สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดวงจรเงินใต้ดิน..แปะเจี๊ยะ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



รัฐบาลประกาศนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ในอีกมุมของรั้วโรงเรียน ผู้ปกครองกลับต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าแปะเจี๊ยะ หลักแสน ถึงหลักล้าน

รัฐบาลประกาศนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ในอีกมุมของรั้วโรงเรียน ผู้ปกครองกลับต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าแปะเจี๊ยะ หลักแสน ถึงหลักล้าน เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนในโรงเรียนดีๆ

วัฒนธรรมการจ่ายเงินค่าแปะเจี๊ยะหรือ เงินกินเปล่าในสังคมการศึกษาไทยเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ที่ครู - ผู้ปกครองร่วมกันยอมรับว่า หากใครต้องการให้ลูกหลานได้เรียนโรงเรียนดังๆ แลกกับคุณภาพการสอนของโรงเรียนที่ (เชื่อว่า) ดีกว่า ก็ต้องยอมจ่ายเงินกินเปล่าก้อนนี้

ช่วงเดือนเมษายนของทุกปีเหล่าผู้ปกครองจึงต้อง “วิ่งเต้น” หาเส้นสาย เพื่อให้ลูกหลานมีที่เรียน “ได้ดั่งใจ” โดยยอมแลกกับเม็ดเงินมากมาย ซึ่งมีทั้งการจ่ายบนโต๊ะ มีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานชัดเจน และใต้โต๊ะ ไร้ใบเสร็จ

แปะเจี๊ยะ "สูงสุด" 3 ล้าน

จากการสอบถามจากบรรดาเครือข่ายผู้ปกครองที่ต้องอาศัยการวิ่งเต้น ทำให้ได้ตัวเลขเงิน “บริจาค” ของโรงเรียนยอดนิยมแต่ละแห่ง ซึ่งมีตั้งแต่หลักแสนจนถึงหลักล้านบาททีเดียว โดยโรงเรียนในเครือมหาวิทยาลัยดัง ถูกระบุว่า ต้องใช้ค่าวิ่งเต้นสูงสุดถึง “หลักล้านบาท”

หนึ่งในโรงเรียนสาธิตที่ว่ากันว่าสูงสุด คือ โรงเรียนใน สังกัดมหาวิทยาลัยย่านสามย่าน ซึ่งปีนี้มีการขยับเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 6 หลัก มาเป็น 1-3 ล้านบาท สำหรับชั้น ป. 1 ขึ้นกับระดับคะแนนสอบที่ทำได้ ถ้าได้คะแนนน้อย ก็ต้องจ่ายหนักหน่อย รวมไปถึงระดับ "เส้นสาย" ว่าใหญ่แค่ไหน

แม้จะต้องจ่ายกันเป็นล้านบาท แต่ผู้ปกครองรายหนึ่ง ยอมรับว่า เป็น การลงทุนที่คุ้มค่า สำหรับการเรียนตลอด 12 ปี ทั้งในแง่ค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่าในระยะยาว และคุณภาพการศึกษาที่ (เชื่อว่า) ดีกว่า ที่สำคัญมีโอกาสต่อยาวถึงระดับมหาวิทยาลัยในสังกัด

โรงเรียนในเครือมหาวิทยาลัยย่านปทุมวันเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ต้องจ่ายค่าแปะเจี๊ยะในหลักล้าน พ่อแม่ที่เลือกที่โรงเรียนแห่งนี้แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ต่างกัน แต่อาจจะมีการวางแผนล่วงหน้า เพราะระบบแปะเจี๊ยะของที่นี่ใช้วิธีสร้างพอร์ตการบริจาค หรือจะเรียกว่าระบบ "สะสมแต้ม" ก็ไม่ผิดนัก

หากมีเป้าหมายแน่นอนว่าจะให้ลูกเรียนที่นี่ก็ต้องเริ่มสร้าง พอร์ตในนามของผู้อุปถัมภ์กันแต่เนิ่นๆ โดยต้องมียอดไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท เพื่อการันตีที่นั่งว่ามีแน่ๆ ซึ่งเป็นโควต้าพิเศษสำหรับผู้มีอุปการคุณ

คุณแม่น้องจ๋อมแจ๋มเล่าให้ฟังว่า เงินบริจาคจะมีผลตอนพิจารณาคะแนนสอบ ซึ่งโรงเรียนสาธิตแห่งนี้จะประกาศผลสอบแบ่งเป็น 4 บัญชี หรือ 4 บอร์ด แต่จะไม่ปรากฎคะแนนสอบ

