สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ป.ป.ช.ชี้มูลทิพาวดีผิดตั้งซี 9ไม่ชอบกม.

โพสต์ทูเดย์
มติป.ป.ช.ชี้"ทิพาวดี"ผิดวินัยร้ายแรง "สมใจนึก-สมหมาย-ศุภรัตน์" ผิดอาญาตั้ง ซี 9 มิชอบด้วยกม.

ที่ ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตเลขาธิการ ก.พ., นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง, นายสมหมาย ภาษี อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง, นายศุภรัตน์  ควัฒน์กุล อดีตอธิบดีกรมสรรพากร, นายวีระ ไชยธรรม ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ. และนายเมธี ภมรานนท์ ผู้แทน ก.พ.ใน อ.ก.พ.กระทรวงการคลัง ฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีแต่งตั้งข้าราชการซี 9(รองอธบดีกรมสรรพากร)

โดยในส่วนของคุณหญิงทิพาวดีนั้นเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.ได้นำเสนอเรื่องระบบนักบริหารระดับสูงต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อความเห็นชอบและอนุมัติให้นำระบบดังกล่าวมาใช้ในราชการพลเรือนไทย โดยสำนักงาน ก.พ.จะจัดทำบัญชีของผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งให้ดำรง ตำแหน่งนักบริหารระดับสูงกลุ่มที่ 1(นักบริหาร 9) จากผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมนักบริหารระดับสูง และผ่านการประเมินสมรรถนะของนักบริหาร โดยผู้ที่ผ่านการประเมินจะมีชื่ออยู่ในบัญชีนักบริหาร และบัญชีจะมีอายุ 2 ปี ซึ่ง ครม.เมื่อวันที่ 29 ส.ค.43 ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน ก.พ.นำระบบนักบริหารระดับสูงดังกล่าวมาใช้ในราชการพลเรือน โดยในระยะแรกให้ใช้บัญชีเพื่อการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.44

หลังจากนั้น คุณหญิงทิพาวดีได้ทำหนังหนังสือเวียนแจ้งส่วนราชการต่างๆ เพื่อดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อแต่งตั้งให้ดำรง ตำแหน่งระดับ 9 เพิ่มเติม นอกเหนือจากหลักการที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ และจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้มีผู้ที่ได้รับความเสียหายได้ฟ้องคดีต่อศาล ปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า การที่สำนักงาน ก.พ.กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมไม่ชอบด้วยมติ ครม.และไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลัก ทางการบริหาร ดังนั้นหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญดังกล่าวตาม หนังสือเวียนดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

"คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลจากการกระทำของคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ได้สร้างความเสียหายแก่คณะรัฐมนตรีและระบบราชการในด้านการบริหารงานทรัพยากร บุคคลอย่างร้ายแรง ส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงในด้านข้อกฎหมาย...ทำให้สถานภาพความเป็นข้าราชการ และการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความกระทบ กระเทือนอย่างร้ายแรง การกระทำของคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ จึงเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้า ราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคสอง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

สำหรับคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรง ตำแหน่งนักบริหาร 9(กระทรวงการคลัง) ประกอบด้วย นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง, นายสมหมาย ภาษี อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง, นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตอธิบดีกรมสรรพากร, นายวีระ ไชยธรรม ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ. และนายเมธี ภมรานนท์ ผู้แทน ก.พ.ใน อ.ก.พ.กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนัก บริหาร 9(กระทรวงการคลัง)  และพิจารณาคัดเลือกข้าราชการฯ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร จำนวน 4 อัตรา โดยมีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก จำนวน 10 ราย มีคุณสมบัติครบถ้วน 9 ราย ซึ่งกรมสรรพากรได้เสนอรายชื่อ 5 ราย และสมัครด้วยตนเอง 4 ราย 

ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นสมควรให้แต่งตั้งผู้สมัครที่กรมสรรพากรเสนอ จำนวน 4 ราย ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร โดยมิได้ปฏิบัติตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ  พิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งที่จะแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 3 ชื่อต่อ 1 ตำแหน่ง พร้อมทั้งระบุเหตุผลของความเหมาะสมของบุคคลในแต่ละตำแหน่งเพื่อเสนอให้ผู้มี อำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 พิจารณา ซึ่งต่อมากระทรวงการคลังได้มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งรอง อธิบดีกรมสรรพากร

ซึ่งผู้สมัครที่ได้รับความเสียหายจากการพิจารณาคัดเลือกดังกล่าวได้ฟ้อง คดีต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ดำเนินการคัดเลือกไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือสำนักงาน ก.พ. อีกทั้งไม่เป็นไปตามกระบวนการเลือกสรรนักบริหารเพื่อการแต่งตั้งตามมติคณะ รัฐมนตรี นอกจากนี้มีการกระทำในลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สมัครจนได้รับการ คัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร จากพฤติการณ์ของคณะกรรมการคัดเลือกดังกล่าว เชื่อว่าการดำเนินการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรม สรรพากร(นักบริหาร 9 ) ครั้งนี้ ได้มีการกำหนดตัวบุคคลที่สมควรแต่งตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว อันไม่เป็นธรรม

"คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายสมใจนึก เองตระกูล, นายสมหมาย ภาษี, นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล และนายวีระ ไชยธรรม มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ส่วนนายเมธี ภมรานนท์ ซึ่งในขณะกระทำผิดได้พ้นจากราชการไปแล้ว ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน มีมูลเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 นอกจากนี้นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการด้วย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณีต่อไป

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ยังไม่ขอแสดงความเห็นถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเรื่อดังกล่าวโดยขอรอข้อมูลอย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช.ก่อน
view