สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ท่านผู้ทรงเกียรติพึงรู้ดี อะไรควร อะไรไม่ควร

จาก ประชาชาติธุรกิจ
บทบรรณาธิการ


หลัง จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 1 ให้ 16 ส.ว.พ้นจากสมาชิกภาพ ข้อหาทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 และมาตรา 265 (2) และ (4) ห้าม ส.ว.และส.ส.ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับ สัมปทานจากรัฐ หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ ในลักษณะผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้บริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐประกอบด้วย บริษัท ปตท. บริษัท ปตท.เคมิคอล บริษัท ทีพีไอ โพลีน บริษัทผลิตไฟฟ้า บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง บริษัทสหโคเจน บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น บริษัทไทยคม บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น บริษัท ทีทีแอนด์ที บริษัทผู้จัดการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัททางด่วนกรุงเทพ และจากการตรวจสอบของ กกต.พบว่า ส.ส. 61 คน มี ส.ส.ที่ถือหุ้นสัมปทาน 40 คน รวมถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

ก่อนหน้านี้ นางสดศรี สัตยธรรม 1 ใน 3 กกต.เสียงข้างมากยืนยันว่า ถ้า ส.ส.เหล่านี้ถือหุ้นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ ย่อมจะต้องพ้นสมาชิกภาพแบบกับ 16 ส.ว. เพราะ กกต.ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 มาตรา 48 เพื่อไม่ให้เกิดเสียงครหาว่า กกต.มี 2 มาตรฐาน แม้ว่ามติของ กกต.จะยังไม่ถึงที่สุด เพราะ กกต.จะต้องส่งเรื่องไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป เสียงสะท้อนที่ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบของ กกต.ส่วนใหญ่มาจากฟากรัฐบาล โดยเห็นว่า กกต.มีเจตนาต้องการดิสเครดิตทางการเมือง

บรรดา ส.ส.ที่ถือหุ้นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ ต่างอ้างว่าตนเองถือหุ้นเพียงเล็กน้อยไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ บ้างก็ว่าหากต้องไปเลือกตั้งใหม่จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะต้องใช้เงินงบประมาณเลือกตั้งใหม่เขตละอย่างต่ำ 10 ล้านบาท ความเสียหายมากกว่านั้นก็คือ เสียงในสภาจะเปลี่ยนแปลงไปเพราะ ส.ส.ที่ถือหุ้นบริษัทรับสัมปทานรัฐส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ฟากรัฐบาล กลัวกันขนาดว่าอาจมีการ ยุบสภาเพราะโครงสร้างเสียงในสภาของรัฐบาลตกเป็นรองฝ่ายค้าน ชั่วโมงนี้ ส.ว. และ ส.ส.ที่ติดบ่วงหุ้นสัมปทานต่างภาวนาให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ แตกต่างจาก กกต. เพื่อจะได้ไม่ต้องสูญเสียสถานภาพของตนเอง

หลายคน เข้าใจว่า ข้อห้ามข้อนี้เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ความจริงแล้วข้อห้าม ข้อนี้มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 แล้ว (มาตรา 110) เพียงแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ขยายรายละเอียดของข้อห้ามมากขึ้น กล่าวคือ ขยายไปถึงการแทรกแซงหรือก้าวก่ายการ เข้ารับสัมปทานจากรัฐด้วย เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการป้องกันการขัดกันแห่งผล ประโยชน์ โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดปริมาณหุ้นที่ต้องห้ามถือว่าจะต้องมีจำนวนมากน้อย เพียงใด ฉะนั้นแล้วบรรดาท่าน ส.ว. และ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติย่อมต้องทราบดีถึงข้อห้าม ดังกล่าว และเมื่อไม่นานมานี้ก็เคยมีกรณีนักการเมืองที่ถูกลงโทษเพราะข้อห้ามเรื่องผล ประโยชน์ทับซ้อนมาแล้ว ในเมื่อกฎหมายต้องเป็นกฎหมาย เพื่อรักษาหลักนิติรัฐของบ้านเมืองเอาไว้ถ้าบรรดาท่านผู้ทรงเกียรติละเมิด กฎหมายเสียเองย่อมเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง


