สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จำเลยคดีหวยบนดินยันไม่ทุจริต

โพสต์ทูเดย์



วิษณุเป็นตัวแทนจำเลยเบิกความเปิดคดีหวยบนดินยันแก้ปัญหาขายเกินราคา

ที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในการพิจารณาคดีทุจริตหวยบนดิน นัดไต่สวนพยานโจทก์วันนี้ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนฝ่ายจำเลยยื่นคำแถลงเปิดคดี หลังได้รับการอนุญาตจากศาลให้ฝ่ายจำเลยแถลงเปิดคดีก่อน โดยใช้เวลา 1ชม.สรุปว่า โครงการออกสลากพิเศษเลขท้ายนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการออกสลากที่ผ่านมา 1.การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ เกินราคา จนทำให้ประชาชนต้องซื้อสลาก 1 ฉบับ 2 ใบ ในราคา 100 -120 บาท หรือถ้าเลือกตัวเลขในราคา 150-200 บาท ทั้งที่ราคาควรอยู่ 80 บาท ซึ่งการกระทำที่ผิดกฎหมายและตามจับก็ไม่หมด 2.ปัญหาหวยเถื่อน หรือ หวยใต้ดิน ที่นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม ระบบอุปถัมภ์ข้าราชการ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง การใช้อิทธิพล เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องหวยใต้ดิน มีตั้งแต่นักการเมืองท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ และปัญหาหวยใต้ดินนำมาสู่การฉ้อโกง หักหลังเมื่อถูกรางวัลแล้วไม่จ่าย 3.ปัญหาการปราบปรามหวยใต้ดิน ที่ปราบเท่าใดก็ไม่หมด ซึ่งจากการวิจัยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับการพนัน พบว่า ประชาชนในประเทศ ที่ได้เล่นหวยใต้ดินมีมากถึง 23.7 ล้านคน ขณะที่ผู้ที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมีเพียง 20.6 ล้านคน

ดัง นั้น การที่ดำเนินโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ที่เรียกกันหวยบนดิน จึงเป็นทำเรื่องที่อยู่ใต้ดินให้เป็นที่เปิดเผย และถูกต้อง ซึ่งทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มอีกจำนวนมหาศาล จากเงินรายได้ที่อยู่ในมือของผู้ทำหวยเถื่อนปีละแสนล้านบาท โดยผลจากการออกสลากหวยบนดินที่ผ่านมา 80 งวด ทำให้มีรายได้ถึง 1.34 แสนล้านบาท ซึ่งได้นำไปใช้จ่ายเพื่อการกุศลด้านการศาสนา การศึกษา และสาธารณสุข ขณะที่เวลานี้มีเงินเหลืออยู่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท จึงเป็นผลที่ทำให้หวยใต้ดินมาอยู่บนดิน ที่ผ่านมารัฐบาลหลายสมัย พยายามแก้ปัญหาการออกสลาก โดยมอบหมายให้กองสลากเป็นผู้ดูแล

ขณะ ที่เมื่อครม.อนุมัติการออกสลากเมื่อปี พ.ศ.2546 ก็ไม่มีบุคคลใดออกมาทักท้วง แม้กระทั่ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เพียงให้คำแนะนำว่า หากจะดำเนินโครงการ ควรต้องมีการออกระเบียบ แต่เรื่องนี้กลับมีการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความใหม่ หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ซึ่งเวลาล่วงเลยมา 3 ปีแล้ว โดยตีความว่า สลากพิเศษดังกล่าว ไม่ใช่ประเภทเดียวกับสลากกินแบ่ง แต่เป็นสลากกินรวบที่ไม่มีการแบ่งรายได้เข้ารัฐตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ พ.ศ.2517 มาตรา 22 ที่ต้องจัดแบ่งรายได้เพื่อจัดสรรเงินรางวัล 60% รายได้เข้ารัฐ 28% และเป็นเงินค่าใช้จ่ายสำหรับกองสลากฯ 12%
       
นาย ชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.สำนักงานสลากฯ จำเลยที่ 42 แถลงเปิดคดีโดยยืนยันว่า การออกสลากพิเศษ ดังกล่าว เป็นการออกสลากเพื่อการกุศลนำรายได้ใช้จ่ายเพื่อสังคม โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.และขออนุญาตกระทรวงมหาดไทย ตาม พ.ร.บ.การพนันแล้ว ขณะที่มีการนำเงินรายได้จ่ายสู่สังคมไปแล้วกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท และสนับสนุนทุนการศึกษากว่า 2 ล้านคน
       
นาย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานพัฒนาแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาเด็กยากจน แถลงเปิดคดีย้ำว่า ใช้ตามวัตถุประสงค์จริง และไม่มีการทุจริตแบ่งเงินกันเองตามที่ถูกกล่าวหา เช่นเดียวกับ นายวารเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ยืนยันว่า ครม.ไม่ได้อนุมัติใช้เงินจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉิน 232 คัน ของ ก.สาธารณสุข ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และไม่มีการจงใจหลีกเลี่ยงจัดเก็บภาษีสรรพกร ขณะที่เวลานั้นเมื่อนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ไม่ได้ทักท้วงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ และวัตถุประสงค์ของการนำเงินรายได้ไปใช้
ทั้งนี้ หลังฝ่ายจำเลย ส่งตัวแทนแถลงเปิดคดีด้วยวาจาแล้ว ศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรก ซึ่งได้เตรียมพยานรวม 4 ปากประกอบด้วยนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และเจ้าหน้าที่กองสลาก.

view