สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสกสรรค์ชี้สังคมไทยขัดแย้งเหตุรวมศูนย์อำนาจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"ผู้นำ14ตุลา"ชี้รวมศูนย์อำนาจรัฐปัญหาใหญ่ ท้องถิ่นไม่มีพื้นฐานปชต. ย้ำรัฐไทยเป็นผจก.สาขาระบบทุนนิยมโลก แนะเปลี่ยนโลกทัศน์ปฏิรูปการเมือง

เมื่อ เวลา 09.30 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดสัมมนาหัวข้อ " 70ปีสยามเป็นไทย-ย้อนเวลาสู่อนาคต 24 มิถุนายน 2482-2552” โดยนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถานำเรื่อง "พัฒนาการของรัฐชาติ กับความขัดแย้งภายในของชาวสยาม"

นายเสกสรรค์ กล่าวตอนหนึ่งว่า แม้สยามจะได้ยกเลิกความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบจารีต หรือแปรรูปเป็นรัฐสมัยใหม่ ด้วยการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมาตั้งแต่ต้น นับเป็นเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่มีผลอย่างยิ่งใหญ่หลวง ต่อการจัดระเบียบการเมืองการปกครองต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

โดยประการแรก ทำให้ประเทศไทยขาดรากฐานการปกครองตนเองแบบสมัยใหม่ในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรงและทำงานได้ เหมือนดังในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก ประการต่อมา การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางอย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้พัฒนาการของการเมืองไทยสมัยใหม่ เต็มไปด้วยการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในส่วนกลางอย่างเลี่ยงไม่พ้น ตลอดเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ ที่ต้องการยึดกุมฐานะนำในศูนย์อำนาจ มีสภาพเข้มข้นรุนแรงไม่ขาดระยะ

และประการที่สาม เมื่ออำนาจรวมศูนย์ ปัญหาก็รวมศูนย์ กลไกแก้ไขปัญหาในระดับล่าง ค่อนข้างอ่อนแอ ทำให้รัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ว่าอยู่ในระบอบไหน ล้วนต้องเผชิญกับสภาวะข้อเรียกร้องท่วมท้น จากทุกภาคส่วนของสังคม ทำให้ขาดประสิทธิภาพ และเสถียรภาพในการทำงาน ซึ่งการวางฐานะรัฐไว้เหนือชาติ แบบผู้ใหญ่ปกครองเด็กก็ดี ย่อมก่อให้เกิดสภาพหนึ่งที่รัฐไทยคุมไม่ได้

"จากที่รัฐอยากให้สงบเสงี่ยมอยู่ในโอวาท จึงเริ่มเปลี่ยนเป็นเด็กงอแงมากขึ้นเรื่อย ๆ การที่รัฐไทยทำให้ชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรมของตนมาตั้งแต่แรก นับเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้ทุกวันนี้ ประชาชนคนไทยหลายหมู่เหล่าทำตัวเหมือนเด็กที่เอาแต่ใจ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ และก็อ่อนแอ และขาดวุฒิภาวะที่จะรับผิดชอบตัวเอง"

นายเสกสรรค์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่ง คือ ทุกวันนี้ บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์อำนาจ ยังคงพยายามจัดระเบียบการปกครองตามกรอบความคิดเก่าๆ อยู่ตลอด ทั้งที่สถานการณ์ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทั้งระบบอำนาจนิยมนอกเครื่องแบบ และระบอบประชาธิปไตย ที่อาศัยอำนาจรัฐแบบแนวดิ่ง ต่างก็ล้มเหลวในการดูแลบ้านเมือง ซึ่งทางออกยังพอมีอยู่บ้าง ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองความสัมพันธ์ทางอำนาจให้ทันเวลา

"ก็หมายถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ต้องเปลี่ยนการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจ หรือที่ชอบเรียกกันว่า การปฏิรูปทางการเมือง โดยไม่ควรจำกัดอยู่แค่การปรับพื้นที่กัน ระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้การเมืองภาคประชาชน อันประกอบด้วยประชาธิปไตยทางตรง ของชุมชนรากหญ้า และบทบาทการตรวจสอบของภาคประชาสังคมในเมืองมากขึ้น เพื่อรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐ ที่ถูกผูกมัดไว้กับอิทธิพลไร้พรมแดนอย่างหนึ่ง และเพื่อป้องกันตัวจากแรงอัดกระแทกของทุนนิยมข้ามชาติ"

นอกจากนี้ ยังต้องลดความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แบบรวมศูนย์อำนาจลงบ้าง และหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบทางเลือก ของชุมชุนท้องถิ่นมากขึ้น ส่วนรัฐจะต้องเลิกวางแผนหากำไร ให้คนส่วนน้อยในนามคนทั้งชาติ รวมทั้งต้องตระหนักว่า การใช้อำนาจของรัฐชาติขับเคลื่อน การเติบโตแบบทุนนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง นับเป็นการใช้อำนาจ ทำร้ายพลเมืองส่วนใหญ่อย่างรุนแรงที่สุด