แก้วสรรแนะกกต.ใช้สมองสส.-สว.ถือหุ้นสัมปทาน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"แก้วสรร"แนะกกต.ใช้สมองตัดสินส.ส.-ส.ว.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ ลั่นปัญหานักอักษรศาสตร์ชอบตีความไปเรื่อยเปื่อย ย้ำเป็นหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องรอบคอบ

โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ - นายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือคตส. ให้สัมภาษณ์ถึงความกังวลของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.อาจถูกคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยการถือครองหุ้นสัมปทานและในกิจการสื่อสารมวลชน จนเป็นเหตุให้ส.ส.จำนวนมากอาจต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพว่า ปัญหาที่เกิดอยู่ขณะนี้มาจากนักอักษรศาสตร์ที่ชอบตีความไปเรื่อยเปื่อย

ทั้งที่นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาเทียบเคียงกันได้ น่าจะใช้สมองกันบ้าง มีความเห็นแตกต่างจากกกต. เพราะการตีความกฎหมายต้องดูทั้งวรรค บางกรณีต้องใช้กฎหมายอื่นมาเทียบเคียงกันด้วย หากเป็นคนตีความเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่าใครที่ถือหุ้นไม่เกิน 5% ถือว่าไม่ผิด ปัญหาขณะนี้จึงไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความจำนวนสัดส่วนเปอร์เซ็นต์การ ถือหุ้นอย่างไร คนที่ถือหุ้นในสัมปทานของรัฐเพียงแค่ 1% จะอยู่ในข้อห้ามด้วยหรือไม่ เพราะหลักของกฎหมายต้องการห้ามไม่ให้ส.ส.และส.ว.ถือสัมปทาน แต่ไม่ได้ห้ามถือหุ้นสัมปทาน เพราะไม่ต้องการให้มีส่วนในการบริหารในกิจการที่มีสัมปทานกับรัฐเนื่องจากเก รงว่าส.ส.และส.ว.คนนั้นอาจนำข้อมูลอินไซต์มาเปิดเผยให้บริษัทได้รู้

นายแก้วสรร กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือถือแค่ไหนจึงจะหมายถึงถือสัมปทาน ขอย้ำว่าตนเคารพศาล แต่ในฐานะเป็นนักกฎหมายก็ต้องการแสดงความเห็นในเรื่องนี้ เพราะนักกฎหมายจะไม่ตีความทื่อๆ หากไม่ชัดเจนต้องใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาเทียบเคียง ซึ่งมีกฎหมายห้ามไว้ชัดเจนว่าห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นที่มีสัมปทานกับรัฐเกิน 5% ตรงนี้จึงนำมาเทียบเคียงกันได้

เมื่อถามว่ามองว่าเรื่องนี้ส.ส.และส.ว.มีข้อต่อสู้อยู่ นายแก้วสรร กล่าวว่า แล้วแต่ว่าพวกเขาจะสู้อย่างไรนพูดในฐานะนักกฎหมายเท่านั้น ในฐานะที่เคยทำคดีการถือหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาก่อน ยืนยันมาตลอดว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่แค่ถือหุ้นเกิน 5% แต่เป็นเพราะเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ คือเจ้าของหุ้นที่แท้จริง เรื่องแบบนี้จึงต้องเอาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรวจทาน และนักนิติศาสตร์จะมีวิธีคิดและเอาเหตุผลมาชี้แจงได้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตควรจะแก้ไขมาตรา 48 และ 265 ให้ชัดเจนไปเลยหรือไม่ นายแก้วสรร ตอบว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายภาษีที่จะต้องเขียนรายละเอียดใส่ไว้มากนัก แต่ถ้าตีความกันไม่เป็นก็ต้องปรับปรุงให้มันชัดเจน

view