สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

"ซีเอสอาร์" ฝ่าวิกฤติ กูรูชี้ทำธุรกิจต้องรู้จัก "ให้"

วงเสวนา “พลังแห่งการให้ พลัง CSR ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ” จัดโดย โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ กูรูร่วมประสานเสียงแนะให้ทุกฝ่ายรู้จัก “ให้” มากขึ้น พร้อมระบุถึงเวลาขับเคลื่อน CSR อย่างจริงจัง

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปราศรัยเปิดการเสวนาว่า โลกขณะนี้กำลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี แต่ประเทศไทยมักจะมีอะไรที่พิเศษกว่า คือ มีวิกฤติทั้งด้านการเมือง สังคม และวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกัน ภาวะวิกฤติมักเกิดจากความไม่ปกติ แปลว่า ไม่ดี มีทั้งเกิดโดยธรรมชาติ เช่น ภัยพิบัติ สึนามิ และเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ครั้งนี้ก็เกิดจากความโลภมากของคน โดยเฉพาะในธุรกิจการเงิน เพราะความไม่รู้จักพอ อยากใหญ่กว่าบริษัทอื่น จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาหากำไรไม่รู้จักพอ เป็นความไม่ดี ถ้าเกิดขึ้นน้อยๆ ก็ไม่เป็นไร แต่พอมากเข้าก็กลายเป็นวิกฤติ

“ไทย ก็เหมือนกัน วิกฤติต่างๆ เกิดจากความไม่ดี สะสมกันเข้าจนมหาศาล จนคนไทยอึดอัด ขัดข้อง กลุ้ม เดือดร้อน บางคณะถึงขึ้นเกลียดแค้น ชิงชัง ถึงขั้นมุ่งทำร้ายชีวิตกัน ทางแก้ที่ดีทางหนึ่งคือ ถอนความไม่ดีออก และ/หรือสร้างความดีขึ้นมา เพราะความดีทำให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง CSR (Corporate Social Responsibility) ก็เป็นความดีที่สำคัญชนิดหนึ่ง ถ้าทำมากๆ ทำนานๆ จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง มั่นคงให้ผู้เกี่ยวข้อง บริษัท ผู้คน สังคม ชุมชนได้ประโยชน์กันทั้งหมด

“การให้ เป็นความดีชนิดหนึ่ง ถ้าให้อย่างมีคุณค่า เหมาะสมดีพอ นานพอ มากพอ ก็จะสร้างพลัง ความเข้มแข็ง มั่นคงทั้งทางจิตใจ วัตถุ เศรษฐกิจ ทรัพยากร ซึ่งการให้มีหลายอย่าง ให้วัตถุ ให้ความดี ให้ความรู้ ล้วนเป็นการให้ที่มีคุณค่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญของ CSR เพราะเป็นการทำดี ทำจิตให้มั่นคง บริสุทธิ์ มีคุณภาพตรงตามหลักของการทำความดี ป้องกันการทำสิ่งไม่ดี ฉะนั้นการ ให้ เป็นองค์ประกอบสำคัญของ CSR เป็นการป้องกัน แก้วิกฤติให้องค์กรและสังคม จึงสรุปได้ว่า พลังแห่งการให้ พลัง CSR ถ้านำไปประยุกต์ใช้ จะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาวิกฤติทางด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจได้ในที่สุด” นายไพบูลย์ กล่าว 

นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาด้านกิจกรรมเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาได้เสนอแนะแนวคิดเกี่ยวกับ “วิสาหกิจแห่งสังคมอริยวัฒิ หรือธุรกิจแห่งสังคมอริยะ (Social Enterprises)” ว่า