นายเสกสรรค์ กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐไทยมีฐานะเป็นผู้จัดการสาขาของระบบทุนนิยมโลกมากขึ้น และมีลักษณะชาติน้อยลง อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ไว้อย่างเต็มเปี่ยม จะยิ่งแก้ปัญหาภายในประเทศไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ช้าหรือเร็วจะต้องมีการจัดระเบียบอำนาจกันใหม่ ให้ประชาสังคมสามารถกำกับรัฐ และชุมชนท้องถิ่น มีอำนาจกำหนดวิถีชีวิตของตน ซึ่งในสภาพเช่นนี้ ถ้าใครขืนใช้ชุดความคิดและวาทกรรมเก่า ๆ มากดดันผู้คน บ้านเมืองก็คงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ที่หาข้อยุติไม่ได้  

ทั้งนี้ เขาเห็นว่า มีแต่ต้องแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับความจริงที่เปลี่ยนไป จึงจะอยู่รวมกันได้อย่างสงบสุข แม้คนไทยยุคหลังสมัยใหม่ อาจจะกลับไปคล้ายชาวสยามในอดีต คืออัตลักษณ์ที่ผิดแผกแตกต่างกันทั้งประเทศ แต่ก็คงสามารถอยู่ร่วมกันได้ ถ้าพื้นที่ทางการเมือง ถูกจัดสรรไว้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม


นักการเมือง-นักวิชาการชี้70ปีปชต.ไทยล้มลุก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"บัญญัติ"ระบุช่วง10ปีนักการเมืองยุคพาณิชยธิปไตยมุ่งแสวงหากำไร ด้าน"จาตุรนต์-ดร.ผาสุก"อัดรัฐประหารทำประเทศถอยหลัง ย้อนการเมืองก่อนปี2516

ที่ม.ธรรมศาสตร์- งานสัมมนา"70 ปีสยามเป็นไทย-ย้อนเวลาสู่อนาคต" ได้มีการอภิปรายหัวข้อ “การเมืองสยามประเทศไทย เราจะไปทางไหนกัน” โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการ สภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยมาแล้ว 70 ปี แต่ประชาธิปไตยของเราก็ลุ่มๆดอนๆ ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตนอยู่ในวงการเมืองมา 30 กว่าปีพบว่ามีการคอร์รัปชั่นอย่างหนักหนาสากัน

ทั้งที่ในช่วง 14 ต.ค.2516 ประชาชนรังเกียจและต่อต้านนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น แต่สุดท้ายบรรยากาศก็ค่อยๆเปลี่ยนไป จนในช่วง10 ปีนี้เป็นการเมืองภายใต้ยุคพาณิชยาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยที่มุ่งกำไรสูงสุด มีบรรดาพ่อค้าพาณิชย์ นักธุรกิจ หลั่งไหลเข้าสู่วงการทางการเมือง ซึ่งหากคนเหล่านี้เข้ามาโดยถอดวิญญาณพ่อค้าพาณิชย์ เข้ามารับใช้บ้านเมืองอย่างจริงจัง ก็จะเป็นประโยชน์ แต่ก็มีพวกพ่อค้าส่วนหนึ่งที่เข้ามาโดยยังรู้สึกตัวว่าเป็นนักธุรกิจ แล้วใช้กลไกของรัฐเอื้อประโยชน์เพื่อตัวเอง และมุ่งกำไรสูงสุด ทำให้การทุจริต คอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 3 ร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 20 และมีการเรียกเก็บเบี้ยบ้ายรายทาง

"ยุคนี้จึงมีค่านิยมใหม่เกิดขึ้นว่า โกงได้แต่ขอให้มีผลงาน ตรงนี้ทำให้ประชาธิปไตยไม่น่าไว้วางใจ และไม่มีประสิทธิภาพ หากไม่ระงับยับยั้งก็คงแย่"นายบัญญัติ กล่าว

นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบลุ่มๆดอนๆนั้นเนื่องจากมีการทุจริต คอร์รัปชั่นมาก จะเห็นว่าในการปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านมามักจะใช้ข้ออ้างนี้มาตลอด ซึ่งก็เป็นจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่การปฏิวัติรัฐประหารก็เป็นตัวสูบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง และรัฐบาลที่เข้าไปจากการปฏิวัติรัฐประหารบางครั้งก็ทุจริตมากกว่ารัฐบาลที่ ประชาชนเลือกเข้าไปอีก ดังนั้นเราควรมาร่วมมือกันทำให้ประชาธิปไตยไม่มีการทุจริต รวมทั้งรัฐบาลเองก็ต้องยกระดับชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมกัน ไม่ให้ประชาชนอดยาก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้หากใครจะมาล้มรัฐบาลประชาชนคงไม่ยอม

จึงฝากข้อคิดไว้ 3 ข้อ คือ

1.เมื่อเกิดภาวะการณ์สับสน เกิดปรากฎการณ์ทำให้เกิดความเข้าใจผิด มหาวิทยาลัยควรคิดว่าเป็นภาระสำคัญที่ต้องออกมาชี้ถูกชี้ผิด