บัญชีชุดแรกเป็นเด็กที่สอบได้ด้วยตัวเอง มีคะแนนสูง บัญชีชุดที่สอง เป็นเด็กของผู้มีอุปการคุณของโรงเรียน บัญชีที่สาม เป็นเด็กที่มาจากโรงเรียนในสังกัดเดียวกันที่ถูกส่งมาสอบ ซึ่งจะตัดคะแนนเพียง 40% ส่วนบัญชีสุดท้ายเป็นเด็กที่จะเรียน English Programe หรืออีพี

สำหรับวิธีการสะสมแต้ม คุณแม่น้องจ๋อมแจ๋มเล่าให้ฟังว่า แต่ละปีโรงเรียนจะจัดกิจกรรมการกุศลเพื่อหารายได้หลายกิจกรรม เช่น กอล์ฟการกุศาล โบว์ลิ่งการกุศล ก็ต้องช่วยซื้อสม่ำเสมอ แล้วเก็บใบเสร็จไว้ พอถึงเวลาที่ลูกจะไปสอบก็แนบใบเสร็จไปพร้อมใบสมัคร การเป็นผู้มีอุปการคุณมายาวนานจะทำให้โรงเรียนพิจารณาก่อน หรืออาจจะติดต่อกับผอ.โรงเรียนกันแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ลูกเรียนอยู่ ป.5 เพื่อทำความคุ้นเคย ซึ่งการลงทุนต่อเนื่องทำให้ไม่ต้องจ่ายหนักกันทีเดียว

ยิ่งช้ายิ่งจ่ายแพง

นอกจากโรงเรียนในเครือมหาวิทยาลัยทั้งหลายแล้ว โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกหลายแห่งมีการเรียกเก็บเงินแปะเจี๊ยะ สำหรับรับเด็กนักเรียน "รอบสาม" ซึ่งมีทั้งที่ต้องใช้เส้นสาย ขณะที่บางแห่งตั้งโต๊ะให้ผู้ปกครอง "Walk in" เข้าไปเสนอเงินบริจาคได้ตรงๆ ไม่ต้องผ่านคนกลาง เราจะพาไปฟังปากคำของผู้ปกครองที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้กัน

พี่รีย์ คุณแม่ลูกสอง เล่าประสบการณ์ครั้งสำคัญของลูกสาวคนโตที่พลาดการสอบเข้าม.1 โรงเรียนสตรีบริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้ฟังว่า ปีก่อนลูกพี่สอบไม่ได้ จับสลากก็ไม่ได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนนี้ก็เป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง พ่อแม่หลายคนที่ลูกสอบไม่ติดต่างนั่งเฝ้าหน้าโรงเรียนรอลุ้นว่า ผู้บริหารโรงเรียนจะขยายที่นั่งเพิ่มเท่าไร เพื่อให้ลูกของตัวเองมีสิทธิ์ได้เรียนที่นี่

"พี่เต็มใจจ่าย เพียงขอให้ได้เรียนในโรงเรียนที่มุ่งหวัง"

เธอ เล่าว่า สำหรับเธอเองโชคดีว่าปีนั้นยังไม่มีการจับตาเรื่องแปะเจี๊ยะเหมือน ปีนี้ ทำให้เรื่องทุกอย่างง่าย โดยเฉพาะปีนั้นโรงเรียนมีการ "ตั้งโต๊ะ" เปิดรับให้ผู้ปกครองเข้าไปยื่นคำร้องแล้วเสนอตัวเลขบริจาค โดยมี "ใบเสร็จ" รับเงินออกในนาม "สพฐ." ไม่ใช่นามของโรงเรียน ซึ่งมีตั้งแต่ 2 - 3 แสนบาท มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังทรัพย์ นอกจากนั้นก็ยังต้องดูปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย

"บางคนก็เขียนบริจาค 2 แสนบ้าง 3 แสนบ้าง ส่วนพี่ใส่บริจาคไป 1 แสนบาท จะว่าไปก็เหมือนระบบประมูล ปีนี้ได้ยินว่า 1 แสนเอาไม่อยู่ แต่ขึ้นกับผลการเรียน จำนวนเงิน และมีใครฝากมาไม๊ ก็มีเหมือนกันที่ไม่ได้ แต่ถึงไม่ได้ก็มีคนรอนาทีสุดท้ายก็มี เผื่อว่าจะมีเด็กบางคนสละที่นั่งไปโรงเรียนอื่น"

