคำกล่าวอ้างทั้งหมดไม่สามารถฟังได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงแล้ว อำนาจการบริหารงบประมาณทั้งหมด อยู่ที่ผู้ว่าฯกทม. ไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทยตามที่นายอภิรักษ์กล่าวอ้าง และในที่สุด นายอภิรักษ์ได้ดำเนินการเปิดแอลซี และแก้ไขแอลซีแก่บริษัทสไตเออร์เป็นเหตุให้ข้อตกลงซื้อขายที่นายสมัครลงนาม ไว้ มีผลผูกพันและบังคับใช้ระหว่างคู่สัญญาต่อไป

โฆษกป.ป.ช.กล่าวว่า ที่ประชุมป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ว่าการกระทำของนายอภิรักษ์มีมูลความผิดฐาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ กทม. และฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนคุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกทม. แม้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าร่วมกระทำความผิดด้วย แต่ในฐานะที่ทราบเรื่องความไม่ถูกต้องของโครงการเป็นอย่างดี แต่ไม่แก้ปัญหาข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ป.ป.ช.จึงมีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดฐานประมาทเลินเล่อร้ายแรง

สำหรับนายสมศักดิ์ คุณเงิน อดีตเลขานุการฯรมช.มหาดไทย และนายมาริโอ มีนาร์ ผู้แทนบริษัท สไตเออร์ นั้น ป.ป.ช.มีมติว่า ไม่มีมูลความผิด ส่วนนายราเชนทร์ พจนสุนทร อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรง 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายอภิรักษ์แล้ว จะส่งผลให้นายอภิรักษ์ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันทีหรือไม่ นายกล้านรงค์ตอบว่า ป.ป.ช.ไม่ได้วินิจฉัยกรณีนี้ เนื่องจากตามมาตรา 55 ของกฎหมายป.ป.ช.ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่หากนายอภิรักษ์มีข้อสงสัยก็สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ทั้งนี้ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจชี้มูลว่า ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ มีหน้าที่เพียงพิจารณาคดีเท่านั้น 

ส่วนข้อสัญญาที่ดำเนินการไปแล้ว จะเป็นโมฆะหรือไม่ นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทย และกทม.ดำเนินการตามมาตรา 99 ของพ.ร.บ.ปปช.เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรม พิจารณาต่อไปเนื่องจากป.ป.ช.ไม่มีอำนาจสั่งระงับสัญญาดังกล่าว เพราะสัญญาต่างๆจะถูกระงับหรือไม่นั้น ต้องเป็นคำสั่งศาล แต่ชั้นนี้ป.ป.ช.ชี้ว่า สัญญาดังกล่าว ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ ส่วนผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทางแพ่งที่เกิดขึ้นนั้น จะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป 

นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า บรรยากาศการประชุมของป.ป.ช.วันนี้กว่า 10 ชั่วโมงมีการโต้เถียงกันในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆอย่างมาก ทำให้บรรยากาศค่อนข้างเคร่งเครียดกว่าการพิจารณาชี้มูลคดีอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่โต้เถียงเพราะมีธงในการชี้มูลแต่อย่างใด ซึ่งการโต้เถียงทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานหลักกฎหมาย และความเป็นเหตุผล เนื่องจากกรรมการป.ป.ช.ทุกคนมีอิสระในการใช้ดุลยพินิจ เมื่อได้รับฟังเหตุผลแล้ว จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ออกมา

view