สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้าราชการกับนักการเมือง

โพสต์ทูเดย์


เห็นตัวเลขการคาดการณ์ของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (สทท.) ออกมาประเมินว่า ในปีหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเหลือเพียง 12.8 ล้านคนเท่านั้น
ต่ำกว่าปีนี้ที่คาดกันว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยจำนวน 14.5 ล้านคน ตัวเลขการคาดการณ์ดังกล่าว เป็นตัวเลขที่ภาคเอกชนมองจากการจองห้องพักและทัวร์ต่างๆ ซึ่งสัญญาณในขณะนี้ถือว่าย่ำแย่ไม่น้อยทีเดียว

และยังย้ำว่าในช่วง 9 เดือนแรกของ ปีหน้า สถานการณ์น่าจะยังย่ำแย่ เพราะ นักท่องเที่ยวเองยังไม่มี “ความเชื่อมั่น” ในประเทศไทยว่าจะมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด

ถือว่าเรื่องนี้เป็น “การบ้าน” ที่รัฐบาล จะต้องเข้ามาดูแลแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะงานนี้ประเทศไทยสูญเสียรายได้อย่างน้อยๆ แล้วไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทอย่างแน่นอน

แต่ที่น่าจับตามองอยู่ก็คือ แผนการตลาดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ถือว่าเป็นหัวเรือใหญ่ด้านท่องเที่ยว ที่ผู้บริหารออกมายืนยันว่ากำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการตลาดใหม่ ทั้งในระดับกว้างและลึก เพื่อเจาะตลาดเป้าหมายใหม่หมดนั้นจะเป็นอย่างไร

เพราะตอนนี้ททท. บอกว่าจะต้องรอ นโยบายใหม่ของรัฐบาลก่อนว่าจะเดินทาง ไปในทิศทางใด ซึ่งจุดนี้น่าเป็นห่วงว่าจะ “ทัน” หรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่ากว่าจะฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี กว่าจะแต่งตั้ง และพอได้ตัวรมว.แล้ว ก็ต้องมาศึกษางานอีก กว่าแผนตลาดททท.จะคลอดออกมาได้ ก็น่าจะปาเข้าไปปลายเดือนม.ค. ปีหน้า แล้วอย่างนี้ จะทันการณ์หรือเปล่า

นั่นเป็นส่วนของตลาดต่างประเทศ ขณะที่ตลาดในประเทศเองก็ค่อนข้างจะช้าอยู่ไม่น้อย เพราะกว่าที่พี่เบิร์ดจะปรากฏตัวมาเป็นพรีเซนเตอร์โครงการเที่ยวไทย ครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก ก็เมื่อไม่กี่วัน ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่โครงการนี้ต้องเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. ที่ผ่านมา

แต่เมื่อทุกอย่างเป็นอย่างนี้ ก็ต้องฝากให้ททท. “เร่งมือ” หน่อยนะครับ ไม่อย่างนั้นเที่ยวไทยเหนื่อยแน่

และที่สำคัญ รมว.คนใหม่ที่จะมานั่งนั้น ยังต้องลุ้นอีกว่า “เข้าใจ” ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหนอีก หากไม่เข้าใจ แล้วททท. จะต้องมานั่งเป็นพี่เลี้ยงอีกละ ก็จบเห่กันพอดี แต่หากได้พวกเป็นงาน แต่ปากมัน มาก็เหนื่อยเหมือนกัน เพราะททท.คงต้องเสียเวลา “ชง” โครงการต่างๆ ให้ “นาย” แทนการคิดโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง

ซึ่งก็มีให้เห็นๆ อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แต่ตอนนี้ยังไม่อยาก “ลาก” อะไรมากนัก รอดูอีก หน่อยก่อนว่าอะไรเป็นอะไร แล้วค่อยเจอกัน

จะว่าไปแล้ว เรื่องของนายกับข้าราชการ นี่ก็น่าสนใจเหมือนกัน ทุกกระทรวงที่จะ ต้องมีการชงทั้งนั้น อย่างที่กระทรวงพาณิชย์ ที่ในรัฐบาลชุดที่แล้ว เสียงลือเสียงเล่าอ้างกระหึ่มกันทีเดียว กับโครงการรับจำนำข้าว ที่นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะลงไปคุ้ยต้นเรื่องดูเสียหน่อยว่าเป็นอย่างไร

ก็มีที่ไหนที่การทิ้งทวนก่อนจากด้วยการลงนามขายข้าวในราคาขาดทุน ทิ้งความเสียหายไว้ให้กับภาครัฐ ซึ่งก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นเงินภาษีของประชาชน ที่หายไปกับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์อีกไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท จากการรับจำนำข้าวในราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ทำให้รัฐต้องเป็น ผู้แบกรับการขาดทุนเมื่อจะต้องนำข้าวในโครงการที่รับจำนำไว้ออกขาย

เพราะราคาที่รับจำนำไว้นั้นสูงกว่าราคาขายอย่างมหาศาล แต่รัฐมนตรีคนเดิม กลับยอมลงนามในสัญญาขายที่ขาดทุน ไม่น้อยกว่าตันละ 3,000-5,000 บาท จากจำนวนข้าวที่ประมูลออกไป 2 ล็อต เกือบ 4 ล้านตัน ลองคำนวณดูแล้วกันว่าเงิน 3 หมื่นล้านบาทที่หายไป ใครได้ประโยชน์

เรื่องนี้จะว่านักการเมืองคนเดียวไม่ได้หรอกครับ ต้องมาดูว่าข้าราชการที่รู้เรื่องนี้นั้น “ชง” ไว้อย่างไรด้วย เพราะถึงขนาด ที่รีบเร่งลงนามกันในช่วงเช้าของวันที่ 2 ธ.ค. วันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลัง พิจารณาตัดสินยุบพรรค อันจะส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต้องพ้นจากตำแหน่ง ทิ้งความเสียหายไว้ให้กับภาครัฐสูงถึงกว่า 3 หมื่นล้านบาท

เรื่องนี้ไม่เพียงแต่นักการเมืองเท่านั้น ที่ต้องถูกตรวจสอบในเรื่องการทุจริตเชิงนโยบายตามกลไกลของระบอบการเมือง หากแต่ต้องรวมไปถึงข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ด้วย เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างสำหรับข้าราชการที่ชอบไหลตามน้ำ

งานนี้ตัดหัวนักการเมืองชั่วอย่างเดียวไม่พอครับ

view