สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จำนำเครื่องจักร ทำไม่ได้แล้ว/คอลัมน์นักกฎหมายโครงการ

จาก โพสต์ทูเดย์

รายงานโดย :วิโรจน์ พูนสุวรรณ:



จำนำเครื่องจักร ทำไม่ได้แล้วหลังจากที่คลุมเครือมานาน ว่าสัญญาจำนำเครื่องจักรสามารถทำได้หรือไม่ ในท้ายที่สุดก็มีคำพิพากษาฎีกาล่าสุดให้ความกระจ่างชัดว่าทำไม่ได้ การจำนำเครื่องจักรนั้นทำกันโดยแพร่หลาย เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ทั้งสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ สินเชื่อของผู้ซื้อเครื่องจักรระหว่างประเทศ และเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา เพราะทำได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว และมักจะใช้กับเครื่องจักรและอุปกรณ์โรงงานที่จดจำนองไม่ได้

แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ธนาคารอดใจรอไม่ไหว เนื่องจากปล่อยเงินกู้ก้อนใหญ่ไปหลายเดือนแล้ว เพื่อให้ซื้อเครื่องจักรและเครื่องจักรก็ทยอยกันมาถึงโรงงานแล้วและกำลังติด ตั้ง แต่ธนาคารก็ไม่มีหลักประกันใดๆ สำหรับเงินกู้ก้อนนี้ และต้องใช้เวลานานกว่าจะจดทะเบียนเครื่องจักรและจดจำนองแล้วเสร็จ ธนาคารจึงตัดสินใจเลือกรับจำนำเครื่องจักรแทนที่จะรอจดจำนอง

ในขณะเดียวกัน ธนาคารก็ไม่ค่อยมั่นใจนักกับหลักประกันประเภทนี้ เพราะมีช่องโหว่อยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารไม่สามารถควบคุมหลักประกันนี้ได้เลย ทรัพย์สินจำนำที่เป็นหลักประกันตกอยู่ในความควบคุมของผู้จำนำโดยสมบูรณ์ ที่โรงงานของผู้จำนำเองถ้าจะบังคับจำนำเอากับตัวทรัพย์ ก็ทำได้ยาก

ความชัดเจนของคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้อาจส่งผลให้การจำนำเครื่องจักรส่วนใหญ่ที่แพร่หลายอยู่ในตลาดการเงินขณะนี้ต้องสิ้นสุดลง

สาระสำคัญของการจำนำ : ก่อนที่จะไปดูคำพิพากษาฎีกา ขอให้ช่วยกันมาทำความเข้าใจถึงลักษณะสำคัญของการจำนำก่อน การจำนำนี้มีต้นกำเนิดมาจากกฎหมายอังกฤษ แล้วประเทศต่างๆ นำไปใช้รวมทั้งประเทศไทย

การจำนำตามกฎหมายไทย จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการส่งมอบทรัพย์ที่จำนำ จากผู้จำนำไปยังผู้รับจำนำ

โดยคู่สัญญามีเจตนาให้ผู้รับจำนำ ซึ่งก็คือเจ้าหนี้เก็บรักษาทรัพย์ไว้ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งก็คือผู้จำนำ ทรัพย์ที่จะส่งมอบกันต้องเป็นทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ ที่เรียกกันว่าสังหาริมทรัพย์ การส่งมอบทรัพย์ก็หมายถึงการส่งมอบการครอบครองในทรัพย์นั้น

การส่งมอบการครอบครอง จึงถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาจำนำ ถ้าไม่มีการส่งมอบการครอบครอง สัญญาจำนำก็ไม่เกิด

เมื่อการจำนำเกิดแล้ว ผู้รับจำนำก็จะกลายเป็นเจ้าหนี้มีประกันและมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์จำนำ ในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากตัวทรัพย์นั้นก่อนเจ้าหนี้ที่ไม่มีประกัน ขยายความได้ว่า หนี้ของผู้รับจำนำมีอยู่เท่าใด เมื่อเอาทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาด ได้เงินมา จำนวนเงินสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายในการขายแล้ว ต้องเอามาชำระให้กับผู้รับจำนำทั้งจำนวนจนกว่าหนี้นั้นจะหมดสิ้นไป เมื่อหนี้ผู้รับจำนำชำระหมดสิ้นแล้ว เงินค่าขายสุทธิที่เหลือจึงจะนำมาแบ่งกันในระหว่างเจ้าหนี้อื่นได้

ถ้าหนี้ของผู้รับจำนำยังชำระไม่หมด เพราะขายทอดตลาดทรัพย์จำนำได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้อื่นก็หมดโอกาสที่จะได้ส่วนแบ่งจากตัวทรัพย์ การขายทอดตลาดดังกล่าวไม่ต้องทำผ่านศาล

กฎหมายจำนำบัญญัติแตกต่างจากกฎหมายจำนอง ในเรื่องความรับผิดของลูกหนี้ประธานในหนี้ส่วนที่ยังขาด กฎหมายจำนำกำหนดให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวต่อผู้รับจำนำในหนี้ที่ เหลือ แม้สัญญาจำนำจะไม่ได้ระบุเรื่องนี้ไว้

ความสิ้นไปของการจำนำ : เมื่อสัญญาจำนำเกิดขึ้นเพราะผู้จำนำส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินจำนำให้กู้ รับจำนำ ในทางกลับกันกฎหมายก็กำหนดให้สัญญาจำนำสิ้นสุดลงเมื่อผู้รับจำนำยอมให้ ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ

เมื่อการจำนำสิ้นสุดลง บุริมสิทธิของผู้รับจำนำในตัวทรัพย์ก็สิ้นสุดลงด้วย

การที่ผู้รับจำนำส่งมอบการครอบครองกลับไปให้ผู้จำนำนี้ ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เกิดจากการฉ้อโกง หรือการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่นๆ

ธนาคารแก้ปัญหาเรื่องการที่กฎหมายอาจถือว่าการจำนำเครื่องจักรเป็น การส่งมอบทรัพย์สินกลับไปให้ผู้จำนำ โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายที่ว่า คู่สัญญาจำนำจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำแทนผู้ รับจำนำก็ได้

บุคคลภายนอกที่ธนาคารมักจะแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาทรัพย์สินก็คือ กรรมการของบริษัทผู้จำนำเอง สัญญาจำนำจะระบุให้ผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์จำนำให้เข้าไปสู่ความครอบครองของ ผู้รักษาทรัพย์

คำพิพากษาฎีกา : ธนาคารในคดีที่ศาลตัดสินอาจใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากธนาคารอื่นๆ นิดหนึ่ง คือ แต่งตั้งภริยาของกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทผู้จำนำ ให้เป็นผู้รักษาทรัพย์สินจำนำแทนธนาคารผู้รับจำนำ เพื่อให้สมกับว่าเป็นบุคคลภายนอกที่แท้จริง

แต่ศาลฎีกามองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยง กฎหมาย การที่ธนาคารผู้รับจำนำยอมให้ผู้จำนำเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำเพื่อ ประโยชน์ของผู้จำนำแต่เพียงฝ่ายเดียว ย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำแล้ว สิทธิจำนำจึงระงับสิ้นไป ธนาคารจึงไม่มีบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนตามสัญญาจำนำเครื่องจักร

ผลก็คือธนาคารผู้รับจำนำเปลี่ยนสถานะจากเจ้าหนี้มีประกันกลายมาเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ต้องมาเฉลี่ยทรัพย์ตามส่วนกับเจ้าหนี้อื่น

แม้ว่าคำพิพากษาจะไม่ได้ตัดสินประเด็นว่าการจำนำได้เกิดขึ้นหรือไม่ แต่ตัดสินว่าการจำนำได้สิ้นสุดลงแล้ว ก็ก่อให้เกิดผลใกล้เคียงกัน คือ ธนาคารผู้รับจำนำได้สูญสิทธิจำนำไปแล้ว

สำหรับท่านที่ประสงค์จะศึกษาคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ เลขฎีกาคือ 2448/2551

ผลกระทบกับการจำนำประเภทอื่นๆ : แนวปฏิบัติที่คำพิพากษาฎีกาวางไว้ย่อมนำไปใช้กับการจำนำประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย เช่น การจำนำรถ ส่วนตัว การจำนำรถบรรทุก การจำนำรถจักรยานยนต์ เหล่านี้จะทำไม่ได้ เพราะผู้จำนำเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินจำนำและใช้ทรัพย์นั้นเพื่อประโยชน์ของ ตนตลอดเวลา ผู้รับจำนำไม่ได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์

การจำนำสต๊อกสินค้าก็อาจประสบชะตากรรมอย่างเดียวกัน แต่ลักษณะของทรัพย์สินจำนำและการใช้สอย ทำให้ยังพอมีทางเยียวยาแก้ไขได้ ไม่อยู่ในสภาพหมดหนทางเหมือนจำนำเครื่องจักร กับจำนำรถยนต์

แม้ว่าเครื่องจักรจะเป็นสังหาริมทรัพย์เคลื่อนที่ได้ แต่สภาพการติดตั้งติดตรึงตราอยู่กับพื้นโรงงาน และผู้จำนำต้องใช้เครื่องจักรตลอดเวลาเพื่อผลิตสินค้า จะเคลื่อนย้ายไปเพื่อส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของธนาคารคงจะทำไม่ได้ การจะแก้ไขการจำนำให้มามีผลสมบูรณ์น่าจะลำบาก แต่เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้กับเครื่องจักร ตลอดจนอะไหล่ต่างๆ ที่มีสภาพเป็นชิ้นๆ เคลื่อนย้ายได้ง่าย ยังพอมีความหวังที่จะแก้ไขได้

โดยลักษณะธรรมชาติของสต๊อกสินค้าและเครื่องมืออุปกรณ์และอะไหล่ที่ เคลื่อนย้ายไปมาได้ การจำนำทรัพย์สินเหล่านี้ยังน่าที่จะทำได้อยู่ หากมีการส่งมอบและเคลื่อนย้ายทรัพย์สินจำนำไปยังความครอบครองและความควบคุม ของธนาคารผู้รับจำนำอย่างแท้จริง หลักคือ ธนาคารต้อง “ควบคุม” ทรัพย์สินเหล่านี้ได้

ธนาคารหลายแห่งก็มีบริการทางด้านการดูแลรักษาทรัพย์สินให้แก่ ลูกค้าอยู่แล้ว หากออกแบบระบบการควบคุมและการเบิกจ่ายทรัพย์เหล่านี้ให้ดีๆ ก็น่าที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการส่งมอบการครอบครองได้ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม

view