ธุรกิจต่างๆ ในขณะนี้  อาจพิจารณารับเอา CSR มาเป็นกลยุทธ์และเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่สำหรับธุรกิจสังคมอริยะเป็นธุรกิจที่แตกต่างออกไป  เพราะความมุ่งหมายเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างแท้จริงในการประกอบธุรกิจ และที่สำคัญคือ กำไร มูลค่าเพิ่ม ความเจริญเติบโตที่กิจการได้รับทั้งหมดจะนำกลับไปลงทุนอีกครั้ง เพื่อเร่งดำเนินกิจการให้เกิดผลสำเร็จต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวด ล้อมให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กูรูชี้ทุกฝ่ายควรรู้จัก “ให้” และใช้ CSR ฝ่าวิกฤติเศรษกิจ สังคมและการเมือง

นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานกรรมการ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและ สิ่งแวดล้อม (SVN) กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยขณะนี้ ถือเป็น Twin action คือมีวิกฤติด้านเศรษฐกิจและวิกฤติด้านการเมือง

วิกฤติเศรษฐกิจเริ่มเกิดจากนิวยอร์คเพราะอุตสาหกรรมการเงินไม่มีจรรยาบรรณ มีแต่โปรดักทางด้านการเงินที่โลภ ทำให้เกิดวิกฤติ

ส่วนวิกฤติการเมืองในประเทศไทย เกิดจากรัฐบาลขาดความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ทำให้สังคมไม่เข้มแข็ง เกิดความไม่เท่าเทียมในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งล้วนเกิดจากการขาดความรับผิดชอบของรัฐบาล

 

“ปัญหา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม แยกกันไม่ออก จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเริ่มก่อน เพราะแก้วิกฤติการเมืองได้ก่อน จะแก้เศรษฐกิจได้ CSR ทำให้เกิดความยั่งยืนในการทำธุรกิจ แต่ต้องสะสมทุนตั้งแต่เวลานี้แล้วทำไปตลอด เพราะ CSR บวกกับความรู้จะทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสมบูรณ์ ทำให้สังคมเกิดความเข้มแข็ง” นายสุทธิชัย กล่าว 

      

ด้าน นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธาน เครือข่ายขับเคลื่อน CSR และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องลุกขึ้นมาทำความดี เพราะทรัพยากรมนุษย์และเวลา ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เราต้องปลุกจิตสำนึกในเรื่อง ISR (Individual Social Responsibility) คือ การรับผิดชอบต่อสังคมในระดับบุคคล ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่ทำแต่ CSR หรือแค่ภาพมายาระดับองค์กร

ยิ่งภาวะวิกฤติอย่างนี้ ต้องทำลงมาถึงแก่น โดยเนื้อแท้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับ บุคคลขึ้นมาให้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้งบประมาณเลย เพราะทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา

นายวัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ ประธาน กรรมการ บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด ให้ข้อคิดว่า การให้ไม่ใช่การสูญเสีย เพราะมันให้ผลตอบแทนกลับมาเป็นทวีคูณ ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าและในหลวงที่ตรัสว่า ความสุขของเราเกิดจากภายใน เมื่อไหร่ที่เรารู้จักพอ ความสุขจะเกิดทันที เมื่อเราให้บางสิ่งแก่ผู้อื่น จิตใจเราก็มีความสุข

“วิกฤติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา เหมือนกับฤดูต่างๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนผัน การที่เราจะฟันฝ่าวิกฤติไปได้ต้องยึดมั่นในหลักการของการให้ และหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือ 1) ผลิตให้มาก โดยใช้หลักอิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริรยะ จิตตะ วิมังสา 2) ใช้แต่พอดี รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ยินดีในสิ่งที่ตัวเองได้ และ 3) เหลือจึงแบ่งปันให้ผู้อื่น ตามหลักสังคหวัตถุ 4 เมื่อทุกคนเป็นผู้ให้แล้ว สังคมก็จะมีแต่ความสุข ทุกคนอยู่กันฉันท์พี่น้อง วิกฤติจะเกิดก็ยากขึ้น” นายวัชรมงคล กล่าวทิ้งท้าย

view