คุณแม่น้องจ๋อมแจ๋ม ให้ข้อมูลโรงเรียนเดียวกันว่า ค่าแปะเจี๊ยะโรงเรียนนี้วิ่งกันประมาณ 2-4 แสนบาท แต่ข้อมูลที่ได้รับจากรองผอ.ทำให้รู้ว่าส่วนใหญ่โรงเรียนจะได้เพียง 1 แสนบาท ส่วนที่เหลือเป็น "ค่าหัวคิว" ซึ่งระดับเงินจะเพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่งวดเข้ามา เช่น หากยื่นความจำนงค์ในระหว่างวันสมัครแปะเจี๊ยะจะ อยู่ราวๆ 2 แสนบาท แต่ถ้าสมัครและได้เลขที่สอบแล้วจะวิ่งขึ้นไป 2.5 แสนบาท และถ้าผ่านไปจนประกาศผลแล้วบางรายอาจจะต้องใช้เงินมากถึง 4.5 แสนบาท

"เพื่อนพี่ 2-3 คน ต้องเสียเงิน 4.5 แสนบาท เพราะรอจนประกาศผล"

ขณะที่โรงเรียนเกาะแนวรถไฟฟ้าย่านลาดพร้าว ผู้ปกครองระบุว่า ปีที่แล้ว 1 แสนบาท แต่ปีนี้วิ่งกันที่ 2 แสนบาท เพราะมีชื่อเสียง และเป็นโรงเรียนแนวรถไฟฟ้า เดินทางสะดวก เช่นเดียวกับโรงเรียนชายชื่อดังเลยสถานีหัวลำโพงไปไม่มากนักมีอัตราค่าแปะเจี๊ยะปี นี้ 2-3 แสนบาท หรือแม้แต่โรงเรียนย่านบางแก้วที่ไกลออกมาถึงนอกเมือง แต่มีชื่อเสียง ยังขอรับเงินบริจาคเป็นค่าห้องคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 1 แสนบาท

แม้จะต้องจ่ายกันหนักๆ แต่สำหรับแม่ลูกสอง ยืนยันว่า "เต็มใจ" เพราะการวิ่งหาที่เรียนม.1 ได้ ก็สบายไปอีก 6 ปี ไม่ต้องเปลี่ยนโรงเรียนอีกครั้งตอน ม.4 ซึ่งโรงเรียนดีๆ ส่วนใหญ่เปิดรับน้อยมาก โอกาสที่จะพลาดที่นั่งไปอีกครั้งก็สูง

เธอ ปักใจเชื่อว่า ระบบอุปถัมภ์เป็นเรื่องปกติของสังคมไทยที่ยอมจ่ายเพื่อให้ลูกมีที่เรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนล้วนมีการกันพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับ "ผู้มีอุปการคุณ" จากที่ได้สังเกตการรับเด็กแต่ละปีมักจะมีตัวเลขเกินกว่าที่ประกาศไว้ โดยแต่ละปีจะประกาศรับเด็กประมาณ 400 ที่นั่ง แต่เวลาลงทะเบียนมีเด็กนักเรียนประมาณ 580-600 คน ทุกปี

เช่นเดียวกับคุณแม่ลูกหนึ่งให้ข้อมูลว่า โรงเรียนย่านสามเสนที่ลูกสาวเรียนอยู่ก็มีเช่นกัน โดยแต่ละปีจะมีนักเรียนเกินกว่าที่ประกาศรับไว้ราว 1-2 ห้อง

ใครไม่มีเส้นถอยไป

ขณะที่ "น้ำ" คุณแม่ลูกสาม แม้จะยังไม่มีประสบการณ์จากตัวเอง แต่มีลูกวัยที่กำลังจะเข้า ม.1 ทำให้ต้องหาข้อมูลค่าธรรมเนียมเหล่านี้ เธอเล่าว่า เพื่อนๆ ผู้ปกครองบางคนต้องจ่ายเป็นหลักล้าน ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีโควตาพิเศษสำหรับเด็กเส้นเหล่านี้ประมาณ 2 ห้อง หรือ 90-100 คนต่อปี ซึ่งอัตราส่วนใหญ่ปีนี้วิ่งกันในระดับ 1-2 แสนบาท
"บางคนเส้นใหญ่ไม่ต้องเสียก็มี บางทีก็เป็นผู้มีอุปการคุณ ยิ่งตำแหน่งสูงก็ยิ่งจ่ายน้อย แต่ส่วนใหญ่จะอิงกับคะแนนที่เด็กสอบได้ด้วย"