2. การทุจริตคอร์รัปชั่น การไร้ศีลธรรมจริยธรรม ยังเป็นปัญหาที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยและสังคม ตนจึงอยากเห็นภาควิชาการ จุดประกายเสริมสร้างค่านิยมให้คนมีคุณธรรมและพิทักษ์รักษาประชาธิปไตย และ

3.เสริมค่านิยมการรังเกียจเดียดฉันท์นักการเมือง ข้าราชการที่ทุจริตและคอร์รัปชั่น

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ประชาธิปไตยของไทยตลอด 70 ปีดูเหมือนว่าจะล้มลุกคลุกคลานมาตลอด และเรียกได้ว่าส่วนใหญ่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะเมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาก็จะปกครองประเทศยาวนาน โดยส่วนใหญ่เป็นการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ และในปี พ.ศ. 2522-2553 เราก็เป็นเพียงแค่ประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น จึงจะเห็นว่าคนไทยไม่มีความเข้าใจและเชื่อถือ ยึดถือต่อหลักแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายจาตุรนต์กำลังอภิปรายได้มีชายไม่ทราบชื่อเดินมาบริเวณหน้าเวที และกล่าวว่า อภิปรายกันไม่มีประเด็น พูดกันพร่ำเผื่อ ประเด็นเหล่านี้รู้หมดแล้ว ไม่รู้จะพูดทำไม ซึ่งทำให้ทีมงานที่จัดงานต้องเข้ามาพาตัวผู้ชายคนดังกล่าวออกจากห้องประชุม และดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า นี่คือบรรยากาศประชาธิปไตย

จากนั้นนายจาตุรนต์ ได้อภิปรายต่อว่า สังคมไทยไม่เข้าใจยึดถือรัฐธรรมนิยม ซึ่งถือว่าเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตย ไม่เชื่อว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุด ต้องเคารพกติกา ซึ่งการรัฐประหารทำให้เห็นว่ามีการใช้อำนาจเหนือกฎหมายสูงสุดๆได้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าการรัฐประหารในปี 2549 ไม่ได้ถอยหลังชั่วคราว เพื่อก้าวสู่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่ภายในระยะเวลา 3 ปีครึ่ง เราถอยหลังแบบต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วยังมาเขียนกติกาใหม่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย ที่ผ่านมาเราจะเห็นการทำลายระบบพรรคการเมือง องค์การทางการเมือง และทำลายหลักนิติธรรมอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าขณะนี้ไม่มีองค์กรใดที่น่าเชื่อถือ เป็นอิสระและเป็นกลาง ทั้งปปช.และสตง. เพราะ 2 องค์กรนี้ ตั้งโดยคณะที่ยึดอำนาจ พร้อมทั้งสนับสนุนรัฐบาล

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะหากองค์กรอิสระฝักใฝ่รัฐบาล ไม่วาจะรัฐบาลจะทำอะไรทุจริตเองหรือพรรคร่วมทุจริตก็จะไม่ดำเนินการอะไรทั้ง สิ้น ขณะที่ภาคประชาชนและนักวิชาการในกระแสหลัก ก็มีบทบาทส่งเสริมเกื้อกูลให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ในช่วง 70 ปีของประชาธิปไตย จึงทำให้เกิดการเมืองที่ไม่สมดุล ไม่มีพลวัฒน์ มีแต่คำถามว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ยุบสภาเมื่อไหร่

เมื่อการเมืองไม่ลงตัวจึงเป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เราจึงอยู่ในสภาวะวิกฤตที่ไม่สามารถแก้ได้ และวิกฤตก็สูงขึ้น ดังนั้นการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยจึงถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงมาก เพราะต้องผ่านความขัดแย้งที่รุนแรง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจะก้าวผ่านไปโดยไม่เกิดความขัด แย้งจนนำไปสู่ความรุนแรง

ด้าน ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ถือว่าเป็นการสร้างเกราะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะจะเห็นว่าหลังใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีรัฐมนตรีถูกดำเนินคดีฐานคอร์รัปชั่นจนติดคุก นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าเป็นความก้าวหน้าของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าหากไม่มีรัฐประหารเข้ามาประเทศเราจะก้าวหน้ากว่านี้ แต่เมื่อมีรัฐประหารเกิดขึ้นจะเห็นว่าเราย้อนกลับไปสู่การเมืองก่อนพ.ศ. 2516 เพราะมีการสถาปนาตัวเองเพื่อต่อรองทางการเมือง และต่อรองเรื่องงบประมาณมากขึ้น ซึ่งการคอร์รัปชั่นถือว่าเป็นตัวหนึ่งที่ทำลายประชาธิปไตย

แต่ตัวการสำคัญที่ทำลายการเมืองอย่างแท้จริงคือการรัฐประหาร การแก้ปัญหาทางการเมืองโดยการใช้รัฐประหารนั้นถือเป็นข้ออ้าง ตนไม่เห็นด้วย ควรแก้ไขปัญหาภายใต้ระบบรัฐสภา ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น เกิดมาจากการแสวงหาอำนาจของคนบางกลุ่ม แต่ข้อเท็จจริงแล้วความขัดแย้งเกิดขึ้นมานาน เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยจะเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนห่างกันมาก

view