สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

DSI ชงปปช.รถบีอาร์ทีเข้าข่ายฮั้ว-กทม.พร้อมยกเลิกถ้าถูกชี้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


 

กรมสอบสวนคดีเศษ ระบุบีทีอาร์ เข้าข่ายความผิดฮั้วประมูล โยนป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฟ้อง ส่วน กทม.เผยพร้อมยกเลิกโครงการนี้ ถ้าถูกชี้มูลความผิด

พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนกรณีมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสในโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ(Bangkok BRT) ว่า ขณะนี้ได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างแก้ไขถ้อยคำบางส่วน คาดว่าเร็วๆ นี้จะเสนอกลับไปให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีเศษ พิจารณาส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ดีเอสไอไม่ ได้ชี้มูลความผิด หรือระบุเจาะจงตัวบุคคล เพียงแต่ระบุว่าโครงการมีงานใดบ้างที่น่าจะเข้าข่ายความผิดฐานฮั้วประมูล เช่น การจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา โครงการ การจัดตั้งให้บริษัทกรุงเทพธนาคม เป็นผู้บริหารโครงการรถบีอาร์ที และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีหยุดรถบีอาร์ที รวมถึงการจัดซื้อรถบีอาร์ที

รายงานข่าวระบุสำหรับคดีนี้ คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ได้นำหลักฐานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งแต่มีนาคม 2551 โดยระบุความไม่โปร่งใสประกวดราคาจัดซื้อรถบีอาร์ที ในราคาคันละ 7 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าท้องตลาดราคาเพียง 4 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการกำหนดสเปกไว้ ไม่มีบริษัทรถยนต์ชั้นนำค่ายใดผลิตรถยนต์ตามสเปคดังกล่าว เช่น ทีโออาร์ที่กำหนดเกี่ยวกับระบบเบรก และความสูงของรถยนต์ที่กำหนดให้พอดีกับชานชาลา

โดยคุณสมบัติที่กำหนดไว้อาจเป็นการกำหนดคุณลักษณะให้ผิดแผกแตกต่างจาก คุณลักษณะทั่วไป ทำให้บริษัททั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมประกวดราคาได้ ขั้นตอนการประมูลอาจเป็นการจ้างทำของมากกว่าการจัดซื้อจัดจ้าง  รายงานข่าวเปิดเผยอีกว่า การสืบสวนของดีเอสไอพบว่า แม้ว่าการจัดซื้อรถบีอาร์ทีล็อตแรกจะเป็นการซื้อจำนวน 45 คัน แต่มีการกำหนดข้อผูกพันให้บริษัทผู้ยื่นประกวดราคาเป็นผู้ดูแลรักษาการใช้งานรถบีอาร์ที จึงอาจมีผลให้บริษัทที่ชนะการประกวดราคาครั้งนี้ได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาใน โครงการต่อไปได้ นอกจากนี้การจัดจ้างให้บริษัท กรุงเทพธนาคม ขึ้นเป็นผู้บริหารจัดการโครงการบีอาร์ทีอาจ ไม่ถูกต้องตามระเบียบ เพราะบริษัทกรุงเทพธนาคม ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการเดินรถสาธารณะมาก่อน หากบริษัทบริหารงานไม่ดี กทม.จะฟ้องร้องเอาผิดกับใครไม่ได้ เพราะกทม.เป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 100% ในบริษัท กรุงเทพธนาคม

กทม.พร้อมยกเลิกรถบีอาร์ทีหากปปช.ชี้มูลความผิดฮั๊วประมูล

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงกรณีเจ้าพนักงานสอบสวนกรณีความไม่โปร่งใสในโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ(บีอาร์ที) ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น โดยระบุโครงการเข้าข่ายความผิดฐานฮั้วประมูลในหลายส่วน เช่น การจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการ การจัดตั้งให้บริษัทกรุงเทพธนาคม เป็นผู้บริหารโครงการรถบีอาร์ที และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

เช่น สถานีหยุดรถบีอาร์ที รวมถึงการจัดซื้อรถบีอาร์ที ว่า ขณะนี้ขั้นตอนถือว่ายังไม่สิ้นสุด เพราะดีเอสไอต้องส่งสำนวนไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูลต่อไป โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสอบฮั้วประมูลการจัดซื้อรถบีอาร์ที ซึ่งหาก ป.ป.ช.ชี้ว่าขั้นตอนการประกวดราคาผิด กทม.จะดำเนินการยกเลิกโครงการทันที แต่หากชี้ว่าไม่ผิดก็ต้องรับรถมาเพื่อเดินหน้าโครงการต่อไป

ส่วนประเด็นการว่าจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ กทม.ถือหุ้น 100% นั้น ยืนยันว่าบุคลากรที่บริษัทจัดหามาทั้งฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายบริหาร ล้วนเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการเดินรถสาธารณะ และที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าบริษัทสามารถบริหารโครงการรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายสายสีลม จากสถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ให้เปิดวิ่งทดสอบระบบได้ในวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามที่คณะผู้บริหารได้ประกาศไว้กับประชาชน ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณโครงการก็มีความโปร่งใส มีการก่อสร้างโครงสร้างสถานีเป็นไปตามกรอบงบประมาณและราคากลาง จำนวน 661 ล้านบาท ไม่มีการนำเงินนอกงบประมาณมาใช้แต่อย่างใด


ดีเอสไอส่งต่อป.ป.ช.เชือดฮั้วประมูลรถบีอาร์ที

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ดีเอสไอส่งสำนวนการสอบฮั้วประมูลรถบีอาร์ทีของกทม.ให้ป.ป.ช.ดำเนินการแล้ว ระบุพบ 4 ประเด็นเข้าข่ายความผิด

พ. ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนกรณีมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสใน โครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ(บีอาร์ที) ว่าได้ส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ในวันนี้(3ก.ค.)

สำนวนคดีจะบ่งชี้ถึงการกระทำความผิดตามพรบ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วย งานของรัฐ (ฮั้วประมูล) และจะมีความผิดฐานการทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นองค์ประกอบการฮั้วประมูล ด้วย

ทั้งนี้โครงการบีอาร์ที พบว่างาน 4 ด้านที่เข้าข่ายการกระทำความผิดประกอบด้วย 1. การจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการ 2. การจัดตั้งให้บริษัท กรุงเทพธนาคม เป็นผู้บริหารโครงการรถบีอาร์ที 3. การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีหยุดรถบีอาร์ที และ 4. การจัดซื้อรถบีอาร์ที

การดำเนินการขั้นต่อไปหาก ป.ป.ช.ตัดสินใจรับสำนวนทั้งหมดไปดำเนินการต่อจะถือว่าหมดหน้าที่ของดีเอสไอ แต่หากป.ป.ช.ต้องการให้ดีเอสไอสอบสวนไปพรางก่อน ดีเอสไอจะสอบสวนขยายในบางประเด็นต่อไป

view