แต่ใช่ว่าผู้ปกครองที่วิ่งเต้นจะทำให้ลูกหลานได้เรียนในโรงเรียนที่หวังเสมอไป

สำหรับโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วไป ส่วนใหญ่แบ่งเด็กออกเป็น 2 เกรด คือ ห้องเด็กอัจฉริยะ เกรด 3.5 อัพ หรือที่เรียกกันว่า "Gifted" กับเด็ก "Regular" ซึ่งผู้ปกครองจะวิ่งเต้นได้เฉพาะประเภทหลัง ที่มีการจัดสอบทั่วๆ ไป โดยส่วนใหญ่แต่ละโรงเรียนจะเปิดให้ "วิ่ง" กันใน "รอบ 3" หลังจากจัดสรรให้เด็กๆ ที่สอบได้ และจับสลากเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องวิ่งเต้นในโรงเรียนที่มีบุตรหลานสอบไว้ มักไม่ค่อยเห็นจะวิ่งกันข้ามโรงเรียน เนื่องจากไม่มีหลักฐาน รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ จะใช้คะแนนเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับด้วย

แต่อย่างที่บอกไว้ ไม่ใช่ว่าวิ่งเต้นแล้วจะได้กันทุกคน แต่ขึ้นกับคะแนนใครดี เงินใครหนา และ...เส้นใครใหญ่กว่ากัน

แม้ว่าจะผู้ปกครองบางคนจะมีเงินหนา ยอมจ่าย แต่การ "เข้าถึง" เส้นสายเป็นเรื่องยาก เพราะหากไม่มีคนรู้จักที่จะพาเข้าถึงผู้ใหญ่ในโรงเรียนบอกได้คำเดียวว่า "ยาก" ที่จะให้ลูกเข้าโรงเรียนดังได้

"การจ่ายแปะเจี๊ยะ ไม่ใช่ได้ทุกคน ต้องมีเส้นสายพอสมควร บางทีขึ้นกับการ "ต่อรอง" อาจจะถามว่าเพิ่มกว่านี้ให้ไม๊ ไม่มีทางได้ทุกคน แล้วแต่ศักยภาพของพ่อแม่ และเส้นที่วิ่งด้วย เพราะบางที่ก็มีค่าหัวคิวด้วย" คุณแม่น้ำบอก

เธอ เล่าว่า ปีที่แล้วลูกของเพื่อนสอบม.1 ไม่ติด แต่คุณพ่อหรือคุณตาของเด็กเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน ส่วนตัวเพื่อนก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเหมือนกัน ทำให้พอมีช่องทางที่จะฝากลูกได้ ก็ผ่านไปทางสมาคมศิษย์เก่าแล้ว "ต่อท่อ" กันไป ใครบิ๊กบึ้มกว่า คะแนนดีกว่าก็ได้ไป

ส่วนคุณแม่น้องจ๋อมแจ๋ม ให้ข้อมูลเพิ่มว่า บางโรงเรียนผอ.และรองผอ. บางคนเท่านั้นที่จะสามารถฝากได้ แต่บางโรงเรียนต้องผ่านสมาคมศิษย์เก่า หรือสมาคมครูผู้ปกครองเท่านั้น อย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านหลานหลวงโรงเรียนจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการฝากเด็ก แต่เป็นเรื่องของสมาคมศิษย์เก่าเท่านั้น

"สมาคมฯ จะบอกว่าปีนี้หาเงินให้โรงเรียนเท่าไร ซึ่งโรงเรียนจะไม่ยุ่งเลย ผู้ปกครองจะบอกกันว่าโรงเรียนนี้เสมอภาคโดยราคา เพราะมีราคาเดียวคือ 1 แสนบาท"

อยากเข้าโรงเรียนคริสต์ เตรียมไว้ไม่ต่ำกว่าแสน

แต่สำหรับโรงเรียนคริสต์ หรือเอกชนชื่อดังเป็นที่รู้กันว่า เงินบริจาคเป็นเรื่องที่ห้ามละเลย ยกเว้นจะเป็นเด็กหัวกะทิที่จะสร้างชื่อให้กับโรงเรียนจริงก็อาจจะได้รับการ ยกเว้น โดยอัตราบริจาคส่วนใหญ่จะอยู่ในอัตราเดียวกับโรงเรียนรัฐ คือ ประมาณ 1.5-3 แสนบาท

"ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะเขียนเสนอเงินบริจาคตั้งแต่วันกรอกใบสมัครเลย เว้นแต่จะมั่นใจว่าลูกเราเก่ง จะทำคะแนนได้ดีก็อาจจะใส่ตัวเลขน้อยหน่อย แต่บางคนจะใส่ไปเลยทีเดียวจบ จะได้ไม่ต้องมาวิ่งรอบสอง ซึ่งต้องจ่ายมากกว่า" คุณแม่น้ำให้ข้อมูล

โรงเรียนคริสต์ย่านสีลม-บางรัก โรงเรียนอันดับ ต้นๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีฐานะนิยมพาลูกมาสอบ ซึ่งเงินบริจาคจะขยับขึ้นจากปีก่อน แต่จะมากหรือน้อยขึ้นกับปีนั้นๆ มีก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมหรือลงทุนอุปกรณ์การเรียนมากน้อยแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเรท 1 แสนบาทเป็นอย่างต่ำ หากรายไหนให้ต่ำกว่าเกณฑ์เจ้าหน้าที่หรือคุณครูจะเรียกไปให้เพิ่มตัวเลข

แปะเจี๊ยะ คือการลงทุนที่คุ้มค่า

แปะเจี๊ยะ เป็นเหมือนกับการ "ลงทุน" การศึกษาและ "ซื้อโอกาส" ที่ดีกว่า

จากที่พูดคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครองหลายคนที่จ่ายค่าแปะเจี๊ยะ ส่วนใหญ่จะให้ความเห็นตรงกันว่า ยินดีที่จะจ่ายเงินหลักแสน เพื่อให้ลูกเรียนในโรงเรียนดัง เพราะเชื่อว่า โรงเรียนเหล่านี้มีมาตรฐานการสอนที่ดีกว่า สังคมในโรงเรียนเหล่านั้นจะหล่อหลอมให้บุตรหลานดีไปด้วย

คุณแม่รีย์ บอกว่า ผู้ปกครองไม่ได้เชื่อมั่นระบบการศึกษาว่าเท่าเทียมกัน ทำให้ยัดกันเข้าโรงเรียนดัง ยอมเสียเงินวิ่งเต้น ทำให้แต่ละห้องมีนักเรียน 45-50 คน ซึ่งมากเกินไปจนครูดูแลเด็กไม่ทั่วถึง

"แต่เราก็เชื่อว่าบุคลากรของโรงเรียนเพียงพอ เพราะถ้าครูไม่พอ โรงเรียนพร้อมจะจ้างครูในอัตราจ้างมากขึ้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนจ่ายเอง"

แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศ "เรียนฟรี 15 ปี" ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี แต่คุณแม่รีย์ บอกว่า เรียนฟรีไม่สำคัญเท่ามาตรฐานการศึกษา ซึ่งรัฐบาลควรทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน หากทำได้ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องจ่ายแปะเจี๊ยะเพื่อแย่งกันเข้าโรงเรียนดัง ทำให้ห้องเรียนอยู่ในสภาพแออัด ในขณะที่โรงเรียนรอบข้างกลับมีที่นั่งเหลือ

"จะว่าไปเป็นเหมือนการเอาเปรียบคนในสังคมที่โรงเรียนไม่ได้เรียกเด็กที่ สอบได้ลำดับต่อไป แต่เลือกรับเด็กที่พ่อแม่ยอมจ่ายเงินให้ แต่จะโทษโรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะผู้ปกครองเต็มใจ ซึ่งต้องเข้าใจโรงเรียนด้วยว่าโรงเรียนก็ต้องหาเงินให้พอกับงบประมาณที่ใช้ จ่าย เพราะรัฐหนุนอย่างเดียวไม่พอ

พี่คิดว่า โรงเรียนทุก โรงเรียนดี แต่เด็กไม่ได้เหมาะกับทุกโรงเรียนๆ ชื่อดัง ลูกเราอาจจะไม่ชอบ นอกจากนั้นโรงเรียนดียังต้องมีปัจจัยอื่นเกื้อกูลกัน สังคมในโรงเรียนต้องเป็นภาคีกัน โรงเรียนช่วย ผู้ปกครองช่วย เด็กมีความสุข ผลการเรียนก็ดี ซึ่งเราเชื่อว่าโรงเรียนที่ดีสังคมมีการช่วยเหลือดูแลกัน ไม่ได้ปล่อยให้ลูกอยู่ไป ซึ่งการเข้าไปในโรงเรียนเหล่านี้เป็นเหมือนการซื้อสังคมที่ดี ซื้อโอกาสให้ลูกเราด้วย" คุณแม่รีย์กล่าวทิ้งท้าย

view