สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

"2009"..จุดเปลี่ยนงานพีอาร์ สื่อสารยุควิกฤติ

วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะถดถอยในปี 2552 เป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรทุกขนาดทั่วโลกต่างให้ความสนใจ จดจ้องและตื่นตัวเพื่อรองรับสถานการณ์และหาทางแก้ไขเพื่อไม่ให้ผลกระทบ รุนแรงจนเกินไป

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ในแง่มุมของ ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) มองว่าเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มเอเชีย จะขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี สอดคล้องกับศูนย์ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ที่ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2552 ว่าจะอยู่ที่ 0-2% และต้องภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องไม่มีปัญหาการเมืองซ้ำซ้อน และภาครัฐสามารถสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคได้ ในทางตรงข้ามหากต้องเผชิญปัญหาดังกล่าว อาจทำให้การขยายตัวติดลบแน่นอน

เนื่อง จากวิกฤติครั้งนี้ ส่งผลให้สถาบันการเงิน ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในหลายภูมิภาคของโลก ประสบกับปัญหาต่างๆ ในการบริหาร การขาดสภาพคล่อง ปัญหาการดำเนินงาน ขณะที่องค์กรธุรกิจของไทย ทั้งภาคการผลิต  การส่งออก ท่องเที่ยว และธุรกิจบริการ ต้องพบกับปัญหาที่ไม่แตกต่างกัน มากนัก

ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายก สมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพความขัดแย้งทางด้านความคิด การเมือง จนขยายวงกว้าง ถึงความรุนแรง ที่ผ่านมา ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่กระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ ทั้งทางตรงและแรงวิจารณ์จากหลายองค์กร ทั่วโลกที่ต้องเผชิญ ทั้งการลดอันดับความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นที่ถดถอย  การถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงวุฒิภาวะ  การจัดอันดับให้เป็นประเทศที่อันตราย เหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนเสถียรภาพในเชิงลบ ทำให้ภาพพจน์ประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤติ

เร่งฟื้นหลังภาพพจน์ประเทศตกต่ำ

สมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ได้ทำการประเมินภาพลักษณ์ของประเทศไทย เมื่อต้องการแข่งขันกับโลก โดยศึกษาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน พบว่า ภาพลักษณ์ของประเทศ มีคะแนนต่ำลงกว่าเดิมทุกด้าน จากคะแนนเต็ม 10

ด้านคุณภาพชีวิตและการศึกษาของประชากร ได้ 4.2 ลดลงจากปีก่อนที่ 5.1 ด้านความพร้อมแหล่งการค้าและการลงทุน 1.2 ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 4.9 ความสามารถในการแข่งขันประเทศอื่น 2.4 ซึ่งลดลงถึงเท่าตัวจาก 4.8  ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่ที่ 4 ตกลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขในปีก่อนที่ 4.2 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงิน อยู่ที่ 1.5 ลดลงจากเดิมซึ่งอยู่ที่ 4.2 ความเชื่อมั่นทางการเมืองเหลือเพียง 1.0 จากเมื่อปีก่อนเป็นตัวเลขที่ 3.8 ซึ่งถือว่าต่ำมาก

เมื่อลองพิจารณาถึงประเด็นที่เป็นจุด อ่อนของการสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทย จะเห็นว่า เรื่องการขัดแย้งทางการเมืองยังเป็นปัจจัยที่สูงสุดอยู่ที่ 98.5% จากตัวเลขในปีก่อน 86.7% ดร.พจน์ ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเร่งสร้างภาพลักษณ์ของประเทศอย่างจริงจัง

รัฐ-เอกชนต้องใช้ "พีอาร์เชิงลึก"

ในสถานการณ์เช่นนี้  รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการสื่อความที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเนื้อหา ความชัดเจน โปร่งใส มีกระบวนการสื่อสารทั้งสองทาง การอธิบายแหล่งที่มาของข้อมูล วิธีการตรวจสอบ ช่องทางแสดงความคิดเห็น  การปรับปรุงการสื่อความทั้งภายในของคณะรัฐบาล  ควรมีทิศทางที่ชัดเจนสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับภาคเอกชน แนวโน้มของภาวะธุรกิจในปี 2552 จากปัญหาการเมืองที่รุนแรง ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อภาวะทางเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาทำให้ชะลอตัว โดยเฉพาะกำลังการบริโภค ส่งผลต่องบการตลาดที่ปรับตามรายได้ที่ลดลง คาดว่าตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป คงได้เห็นการอัดฉีดด้วยกิจกรรมทางการตลาดใหญ่ๆ  แคมเปญที่แรงๆ มากขึ้น

ขณะเดียวกัน การประชาสัมพันธ์ จะปรับเปลี่ยนเป็นการสื่อสารในเชิงเนื้อหา (Content Communication) ที่เข้มข้นมากขึ้น ทั้งที่จะปรากฏผ่านสื่อสารมวลชน  สื่อส่งเสริมการตลาด และสื่อดิจิทัล ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น

โดยเนื้อหาหลัก ยังเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ชัดเจน การสร้างความเชื่อถือ การยอมรับ จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ มากกว่าการสื่อสารแบบอื่นๆ แต่จะมีรูปแบบ พัฒนาการที่ต่างจากเดิม มากกว่าการจัดทำข่าวสาร แถลงข่าว การผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ การบริหารข้อมูลข่าวสาร สื่อมวลชนสัมพันธ์ เป็นการจัดลำดับประเด็นเนื้อหา เพื่อการสร้างความผูกพันต่อแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์ ด้วยการสื่อข้อมูลต่างๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ ทั้งระดับโลก และระดับประเทศ

view